ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2553 และแนวโน้มปี 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 2, 2011 14:51 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้การส่งออก การท่องเที่ยว รวมทั้งรายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้น โดยอัตราการว่างงานอยู่ในอัตราที่ต่ำ หากปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาสที่สามร้อยละ 1.2 (%QoQ SA)
  • ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 7.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคครัวเรือน ที่ขยายตัวร้อยละ 13.8 และ 4.8 ตามลำดับ รวมทั้งการส่งออกสินค้ารูปดอลลาร์สหรัฐที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 28.5
  • การประมาณการแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจไทยปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 — 4.5 ชะลอลงจากปี 2553 โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 12.5การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.0 และ 8.5 ตามลำดับ ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 2.8 — 3.8 อัตราการว่างงานร้อยละ 0.9 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 3.5 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญในปี 2554 ได้แก่ 1) ดูแลราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพื่อให้เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร และราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะการติดตามแนวโน้มการผลิตและการบริหารสต็อกของสินค้าที่สำคัญ 2) การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สมดุลระหว่างการรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก การเคลื่อนย้ายเงินทุน 3) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว 4) การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและการบริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ 5) การเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิต ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจของนักลงทุนต่างชาติ และ 6) เร่งรัดฟื้นฟูความสามัคคีปรองดองของคนไทย และแก้ปัญหาความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อรักษาภาพลักษณ์ของไทยในสายตานักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2554

             (% YOY)               2552    -------2553------        ประมาณการ
                                    ทั้งปี    Q3      Q4    ทั้งปี          2554
          GDP(ณ ราคาคงที่)           -2.3    6.6    3.8    7.8       3.5-4.5
          การลงทุนรวม(ณ ราคาคงที่)    -9.2    7.9    6.4    9.4           7.3
          ภาคเอกชน                -13.1   14.6    9.2   13.8           8.5
          ภาครัฐ                     2.7   -5.4   -3.1   -2.2           3.5
          การบริโภครวม(ณ ราคาคงที่)    0.1    4.8    3.5    5.0           3.9
          ภาคเอกชน                 -1.1    5.0    3.8    4.8           4.0
          ภาครัฐบาล                  7.5    3.7    1.8    6.0           3.2
          มูลค่าการส่งออกสินค้า(US$)   -14.0   22.2   21.1   28.5          12.5
          ปริมาณ                   -13.6   13.1   12.2   17.3           6.8
          มูลค่าการนำเข้าสินค้า (US$)  -25.2   30.7   18.8   36.8          14.6
          ปริมาณ                   -23.1   24.9   12.0   26.5           8.1
          ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)    8.3    2.5    6.4    4.6           3.5
          เงินเฟ้อ                   -0.8    3.3    2.8    3.3       2.8-3.8
          อัตราการว่างงาน             1.5    0.9    0.9    1.0           0.9

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ปี 2553 และแนวโน้มปี 2554

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยมีแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความมั่นใจของนักลงทุน ส่งผลให้การส่งออก การลงทุน และการบริโภคของภาคเอกชนยังคงขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสสามของปี 2553 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว ขยายตัวร้อยละ 1.2 (%QoQ SA)ทั้งปี 2553 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 7.8

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ ปี 2553

(1) ภาคการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสนี้มีมูลค่า 51,850 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวร้อยละ 21.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า การส่งออกสินค้าหลักๆ ได้แก่ ยานพาหนะและชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง และอัญมณีและเครื่องประดับ ขยายตัวร้อยละ 23.8 17.3 49.0 27.6 และ 77.5 ตามลำดับ ตลาดส่งออกหลักทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 12.0 14.6 และ 24.4 ตามลำดับ ทั้งปี 2553 การส่งออกมีมูลค่า 193,663 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 28.5)

(2) ภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาเมืองไทยในไตรมาสสี่มีจำนวน 4.6 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สองและสามที่มีจำนวน 2.9 และ 3.7 ล้านคน ตามลำดับ โดยนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ จีน และอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 41.1 26.6 และ 46.2ตามลำดับ ส่งผลให้ GDP ในสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 7.9 รวมทั้งปี 2553 นักท่องเที่ยวต่างชาติมีจำนวน 15.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 เมื่อเทียบกับปี 2552

(3) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกรจากราคาพืชผลหลัก เช่น ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 54.071.9 59.0 และ 31.7 ตามลำดับ ประกอบกับภาวะการจ้างงานอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 อัตราการว่างงานต่ำที่ร้อยละ 0.9 อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมปรับตัวลดลง เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในอนาคต รวมทั้งมีความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปี 2553 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.8

(4) การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 9.2 เป็นการขยายตัวทั้งการลงทุนเครื่องจักรเครื่องมือและสิ่งก่อสร้างสะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุนและยอดจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ที่ขยายตัวร้อยละ 15.3 และ 31.6ตามลำดับ รวมทั้งมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในการก่อสร้างอาคารโรงงาน ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มการขยายการผลิตในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันอัตราการใช้กำลังการผลิตหลายอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะตึงตัว ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ (Business Sentiment Index : BSI) เฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ 51.4 ปรับตัวดีขึ้นจาก 50.4ในไตรมาสที่ผ่านมา รวมทั้งปี 2553 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 13.8

เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2553

ภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 7.8 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนค่าใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการส่งออกสินค้าบริการที่ขยายตัวร้อยละ 13.8 4.8 และ 14.7 ตามลำดับในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวสูงถึงร้อยละ 13.9 รวมทั้งกิจกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวเช่น สาขาโรงแรม ภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 8.4 อย่างไรก็ตาม ในปี 2553 ภาคเกษตรกรรมได้รับผลกระทบทั้งจากภัยแล้งในช่วงต้นปี และปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี ทำให้ทั้งปี 2553 หดตัวร้อยละ 2.2

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2554

สศช. คาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5 — 4.5 ชะลอตัวจากร้อยละ 7.8 ในปี 2553 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก การเพิ่มขึ้นของฐานรายได้ของผู้บริโภคฐาน รวมทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ค่าจ้างภาคเอกชน รายได้เกษตรกรกรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรหลักที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตามยังคงมีปัจจัยที่ต้องระมัดระวังหลายประการ โดยเฉพาะแรงกดกันจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานในบางอุตสาหกรรม และความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของค่าเงินบาท ตลาดทุน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

โดยคาดว่าในปี 2554 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.8 — 3.8 การบริโภคของภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.0การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 8.5 มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 12.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 3.5 ของ GDP ลดลงจากการเกินดุลร้อยละ 4.6 ของ GDP ในปี 2553

1. ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สี่ ปี 2553 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

  • ด้านการใช้จ่าย

การใช้จ่ายครัวเรือน: ในไตรมาสที่สี่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสสามที่ขยายตัวร้อยละ5.0 สอดคล้องกับการชะลอลงของภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ณ ราคาคงที่ ที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 และ 13.7 ตามลำดับ โดยปัจจัยที่สนับสนุนการใช้จ่ายครัวเรือน ได้แก่ (1) อัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ (2) รายได้เกษตรกรสูงขึ้นตามราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้น เนื่องมาจากผลผลิตลดลงเพราะสภาพอากาศที่แปรปรวน ในขณะที่ความต้องการของตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และ(3) อัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้การบริโภคสินค้าคงทนยังคงขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 16.6 ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้เท่ากับ 71.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 72.6ในไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วมในเดือนตุลาคม 2553 ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการจ้างงานในปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงในปัจจุบัน

รวมทั้งปี 2553 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 4.8 เป็นการขยายตัวในการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนร้อยละ 25.1 สินค้ากึ่งคงทนร้อยละ 6.7 สินค้าไม่คงทนร้อยละ 1.7 และบริการร้อยละ 1.4

การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวร้อยละ 9.2 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 14.6 เป็นผลมาจากการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 9.2 โดยการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงร้อยละ 15.3เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้มีการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อขยายกำลังการผลิตไปมากแล้ว โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ภายในประเทศยังขยายตัวอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 31.6 เป็นผลมาจากการผ่อนคลายเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนการลงทุนในสิ่งก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 9.4 โดยเฉพาะการก่อสร้างอาคารโรงงานยังขยายตัวได้ดี ในขณะที่การก่อสร้างประเภทอื่นๆ ชะลอลง

ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี ที่ระดับ 51.4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้าได้ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.1 ในไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 55.5แสดงถึงความไม่มั่นใจต่อภาวะทางเศรษฐกิจและการเมือง ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และข้อจำกัดในการปรับราคาสินค้ายังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในระยะต่อไป

รวมทั้งปี 2553 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 13.8 โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักร และการลงทุนก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 14.7 และ 10.6 ตามลำดับ

การส่งออก: มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สี่ในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นมูลค่าถึง 51,850 ล้านดอลลาร์ สรอ. แต่เมื่อพิจารณาในรูปของอัตราการขยายตัว มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 21.1 ชะลอตัวจากไตรมาสที่สองและไตรมาสที่สามที่ขยายตัวร้อยละ 41.8 และ 22.2 ตามลำดับ โดยปริมาณและราคาเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2 และ 7.3 ตามลำดับ เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 18.3 การที่มูลค่าการส่งออกขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเป็นผลมาจากมูลค่าฐานที่สูงในปีก่อน ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกยังคงขยายตัวได้ดี เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553ยังมีแนวโน้มที่ดี รวมไปถึงค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงในเดือนธันวาคม

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลมาจากอุปทานสินค้าเกษตรสำคัญในตลาดโลกลดลงจากผลกระทบของภัยธรรมชาติ ทำให้ราคาการส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 29.7 แต่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 0.5 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.0 สินค้าอุตสาหกรรมทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัว โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 และ 20.1จากไตรมาสที่สามที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 และ 21.9 ตามลำดับ ส่วนราคาเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.9 สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 1.2 และ 17.3ตามลำดับ เมื่อแยกตามประเภทอุตสาหกรรมส่งออก พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง และสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 และ 9.3 ตามลำดับอย่างไรก็ตาม มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูงขยายสูงถึงร้อยละ 49.2 เมื่อเปรียบเทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ของไตรมาสที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

รวมทั้งปี 2553 มูลค่าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. และปริมาณการส่งออกขยายตัวร้อยละ 28.5 และ 17.3 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี2552 ที่หดตัวร้อยละ 14.0 และ 14.2 ตามลำดับ ส่วนราคาการส่งออกขยายตัวร้อยละ 9.1 ต่อเนื่องจากปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.3

ตลาดส่งออก: ในไตรมาสที่สี่ ชะลอตัวทั้งในตลาดหลักและตลาดอื่นๆ เป็นผลมาจากฐานการส่งออกเป็นสำคัญ โดยเฉพาะตลาดอาเซียน (9) ที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 27.5 ในไตรมาสก่อนหน้า เช่นเดียวกับจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (15) ที่ขยายตัวร้อยละ 19.2 12.024.4 และ 14.6 ตามลำดับ สำหรับตลาดอื่นๆ ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฮ่องกง (54.0%) และเกาหลีใต้ (20.1%) ส่วนตลาดอื่นๆ ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง คือ ออสเตรเลีย (-11.1%) เป็นผลมาจากมูลค่าฐานการส่งออกที่สูงในปี 2552 โดยเฉพาะการส่งออกรถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร รวมทั้งการส่งออกเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์เพื่อก่อสร้างโรงแยกก๊าซ

การนำเข้า: ทั้งมูลค่าและปริมาณมีแนวโน้มชะลอลง ส่วนราคายังคงขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ในไตรมาสที่สี่ มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 18.8 ชะลอลงจากไตรมาสที่สองและสามที่ขยายตัวถึงร้อยละ 44.8 และ 30.7 ตามลำดับ ปริมาณการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 12.0 ชะลอตัวเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 24.9 ในไตรมาสที่แล้ว ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าทุกภาคเศรษฐกิจชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานที่สูงในช่วงครึ่งหลังของปีที่ผ่านมา ยกเว้นสินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ มูลค่า และราคา ตามความต้องการภายในประเทศและราคาที่สูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว

เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว และพิจารณาเป็นรายหมวด พบว่า สินค้านำเข้าทุกหมวดขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงทั้งปริมาณและมูลค่า ยกเว้นเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ มูลค่า และราคา โดยสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 18.1 จากที่ขยายตัวร้อยละ 27.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการลงทุนภายในประเทศที่ยังคงทรงตัว และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปขยายตัวร้อยละ 21.2 ชะลอลงจากไตรมาสที่สาม ที่ขยายตัวร้อยละ 31.9 ตามการส่งออกและการผลิตที่ชะลอลง อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปบางรายการที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก สินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงตามการใช้จ่ายภาคครัวเรือน โดยมูลค่าขยายตัวร้อยละ 16.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 19.8 ในไตรมาสที่ผ่านมา ส่วนสินค้าเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่นมี มูลค่า ปริมาณ และราคานำเข้าเพิ่มขึ้น โดยมูลค่านำเข้าขยายตัวร้อยละ 21.5 เร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่สามสำหรับปริมาณ และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 และ 10.0 ตามลำดับ ตามความต้องการภายในประเทศที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการที่มากขึ้นในช่วงฤดูหนาว

รวมทั้งปี 2553 มูลค่า ปริมาณ และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.8 26.4 และ 8.1 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 25.2 23.3 และ 2.6 ตามลำดับ

อัตราการค้า (Term of Trade) ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 ขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5 ทำให้อัตราการค้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ซึ่งเป็นผลดีต่อรายได้ของผู้ส่งออก แต่ต่ำกว่าไตรมาสที่ผ่านมา ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3

รวมทั้งปี 2553 อัตราการค้าขยายตัวร้อยละ 1.0 ต่ำกว่าปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 และราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1

ดุลการค้า: เกินดุลเพิ่มขึ้น โดยเกินดุล 4,072 ล้านดอลลาร์ สรอ. (122,001 ล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 3,303 ล้านดอลลาร์ สรอ. (101,291 ล้านบาท) ในไตรมาสที่แล้ว

รวมทั้งปี 2553 ดุลการค้าเกินดุลน้อยกว่าปี 2552 โดยเกินดุล 14,031 ล้านดอลลาร์ สรอ. (439,600 ล้านบาท)ต่ำกว่าปี 2552 ที่เกินดุล 19,388 ล้านดอลลาร์ สรอ. (669,119 ล้านบาท) หรือดุลการค้าหดตัวร้อยละ 27.6เมื่อเทียบกับปี 2552

(ยังมีต่อ).../ด้านการผลิต..

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ