รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 28, 2016 16:05 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 ตุลาคม 2559

Summary:

1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการส่งออกทั้งปี 59 ของไทยเชิงบวกมากขึ้น

2. มูลค่าส่งออกและนำเข้าฮ่องกงเดือน ก.ย. 59 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

3. เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่ 3 ปี 59 ขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก

1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินการส่งออกทั้งปี 59 ของไทยเชิงบวกมากขึ้น
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประกาศปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกของไทยทั้งปี 59 โดยคาดว่าจะหดตัวเพียงร้อยละ -0.5 จากที่คาดไว้ ณ เดือน ก.ย. 59 ว่าจะหดตัวร้อยละ -1.8 ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปี 59 ปัจจัยที่จะกดดันการส่งออกของไทย คือ เศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทย และราคาทองคำที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงจะส่งผลให้มูลค่าส่งออกทองคำลดลง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มุมมองต่อการส่งออกไทยทั้งปี 59 ที่ดีขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก มูลค่าส่งออกเดือน ก.ย. 59 ที่ขยายตัวดีที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้มูลค่าส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 59 หดตัวร้อยละ -0.7 ปัจจัยสำคัญ คือ การส่งออกในหมวดยานพาหนะและอุตสาหกรรมเกษตรที่ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.3 และร้อยละ 3.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ อุปสงค์จากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 11.2 ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 58 จะส่งผลดีต่อการส่งออกในหมวดยานพาหนะ ผลิตภัณฑ์ยาง และอาหารแปรรูป อีกทั้งแนวโน้มราคาสินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 58 จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนมูลค่าส่งออกของไทย โดยราคาสินค้าส่งออกของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 59 หดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หดตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 58 ที่หดตัวถึงร้อยละ -3.6
2. มูลค่าส่งออกและนำเข้าฮ่องกงเดือน ก.ย. 59 ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติฮ่องกงเปิดเผย มูลค่าการส่งออกเดือน ก.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.8 ในเดือนก่อนหน้า ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ย. 59 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.8 ในเดือนก่อนหน้า ทำให้ดุลการค้าเดือน ก.ย. 59 ขาดดุล 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นจากที่ขาดดุล 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงในเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกและนำเข้าของฮ่องกงในเดือน ก.ย. 59 ซึ่งกลับมาขยายตัวได้เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน สะท้อนภาพรวมของการค้าระหว่างประเทศที่เริ่มส่งสัญญาณในทางบวก หลังจากที่ทั้งมูลค่าการส่งออกและมูลค่าการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องกันเป็นเวลากว่า 1 ปี อันเป็นผลจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่อ่อนแอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปสงค์จากจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกใหญ่อันดับ 1 ของฮ่องกง มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 53.7 ของมูลค่าการส่งออกรวมของฮ่องกงในปี 58 โดยภาคการค้าระหว่างประเทศที่ซบเซาเป็นปัจจัยลบสำคัญต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเศรษฐกิจฮ่องกงมีลักษณะเป็นประเทศแห่งการค้าขาย (Trading Nation) และมีอัตราการเปิดประเทศสูงที่ร้อยละ 421.1 ของ GDP โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 59 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวเพียงร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.4 ในปี 58
3. เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่ 3 ปี 59 ขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก
  • สำนักงานสถิติแห่งสหราชอาณาจักรเปิดเผยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่ 3 ปี 59 (ตัวเลขเบื้องต้น) โดยขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) ซึ่งเร่งขึ้นจากไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ปี 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 และ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 59 ภาคบริการที่ขยายตัวดีเป็นแรงสนับสนุนหลัก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ตัวเลขเบื้องต้นของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในไตรมาสที่ 3 ปี 59 จะขยายตัวดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 59 ยังเป็นที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะเป็นช่วงที่สหราชอาณาจักรอาจดำเนินการวางแผนเพื่อให้กระบวนการการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้สามารถเริ่มเจรจาอย่างเป็นทางการภายในไตรมาสแรกของปี 60 นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความเสี่ยงภายในประเทศในกรณีที่สก็อตแลนด์อาจวางแผนจัดทำประชามติเพื่อถอนตัวออกจากสหราชอาณาจักรอีกครั้ง หากสหราชอาณาจักรไม่สามารถดำรงสิทธิประโยชน์ด้านการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปได้ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นทั้งจากภายในสหราชอาณาจักรและจากต่างประเทศ ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในปี 59 จะขยายตัวร้อยละ 2.1 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ค. 59) และจะมีการประกาศประมาณการใหม่ในช่วงปลายเดือนนี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ