รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 22 - 26 พฤษภาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 30, 2017 11:41 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • มูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. 60 มีมูลค่า 16,864.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.5 ส่วนมูลค่าการนำเข้าในเดือน เม.ย. 60 มีมูลค่า 16,807.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.4 ทำให้ดุลการค้าในเดือน เม.ย. 60 เกินดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 27.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • GDP อังกฤษ (ตัวเลขปรับปรุง) ไตรมาส 1 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาส 1 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การส่งออกของญี่ปุ่น เดือน เม.ย. 60 ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 15.1 ส่งผลให้ ดุลการค้า เดือน เม.ย. 60 เกินดุล 4.8 แสนล้านเยน
  • การส่งออกของฮ่องกง เดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.3 ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ธนาคารเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบียนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี
Economic Indicators: This Week

มูลค่าการส่งออกในเดือน เม.ย. 60 มีมูลค่า 16,864.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.5 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 จากการขยายตัวในระดับสูงของสินค้าเชื้อเพลิงที่ร้อยละ 36.0 รวมถึงสินค้าเกษตรกรรมที่ขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 13.3 ตามการขยายตัวดีของข้าว และยางพารา เป็นสำคัญ นอกจากนี้ สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.9 ตามการขยายตัวดีของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรยังคงหดตัวที่ร้อยละ -0.9 รวมถึงสินค้ายานยนต์ที่กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -2.4 ทั้งนี้ ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 3.3 และปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 5.0 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.7

มูลค่าการนำเข้าในเดือน เม.ย. 60 มีมูลค่า 16,807.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 13.4 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.3. จากการขยายตัวดีในเกือบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 34.7 และสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวดีเช่นกันที่ร้อยละ 16.0 นอกจากนี้ สินค้าทุนและสินค้ายานยนต์ขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 10.4 และ 1.7 ตามลำดับ ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวที่ร้อยละ -2.0 ทั้งนี้ ราคาสินค้านำเข้าขยายตัวร้อยละ 6.2 และปริมาณการนำเข้าสินค้าขยายตัวเช่นกันที่ร้อยละ 6.8 ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าในช่วง 4 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 14.5 ซึ่งจากการที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกสินค้า ทำให้ดุลการค้าในเดือน เม.ย. 60 เกินดุล 0.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Economic Indicators: This Week

ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 27.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.5 หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยเป็นการขยายตัวในทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดพืชผลสำคัญขยายตัวร้อยละ 42.4 จากผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังที่ขยายตัวสูงจากปัจจัยฐานต่ำ รวมทั้งผลผลิตฤดูกาลใหม่ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และกลุ่มไม้ผล อาทิ ทุเรียน และเงาะ สำหรับหมวดปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 1.7 และหมวดประมงสะท้อนจากผลผลิตกุ้งขาว แวนนาไม ขยายตัวร้อยละ 16.5 ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 60 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวได้ร้อยละ 10.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือน เม.ย. 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.1 หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -0.8 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยราคาส่วนใหญ่ที่ชะลอลงเป็นผลจากการชะลอการรับซื้อผลผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรในช่วงวันหยุดยาว อาทิ ข้าวเปลือก ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ขณะที่ ราคามันสำปะหลังยังได้รับผลกระทบจากนโยบายการระบายข้าวโพดในประเทศของจีนสำหรับการผลิตเอธานอล ทั้งนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 60 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรกรรมขยายตัวได้ร้อยละ 9.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

เครื่องชีภาคอสังหาริมทรัพย์ เดือนเม.ย. 60 มีสัญญาณชะลอตัวลง โดยยอดขายบ้านมือสองอยู่ที่ 4.49 แสนหลัง หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของยอดขายบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียม ขณะที่ราคากลางบ้านมือสองอยู่ที่ 244,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อหลัง คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 3.5 จากเดือนก่อนหน้า จากราคาทั้งบ้านเดี่ยวและคอนโดมีเนียมที่เร่งขึ้นมาก ยอดสร้างบ้านใหม่ อยู่ที่ 1.172 ล้านหลังต่อปี หรือคิดเป็นการหดตัวร้อยละ -2.6 จากเดือนก่อนหน้า จากการหดตัวของยอดก่อสร้างคอนโดมีเนียมเป็นสำคัญและยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 60 อยู่ที่ 1.228 ล้านหลังต่อปี หดตัวจากเดือนก่อนหน้าเช่นกันที่ร้อยละ -2.5 จากการหดตัวของยอดใบอนุญาตสร้างบ้านทุกประเภท

Japan: mixed signal

การส่งออก เดือน เม.ย. 60 ขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากเฉลี่ยร้อยละ 8.5 ในไตรมาส 1 สอดคล้องกับ การนำเข้า เดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 15.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นมากจากเฉลี่ยร้อยละ 8.6 ในไตรมาส 1 ส่งผลให้ ดุลการค้า เดือน เม.ย. 60 เกินดุล 4.8 แสนล้านเยน ลดลงเล็กน้อยจาก 6.1 แสนล้านเยนในเดือนก่อนหน้า ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ 52 ลดลงจาก 52.7 ในเดือน เม.ย. 60 อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันของปี เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.2 ของเดือนก่อน

UK: mixed signal

GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากตัวเลขเบื้องต้น แต่เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 60 การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุน ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ซึ่งขยายตัวร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ -3.3 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -3.6 จุดด้านดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 57.0 จุด (ตัวเลขเบื้องต้น) สูงสุดในรอบ 6 ปีกว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 56.2 จุด (ตัวเลขเบื้องต้น) ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 56.4 จุด และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน พ.ค. 60 อยู่ที่ระดับ 56.8 (ตัวเลขเบื้องต้น) ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Hong Kong: improving economic trend

อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 60 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.2 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปี เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.5 ของเดือนก่อน การส่งออก เดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงมากจากร้อยละ 16.9 ของเดือนก่อน แต่นับเป็นการขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัยที่ขยายตัวได้ดี เช่น จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อินเดีย และประเทศในกลุ่มอาเซียน การนำเข้า เดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 13.0 ของเดือนก่อน แต่นับเป็นการขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เช่นกัน จากการนำเข้าจาก จีน สหรัฐฯ และประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ขยายตัวได้ในอัตราค่อนข้างสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

South Korea: mixed signal

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 60 ธนาคารเกาหลีใต้มีมติคงอัตราดอกเบียนโยบายที่ร้อยละ 1.25 ต่อปี ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12 โดยเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

Taiwan: mixed signal

อัตราการว่างงาน เดือน เม.ย. 60 ทรงตัวที่ร้อยละ 3.8 ของกำลังแรงงานรวม ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 60 หดตัวร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่ขยายตัวได้ร้อยละ 3.7 ในเดือนก่อน ยอดค้าปลีก เดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 3.8 ในเดือนก่อน

Singapore: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า จากการชะลอลงในหมวดการศึกษา หมวดเครื่องใช้ในครัวเรือน และหมวดที่อยู่อาศัยที่หดตัวเร่งขึ้น GDP ไตรมาส 1 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (หรือหดตัวร้อยละ -0.3 หากขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 เนื่องจากการใช้จ่ายของภาครัฐชะลอลงเล็กน้อยผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.0 เนื่องจากสินค้าหมวดอาหาร หมวดยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก และเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ชะลอลง นอกจากนี้ สินค้าในหมวดอื่นๆยังหดตัวเร่งขึ้นอีกด้วย อาทิ หมวดสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์จากกระดาษ และหมวดยา เป็นต้น

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นตลอดสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 25 พ.ค. 60 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,569.41 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยที่ 38,631.15 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนต่างชาติ โดยสอดคล้องกับตลาดหลักทรัพย์หลัก เช่น Dow Jones ที่ปรับตัวขึ้นหลังผลการประชุม Fed ออกมาตามที่ตลาดคาดการณ์ เป็นต้น ทังนี ระหว่างวันที่ 22 - 25 พ.ค. 60 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 580.35 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสันทรงตัว ในขณะที่ระยะกลางปรับลดลงเฉลี่ย 2 bps เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับกระแสเงินทุนไหลเข้าจากนักลงทุนต่างชาติ โดยระหว่างวันที่ 22 - 25 พ.ค. 60 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 4,611.01 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 25 พ.ค. 60 เงินบาทปิดที่ 34.24 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องที่ร้อยละ 0.72 จากสัปดาห์ก่อน สอดคล้องกับเงินสกุลหลัก ได้แก่ เงินยูโร ริงกิต และสิงคโปร์ดอลลาร์ ในขณะที่ค่าเงินเยน วอน และหยวนอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.67

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ