รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 6, 2018 15:30 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ม.ค. 61 ปี งปม. 61 เบิกจ่ายได้ 244.6 พันล้านบาทลดลงร้อยละ -4.1 ต่อปี
  • รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ม.ค. 61 ได้จำนวน 190.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ต่อปี
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ม.ค. 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -52.8 พันล้านบาท
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 91.0
  • ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ม.ค. 61 ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 61 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,441.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.4 ของ GDP
  • ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ม.ค.61 หดตัวร้อยละ -0.3 ต่อปี
  • ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ม.ค. 61 ขยายตัว ร้อยละ 21.1 ต่อปี
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.1
  • เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 5.1
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ม.ค. 61 เกินดุล 5,210.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.42 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.63
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 60 ของฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ของอินเดียขยายตัวร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

การเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือน ม.ค. 61 ปี งปม. 61 เบิกจ่ายได้ 244.6 พันล้านบาทลดลงร้อยละ -4.1 ต่อปีโดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้ 226.8 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -1.3 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 200.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -5.1 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 26.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 41.6 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายชำระหนี้ของกระทรวงการคลัง 25,355 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 12,381 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 11,443 ล้านบาท และงบลงทุนของกรมทางหลวง 7,109 ล้านบาท ทั้งนี้ รายจ่ายปีงบประมาณปัจจุบันในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 61 สามารถเบิกจ่ายได้ 1,124.6 พันล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 38.8 ของวงเงินงบประมาณ (2,900.0 พันล้านบาท)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) ในเดือน ม.ค. 61 ได้จำนวน 190.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ต่อปี จากการจัดเก็บภาษีฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ต่อปี และการจัดเก็บภาษีฐานการบริโภคที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ต่อปี ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณรายได้สุทธิ (หลังหักจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้ 738.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ต่อปี หรือคิดเป็น ร้อยละ 4.0 ของประมาณการเอกสารงปม.

ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ม.ค. 61 พบว่า ดุลเงินงบประมาณขาดดุลจำนวน -52.8 พันล้านบาทและเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 30.3 พันล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -22.5 พันล้านบาท ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 61 ดุลเงินงบประมาณขาดดุล -474.8 พันล้านบาท และดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุล -526.4 พันล้านบาท ทั้งนี้ เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 188.7 พันล้านบาท

Economic Indicators: This Week

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 91.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 89.1 ในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยมีปัจจัยบวกจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 และการใช้จ่ายด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ อีกทั้งผู้ประกอบการได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้ผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า มีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทในการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักร สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 102.8 ในเดือน ธ.ค. 60เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs

ภาษีมูลค่าเพิ่มที่รัฐบาลจัดเก็บได้ในเดือน ม.ค. 61 มีมูลค่า 69,387 ล้านบาท ขยายตัว ณ ระดับราคาที่แท้จริงที่ร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยแบ่งเป็นภาษีที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 7.6

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 61 มีจำนวนทั้งสิ้น 6,441.4 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 41.4 ของ GDP และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า พบว่า หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 69.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว โดยแบ่งตามอายุของเครื่องมือการกู้เงิน คิดเป็นร้อยละ 97.0 ของยอดหนี้สาธารณะ และเป็นหนี้ในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 95.7 ของยอดหนี้สาธารณะ

ปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศเดือน ม.ค. 61 หดตัวร้อยละ -0.3 ต่อปี โดยชนิดเหล็กที่มียอดจำหน่ายลดลง ได้แก่ เหล็กเส้นกลม และเหล็กเส้นข้ออ้อย และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว พบว่า หดตัวร้อยละ -2.1 ต่อเดือน

ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 21.1 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่อเดือนหลังปรับผลทางฤดูกาล ส่วนหนึ่งเป็นการขยายตัวจากการจัดเก็บรายได้ในส่วนของภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากรายได้อสังหาริมทรัพย์

Economic Indicators: This Week

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 0.42 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าจากการปรับตัวลดลงของราคาอาหารสด ได้แก่ เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ เนื่องจากผลผลิตเข้าสู่ตลาดปริมาณมาก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลง กอปรกับค่าเงินบาทที่แข็งค่า ก็ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับลดลง ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.63 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.0 และเมื่อกำจัดผลทางฤดูกาลแล้วหดตัวร้อยละ -0.7 จากเดือนก่อนหน้า โดยหมวดการผลิตสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการขยายตัวในอัตราชะลอลง ได้แก่ การผลิตเครื่องประดับและอัญมณี การผลิตสิ่งทอ แลการผลิตเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมยายนต์ และอุตสาหกรรมการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น

สินเชื่อในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 61 มียอดคงค้าง 17.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหรือขยายตัวร้อยละ 0.3 จากเดือนก่อนหน้า หลังขจัดผลทางฤดูกาล โดยสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ทรงตัว ขณะที่สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวชะลอลง และเมื่อแยกประเภทการขอสินเชื่อ พบว่าสินเชื่อเพื่อธุรกิจขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 3.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า และสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

เงินฝากในสถาบันการเงินเดือน ม.ค. 61 มียอดคงค้าง 18.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วจะคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่เงินฝากในสถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือน ม.ค. 61 เกินดุล 5,210.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่เกินดุล 3,856.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นผลมาจากดุลการค้า (ตามระบบ BOP) ที่เกินดุล 1,331.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากมูลค่าการส่งออกและนำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้น ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์จากคู่ค้าหลักตลอดจนราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอน เกินดุล 3,879.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากรายรับจากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดี

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend

ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ 5.93 แสนหลังต่อปี คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -7.8 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาล) ผลจากยอดขายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ที่หดตัวมาก ดัชนีความเชื่อมันผู้บริโภค เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 130.8 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจากดัชนีย่อยหมวดสถานการณ์ปัจจุบันและความคาดหวังในอนาคตที่ปรับตัวสูงขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 60.8 จุด สูงสุดในรอบเกือบ 18 ปี ผลจากดัชนีย่อยเกือบทุกหมวดปรับตัวสูงขึ้น เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 61 นายเจอโรม พาวเวล ประธาน Fed คนใหม่ ปราศรัยต่อสภาคองเกรส สหรัฐฯ โดยเน้นย้ำว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง

Eurozone

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 0.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 1.4 จุด เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นต่อการจ้างงานในอนาคตที่ลดต่ำลง อัตราเงินเฟ้อ (เบื้องต้น) เดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 1.4 จากดัชนีราคาหมวดการศึกษาที่ลดลงเป็นสำคัญ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 58.6 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปริมาณผลผลิตและยอดคำสั่งซื้อใหม่ปรับลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราการว่างงานเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 8.6 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี

China: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม (NBS) เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 50.3 จุด ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากดัชนีหมวดผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ปรับลดลง ในขณะที่ดัชนีฯ ที่จัดทำโดย Caixin อยู่ที่ระดับ 51.6 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากดัชนียอดคำสั่งการผลิตเพิ่มขึ้น ดัชนี PMI ภาคบริการ (NBS) เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 54.4 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากดัชนีหมวดยอดคำสั่งซื้อเพื่อส่งออกปรับตัวลดลง

Japan: worsening economic trend

ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ผลจากยอดขายรถยนต์ที่หดตัวร้อยละ -0.4 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 61 (เบื้องต้น)ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าจากผลผลิตของหมวดโลหะประดิษฐ์ที่หดตัว ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 54.1 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้าจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ ดัชนีความเชื่อมันผู้บริโภค เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 44 จุด ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

Singapore: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 17.9 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -3.4 จากการเร่งขึ้นของผลผลิตหมวดคอมพิวเตอร์และสิ่งทอเป็นหลัก

Malaysia: improving economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.5 เนื่องจากการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อในหมวดขนส่ง

South Korea: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ ชะลอตัวและหดตัว ตามลำดับ ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 14.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 3,3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับ 50.3 จุด ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน จากดัชนีหมวดผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ตัวชะลอตัว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ 108.2 จุด

Vietnam: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อน จากการส่งออกโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ที่ชะลอลง ด้านมูลค่าการนำเข้าหดตัวร้อยละ -17.4 จากการชะลอลงของการนำเข้าเครื่องจักร ส่งผลให้เกินดุลการค้า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จากหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 26.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 29.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวชะลอลง

Hong Kong: worsening economic trend

GDP ไตรมาส 4 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 3.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ส่งผลให้ GDP ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 3.8 เร่งขึ้นจากปี 59 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 18.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไปจีนขยายตัวได้ในระดับสูง ด้านมูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 23.8 โดยมูลค่าการนำเข้าจากจีนขยายตัวร้อยละ 20.6 ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3.46 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Australia: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 61 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 57.5 จุด จากดัชนีหมวดผลผลิต ยอดสั่งซื้อสินค้าใหม่ ยอดขายสินค้า สินค้าคงคลังและการจัดส่งที่ชะลอลง

India: improving economic trend

GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 60 ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 1.8 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดู) เป็นการขยายตัวที่สูงสุดในรอบ 6 ไตรมาส จากการลงทุนและการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ทั้งปี 60 อยู่ที่ร้อยละ 6.4 ด้านดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 61 ลดลงอยู่ที่ระดับ 52.1 จุด จากดัชนีหมวดผลผลิตและคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ขยายตัวชะลอตัวลง

UK: worsening economic trend

ดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 8 เดือนที่ระดับ 55.2 เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลง และแรงกดดันด้านราคาวัตถุดิบยังคงอยู่ในระดับสูง

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET เคลื่อนไหวในกรอบแคบระหว่างสัปดาห์ ก่อนจะปรับตัวลดลงเล็กน้อยช่วงปลายสัปดาห์ โดย ณ วันที่ 28 ก.พ. 61 ดัชนีฯปิดที่ระดับ 1,830.13 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยทั้งสัปดาห์ 84,268 ล้านบาทต่อวัน สอดคล้องกับดัชนี MSCI AC Asia Pacific ที่ปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์เช่นกัน ส่วนหนึ่งจากถ้อยแถลงของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเริ่มตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าประเภทเหล็กกล้าและอลูมิเนียมซึ่งเร็วกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ทั้งนี้ ดัชนี SET มีแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ขณะที่ระหว่างวันที่ 26 - 28 ก.พ. 61 นักลงทุนต่างชาติขายหลักทรัพย์สุทธิ 3,399 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลง 1-4 bps โดยผลการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วัน และพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5.37 ปี มีผู้สนใจประมูล 2.72 และ 3.32 เท่า ของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 26 - 28 ก.พ. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดพันธบัตรสุทธิ 1,421.78 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 28 ก.พ. 61 เงินบาทปิดที่ 31.46 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.21 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินเยนและหยวน ขณะที่เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราที่สูงกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.33

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ