รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 26, 2016 16:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2559

Summary:

1. โตโยต้า เผยยอดผลิต-ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน ก.ค. 59 หดตัว

2. รมว.พาณิชย์ เผยโมซัมบิกสนใจซื้อข้าวจากไทย 3 แสนตันในรูปแบบจีทูจี

3. มูลค่าส่งออกของฮ่องกง เดือน ก.ค. 59 หดตัวต่อเนื่อง 15 เดือน

1. โตโยต้า เผยยอดผลิต-ยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือน ก.ค. 59 หดตัว

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยยอดการผลิตรถยนต์เดือน ก.ค. 59 มีทั้งสิ้น 153,950 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -7.2 จากการผลิตรถกระบะทั้งที่ผลิตเพื่อขายในประเทศและผลิตเพื่อการส่งออกที่ลดลง ทั้งนี้ ยอดขายในประเทศเดือน ก.ค. 59 มีทั้งสิ้น 60,635 คัน ลดลงร้อยละ -0.4 จากปีก่อน

  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดผลิตรถยนต์ในเดือน ก.ค. 59 ที่หดตัวลง เป็นผลมาจากการผลิตรถยนต์เพื่อขายในประเทศที่ลดลงร้อยละ -0.4 และผลิตเพื่อส่งออกที่ลดลงร้อยละ -3.1 ต่อปี ซึ่งสอดคล้องกับยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนใหม่ในเดือน ก.ค. 59 ที่หดตัวในเกือบทุกภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกและภาคใต้ ที่หดตัวร้อยละ -20.4 และ -13.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ยอดรถยนต์นั่งจดทะเบียนยังขยายตัวได้ในภาคกลางที่ร้อยละ 13.1 ทั้งนี้ ยอดขายรถยนต์ในเดือน ก.ค. 59 ที่ชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งการซื้อในเดือนก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น และมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับสถานการณ์ภัยแล้งที่คลี่คลาย จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดย สศค. คาดว่าในปี 59 การบริโภคภาคเอกชน จะสามารถขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.3 (คาดการณ์ ณ ก.ค. 59)
2. รมว.พาณิชย์ เผยโมซัมบิกสนใจซื้อข้าวจากไทย 3 แสนตันในรูปแบบจีทูจี
  • นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า โมซัมบิกประสงค์จะซื้อข้าวจากไทยในรูปแบบรัฐต่อรัฐ โดยเป็นข้าวความชื้นร้อยละ 5 และร้อยละ 15 ปริมาณรวม 300,000 ตัน โดยได้หารือในการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (Joint Trade Committee - JTC) ไทย-โมซัมบิก ครั้งที่ 1 แล้ว ทั้งนี้ ไทยเล็งเห็นว่าโมซัมบิกเป็นประเทศที่มีศักยภาพ โดยมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญจำนวนมาก อาทิ ประมง อัญมณี ป่าไม้ ในขณะที่โมซัมบิกมีความต้องการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกข้าวของไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 59 มีมูลค่าทั้งสิ้น 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นการหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 59 ได้แก่ จีน เบนิน และ สหรัฐฯ ทั้งนี้ ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกข้าวไปยังตลาดโลก สำหรับโมซัมบิกเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 70 ของไทย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 54-58) มีมูลค่าการค้าเฉลี่ยปีละ 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ามาโดยตลอด โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังโมซัมบิก ได้แก่ ข้าว เม็ดพลาสติก รถยนต์ ผ้าผืน น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เป็นต้นซึ่งการส่งออกข้าวไปยังโมซัมบิกจะช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของไทย อีกทั้งเป็นการเปิดตลาดส่งออกใหม่ๆ ให้แก่ไทยในยามที่เศรษฐกิจคู่ค้าหลักของไทยยังคงชะลอตัว ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 59 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยมีแนวโน้มหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -1.9 (ประมาณการ ณ ก.ค. 59)
3. มูลค่าส่งออกของฮ่องกง เดือน ก.ค. 59 หดตัวต่อเนื่อง 15 เดือน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฮ่องกงเปิดเผยตัวเลขมูลค่าส่งออกของฮ่องกง เดือน ก.ค. 59 หดตัวร้อยละ -5.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นระดับการหดตัวที่สูงที่สุดในรอบ 4 เดือน และเป็นการหดตัวต่อเนื่อง 15 เดือน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องเช่นกันที่ร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกที่น้อยกว่ามูลค่านำเข้าส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลทั้งสิ้น 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ค. 59 ที่หดตัวร้อยละ -5.1 นั้น เป็นผลมาจากการส่งออกวัตถุดิบ สินแร่ และเคมีภัณฑ์ที่หดตัวต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี รวมถึงการส่งออกสินค้าขั้นกลางและเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อการขนส่งที่กลับมาหดตัว และหากพิจารณาในด้านการส่งออกรายประเทศพบว่าการส่งออกไปยังจีนหดตัวถึงร้อยละ -6.2 โดยจีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของฮ่องกง คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 53 ของมูลค่าส่งออกรวม การส่งออกไปยังจีนที่หดตัวจึงส่งผลให้มูลค่าส่งออกรวมของฮ่องกงหดตัว ซึ่งการส่งออกของฮ่องกงที่หดตัวต่อเนื่องนี้ อาจส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกง เนื่องจากฮ่องกงพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึงร้อยละ 211 ต่อขนาดเศรษฐกิจในปี 58 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 59 เศรษฐกิจฮ่องกงจะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 (ประมาณการ ณ ก.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ