รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 1 - 5 สิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 8, 2016 11:51 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.1
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 59 มียอดคงค้าง 16.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.5
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 59 มียอดคงค้าง 17.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.8
  • วันที่ 3 ส.ค. 59 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. 59 141,427 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.4
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 61.4
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มิ.ย. 59 เกินดุล 2,977.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาสที่ 2 ปี 59 (เบื้องต้น) ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2
  • GDP สหภาพยุโรป ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 1.6
  • GDP อินโดนีเซีย ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 5.2
  • ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมโดย NBS ของจีน เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 49.9 จุด
  • ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 49.3 จุด

Indicator next week

Indicators                Forecast  Previous
Jul : Cement sales (%YOY)   -2.3     -3.5
  • เนื่องจากภาคเอกชนรอความชัดเจนในการก่อสร้างจริงของโครงการลงทุนภาครัฐในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 0.4 โดยสาเหตุหลักของการชะลอลงมาจากการที่ราคาน้ำมันลดลงจากเดือนก่อนหน้า รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ที่มีการปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ราคาอาหารสำเร็จรูปยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในแดนบวก ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ทรงตัวเทียบเท่ากับเดือนก่อนหน้า

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 59 มียอดคงค้าง 16.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า(ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสินเชื่อภาคธุรกิจที่เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สินเชื่อเพื่อการบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ร้อยละ 5.1

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน มิ.ย. 59 มียอดคงค้าง 17.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 จากเดือนก่อนหน้า (ปรับผลทางฤดูกาลแล้ว) จากทั้งเงินฝากในธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ขยายตัวเร่งตัวขึ้นที่ร้อยละ 3.8 และ 8.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

วันที่ 3 ส.ค. 59 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก แต่นโยบายการเงินในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายและเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการดูแลเสถียรภาพการเงินของประเทศ

Economic Indicators: This Week

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. 59 141,427 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 7.4 ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว ร้อยละ 5.2 โดยเป็นการขยายตัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ร้อยละ 11.7) และเขตภูมิภาค (ร้อยละ 6.1) สะท้อนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องตามแนวโน้มราคาผลผลิตสินค้าเกษตร ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ ปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ใหม่ตั้งแต่ต้นปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมในเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 61.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 60.6 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปีนี้ ตามปัญหาภัยแล้งที่เริ่มคลี่คลายลง และราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประชาชนเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลก ที่กระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวมเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 59 อยู่ที่ระดับ 62.1

ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน มิ.ย. 59 เกินดุล 2,977.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกินดุลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากทั้งดูลการค้าที่เกินดุลเพิ่มขึ้น และดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลลดลง โดยดุลการค้าเกินดุลทั้งสิ้น 3,791.37 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าส่งออกที่กลับมาขยายตัว เนื่องจากราคาทองคำที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่มูลค่านำเข้ายังคงอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะหมวดเชื้อเพลิงและเคมีภัณฑ์ ผลจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำและการปิดโรงกลั่นน้ำมันเพื่อซ่อมบำรุง ด้านดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุล 813.81 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลของบริษัทต่างชาติตามฤดูกาล และปัจจัยชั่วคราวในเทศกาลถือศีลอด (รอมฎอน) ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และตะวันออกกลางหดตัว ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลทั้งสิ้น 24,950.41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicator: Next Week

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.ค. 59 คาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ -2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากภาคเอกชนรอความชัดเจนในการก่อสร้างจริงของโครงการลงทุนภาครัฐในช่วงไตรมาส 3 เป็นต้นไป

Global Economic Indicators: This Week

US: worsening economic trend

GDP ไตรมาสที่ 2 ปี 59 (เบื้องต้น) ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.3 จากไตรมาสก่อน (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) จากการลงทุนภาคเอกชนที่หดตัว และการใช้จ่ายภาครัฐที่ชะลอตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 52.6 จุด ลดลงจากคำสั่งซื้อค้างรับและราคาที่ปรับตัวลดลง ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 55.5 จุด ลดลงจากการจัดส่งวัตถุดิบและราคา ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวชะลอลงจากยอดขายรถบรรทุกที่เร่งตัว

China: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมโดยNBS เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 49.9 จุด ต่ำกว่าระดับ 50 จุดครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ขณะที่ดัชนีฯ โดย Caixin ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 50.6 จุด อยู่เหนือ 50 จุดครั้งแรกในรอบ 17 เดือน ด้านดัชนี PMI ภาคบริการโดย NBS ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 53.9 จุด และดัชนีฯ โดย Caixin ปรับลดลงอยู่ที่ 51.7 จุด

Japan: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 49.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนแต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 จุดติดต่อกัน 5 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 41.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อน สะท้อนความกังวลที่เพิ่มขึ้น

Eurozone: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสแรก ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน อัตราว่างงาน เดือน มิ.ย. 59 อยู่ทีร้อยละ 10.1 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 52.0 จุด

United Kingdom: worsening economic trend

ดัชนี PMI เดือน ก.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อนทุกหมวด โดยดัชนีฯภาคอุตสาหกรรม ภาคบริการ และ ภาคก่อสร้างอยู่ที่ระดับ 48.2 47.4 และ 45.9 จุด ตามลำดับ (ต่ำสุดในรอบกว่า 3 7 และ 7 ปี ตามลำดับ) ส่งผลให้ดัชนี PMI รวมเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 47.7 จุด ส่งสัญญาณการหดตัวของเศรษฐกิจด้านอุปทาน วันที่ 4 ส.ค. 59 BOE ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25 bps มาอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ต่อปี ต่ำสุดในรอบ 7 ปี นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเป้าหมายรวมของการดำเนินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ที่ 435 พันล้านปอนด์ เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 375 พันล้านปอนด์

Malaysia: improving economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน มิ.ย. ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกน้ำมันดิบที่ขยายตัวสูง ขณะที่มูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 8.3 สูงสุดในรอบ 6 เดือน จากการนำเข้าสินค้าแร่เชื้อเพลิงและพลังงานที่ขยายตัวสูง ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.1 จุด จากที่ระดับ 47.1 จุดในเดือน มิ.ย. 59

Singapore: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 49.3 จุด จากการส่งออกและยอดสั่งซื้อสินค้าที่ลดลง

Hong Kong: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 59 หดตัวร้อยละ -8.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเป็นเดือนที่ 16 ต่อเนื่อง ดัชนี PMI เดือน ก.ค. 59 เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 47.2 จุด จาก 45.4 จุด ในเดือนก่อน

Indonesia: mixed signal

GDP ไตรมาส 2 ปี 59 ขยายตัวร้อยละ 5.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาส 1 ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ 48.4 จุด ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ค. อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อน

Vietnam: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 ลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 51.9 จุด บ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงของยอดการสั่งซื้อสินค้าและการผลิต

India: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด สูงสุดในรอบ 4 เดือน จากคำสั่งซื้อและผลผลิตที่สูงสุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ดัชนีฯ ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 51.9 จุด สูงสุดในรอบ 3 เดือนจากผลผลิตที่เพิ่มขึ้น

South Korea: worsening economic trend

มูลค่าส่งออก เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -10.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวเป็นเดือนที่ 19 และมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -14.0 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 22 ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ค. 59 อยู่ที่ระดับ 50.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อน

Australia: mixed signal

มูลค่าส่งออก เดือน มิ.ย. 59 กลับมาหดตัวร้อยละ -4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หลังจากเริ่มขยายตัวได้ใน 2 เดือนก่อน และมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -2.3 ทำให้ดุลการค้าขาดดุล-2.4 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย ด้านยอดค้าปลีก เดือน มิ.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.4 ในเดือนก่อน

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อน โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์สูงถึง 61,124 ล้านบาท โดยมาจากแรงขายทำกำไรของนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นหลัก ที่ขายหลักทรัพย์สุทธิในระหว่างวันที่ 1 - 4 ส.ค. 59 ทั้งสิ้นถึง 7,101.4 ล้านบาท รวมถึงแรงขายจากบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังเป็นผลจากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์กลุ่มพลังงานปรับตัวลดลงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 1 - 4 ส.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 1,362.9 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง โดยเฉพาะช่วงอายุมากกว่า 5 ปีที่ปรับลดลง 5-11 bps จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนรายย่อย โดยมาจากการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลและกลับเข้าซื้อตราสารในตลาดที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยระหว่างวันที่ 1 - 4 ส.ค. 59 นักลงทุนต่างชาติซื้อพันธบัตรสุทธิ 8,874.8 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)

เงินบาทอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อน โดย ณ วันที่ 4 ส.ค. 59 เงินบาทปิดที่ 34.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 0.12 จากสัปดาห์ก่อน สวนทางกับค่าเงินภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ 0.93 จากสัปดาห์ก่อน

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ