รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 12, 2016 11:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2559

Summary:

1. ครม.อนุมัติงบกว่า 1.9 พันลบ. เยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 59/60

2. ญี่ปุ่นเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนก.ย.ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน

3. รัฐบาลจีนคาดเศรษฐกิจปี 59 ดีกว่าคาด เนื่องจากอานิสงส์การจ้างงานและธุรกิจบริการ

1. ครม.อนุมัติงบกว่า 1.9 พันลบ. เยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 59/60
  • นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เห็นชอบมาตรการเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 59/60 ทั้งนี้ได้สำรวจพบว่ามีผู้ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 5,427 หมู่บ้าน เฉลี่ยหมู่บ้านละ 120 ครัวเรือน คิดเป็นเงินงบประมาณในการช่วยเหลือทั้งสิ้น 1,953 ล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อุทกภัยอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดีจากการติดตามพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายเบื้องต้น 15 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และปริมณฑล โดยมีสัดส่วนภาคเกษตรของ 15 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 20.3 ของภาคเกษตรทั้งประเทศ และหากไม่มีเหตุการณ์อุทกภัยเกิดขึ้นซ้ำในพื้นที่อื่นๆ ความเสียหายจะอยู่ในวงจำกัด แต่หากมีอุทกภัยเกิดขึ้นเพิ่มเติม อาจส่งผลกระทบต่อรายได้เกษตรกรและอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในพื้นที่ในอนาคตได้ ดังนั้นมาตรการเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยจะเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร และจะเป็นส่วนช่วยให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น จับตา: ผลกระทบของปัญหาอุทกภัยในปี 59/60
2. ญี่ปุ่นเผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเดือนก.ย.ปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
  • สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น เผยดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของชาวญี่ปุ่น (diffusion index) ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นในกลุ่มอาชีพที่อ่อนไหวต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจ ในเดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ 44.8 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน เนื่องด้วยผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 59 ขยายตัวร้อยละ 0.5 ต่อปี นอกจากนี้ หากพิจารณาเครื่องชี้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 59 พบว่ายังคงส่งสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนได้จากยอดค้าปลีกในเดือน ก.ค.-ส.ค.59 หดตัวเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือน ที่ 6 รวมถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ค.-ส.ค.59 หดตัวเช่นกันที่เฉลี่ยร้อยละ -11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ประกอบกับกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ บ่งชี้ได้จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 3 ปี 59 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 49.7 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50.0 ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของญี่ปุ่นในเดือน ก.ย. 59 ที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 44.8 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 59 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.4 - 0.8 คาดการณ์ ณ ก.ค.59) จับตา: อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3/59
3. รัฐบาลจีนคาดเศรษฐกิจปี 59 ดีกว่าคาด เนื่องจากอานิสงส์การจ้างงานและธุรกิจบริการ
  • นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีของจีนเปิดเผยว่าเศรษฐกิจจีนในปี 59 จะขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก เนื่องจากปริมาณการจ้างงานใหม่ที่สูงขึ้น โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 59 สามารถสร้างงานได้กว่า 10 ล้านตำแหน่ง ทำให้อัตราการว่างงานในเดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับต่ำกว่าร้อยละ 5 และปัจจัยสนับสนุนจากอุตสาหกรรมการบริโภคและบริการที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจจีนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกปี 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวที่อยู่ในภายใต้กรอบเป้าหมายของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ที่ตั้งเป้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 59 ที่ร้อยละ 6.5 -7.0 นอกจากนี้จากเครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุด พบว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการ ที่จัดทำโดยทางการจีนในไตรมาส 3 ปี 59 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 53.7 ซึ่งอยู่เหนือระดับ 50.0 ต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าภาคบริการของจีนที่ยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 3 ปี 59 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50.2 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 ต่อปี หรือในช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 6.4 - 6.8 จับตา : อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 3/59

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ