รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 12 - 16 มีนาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 19, 2018 14:29 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • การจ้างงานเดือน ก.พ. 61 หดตัวที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด
  • ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 61 คิดเป็น 1.80 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย
  • ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 61 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการว่างงานของสหรัฐ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงาน
  • ด้านอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกของจีน เดือน ม.ค.-ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อของยูโรโซน เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของเกาหลีใต้ เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เดือน ม.ค. 61 ขยายตัว ร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซีย เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: This Week

การจ้างงานเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ 37.6 ล้านคน ลดลง 8.2 หมื่นคน หรือหดตัวที่ร้อยละ -0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมที่มีจำนวนการจ้างงานลดลง 3.5 แสนคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -3.7 รวมถึงภาคบริการที่มีจำนวนการจ้างงานลดลงเช่นกัน 3.0 แสนคน คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -1.7 อย่างไรก็ตาม การจ้างงานภาคเกษตรมีจำนวนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 5.7 แสนคน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.4 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 4.9 แสนคน

ระดับสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในเดือน ม.ค. 61 คิดเป็น 1.80 เท่าของสินทรัพย์สภาพคล่องที่ต้องดำรงตามกฎหมาย โดยยอดคงค้างสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในเดือนดังกล่าวอยู่ที่ 4.0 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 3.7 ล้านล้านบาทในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ธปท. ได้ปรับเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์จากเกณฑ์เดิมที่ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 ของเงินรับฝากเป็นไม่ต่ำกว่า ร้อยละ 100 (หรือ 1.0 เท่า) ของประมาณการกระแสเงินสดไหลออกสุทธิในสภาวะวิกฤต(Liquidity Coverage Ratio: LCR) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 59

ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.พ. 61 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และหดตัวร้อยละ -0.9 ต่อเดือน หลังปรับผลทางฤดูกาล ทั้งนี้ 2 เดือนแรกของปี 61 ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่งเวลาเดียวกันของปีก่อน

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal

การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ถึง 3.1 แสนตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า จากการจ้างงานในหมวดการก่อสร้าง ค้าปลีก และบริการทางธุรกิจและวิชาการ ที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก นอกจากนี้ อัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงาน เดือน ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 63.0 ของประชากรวัยแรงงานอย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 61 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงาน เป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยที่ราคาหมวดที่อยู่อาศัยขยายตัวสูงสุดถึงร้อยละ 2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยที่ยอดค้าปลีกในหมวดปั๊มน้ำมันหดตัวมากที่สุดที่ร้อยละ -1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Eurozone: worsening economic trend

อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการลดลงของอัตราเงินเฟ้อในหมวดพลังงาน อัตราการว่างงานเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 8.6 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยอัตราการว่างงานในเยอรมนี ฝรั่งเศส ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.6 และ 9.0 ขณะที่ในอิตาลี อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 11.1 ต่อกำลังแรงงานรวม

China: mixed signal

ยอดค้าปลีก เดือน ม.ค.-ก.พ. 61 อยู่ที่ 6.1 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 9.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากปี 60 ที่ขยายตัวร้อยละ 10.2 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร เดือน ม.ค.-ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการลงทุนในอุตสาหกรรมทุกขั้นที่เร่งตัวขึ้นมาก โดยเฉพาะขั้นตติยภูมิ

South Korea: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ -11.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 14.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน ส่งผลให้เกินดุลการค้า 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเกินดุลต่ำสุดในรอบ 1 ปีกว่า อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.6 ของกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

Japan: worsening economic trend

ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 2.7 จากช่วงเดียวกัน ปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า ผลจากผลิตภัณฑ์แปรรูปเหล็กและโลหะที่หดตัว

Indonesia: worsening economic trend

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 11.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเป็นผลจากการส่งออกสินค้าหมวดเหมืองแร่และน้ำมันตลอดจนก๊าซธรรมขาติที่ขยายตัวเร่งขึ้นขณะที่ มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 61 ขยายตัวร้อยละ 25.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากการนำเข้าน้ำมันกับก๊าซธรรมชาติที่หดตัว ทำให้ดุลการค้า เดือน ก.พ. 61 ขาดดุล -11.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Malaysia: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 3.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากการขยายตัวของผลผลิตกลุ่มเหมืองแร่และการผลิตไฟฟ้ายอดค้าปลีก เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวร้อยละ 8.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.2 จากยอดขายยานพาหนะเป็นสำคัญ อัตราการว่างงานเดือน ม.ค. 61 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ต่อกำลังแรงงานรวม ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้าโดยทั้งจำนวนกำลังแรงงานรวมปรับและการจ้างงานต่างปรับตัวสูงขึ้น

Singapore: improving economic trend

อัตราการว่างงาน ไตรมาสที่ 4 ปี 60 อยู่ที่ร้อยละ 2.1 ต่อกำลังแรงงานรวม ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่อกำลังแรงงานรวม เป็นผลจากการจ้างงานในหมวดการผลิตและก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น

India: improving economic trend

ผลผลิตอุตสาหกรรม เดือน ม.ค. 61 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 7.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการผลิตหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าขั้นกลาง และสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวเร่งขึ้น อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 2.8 ในเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าหมวดที่ไม่ใช่อาหารหดตัวขณะที่ราคาสินค้าหมวดอาหารชะลอลง

Hong Kong: mixed signal

ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในตลาดแรก เดือน ก.พ. 61 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,168 ธุรกรรม เป็นมูลค่า 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือหดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดขายฯ ในตลาดรอง เดือน ก.พ. 61 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,314 ธุรกรรม เป็นมูลค่า 3.37 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 77.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Weekly Financial Indicators

ดัชนี SET ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยดัชนี SET ณ วันที่ 15 มี.ค. 61 ปิดที่ระดับ 1,816.08 จุด ซึ่งสวนทางกับดัชนีดาวโจนส์และดัชนีในภูมิภาค อาทิ ดัชนี JCI อินโดนีเซีย ดัชนี PSEi ฟิลิปปินส์ และ STI สิงคโปร์ ด้วยแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ นักลงทุนบัญชีหลักทรัพย์ และนักลงทุนต่างชาติ โดยมีมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยระหว่างวันที่ 12 - 15 มี.ค. 61 ที่ 68,868 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อหลักทรัพย์ในหลายหมวด อาทิ พลังงาน สื่อสาร ปิโตรเคมี และโรงพยาบาล เป็นต้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 12 - 15 มี.ค. 61 นักลงทุนต่างชาติซื้อหลักทรัพย์สุทธิ 5,363 ล้านบาท

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสันและระยะกลางปรับลดลงเล็กน้อย 0 - 2 bps ขณะที่ระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้น 1 - 2 bps โดยผลการประมูลตั๋วเงินคลังอายุ 28 วัน และพันธบัตรรัฐบาลอายุ 20.59 ปี มีนักลงทุนสนใจถึง 1.82 และ 1.91 เท่าของวงเงินประมูล ตามลำดับ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 12 - 15 มี.ค. 61 มีกระแสเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรสุทธิ 15,848 ล้านบาท

เงินบาทแข็งค่าขึ้น โดย ณ วันที่ 15 มี.ค. 61 เงินบาทปิดที่ 31.16 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.48 จากสัปดาห์ก่อนหน้า สอดคล้องกับเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชียที่แข็งค่าขึ้นเช่นกัน อาทิ ดอลลาร์สิงคโปร์ วอน และหยวน อย่างไรก็ตาม เงินบาทแข็งค่าขึ้นในอัตราที่มากกว่าเงินสกุลอื่นๆ โดยเฉลี่ย ส่งผลให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.47

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ