รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2560

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 4, 2017 15:04 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.99
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,305.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.7 ของ GDP
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม ภายในประเทศเดือน ต.ค. 60 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี
  • ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ต.ค. 60 มีจำนวน 150,668 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ต.ค. 60 เกินดุล 3,535 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 60 มียอดคงค้าง 17 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 60 มียอดคงค้าง 18.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ของสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ของอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของยูโร เดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 0.1 จุด
Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.99 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาในตลาดโลก รวมถึงการปรับเพิ่มราคายาสูบจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ขณะที่ราคาสินค้าจำพวกผักผลไม้มีการปรับตัวลดลงหลังจากเทศกาลกินเจ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 0.61

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 60 มียอดคงค้าง 17 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ชะลอลงและสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจทรงตัว และเมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ด้านสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ต.ค. 60 มียอดคงค้าง 18.4 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าหรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงร้อยละ 3.4 และเงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลงร้อยละ 6.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือน ต.ค. 60 มีจำนวน 150,668 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.7 ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งในเขต กทม. ร้อยละ 8.9 และในเขตภูมิภาคที่ร้อยละ 5.9 ทำให้ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 60 ขยายตัวได้ร้อยละ 4.2 ต่อปี

Economic Indicators: This Week

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ต.ค. 60 เกินดุล 3,535 ล้านดอลลาร์สหรัฐลดลงจากเดือนก่อนที่เกินดุล 6,287 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้าที่เกินดุล 1,624 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากเดือนก่อนจากมูลค่าการส่งออกและนำเข้า (ตามระบบ BOP) ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุล 1,911 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 60 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 39,683 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ต.ค. 60 ขยายตัวที่ ร้อยละ 0.3 ต่อปี และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวร้อยละ -17.2 ต่อเดือน ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 60 ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 โดยหมวดการผลิตที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการขยายตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์ยาง จากจีนที่มีความต้องการนำเข้าสินค้าจากไทยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ และแปรรูปผักและผลไม้ อย่างไรก็ตาม หมวดการปั่น การทอ หมวดเครื่องประดับ และ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วนมีการผลิตหดตัว ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วง 10 เดือนแรกปี 60 ขยายตัวร้อยละ 1.4

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 60 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,305.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.7 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะลดลงสุทธิ 63.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน คิดเป็นร้อยละ 97.4 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 95.2 ของยอดหนี้สาธารณะ

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ตัวเลขทบทวน) หรือร้อยละ 0.8 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) สูงกว่าตัวเลขที่ประกาศก่อนหน้าเล็กน้อย โดยมีปัจจัยหลักมาจากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ด้านยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 13.7 จากเดือนก่อนหน้า ขยายตัวสูงสุดในรอบ 1 ปี สอดคล้องกับยอดใบอนุญาตก่อสร้างบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 60 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 จากเดือนก่อนหน้า ขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 129.5 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 126.2 จุด

Eurozone: improving economic trend

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 0.1 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ -1.1 จุด อัตราการว่างงานเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 8.9 ต่อกำลังแรงงานรวม

China: mixed signal

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 50.8 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.0 จุด

Taiwan: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 56.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.6 จุด

South Korea: mixed signal

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 60 หดตัวร้อยละ 5.9 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.8 GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 3.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน (ตัวเลขทบทวน) เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.7 ในไตรมาสก่อนหน้า การส่งออก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 9.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าขณะที่ การนำเข้า เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 12.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเกินดุลการค้าใน เดือน พ.ย. 60 ที่ 7,840.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 50.2จุด ธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 1.50 จากร้อยละ 1.25 ในเดือนก่อนหน้า

Vietnam: mixed signal

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 17.18 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน ด้านการส่งออก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 19.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าขณะที่ การนำเข้า เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 15.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และเกินดุลการค้าใน เดือน พ.ย. 60 ที่ 0.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 60 ขยายตัวร้อยละ 13.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 51.8 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.6 จุด

India: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการบริโภคในประเทศและการส่งออกสุทธิที่ขยายตัวดี ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 52.6 เพิ่มขึนจากเดือนก่อนหน้าแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจค่อนข้างปรับตัวดีขึ้น

Australia: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ57.3 จุด จากการขยายตัวของทุกดัชนีย่อยประเภทโดยเฉพาะยอดสั่งซื้อ ยอดขาย ยอดการผลิตเพื่อการส่งออก และการขนส่งสินค้า

Hong Kong: worsening economic trend

การส่งออก เดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าขณะที่ การนำเข้า ขยายตัวร้อยละ 7.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า และเกินดุลการค้า ที่ -43,959 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 60 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.7

Japan: worsening economic trend

ยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 60 หดตัวร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.2 อัตราว่างงานเดือน ต.ค. 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 ของกำลังแรงงานรวม ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 53.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 52.8 จุด

Philippines: improving economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน พ.ย. 60 อยู่ที่ระดับ 54.8 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 53.7 จุด

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์และปรับตัวลดลงในปลายสัปดาห์ สวนทางกับดัชนี Dow Jones ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี SET ณ วันที่ 30 พ.ย. 60 ปิดที่ระดับ 1,697.39 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันที่ 27 - 30 พ.ย. 60 ที่ 55,669 ล้านบาทต่อวัน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 27 - 30 พ.ย. 60 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 3,755 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเกือบทุกช่วงอายุปรับลดลง 1-6 bps โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลระยะ 7-8 ปีที่ปรับลดลงสูงสุดจากสัปดาห์ก่อนหน้าอย่างไรก็ตาม ระหว่างวันที่ 27 - 30 พ.ย. 60 โดยมีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 4,592 ล้านบาท

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.31 โดย ณ วันที่ 30 พ.ย. 60 เงินบาทปิดที่ 32.62 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องกับเงินสกุลหลักอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินสกุลหลักอื่น ๆ ยกเว้นเงินริงกิตและวอนที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าเงินบาท ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.25

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ