รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 18, 2016 13:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 18 ตุลาคม 2559

Summary:

1. พาณิชย์ ชี้ช่องส่งออกญี่ปุ่น

2. สมคิดสั่งพาณิชย์ประสานจังหวัดเข้มดูแลค่าครองชีพ

3. อังกฤษหลุดโผ 1 ใน 5 อันดับประเทศน่าลงทุน เหตุภาคธุรกิจกังวลผลกระทบ Brexit

1. พาณิชย์ ชี้ช่องส่งออกญี่ปุ่น
  • นางมาลีโชคล้ำเลิศอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่าจากการสำรวจของหน่วยงานที่เกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นพบชาวญี่ปุ่นมีการเลี้ยงสุนัขและแมวในครัวเรือนประมาณ20 ล้านตัวซึ่งเลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัวส่งผลให้ตลาดสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงคึกคัก ขยายตัวต่อเนื่องสวนทางกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งนับเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการรองรับสินค้าไทยได้อีกมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลของมูลค่าการส่งออกสินค้าในหมวดอาหารสัตว์เลี้ยงพบว่า ตลาดส่งออกอันดับ 1 คือ ญี่ปุ่น โดยในเดือน ส.ค. 59 ขยายตัวที่ร้อยละ 4.5 ตามการขยายตัวของสินค้าอาหารสุนัขและแมวที่ขยายตัวร้อยละ 4.5 ทั้งนี้ จากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของการเลี้ยงแมวของคนญี่ปุ่น จะเป็นผลดีต่อการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มความต้องการสินค้าสัตว์เลี้ยงในญี่ปุ่นมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ผู้ส่งออกไทยจึงควรศึกษาและใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อเจาะตลาดญี่ปุ่น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้การส่งออกของไทยคึกคักมากขึ้น
2. สมคิดสั่งพาณิชย์ประสานจังหวัดเข้มดูแลค่าครองชีพ
  • นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมติดตามงานกับผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ว่า ได้เน้นย้ำกรมการค้าภายในเกี่ยวกับการดูแลค่าครองชีพ และให้มีนโยบายเชิงรุกในการจัดการ ดูแลราคาสินค้าและค่าครองชีพ โดยให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เข้าไปทำหน้าที่เข้าไปกำกับดูแลใน 7 ภูมิภาคของประเทศไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันเสถียรภาพทางด้านราคาของประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดในเดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 และในช่วง 9 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 0.0 อย่างไรก็ตาม มีหลายปัจจัยที่อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพราคาให้เกิดความผันผวนได้ อาทิ ความไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก กอปรกับอาจมีผู้ประกอบการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ ในกรณีที่มีอุปสงค์หรืออุปทานผิดปกติจากเดิมได้ ซึ่งจะส่งผลต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีกลไกในการกำกับดูแลเสถียรภาพทางด้านราคาอยู่เสมอ
3. อังกฤษหลุดโผ 1 ใน 5 อันดับประเทศน่าลงทุน เหตุภาคธุรกิจกังวลผลกระทบ Brexit
  • ผลการสำรวจผู้บริหารในภาคธุรกิจซึ่งจัดทำโดยเอิร์นส์ แอนด์ ยัง ระบุว่า อังกฤษไม่ติด 1 ใน 5 อันดับประเทศน่าลงทุนที่สุดในโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี เนื่องจากภาคธุรกิจวิตกกังวลว่า ผลกระทบของการที่อังกฤษถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) ที่อาจทำให้การค้าระหว่างประเทศซับซ้อนมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ส่งผลให้นักลงทุนขนาดใหญ่ของทั่วโลกมีการปรับสัดส่วนการลงทุนใหม่ นอกจากนี้ผู้นำภาคธุรกิจมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการเมืองในหลายประเทศและความผันผวนของค่าเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการควบรวมกิจการและซื้อกิจการระหว่างประเทศ โดยข้อมูลล่าสุด พบว่า ทางการประกาศปรับปรุงตัวเลข GDP ไตรมาส 1 และ 2 ปี 59 จากร้อยละ 2.0 และ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 1.9 และ 2.1 ตามลำดับ ส่งผลให้ GDP ในครึ่งปีแรกขยายตัวลดลงจากร้อยละ 2.1 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 ด้านดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 55.4 จุด สูงสุดในรอบ 11 เดือน สอดคล้องกับดัชนีฯ ภาคก่อสร้าง เดือน ก.ย. 59 ที่อยู่ที่ระดับ 52.3 จุด ที่ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือน อย่างไรก็ตามดัชนีฯ ภาคบริการ เดือน ก.ย. 59 อยู่ที่ระดับ 52.6 จุด ลดลงจากระดับ 52.9 จุด ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอังกฤษในปี 59 จะอยู่ที่ร้อยละ 2.1 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ