มาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 28, 2016 11:04 —กระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและราคาผลผลิตทางการเกษตรมีความผันผวน ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ประกอบกับเกษตรกรบางรายเสียชีวิต ชราภาพ

มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ หรือส่วนหนึ่งมีอายุมากทำให้ศักยภาพในการทำการเกษตรลดลง ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ค้างชำระกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

ดังนั้น กระทรวงการคลังเห็นควรให้มีมาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อย ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการย่อย ได้แก่ มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยที่ได้ร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรที่มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพียงพอสำหรับการดำรงชีวิต และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ผ่านระบบ ธ.ก.ส. เพื่อบรรเทาภาระหนี้สินให้กับเกษตรกรที่มีปัญหาหนี้ค้างชำระ และคืนดอกเบี้ยให้กับเกษตรกรที่ชำระดี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย

ธ.ก.ส. โอนเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรที่ลงทะเบียนในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2559 ที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองเบื้องต้นจากหน่วยงานราชการแล้วโดยผู้ที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี จะได้รับเงินโอน 3,000 บาท/คน และผู้ที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาท/ปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี จะได้รับเงินโอน 1,500 บาท/คน

2. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย ผ่านระบบ ธ.ก.ส. ประกอบด้วย 3 โครงการ ดังนี้

2.1 โครงการปลดเปลื้องหนี้สินให้เกษตรกรรายย่อยที่มีเหตุผิดปกติ เช่น เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง มีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เป็นต้น มีหนี้ค้างชำระหรือเป็นหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะดำเนินโครงการใน 2 กรณี ได้แก่

1) หากไม่มีหลักประกันจำนองและไม่มีทายาทรับช่วงการผลิต ธ.ก.ส. จะสอบทานสถานะของเกษตรกรและพิจารณาจำหน่ายหนี้เงินกู้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ (ธ.ก.ส. ยกหนี้ให้)

2) หากมีหลักประกันจำนองและมีทายาทรับช่วงการผลิต ธ.ก.ส. จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้จากต้นเงินร้อยละ 50 ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยพักชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 2 ปี คิดดอกเบี้ยที่ MRR และต้นเงิน

ที่เหลือพร้อมทั้งดอกเบี้ยค้างชำระก่อนเข้าโครงการให้พักไว้ เมื่อทายาทชำระหนี้ต้นเงินตามแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ธ.ก.ส. จะลดดอกเบี้ยที่พักไว้ทั้งจำนวน ส่วนต้นเงินที่พักไว้อีกร้อยละ 50 จะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามศักยภาพในภายหลัง

2.2 โครงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และลดภาระหนี้สินให้เกษตรกร ที่มีหนี้เป็นภาระหนัก มีหนี้ค้างชำระหรือเป็นหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะดำเนินโครงการใน 2 กรณี ได้แก่

1) หากเป็นเกษตรกรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเป็นลูกค้า ธ.ก.ส. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีทายาทเข้าเป็นลูกค้าแทน ธ.ก.ส. จะรับทายาทเข้าเป็นลูกค้าแทนเกษตรกรรายเดิม และจะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ทายาทตามศักยภาพ จากต้นเงินร้อยละ 50 ภายในระยะเวลา 5 ปี โดยพักชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 2 ปี

คิดดอกเบี้ยที่ MRR ส่วนต้นเงินที่เหลือพร้อมทั้งดอกเบี้ยค้างชำระก่อนเข้าโครงการให้พักไว้ เมื่อทายาทชำระหนี้ต้นเงินตามแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ธ.ก.ส. จะลดดอกเบี้ยที่พักไว้จำนวนร้อยละ 80 ส่วนต้นเงินที่พักไว้อีก

ร้อยละ 50 จะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามศักยภาพในภายหลัง

2) เป็นเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ธ.ก.ส. จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้จากต้นเงินร้อยละ 50 ภายในระยะเวลา 5 ปี และพักชำระต้นเงินเป็นระยะเวลา 2 ปี คิดดอกเบี้ยที่ MRR ส่วนต้นเงินที่เหลือพร้อมทั้งดอกเบี้ยค้างชำระก่อนเข้าโครงการให้พักไว้ เมื่อชำระหนี้ต้นเงินตามแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธ.ก.ส. จะลดดอกเบี้ยที่พักไว้จำนวนร้อยละ 50 ส่วนต้นเงินที่พักไว้อีกร้อยละ 50 จะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามศักยภาพในภายหลัง

2.3 โครงการชำระดีมีคืนแก่เกษตรกรที่ไม่มีปัญหาการชำระหนี้

สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีปัญหาการชำระหนี้ ธ.ก.ส. จะคืนดอกเบี้ยในส่วนที่ลูกค้าส่งชำระระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 – 31 ตุลาคม 2560 ในอัตราร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระ โดยตัดเงินต้นหรือคืนให้ลูกค้าเป็นเงินสดแล้วแต่กรณี พร้อมทั้งสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนกรณีฉุกเฉินจำเป็น รายละไม่เกิน 100,000 บาท

นายกฤษฎาฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรการส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตรกรรายย่อยมีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลช่วยเหลือแก่เกษตรกร ยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร และส่งเสริมความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานราก โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมเกษตรกรทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกรผู้มีรายได้น้อยซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 2.85 ล้านคน การช่วยลดภาระหนี้สินให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายประมาณประมาณ 2.9 ล้านราย ทั้งผู้ที่มีเหตุผิดปกติเสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ เจ็บป่วยเรื้อรัง มีปัญหาสุขภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ชราภาพ หรือมีปัญหาหนี้ค้างชำระ อีกทั้งสำหรับเกษตรกรที่มีประวัติการชำระดี ธ.ก.ส. ยังมีโครงการที่จะคืนกำไรให้กับเกษตรกรอีกด้วย”

สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร. 02 273 9020 ต่อ 3229

โทรสาร 02 618 3374

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ