รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2560 “เศรษฐกิจไทยปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ขยายตัวดี และการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวต่อเนื่อง”

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 27, 2017 13:22 —กระทรวงการคลัง

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนกรกฎาคม 2560 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 3.9) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยเฉพาะจากการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวดีและกระจายในหลายหมวดสินค้ามากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ตามการใช้จ่ายอุปโภคและการลงทุนภาครัฐที่เบิกจ่ายได้ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์จากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ อาทิ โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อันจะช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อร้างมีแนวโน้มชะลอลงตามภาวะอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซา ขณะที่แนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและผลผลิตที่เพิ่มขึ้นจะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจของไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี โดยในส่วนของเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.8 (โดยมีช่วงประมาณการที่ร้อยละ 0.5 - 1.1) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีก่อนตามแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 42.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 9.5 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.2 – 9.8 ของ GDP)”

ทั้งนี้ โฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด อาทิ ความผันผวนของตลาดเงินโลก และความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและการค้าของสหรัฐฯ”

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2560 (ณ เดือนกรกฎาคม 2560)

                                                        2558          2559                2560f

ณ ก.ค. 60

                                                                                     เฉลี่ย          ช่วง
สมมติฐานหลัก
สมมติฐานภายนอก
  1) อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 15 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละ)          3.48          3.63          3.56          3.31 ถึง 3.81
  2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล)                51.2          41.2          50.4          47.4 ถึง 53.4
  3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ)                -4.1          -0.4           2.8            2.3 ถึง 3.3
  4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ)               -10.8          -2.7           4.8            4.3 ถึง 5.3
สมมติฐานด้านนโยบาย
  5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)                    34.25         35.30         34.00        33.50 ถึง 34.50
  6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละ)               1.50          1.50          1.50          1.25 ถึง 1.75
  7) รายจ่ายภาคสาธารณะ (ล้านล้านบาท)                       3.23          3.39          3.62          3.58 ถึง 3.66
  8) จำนวนนักท่องเที่ยว (ล้านคน)                             29.9          32.6          35.0          34.5 ถึง 35.5
ผลการประมาณการ
  1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละ)                     2.9           3.2           3.6            3.3 ถึง 3.9
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภค
    - การบริโภคภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ (ร้อยละ)                 2.2           3.1           3.3            3.0 ถึง 3.6
  - การบริโภคภาครัฐ ณ ราคาคงที่ (ร้อยละ)                      3.0           1.7           3.4            3.1 ถึง 3.7
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุน
     - การลงทุนภาคเอกชน ณ ราคาคงที่ (ร้อยละ)                -2.2           0.4           2.6            2.3 ถึง 2.9
     - การลงทุนภาครัฐ ณ ราคาคงที่ (ร้อยละ)                   29.3           9.9           9.8           9.5 ถึง 10.1
  4) อัตราการขยายตัวของปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละ)      0.7           2.1           3.2            2.9 ถึง 3.5
  5) อัตราการขยายตัวของปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละ)      0.0          -1.4           3.8            3.5 ถึง 4.1
  6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                          26.8          36.5          29.4          29.1 ถึง 29.7
     - มูลค่าสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ)              -5.6           0.1           4.7            4.4 ถึง 5.0
     - มูลค่าสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ)             -10.6          -5.1           9.7           9.4 ถึง 10.0
  7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                     32.1          47.7          42.3          42.0 ถึง 42.6
     - ร้อยละของ GDP                                      8.0          11.7           9.5            9.2 ถึง 9.8
  8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป(ร้อยละ)                              -0.9           0.2           0.8            0.5 ถึง 1.1
     อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละ)                             1.0           0.7           0.6            0.3 ถึง 0.9

เอกสารแนบ
รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2560

1.ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2560 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 3.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.3 – 3.9) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากอุปสงค์ภายนอกประเทศ โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการมีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.9 – 3.5) ตามการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากปีก่อนอย่างชัดเจน โดยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่การส่งออกบริการขยายตัวได้ต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาครัฐยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะจากการจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2560 จำนวน 1.9 แสนล้านบาท และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่อาทิ โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟฟ้าในเขตเมือง โครงการมอเตอร์เวย์ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยาน ส่งผลให้การลงทุนภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.5 – 10.1) เช่นเดียวกับการบริโภคภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.4 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.1 – 3.7) สำหรับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 – 2.9) ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการลงทุนภาคเอกชน นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมให้แก่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติและกองทุนพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ ยังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนในประเทศได้มากขึ้น ขณะที่แนวโน้มรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มรายได้นอกภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภาพรวมจะเป็นแรงสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 – 3.6) ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.5 – 4.1) สอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะเร่งขึ้นและการฟื้นตัวของภาคการส่งออก นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐอีกด้วย

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2560 จะอยู่ที่ร้อยละ 0.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 – 1.1) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ตามแนวโน้มต้นทุนจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 42.3 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือคิดเป็นร้อยละ 9.5 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.2 - 9.8 ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลที่ 29.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 29.1 – 29.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 9.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.4 – 10.0) ในขณะที่มูลค่าสินค้าส่งออกคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.4 – 5.0)

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3223

--กระทรวงการคลัง--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ