ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สอง และแนวโน้มปี 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 19, 2013 14:39 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค           แถลงข่าว 9.30 น. 19 สิงหาคม 2556

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2556

(% YOY)                            2555                       2556
                                Q4     ทั้งปี            Q1        Q2        ทั้งปีf
GDP (ณ ราคาคงที่)                19.1    6.5           5.3       2.8      3.8—4.3
การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่)         22.9   13.2           6.0       4.5        6.0
   ภาคเอกชน                    20.9   14.4           3.1       1.9        4.0
   ภาครัฐ                       31.1    8.9          18.8      14.8       13.8
การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่)        12.4    6.8           3.9       3.0        2.6
   ภาคเอกชน                    12.4    6.7           4.2       2.4        2.5
   ภาครัฐบาล                    12.5    7.5           2.2       5.8        3.6
มูลค่าการส่งออกสินค้า               18.2    3.2           4.5      -6.4        5.0
   ปริมาณ                       17.0    2.6           4.1      -1.5        5.0
มูลค่าการนำเข้าสินค้า               14.9    7.8           7.1      -3.2        6.5
   ปริมาณ                       15.4    6.1           9.1       4.4        7.8
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)          0.2    0.8           0.0      -0.1        0.3
เงินเฟ้อทั่วไป                      3.2    3.0           3.1       2.3      2.3-2.8
อัตราการว่างงาน                   0.5    0.7           0.7       0.8        0.7    ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสแรก ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออก หดตัวร้อยละ 0.3 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (% QoQ SA)
  • ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนในขณะที่การส่งออกหดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาทในด้านการผลิต การขยายตัวมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากสาขาการโรงแรมและภัตตาคารอสังหาริมทรัพย์ การค้าปลีกค้าส่ง และการเงิน ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรมหดตัวตามการหดตัวของอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออก
  • การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2556 ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก การดำเนินมาตรการของภาครัฐ เพื่อรักษาเสถียรภาพและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ปัจจัยพื้นฐานด้านการลงทุนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่าและเอื้ออานวยต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งการขยายตัวสูงของภาคการท่องเที่ยว
  • เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 — 4.3 โดยการบริโภคและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.6 และ 6.0 ตามลาดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.3 - 2.8 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.3 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2556 ประกอบด้วย (1) การเร่งรัดดาเนินมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 โดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ การดาเนินมาตรการสนับสนุนการส่งออกสินค้าและบริการ และการเตรียมความพร้อมให้กับมาตรการด้านการสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน (2) การเร่งรัดให้เม็ดเงิน

ที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้สามารถดำเนินโครงการลงทุนได้โดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปีที่ยังมีข้อจำกัด จากฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น (3) การเตรียมความพร้อมของโครงการลงทุนภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้โครงการลงทุนที่มีความพร้อมสามารถเริ่มดำเนินการและสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว และ (4) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวและขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งที่มีอยู่เดิมและแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และยกระดับคุณภาพการให้บริการให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว รวมสร้างสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวโดยการดูแลความปลอดภัยอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ

เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2556 และแนวโน้มปี 2556

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 2.8 ชะลอตัวจากการขยายตัวร้อยละ 5.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการขยายตัวด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าตามฐานที่สูงขึ้น ในขณะที่การส่งออกหดตัวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท การขยายตัวในด้านการผลิต มีปัจจัยสนับสนุนสาคัญ จากสาขาการโรงแรมและภัตตาคาร อสังหาริมทรัพย์ การค้าปลีกค้าส่ง และการเงิน ในขณะที่สาขาอุตสาหกรรมหดตัวตามภาคการส่งออก เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2556 เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สอง เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2556 และปรับผลของฤดูกาลออก หดตัวร้อยละ 0.3 ส่วนในช่วงครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.1

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2556

(1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 4.4 ในไตรมาสก่อน ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นและการลดลงของแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก โดยค่าใช้จ่ายในสินค้าคงทนชะลอตัวลงตามการชะลอตัวของการจำหน่ายรถยนต์นั่งจากการขยายตัวร้อยละ 121.8 ในไตรมาสก่อน เป็นร้อยละ 5.2 ในไตรมาสนี้ ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ 8.1 เช่นเดียวกับ การบริโภคสินค้าในหมวดอื่นๆ ซึ่งขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงตามรายได้เกษตรกรที่ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และการลดลงของรายได้จากการส่งออกในรูปเงินบาท ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 72.8 ลดลงจากระดับ 73.8 ในไตรมาสก่อนหน้า

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.4

(2) การลงทุนรวม ขยายตัวร้อยละ 4.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.8 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากฐานที่สูงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อน ตามการชะลอตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรและการก่อสร้างที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 และร้อยละ 7.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การลงทุนใหม่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 358 พันล้านบาท ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 14.8 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 18.8 ในไตรมาสก่อนหน้า

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 5.1

(3) การส่งออกสินค้า มูลค่าการส่งออกสินค้าเท่ากับ 55,563 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,662,137 ล้านบาท) หดตัว ร้อยละ 1.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสแรกของปี 2556 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาท การส่งออกหดตัวทั้งสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร สินค้าส่งออกที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ (ร้อยละ12.2) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน(ร้อยละ 8.5) ผลิตภัณฑ์โลหะ (ร้อยละ 6.6) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 10) ในขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตร ที่สาคัญหดตัว เช่น ข้าว (ร้อยละ 14) ยางพารา (ร้อยละ 16.8) และมันสำปะหลัง (ร้อยละ 8.3) การส่งออก ไปตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) และญี่ปุ่น หดตัวร้อยละ 3.5 ร้อยละ 5.2 และร้อยละ 6.2 ตามลาดับ ในขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน (9) ฮ่องกง และออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 2.5 ร้อยละ 7.8 และร้อยละ 16.3 ตามลำดับ เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 6.3

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 1.2 ในขณะที่มูลค่า การส่งออกในรูปเงินบาทลดลงร้อยละ 3

(4) ภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 0.1 ชะลอตัวจากร้อยละ 0.8 ในไตรมาสก่อน ตามการหดตัวของผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังซึ่งประสบปัญหาภัยแล้ง ในขณะที่ผลผลิตประมงหดตัวเนื่องจากการระบาดของโรคตายด่วนในกุ้ง (Early Mortality Syndrome : EMS) ที่มีผลกระทบต่อการผลิตอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามราคาสินค้าเกษตรขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส โดยเฉพาะราคามันสำปะหลัง กลุ่มไม้ผล ปศุสัตว์ และประมง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี ภาคเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 0.4

(5) ภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสก่อน สะท้อนจากดัชนี ผลผลผลิตอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออก (มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) หดตัวร้อยละ 13.8 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเงินบาทแข็งค่า อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกระหว่างร้อยละ 30 - 60 ขยายตัวร้อยละ 8.6 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 63.4

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2

(6) ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 5 ชะลอตัวจากร้อยละ 10.5 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากการชะลอตัว ของการก่อสร้างภาครัฐ แต่การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 7.1 สอดคล้องกับปริมาณ การจำหน่ายปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์เหล็กที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 และร้อยละ 22 ตามลำดับ ในขณะที่ การก่อสร้างภาครัฐขยายตัวร้อยละ 2.4

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี ภาคการก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.6

(7) สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวสูงร้อยละ 14.2 ต่อเนื่องจากร้อยละ 14.8 ในไตรมาสก่อน สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 5.9 ล้านคน ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 21.3 จากร้อยละ 18.9 ในไตรมาสแรก และรายรับจากการท่องเที่ยว 2.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60

เฉลี่ยครึ่งแรกของปี สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 14.5

แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2556

เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 — 4.3 โดยคาดว่าการบริโภคและการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 2.6 และ ร้อยละ 6 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วงร้อยละ 2.3 - 2.8 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.3 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สองของปี 2556 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้
  • ด้านการใช้จ่าย

การใช้จ่ายภาคครัวเรือน: ชะลอตัวลงตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นและการลดลงของแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ในไตรมาสที่สองของปี 2556 การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 2.4 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.3 ในไตรมาสที่สองของปี 2555 และร้อยละ 4.4 ในไตรมาสแรกของปี 2556 ซึ่งเป็นผลมาจากฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นและการลดลงของแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีรถยนต์คันแรก ในขณะที่รายได้เกษตรกรยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และสินเชื่อชะลอตัวลง โดยค่าใช้จ่ายในสินค้าคงทนชะลอตัวตามการชะลอตัวของการจำหน่ายรถยนต์นั่งจากการขยายตัวร้อยละ 121.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 5.2 ในไตรมาสนี้ ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และปริมาณการจำหน่ายเบียร์ หดตัวร้อยละ 8.1 และ 3.4 ตามลำดับ เช่นเดียวกับการบริโภคสินค้าในหมวดอื่นๆ ซึ่งขยายตัวในอัตรา ที่ชะลอตัวลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานการขยายตัวที่สูงในไตรมาสเดียวกันของปี 2555 และการฟื้นตัวของรายได้เกษตรกรยังเป็นไปอย่างช้าๆ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 72.8 เทียบกับระดับ 73.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2556 การใช้จ่ายครัวเรือนขยายตัวร้อยละ 3.4

การลงทุนภาคเอกชน: ชะลอตัวลงจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่สูงผิดปกติในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ ในไตรมาสที่สอง การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 11.8 ในไตรมาสที่สองของปี 2555 และร้อยละ 2.9 ในไตรมาสแรกของปี 2556 ตามการชะลอตัวของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรซึ่งขยายตัว ร้อยละ 0.6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการนำเข้าสินค้าทุนลดลงร้อยละ 10.3 เนื่องจากมีการเร่งนาเข้าสินค้าทุนเพื่อฟื้นฟูกำลังการผลิตในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ปริมาณ การจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ในประเทศขยายตัวร้อยละ 1.5 ชะลอตัวลงมากเมื่อเทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 88.9 ในไตรมาสที่สองของปี 2555 และร้อยละ 17.1 ในไตรมาสแรกของปี 2556 อย่างไรก็ตาม

การลงทุนก่อสร้างยังขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ร้อยละ 7.1 แม้จะชะลอตัวลงจากร้อยละ 8.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปริมาณการจาหน่ายเหล็กและปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 22 และ 10.6 ตามลาดับ การชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนสอดคล้องกับการลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจในไตรมาสปัจจุบันจากระดับ 52.2 ในไตรมาสแรก เป็น ระดับ 50.9 ในไตรมาสนี้ ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.6 เป็นระดับ 54.7 อย่างไรก็ตาม การลงทุนใหม่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดี สะท้อนจากยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่าน BOI ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าเงินลงทุน 358 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เฉลี่ยครึ่งแรกของปี 2556 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.4

การส่งออก: หดตัวตามความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท: มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่สองของปี 2556 คิดเป็นมูลค่า 55,563 ล้านดอลลาร์ สรอ. (1,662,137 ล้านบาท) หดตัวร้อยละ 1.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในไตรมาสเดียวกันของปี 2555 และการขยายตัวร้อยละ 4.5 ในไตรมาสแรกของปี 2556 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงค่อนข้างมากและแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท โดยปริมาณ การส่งออกลดลงร้อยละ 1.5 ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 เมื่อหักการส่งออกทองคา ที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว จะทาให้มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 1.4 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่า การส่งออกลดลงร้อยละ 6.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 0.5 ในไตรมาสก่อนหน้า รวมครึ่งแรกของปี 2556 การส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่า 111,744 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกคิดเป็นมูลค่า 3,335,722 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ 9.8 เนื่องจากปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 6.9 และราคาส่งออกลดลงร้อยละ 3.1 โดยการส่งออกข้าวมีมูลค่าลดลงต่อเนื่องร้อยละ 14.0 ตามปริมาณการส่งออกข้าว ที่ลดลงร้อยละ 18.8 แม้ว่าราคาข้าวเพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 4.9 ก็ตาม มันสำปะหลังหดตัวลงจากปริมาณการส่งออกที่ลดลง แต่ราคาส่งออกยังคงขยายตัว ในขณะที่การส่งออกยางพาราลดลงร้อยละ 16.8 แม้ว่าจะมีปัจจัยสนับสนุนจากฐานที่ต่ำ โดยมีสาเหตุที่สำคัญมาจากการลดลงของราคาส่งออก เช่นเดียวกับมูลค่าการส่งออกน้ำตาลที่ปรับตัวลดลงตามการหดตัวของราคาและปริมาณการส่งออก มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 0.4 เทียบกับขยายตัวร้อยละ 8.1 โดยปริมาณการส่งออกหดตัวร้อยละ 0.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสแรก สินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องประดับขยายตัวร้อยละ 12.2 ร้อยละ 10.0 ร้อยละ 8.5 และร้อยละ 7.6 ตามลำดับ

ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัว แต่การส่งออกไปยังตลาดอาเซียน ฮ่องกง และ ออสเตรเลียขยายตัว โดยการส่งออกไปยังตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) และญี่ปุ่น หดตัวลงร้อยละ 3.5 5.2 และ 6.2 ตามลำดับ แม้ว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานที่ต่ำและการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจก็ตาม ในขณะที่การส่งออกไปยังอาเซียน (9) ฮ่องกง และออสเตรเลียยังขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 2.5 7.8 และ 16.3 ตามลำดับ การนำเข้า: ยังขยายตัวแม้ว่าการส่งออกจะหดตัวก็ตาม การนำเข้าในไตรมาสนี้มีมูลค่าทั้งสิ้น 56,060 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 ชะลอตัวจากร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ปริมาณ การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าสินค้าที่สำคัญๆ ในทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบที่ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคานำเข้าลดลงร้อยละ 3 ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 4 ตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาสินค้าสำคัญๆ ในตลาดโลก และการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยน เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 1,676,183 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.3 รวมครึ่งแรกของปี 2556 มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. อยู่ที่ 112,512 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 3,335,722 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

เมื่อปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว และพิจารณาเป็นรายหมวด พบว่า มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าวัตถุดิบขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอตัวลง ในขณะที่หมวดสินค้าทุนหดตัวลงเล็กน้อย ตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าวัตถุดิบ ขยายตัวร้อยละ 2.1 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการนำเข้าเชื้อเพลิงเป็นสำคัญโดยเฉพาะน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม มูลค่านำเข้าหมวดสินค้าทุนหดตัวร้อยละ 0.1 เทียบกับ การขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อน ตามการลดลงของมูลค่าการนำเข้าสินค้าสำคัญๆ หลายรายการ โดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องใช้ประกอบ เช่น คอมพิวเตอร์ เครื่องจักรสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้า เครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วน ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเร่งนำเข้าในช่วงไตรมาสที่สองของปีก่อนเพื่อฟื้นฟูกำลังการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมและทำให้ฐานการขยายตัวสูงกว่าปกติ มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงจากร้อยละ 9.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวลงของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน และฐานการขยายตัวที่สูงในช่วงเดียวกัน ของปีที่แล้วที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพื่อชดเชยความเสียหายจากวิกฤติอุทกภัย โดยสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าชะลอตัวลง ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์นม เครื่องใช้ในห้องน้ำ และเครื่องสำอาง และเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคานำเข้าลดลงร้อยละ 3.0 ในขณะที่ราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.4 การลดลงของราคาสินค้านำเข้าที่เร็วกว่าการลดลงของราคาสินค้าส่งออกส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 101.4 ในไตรมาสแรก เป็น 102.4 ในไตรมาสที่สอง

ดุลการค้า: การลดลงของมูลค่าการส่งออกร้อยละ 1.9 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 0.2 ส่งผลให้ดุลการค้าในไตรมาสที่สองขาดดุล 497 ล้านดอลลาร์ สรอ. (13,046 ล้านบาท) เทียบกับการขาดดุล 271 ล้านดอลลาร์ สรอ. (9,366 ล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 706 ล้านดอลลาร์ สรอ. (23,033 ล้านบาท) ในช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมครึ่งแรกของปี 2556 ดุลการค้าขาดดุล 768 ล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการเกินดุล 1,424 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

  • ด้านการผลิต

สาขาเกษตรกรรม การผลิตชะลอตัวในขณะที่ราคาสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรเริ่มปรับตัวดีขึ้น ในไตรมาสที่สอง การผลิตสาขาเกษตรขยายตัวร้อยละ 0.1 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสแรกเนื่องจากการหดตัวของผลผลิตข้าวนาปรัง ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตยางพารา ปาล์มน้ำมัน และไม้ผล เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ร้อยละ 13.5 และร้อยละ 11.1 ตามลำดับ ตามการเพิ่มขึ้นของเนื้อที่ให้ผลผลิตยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ และเนื้อที่ให้ผลผลิตปาล์มน้ำมัน รวมทั้งสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตไม้ผล เช่นเดียวกับผลผลิตปศุสัตว์ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เนื่องจากการขยายการผลิตไก่เนื้อและสุกรเพื่อรองรับความต้องการบริโภคทั้งในตลาดภายในและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยดังกล่าวทำให้ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 1.3 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 11 ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็น การขยายตัวครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส โดยราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นได้แก่ มันสำปะหลัง (ร้อยละ 17.8) อ้อย (ร้อยละ 5.2) สุกร (ร้อยละ 9.4) และไข่ไก่ (ร้อยละ 15.1) อย่างไรก็ตาม ราคายางพารา และปาล์มน้ำมันลดลง เนื่องจากความต้องการซื้อจากต่างประเทศลดลง ประกอบกับสต็อกน้ำมันปาล์มในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูง การเพิ่มขึ้นของผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อน

รวมครึ่งแรกของปี 2556 สาขาเกษตรกรรมขยายตัวร้อยละ 0.4 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 อย่างไรก็ตามดัชนีราคาสินค้าเกษตร และรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 1.8 และร้อยละ 0.1 ตามลำดับ

สาขาอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสแรก ตามการลดลงของการผลิตที่มุ่งเน้นการส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเงินบาทแข็งค่า ในขณะที่การผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการในประเทศชะลอตัว สอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมซึ่งลดลงร้อยละ 5.2 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 หดตัวร้อยละ 13.8 เนื่องจาก การหดตัวของอุตสาหกรรมแปรรูปและถนอมสัตว์น้ำ (ร้อยละ 30) เครื่องแต่งกาย (ร้อยละ 7.1) เครื่องจักรสำนักงาน (ร้อยละ 17.8 ) หลอดอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 2.0) และเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ (ร้อยละ 85.6) เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการผลิตที่มีสัดส่วนการส่งออกต่ำกว่าร้อยละ 30 ซึ่งหดตัวร้อยละ 1.3 ตามการหดตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ร้อยละ 11.9) เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซ อย่างไรก็ตาม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 30 - 60 ขยายตัวร้อยละ 8.6 แต่ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 26.6 ในไตรมาสแรก ตามการชะลอตัวของการผลิตรถยนต์ จากการขยายตัวร้อยละ 47.4 ในไตรมาสแรก เป็นการขยายตัวร้อยละ 11.9 ในไตรมาสนี้ เมื่อปรับฤดูกาลแล้ว หดตัวจากไตรมาสแรกร้อยละ 3.6 ในขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 63.4

รวมครึ่งแรกของปี 2556 สาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 1.1 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 65.2

สาขาก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 10.5 ในไตรมาสแรก เนื่องจากการชะลอตัวของการก่อสร้างภาครัฐ จากการขยายตัวร้อยละ 13.4 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 2.4 ในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่องร้อยละ 7.1 แม้ว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย จากร้อยละ 8.9 ในไตรมาสแรก สอดคล้องกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์และผลิตภัณฑ์เหล็กที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 และร้อยละ 22 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างลดลงร้อยละ 11.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4 ในไตรมาสแรก ราคาวัสดุก่อสร้างปรับตัวลดลงร้อยละ 0.1 ตามราคาเหล็กที่ลดลงร้อยละ 8.4 เนื่องจากการระบายสต็อกเหล็กของจีนที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและราคาสินแร่เหล็กที่ลดลง

รวมครึ่งแรกของปี 2556 สาขาก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 7.6

สาขาอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 3.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในไตรมาสก่อน ในด้านอุปสงค์ ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากไตรมาสแรก สะท้อนจาก ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลเพื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 12.4 ในไตรมาสแรก ในด้านอุปทาน เครื่องชี้สำคัญๆ ยังแสดงถึงการขยายตัวต่อเนื่อง โดยที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยอดคงค้างสินเชื่อผู้ประกอบการ ของธนาคารพาณิชย์ และจำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.1 ร้อยละ 12.8 และร้อยละ 25.3 ตามลำดับ ในขณะที่ระดับราคายังคงเพิ่มขึ้น ทั้งราคาที่ดิน ราคาบ้านเดี่ยวพร้อมที่ดิน ราคาทาวน์เฮ้าส์พร้อมที่ดิน และราคาอาคารชุด ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.2 ร้อยละ 6.2 ร้อยละ 5.2 และ ร้อยละ 4.3 ตามลำดับ

รวมครึ่งแรกของปี 2556 สาขาอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวร้อยละ 4.6

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวเร่งขึ้น ในไตรมาสที่สอง สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 14.2 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 14.8 ในไตรมาสแรก สอดคล้องกับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในเกณฑ์สูง โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสที่สองทั้งสิ้น 5.9 ล้านคน และรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 278,297 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 21.3 และร้อยละ 27.8 ตามลำดับ ในขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 54.8 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วเป็นร้อยละ 60 ในไตรมาสนี้

การขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากศักยภาพของภาคการท่องเที่ยวไทยที่อยู่ในเกณฑ์สูง โดยล่าสุด กรุงเทพมหานครได้รับรางวัลเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2556 (world's Best City Award) ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 จากนิตยสาร travel & leisure และรางวัลสุดยอดเมือง น่าเที่ยวของโลก ประจำปี 2556 (World's Top Travel Hotspot) จากบัตรเครดิตมาสเตอร์การ์ด รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนตะวันออก

นักท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูง ได้แก่ จีน (ร้อยละ 96.6) รัสเซีย (ร้อยละ 57.4) และมาเลเซีย (ร้อยละ 27.3) โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีสัดส่วนสูง 5 อันดับแรก ประกอบด้วยนักท่องเที่ยวจากจีน (ร้อยละ 19.5) มาเลเซีย (ร้อยละ 12) ญี่ปุ่น (ร้อยละ 5.5) เกาหลีใต้ (ร้อยละ 4.3) และรัสเซีย (ร้อยละ 3.1)

รวมครึ่งแรกของปี 2556 สาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 14.5

ภาคการค้าส่งค้าปลีก ชะลอตัวตามภาวะอุปสงค์ในประเทศ ในไตรมาสที่สอง ภาคการค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 2.9 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 5.1 ในไตรมาสแรก และเป็นการชะลอตัวในเกือบทุกหมวดตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม รถยนต์และเชื้อเพลิง และเครื่องจักรและอุปกรณ์ สอดคล้องกับการปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของรายได้เกษตรกร และการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม การค้าปลีกของห้างสรรพสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่อง

รวมครึ่งแรกของปี 2556 การค้าส่งค้าปลีกขยายตัวร้อยละ 4.1

การจ้างงาน ไตรมาสที่สอง ปี 2556 มีการจ้างงาน 38.44 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 0.7 ชะลอตัวลงจาก การขยายตัวร้อยละ 1.3 ในไตรมาสแรกของปี 2556 และร้อยละ 1.5 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามการหดตัว ของการจ้างงานในภาคเกษตรร้อยละ 0.2 อย่างไรก็ตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 1.3 ชะลอตัวลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.4 ในไตรมาสแรกของปี 2556 และการหดตัวร้อยละ 0.8 ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร (จ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 154,940 คน หรือร้อยละ 6.9) สาขาก่อสร้าง (จ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 144,077 คน หรือร้อยละ 5.6) และสาขาค้าส่งและค้าปลีก (จ้างงานเพิ่มขึ้นจำนวน 112,023 คน หรือร้อยละ 1.9) อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 0.7 สอดคล้องกับการหดตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม

สำหรับผู้ว่างงานเฉลี่ยในไตรมาสนี้มีจำนวน 289,507 คน ลดลง 44,617 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 0.7 ทั้งนี้สถานการณ์ตึงตัวของตลาดแรงงานเริ่มผ่อนคลายลง สะท้อนจากสัดส่วนของตำแหน่งงานว่างทั้งประเทศต่อผู้สมัครงานใหม่อยู่ที่ระดับ 0.6 เทียบกับร้อยละ 0.9 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวม 6 เดือนแรกของปี การจ้างงานขยายตัวขยายตัวร้อยละ 1 อัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 0.7

  • ภาวะการคลัง

การจัดเก็บรายได้: ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2556 (เมษายน - มิถุนายน 2556) รัฐบาลสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 638,618 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,793.9 ล้านบาทจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว หรือร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นผลมาจากผลประกอบการของกิจการปิโตรเลียมในปี 2555 ที่อยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น 17,256.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.3 และการเพิ่มขึ้นของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ร้อยละ 10.6 ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการคืนภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในไตรมาสที่สามยังต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 1.9 เนื่องจากผลกำไรสุทธิของภาคธุรกิจในปี 2555 ซึ่งนำมาเป็นฐานในการคำนวณภาษีในปี 2556 ได้รับผลกระทบ จากปัญหาอุทกภัย ทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 11.2 และจากผลของมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัวได้ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าประมาณการร้อยละ 4.9

รวม 9 เดือนแรกรัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,616,682.2 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และ สูงกว่าประมาณการร้อยละ 12.9 และร้อยละ 5.3 ตามลำดับ

การเบิกจ่ายงบประมาณ ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 602,357.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 14.7 แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 413,612.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 และรายจ่ายลงทุน 188,744.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.0 โดยจำแนกเป็น

(1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 452,518.4 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 18.9 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 25 เป็นผลจากการเร่งเบิกจ่ายไปแล้ว ในช่วงต้นปีงบประมาณ โดยเป็นการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำจำนวน 402,348.5 ล้านบาท (มีอัตราเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 20.1 สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีงบประมาณที่แล้ว) และการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนจำนวน 50,169.9 ล้านบาท (มีอัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 12.6 ต่ำกว่าเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 25 ทั้งนี้ เนื่องจาก การเร่งรัดการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนไปแล้วในช่วง 2 ไตรมาสแรก ประกอบกับอุปสรรคในการดำเนินโครงการลงทุน เช่น การขาดแคลนผู้รับจ้างและความล่าช้าในขั้นตอนการประกวดราคา) อย่างไรก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกมีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีคิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 69.4 ใกล้เคียงกับเป้าหมายซึ่งกำหนดไว้ที่ร้อยละ 69 (2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี จำนวน 30,784.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.6 เนื่องจากมีการกันเงินเหลื่อมปีเพื่อเบิกจ่ายในปีนี้สูงกว่าปีก่อน (อัตราการเบิกจ่ายอยู่ที่ร้อยละ 10.3 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.8) (3) เงินกู้นอกงบประมาณจำนวน 9,449.9 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 จำนวน 1,475.4 ล้านบาท (มีการเบิกจ่ายวงเงินไปแล้วทั้งสิ้น 324,469.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 92.7 ของวงเงินที่ได้รับการจัดสรร) เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL) จำนวน 3,048.3 ล้านบาท (แบ่งเป็นการเบิกจ่ายโครงการ DPL ภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง 2555 (TKK) 936.8 ล้านบาท และการเบิกจ่ายโครงการ DPL ที่อยู่นอกโครงการ TKK 2,111.5 ล้านบาท และมีการเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 18,659.7 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 49.2 ของวงเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ) และเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 จำนวน 4,926.2 ล้านบาท (มีการเบิกจ่ายสะสมทั้งสิ้น 11,886.4 ล้านบาท หรือคิดเป็น ร้อยละ 3.4 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร) และ (4) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (รวมบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ) มีการเบิกจ่ายงบลงทุนจำนวน 109,604.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47,680 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ ที่แล้ว หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 84.0 โดยส่วนใหญ่เป็นการเบิกจ่ายของการรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำหรับการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เช่น การปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย การก่อสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น

ฐานะการคลัง: ในไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลเกินดุลการคลังตามระบบกระแสเงินสด จำนวน 171,405.4 ล้านบาท เป็นการเกินดุลเงินงบประมาณ 160,857.8 ล้านบาท และเกินดุลเงินนอกงบประมาณ 10,547.5 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 57,938.7 ล้านบาท ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 มีจำนวน 423,497 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,400 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.3

รวม 9 เดือนแรกรัฐบาลขาดดุลเงินงบประมาณทั้งสิ้น 238,999.6 ล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณทั้งสิ้น 119,536.3 ล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลไปแล้วจำนวน 221,696.7 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2556 วงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล 300,000 ล้านบาท)

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2556 มีจำนวน 5,209,332 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.1 ของ GDP (เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า จำนวน 135,300 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นปีงบประมาณ ที่แล้ว 272,100 ล้านบาท) โดยแบ่งออกเป็น หนี้ของรัฐบาล 3,642,122 ล้านบาท หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน 1,076,174 ล้านบาท และหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 490,222 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 69.9 ร้อยละ 20.7 และร้อยละ 9.4 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

  • ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงเพื่อลดความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ในไตรมาสที่สอง ของปี 2556 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากร้อยละ 2.75 ต่อปี ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 2.5 ต่อปี เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของหลายประเทศ เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย อินเดีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม ที่เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนมิถุนายน 2556 เพื่อลด แรงกดดันต่อเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ล่าสุด ในเดือนกรกฎาคม 2556 กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีและนโยบายการเงินในระดับปัจจุบันยังคงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นต่อเนื่องจากเดือนมิถุนายน เพื่อลด แรงกดดันด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 4 แห่งทรงตัว ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นแม้ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปีเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 ก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR เฉลี่ยของ ธพ. ขนาดใหญ่ 4 แห่งยังคงทรงตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 7 ต่อปี ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย จากร้อยละ 2.45 ต่อปีในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 2.5 ต่อปีในไตรมาสที่สอง เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มีการแข่งขันระดมเงินฝากเพื่อรองรับความต้องการเงินลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและความต้องการสินเชื่อของเอกชนที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ย MLR เฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลาง และธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยที่ยังทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก แต่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2556 อัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์ไทยยังทรงตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนอัตราดอกเบี้ย เงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางมีการปรับลดลงเล็กน้อย

เงินฝากและการลงทุนในตั๋วแลกเงิน (B/E) ของธนาคารพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 10.1 เทียบกับร้อยละ 10ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเงินฝากขยายตัวร้อยละ 17.2 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 22.9 ในไตรมาสแรก ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมีผลิตภัณฑ์การออมและการลงทุนที่เป็นทางเลือกใหม่โดยเฉพาะกองทุนต่างๆ ในตลาดเงิน ในส่วนของตั๋วแลกเงิน (B/E) หดตัวร้อยละ 64.4 ชะลอตัวลงจากการหดตัวร้อยละ 73.3 ในไตรมาสแรก

สินเชื่อภาคเอกชนทั้งระบบ (ไม่รวมดอกเบี้ยค้างรับ) ขยายตัวร้อยละ 12.8 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 14 ในไตรมาสแรก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อธุรกิจจากร้อยละ 11 เป็นร้อยละ 9.8 อย่างไรก็ตาม สินเชื่อธุรกิจในเดือนมิถุนายนเร่งตัวขึ้น เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อให้แก่ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ ในขณะที่สินเชื่อครัวเรือนชะลอตัวลงจากร้อยละ 14.8 ในไตรมาสแรก เป็นร้อยละ 13.9 ในไตรมาสที่สอง ตามการชะลอตัวลงของสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และจักรยานยนต์จากร้อยละ 33.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 25.6 ในไตรมาสนี้ เนื่องจากการส่งมอบรถยนต์ภายใต้โครงการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์ คันแรกเริ่มลดลงหลังจากมีการส่งมอบไปแล้วกว่า 1 ล้านคัน อย่างไรก็ตาม จำนวนบัตรเครดิตยังคงขยายตัว และยอดสินเชื่อบัตรเครดิตคงค้างขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 11.6 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นร้อยละ 14 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของคนไทย ในขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs 1) ต่อสินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.96 ในไตรมาสก่อนหน้าเป็นร้อยละ 1

สภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้น แม้ว่าสินเชื่อจะชะลอตัวลง แต่ยังคงขยายตัวสูงกว่าเงินฝาก ส่งผลให้สัดส่วนสินเชื่อ (ไม่รวมเงินให้กู้ยืมผ่านธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร) ต่อเงินฝากที่รวมตั๋วแลกเงินของธนาคารพาณิชย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2556 สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ระดับร้อยละ 101.1 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 99.1 ณ สิ้นไตรมาสแรก

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สองอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากไตรมาสแรก แต่ยังแข็งค่าร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2555 โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อเทียบกับ เงินดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสที่สองเฉลี่ยอยู่ที่ 29.91 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 29.81 และ31.29 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรกของปี 2556 (อ่อนค่าลงร้อยละ 0.34 ) และไตรมาสที่สอง ของปี 2555 (แข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.5 ) ตามลำดับ โดยในช่วงต้นไตรมาส เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องจาก 29.31 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นไตรมาสแรก เป็น 28.63 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ณ วันที่ 22 เมษายน 2556 หลังจากนั้น เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นผลจาก (1) การประกาศข้อมูลเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ซึ่งเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ (2) การปรับลด อัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 (3) ความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อท่าทีของทางการในการที่จะแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท (4) การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งส่งผลให้มีการคาดการณ์การปรับลด ขนาดมาตรการขยายปริมาณเงินของสหรัฐ และ (5) ความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อปัญหาในภาคการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากไทย และประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเซีย จึงทำให้เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง เป็น 31.13 บาท ต่อดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นไตรมาสที่สอง

ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากเดือนก่อน โดยปิดที่ระดับ 31.35 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และมีค่าเฉลี่ยเดือนกรกฎาคมที่ 31.13 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และเฉลี่ยในวันที่ 1-16 สิงหาคมเท่ากับ 31.31 บาทต่อดอลลาร์ สรอ.

ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่น ๆ โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สอง ของปี 2556 ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อยู่ที่ 106.65 อ่อนค่าลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่อ่อนค่าลงร้อยละ 2.86 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับตัวแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.49 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยเฉพาะค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงมากกว่าประเทศอื่นๆ เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบาย เพิ่มปริมาณเงินในระบบของธนาคารกลางญี่ปุ่น

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ2 จากการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศเป็นสำคัญ ในไตรมาสที่สอง มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ 4.18 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการไหลเข้าสุทธิต่อเนื่องจาก 4.01 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า โดยปัจจัยสำคัญมาจากการกู้ยืมเงินระยะสั้นจากต่างประเทศของภาคธนาคารพาณิชย์เพื่อบริหารสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศ มูลค่า 6.39 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับ 2.23 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสแรก และการลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติยังคงเป็นการไหลเข้าสุทธิในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ 1.52 พันล้านดอลลาร์ สรอ. อย่างไรก็ตามการลงทุนในหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติปรับตัวเป็นการไหลออกอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในส่วนของตราสารทุนและตราสารหนี้ จากความกังวลต่อการลดขนาดมาตรการขยายปริมาณเงิน ของสหรัฐ และความกังวลว่าทางการไทยอาจออกมาตรการดูแลเงินทุนเคลื่อนย้ายหลังจากที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นไตรมาส

ดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุล 5,076 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 149,493 ล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 1,267 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 36,673 ล้านบาท) ในไตรมาสแรกของปี 2556 และการขาดดุล 3,178 ล้านดอลลาร์ สรอ. (หรือเท่ากับ 98,654 ล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากการขาดดุลการค้า 497 ล้านดอลลาร์ สรอ. และการขาดดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 4,579 ล้านดอลลาร์ สรอ. รวมครึ่งแรกของปี 2556 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 3,809 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจากการขาดดุล 2,215 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2556 เท่ากับ 172.25 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 23.04 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 2.8 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ณ สิ้นไตรมาสแรก ปี 2556) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 9.2 เดือน (ค่าเฉลี่ยการนำเข้าในไตรมาสที่สองปี 2556)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สองของปี 2556 อยู่ที่ร้อยละ 2.3 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการชะลอตัวของราคาพลังงาน โดยดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยราคาสินค้าในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 8.8 ในไตรมาส ก่อนหน้า ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากร้อยละ 4.0 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลมาจากการชะลอตัวของราคาผักและผลไม้ และราคาอาหารสำเร็จรูปทั้งอาหารบริโภคในบ้านและอาหารบริโภคนอกบ้านเป็นสำคัญ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า รวมครึ่งแรกของปี 2556 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.7 และ 1.2 ตามลำดับ

ดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่สองของปี 2556 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 0.1 ในไตรมาส ก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตเกษตรกรรมที่เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 1.6 ในไตรมาส ก่อนหน้า เป็นร้อยละ 8.3 ในไตรมาสที่สอง ตามการเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตร สัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ และปลาและสัตว์น้ำ ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองลดลงร้อยละ 5.4 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการลดลงของราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ส่วนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อพิจารณา ดัชนีราคาผู้ผลิตจำแนกตามขั้นตอนการผลิตพบว่า แรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมครึ่งแรกของปี 2556 ดัชนีราคาผู้ผลิตเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET index) ปรับตัวลดลงตามแรงขายของนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนแนวโน้มการลดลงของสภาพคล่องในตลาดทุนในภูมิภาคเอเชีย ณ สิ้นไตรมาสที่สอง SET index ปิดที่ 1,451.9 จุด ลดลงร้อยละ 7 จากไตรมาสแรก มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 56.3 พันล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิตลอดทั้งไตรมาสรวม 80.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลของนักลงทุนต่อการส่งสัญญาณการลดขนาดมาตรการขยายปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ในช่วง ครึ่งหลังของปี 2556 ก่อนการยกเลิกมาตรการดังกล่าวในช่วงกลางปี 2557 ภายหลังเศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องประกอบกับแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะส่งกระทบผล ต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย

ในเดือนกรกฎาคม 2556 ดัชนีเคลื่อนไหวผันผวนและปรับตัวลดลงมาปิดที่ 1,423.1 จุด มูลค่าซื้อขาย เฉลี่ยต่อวันปรับลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ 44.4 พันล้านบาท จาก 60.4 พันล้านบาท ในเดือนมิถุนายน โดยเป็นการขายสุทธิของนักลงทุนสถาบันสูงถึง 10.3 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลต่อปัญหาในระบบสถาบันการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ตลอดจนการลดลงของผลประกอบการไตรมาสที่สอง ของบริษัทจดทะเบียนและแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมามี ยอดซื้อสุทธิ 0.5 พันล้านบาท ล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1- 16 สิงหาคม ดัชนียังคงเคลื่อนไหวผันผวนต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า จากความกังวลของนักลงทุนต่อการลดขนาดมาตรการขยายปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐ จะเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยนักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดขายสุทธิที่ 9.9 พันล้านบาท

มูลค่าการซื้อขายพันธบัตรอยู่ในระดับสูง แต่ยอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติลดลง มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาด (Outright Transaction) เฉลี่ยต่อวันในไตรมาสที่สองเท่ากับ 100.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 97.1 พันล้านบาท ในไตรมาสแรก โดยนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิ 38.6 พันล้านบาท ลดลงมากเมื่อเทียบกับยอดซื้อสุทธิ 281.8 พันล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) ความกังวลของนักลงทุนต่อการชะลอและยกเลิกมาตรการขยายปริมาณเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ในช่วง ครึ่งหลังของปี 2556 - กลางปี 2557 (2) การลดน้ำหนักการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงจากการดำเนินมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าของรัฐบาลภายหลังค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงต้นของไตรมาสที่สอง และ (3) การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ภายหลังเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์และมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่องในไตรมาสที่สอง ซึ่งทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล โดยเฉพาะระยะสั้นปรับลดลง

ในเดือนกรกฎาคม 2556 มูลค่าซื้อขายเฉพาะธุรกรรมซื้อขายขาดเฉลี่ยต่อวันลดลงมาอยู่ที่ 73.8 พันล้านบาท เทียบกับ 81.2 พันล้านบาท ในเดือนมิถุนายน นักลงทุนต่างชาติกลับมามียอดซื้อสุทธิที่ 41.3 พันล้านบาท ภายหลังจากธนาคารกลางสหรัฐประกาศว่าจะยังคงดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินต่อไปอีกประกอบกับ กนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายหลังค่าเงินบาทเริ่มเคลื่อนไหวมีเสถียรภาพมากขึ้น

การระดมทุนในตลาดแรกของภาครัฐยังคงอยู่ในระดับสูงแต่ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ ภาคเอกชนมีการระดมทุนเพิ่มขึ้นมาก ในไตรมาสนี้ มีพันธบัตรออกใหม่ทั้งสิ้นจำนวน 1,794.5 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ 1,870.2 พันล้านบาท โดยแบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 140.6 พันล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงิน 12.8 พันล้านบาท พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ 57.6 พันล้านบาท และพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย 1,583.5 พันล้านบาท สำหรับการระดมทุนของภาคเอกชนในไตรมาสนี้ มีมูลค่ารวม 725.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นมากจาก 410.7 พันล้านบาท และ 305.2 พันล้านบาท ในไตรมาสก่อนหน้า และช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นการระดมทุนผ่านหุ้นกู้ ในสาขาตัวกลางทางการเงิน สาขาการผลิต สาขาอสังหาริมทรัพย์ และสาขาการทำเหมืองแร่และเหมืองหิน

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันไตรมาสที่สอง ปี 2556

ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสที่สองของปี 2556 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และ WTI) อยู่ที่ 99.8 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วร้อยละ 3.8 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 5.9 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบโอมาน ดูไบ และ เบรนท์ ร้อยละ 5.3 5.3 และ 4.9 ตามลำดับ ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบตลาด WTI อยู่ในภาวะทรงตัว ทั้งนี้ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบดังกล่าว เป็นผลมาจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นช้ากว่าการคาดการณ์ ในขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันในสหรัฐ เพิ่มขึ้น

3. เศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่สอง ปี 2556

เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวอย่างล่าช้า เศรษฐกิจภาคเอกชนในสหรัฐอเมริกาปรับตัวดีขึ้นแต่การปรับลดรายจ่ายภาครัฐยังเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจยูโรโซนปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส ก่อนหน้า และเริ่มหลุดพ้นภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจแต่ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงิน และการอ่อนค่าของเงินเยน อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงค่อนข้างมากตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัว การแข็งค่าของเงินหยวนและการปรับตัวของเศรษฐกิจต่อปัญหาสถาบันการเงิน การฟื้นตัวอย่างล่าช้าของเศรษฐกิจโลกและการอ่อนค่าของเงินสกุลหลัก เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของประเทศกำลังพัฒนาและการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกโดยภาพรวม

  • เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่สอง ขยายตัวร้อยละ 1.7 (%QoQ saar.) เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.1 ในไตรมาสแรกแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักลงทุน โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 1.8 ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 4.7 เป็นร้อยละ 9 ในไตรมาสที่สอง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 13.4 ของการลงทุนในที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตามมาตรการปรับลดรายจ่ายภาครัฐยังคงส่งผลให้การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวและเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวม แม้กระนั้นก็ตามภาคการผลิตเอกชนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยดัชนี ISM ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 49 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 50.9 ในเดือนมิถุนายน ในขณะที่ดัชนีที่อยู่อาศัย NAHB เฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปีอยู่ที่ระดับ 45.7 เทียบกับ 16.3 และ 33.9 ในปี 2554 และ 2555 ตามลำดับ การปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิตเอกชนทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงจากร้อยละ 7.9 ในเดือนมกราคมเป็นร้อยละ 7.6 ในเดือนมิถุนายน
  • เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนในไตรมาสที่สอง ขยายตัวร้อยละ 0.3 (%QoQ sa.) เป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส อย่างไรก็ตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนยังคงหดตัวร้อยละ 0.7 ในขณะที่อัตราการว่างงานทรงตัวมากขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 12.1 ในเดือนมิถุนายน การหดตัวของเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนสอดคล้องกับเครื่องชี้เศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 แม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นจาก 46.8 และ 46.4 ในเดือนมีนาคมเป็น 48.8 และ 48.3 ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้การปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า เมื่อรวมกับความคืบหน้าในการแก้ปัญหาวิกฤติการณ์ในภาคการเงินในช่วงที่ผ่านมาและการอนุมัติเงินช่วยเหลืองวดใหม่ให้กับกรีซคาดว่าจะส่งผลให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเงินปรับตัวดีขึ้น
  • เศรษฐกิจญี่ปุ่น ในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 0.9 (%YoY) เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในไตรมาสแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การขยายปริมาณเงินและการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจจริงปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 เดือน และเป็นการอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นอกจากนั้นการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินซึ่งส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงร้อยละ 14.4 ในช่วงครึ่งปีแรก เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสแรกเป็นร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่สอง ขณะที่ยอดขายของห้างสรรพสินค้าและยอดการขายปลีกในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 และ 1.6 ตามลำดับ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปรับตัวดีขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย Tankan Index: Actual ในไตรมาสที่สอง อยู่ที่ -2.0 สูงที่สุดในรอบ 5 ปี เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 40.8 ในเดือนมิถุนายนปีก่อนเป็น 44.7 ในเดือนมิถุนายนปีนี้
  • เศรษฐกิจญี่ปุ่น ในไตรมาสที่สองขยายตัวร้อยละ 0.9 (%YoY) เร่งตัวขึ้นจากร้อยละ 0.3 ในไตรมาสแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การขยายปริมาณเงินและการอ่อนค่าของเงินเยน ซึ่งส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจจริงปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 28 เดือน และเป็นการอยู่เหนือระดับ 50 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน นอกจากนั้นการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินซึ่งส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงร้อยละ 14.4 ในช่วงครึ่งปีแรก เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นจากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสแรกเป็นร้อยละ 1.7 ในไตรมาสที่สอง ขณะที่ยอดขายของห้างสรรพสินค้าและยอดการขายปลีกในเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 และ 1.6 ตามลำดับ การดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการปรับตัวดีขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้บรรยากาศทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องโดย Tankan Index: Actual ในไตรมาสที่สอง อยู่ที่ -2.0 สูงที่สุดในรอบ 5 ปี เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากระดับ 40.8 ในเดือนมิถุนายนปีก่อนเป็น 44.7 ในเดือนมิถุนายนปีนี้
4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2556

เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ แต่มีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก นำโดย การขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐ แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และการเริ่มกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน แม้กระนั้นก็ตามความล่าช้าในการฟื้นตัว ของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอันเนื่องมาจากปัญหาเสถียรภาพในระบบการเงิน ทำให้เศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมทั้งปี 2556 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 3.3 เท่ากับการขยายตัวในปี 2555 แต่ต่ำกว่าร้อยละ 3.6 ในสมมุติฐานการประมาณการครั้งก่อน

  • เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา แม้ว่าการปรับลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐและการปรับเพิ่มภาษีจะส่งผลกระทบต่อรายได้ครัวเรือนและส่งผลให้เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ก็ตาม แต่เศรษฐกิจภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลดลงของภาระหนี้สินต่อรายได้ของภาคครัวเรือนจนเข้าสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปี รวมทั้งราคาหลักทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.82 นับจากเดือนมกราคม 2556 ในขณะที่ภาคการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น โดยดัชนี ISM ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 50.9 ในเดือนมิถุนายนเป็น 55.4 ในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ในขณะที่ดัชนี ISM นอกภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 52.2 เป็น 56.0 และดัชนีที่อยู่อาศัย NAHB เพิ่มขึ้นเป็น 57.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2549 แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคอสังหาริมทรัพย์ การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิต ส่งผลให้การจ้างงานใหม่ นอกภาคเกษตรในครึ่งปีแรกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 192,000 ตำแหน่งต่อเดือนและทำให้อัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องเป็นร้อยละ 7.4 ในเดือนกรกฎาคม การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคเอกชนดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังซึ่งผลกระทบจากมาตรการปรับลดรายจ่ายภาครัฐจะลดลงตามลำดับ อย่างไรก็ตามความล่าช้าในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีแรกคาดว่าจะส่งผลให้อัตรา การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 1.9 ต่ำกว่าร้อยละ 2.2 ในปี 2555 และต่ำกว่าการคาดการณ์เดิมร้อยละ 2.2
  • กลุ่มประเทศยูโรโซน หลังจากการหลุดพ้นภาวะความถดถอยทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สอง เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆ ในช่วงต้นไตรมาสที่ 3 ยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 50.3 ในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นสูงกว่า 50 และระดับที่แสดงถึง การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นครั้งแรกนับจากเดือนมกราคม 2555 ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นระดับ 92.5 สูงสุดในรอบ 15 เดือน อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยดัชนี PMI นอกภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ที่ระดับ 49.8 ซึ่งยังเป็นระดับที่แสดงถึงการหดตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจแม้ว่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม เช่นเดียวกับอัตรา การว่างงานที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงร้อยละ 12.1 การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปีจะหดตัวร้อยละ 0.2 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 0.6 ในปี 2555
  • เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ตามเครื่องชี้เศรษฐกิจสำคัญๆ ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (Tankan Index: Forecast) ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ซึ่งเป็น การปรับตัวเป็นบวกของเงินเฟ้อครั้งแรกในรอบ 13 เดือนซึ่งแสดงถึงการลดลงของแรงกดดันด้านเงินฝืด ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2556 จะขยายตัวร้อยละ 1.8 เทียบกับร้อยละ 2.0 ในปี 2555
  • เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มที่จะยังอยู่ในช่วงของการชะลอตัว โดยทางการยังคงให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเศรษฐกิจจากการพึ่งพิงการขยายตัวของภาคการส่งออกและการลงทุนมาเป็นการพึ่งพิงการบริโภคมากขึ้น แม้ว่าทางการจีนจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมแล้วแต่คาดว่าจะไม่สามารถส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่ภาคการส่งออกยังมีข้อจำกัดการขยายตัวจากการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินหยวน ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในช่วงชะลอตัวและการส่งออกที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำคาดว่าทางการจีนจะบริหารจัดการไม่ให้เงินหยวนแข็งค่าเร็วเกินไป ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2556 จะขยายตัวร้อยละ 7.6 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 7.8 ในปี 2555

การฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนสหรัฐ และการปรับตัวดีขึ้นของตลาดแรงงานคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐ เริ่มปรับลดขนาดของมาตรการขยายปริมาณเงินลงร้อยละ 25 ในช่วง เดือนกันยายนและอีกร้อยละ 25 ในช่วงเดือนธันวาคม แม้ว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0 - 0.25 ก็ตาม แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ เพิ่มสูงขึ้นซึ่งจะเป็น แรงกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์ สรอ. (Trade Weighted Terms) แข็งค่าขึ้น ในขณะเดียวกันแม้ว่าเครื่องชี้ ทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนจะปรับตัวดีขึ้นและลดความเป็นไปได้ที่ทางธนาคารกลางยุโรป จะดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม แต่นักลงทุนยังคงระมัดระวังการลงทุนจากปัจจัยทางการเมืองโดยเฉพาะการเลือกตั้งในเยอรมนีในเดือนกันยายน 2556 รวมทั้งการประท้วงของประชาชนและความคืบหน้าของการปฏิรูปทางการคลังในประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจซึ่งจะยังคงเป็น แรงกดดันให้ค่าเงินยูโรยังมีแรงกดดันด้านการอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีอย่างต่อเนื่อง แต่ธนาคารกลางญี่ปุ่นยังคงมีแนวโน้มที่จะดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจที่อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2 ซึ่งจะเป็นแรงกดดัน ให้ค่าเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. โดยค่าเงินเยนเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงมาร้อยละ 14 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 ก่อนที่จะแข็งค่าขึ้นมาประมาณร้อยละ 1 ในเดือนกรกฎาคม ในขณะที่เงินหยวนมีแนวโน้มที่จะทรงตัวมากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนยังคงมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาในภาคการเงินรวมทั้งเงื่อนไขการชะลอตัวของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะ ทำให้รัฐบาลจีนบริหารจัดการไม่ให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าเร็วเกินไป

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2556

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก อย่างไรก็ตามการขยายตัวเมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อนยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างช้าๆ ตามข้อจำกัดในการขยายตัวของภาคการส่งออก ในขณะที่การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศยังมีแรงต้านจากฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น การลดลงของแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและรายได้ครัวเรือนที่ยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ ตามรายได้จากการส่งออกและราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัว เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้อัตรา การขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีต่ำกว่าการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 1.7 (%QoQ sa.) โดยมีสาเหตุสำคัญจาก (1) การลดลงของแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรกซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลงจากไตรมาส ก่อนหน้าร้อยละ 1.3 ในขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับการขยายตัวสูงร้อยละ 4.5 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 (2) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าร้อยละ 0.7 รวมทั้งส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นการส่งออกหดตัวร้อยละ 8.6 (3) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2556 ซึ่งทำให้ การเบิกจ่ายงบประมาณสูงถึงร้อยละ 29.2 ของงบประมาณรายจ่ายรวม อย่างไรก็ตามในไตรมาสที่สองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหดตัวช้าลงร้อยละ 0.3 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวดีขึ้นของพลวัตรทางเศรษฐกิจ เมื่อรวมกับแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกและมาตรการรักษาอัตรา การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภาครัฐคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างช้าๆเนื่องจาก (1) ฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 (2) แรงขับเคลื่อนจากภาคการส่งออกยังคงมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำตามข้อจำกัดด้านการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน และเศรษฐกิจจีนซึ่งยังอยู่ในช่วงของการปรับตัวต่อปัญหาเสถียรภาพในระบบการเงินซึ่งแนวโน้มที่จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวในเกณฑ์ต่ำกว่าคาดการณ์ (3) แม้ว่าค่าเงินบาทจะเริ่มอ่อนค่ามากขึ้นในช่วงปลาย ไตรมาสที่สอง และในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 แต่หากเปรียบเทียบกับในช่วงก่อนวิกฤติการณ์เศรษฐกิจและการเงินในสหรัฐฯ ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าประมาณร้อยละ 7 และร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. และเงินยูโร นอกจากนั้น Real Effective Exchange Rate ในเดือนมิถุนายนยังคงแข็งค่าจากค่าเฉลี่ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ร้อยละ 4.6 เงื่อนไขดังกล่าวยังมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและยังเป็นปัญหาความท้าทายต่อการขยายตัวของภาคการส่งออกทั้งในระยะสั้นและในระยะปานกลาง โดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะปานกลาง (4) การลดลงของแรงส่งจากมาตรการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก และ (5) แนวโน้มความล่าช้าของการดำเนินการตามแผนการลงทุนที่สำคัญของภาครัฐ เมื่อรวมกับการขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ในครึ่งปีแรก คาดว่าจะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งปีต่ำกว่าประมาณการครั้งที่ผ่านมา

อัตราแลกเปลี่ยนรูปตัวเงิน REER และการส่งออก Qในไตรมาสที่สองเงินบาทแข็งค่าและมีความผันผวน โดยเงินบาทแข็งค่าจาก 29.31 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นไตรมาสแรก เป็น 28.63 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2556 ก่อนที่จะอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 31.13 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นไตรมาสที่สอง รวมทั้งไตรมาสค่าเงินบาทอยู่ที่เฉลี่ย 29.1 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สองของปี 2555 อย่างไรก็ตามเงินบาทเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงหลังวันที่ 22 เมษายน และแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มผ่อนคลายลงเนื่องจาก (1) ท่าทีของทางการในการที่จะแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินบาท (2) การขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 (3) การขยายตัวในเกณฑ์ต่ำของภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองท่ามกลางการชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะส่งผลต่อการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของนักลงทุน (4) ความวิตกกังวลของนักลงทุนต่อปัญหาในภาคการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน (5) แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐและการปรับลดขนาดมาตรการขยายปริมาณเงินซึ่งส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่า เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะทำให้เงินบาทในช่วงที่เหลือของปีเคลื่อนไหวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับค่าเงินเฉลี่ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 ซึ่งจะช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ประกอบการและนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการอ่อนตัวของเงินบาทในรูปตัวเงินจะทำให้ค่าเงินบาทที่แท้จริงเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่ง (REER) ปรับตัวอ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกัน แต่ค่าดัชนี REER ณ มิถุนายน 2556 ยังอยู่ที่ระดับ 107.79 เทียบกับเฉลี่ย 103.04 102 และ 102.86 ในครึ่งหลังของปี 2555 ทั้งปี 2554 และทั้งปี 2553 ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าค่าเงินบาทที่แท้จริงเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งในปัจจุบันยังแข็งค่าร้อยละ 4.61 เมื่อเทียบครึ่งหลังของปี 2555 ร้อยละ 5.67 เมื่อเทียบกับทั้งปี 2554 และร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับปี 2553 ดังนั้นหาก REER ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับปัจจุบัน เงื่อนไขด้านอัตราแลกเปลี่ยนก็จะยังเป็นประเด็นท้าทายต่อขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าส่งออกและสร้างแรงกดดันต่อการขยายตัวของการส่งออกอย่างต่อเนื่องทั้งในครึ่งหลังของปีและในระยะปานกลาง โดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะปานกลาง

- ปัจจัยสนับสนุน

1)การปรับตัวดีขึ้นของพลวัตทางเศรษฐกิจ ในไตรมาสแรกของปี 2556 เศรษฐกิจไทยหดตัวร้อยละ 1.7 (%QoQsa.) เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 แสดงถึงการลดลงอย่างรวดเร็วของพลวัตร ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการชะลอตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจโลกและผลจากการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก รวมทั้งแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่เริ่มปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสที่สองอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หดตัวช้าลงร้อยละ 0.3 แสดงถึงการปรับตัวดีขึ้นของพลวัตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการส่งออกที่มีแนวโน้มชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ

2) การดำเนินการตามกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในปี 2556 ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 และการดำเนินมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจใน ครึ่งหลังของปี

3) ปัจจัยพื้นฐานด้านการลงทุนและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้ว่าการเร่งนำเข้าสินค้าทุนในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2555 จะส่งผลให้การลงทุนในหมวดเครื่องจักรอุปกรณ์ในไตรมาสที่สองของ ปี 2556 ชะลอตัวลงและส่งผลให้การขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนโดยภาพรวมต่ำกว่าการคาดการณ์ ก็ตามแต่ปัจจัยพื้นฐานทางด้านการลงทุนในช่วงครึ่งหลังของปียังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่ยังมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และการขยายตัวสูงของมูลค่าโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ร้อยละ 119.9 ในปี 2555 และร้อยละ 33.1 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2556 ซึ่งคาดว่าจะมีการทยอยก่อสร้างและลงทุนในปี 2556 อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ยังอยู่ในเกณฑ์ดี

4) แรงกดดันด้านอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและเอื้ออำนวยต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำและชะลอตัวลงต่อเนื่องจากร้อยละ 3.4 และร้อยละ 1.6 ในเดือนมกราคม เป็นร้อยละ 2 และร้อยละ 0.9 ในเดือนกรกฎาคม ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ต่ำสุดในรอบ 42 เดือน และเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่องและสนับสนุนการฟื้นตัวและขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศ

5) ภาคการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูง ในช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยว เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยทั้งสิ้น 12.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวเฉลี่ยต่อเดือนถึง 2.41 ล้านคน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในช่วงที่เหลือของปีการท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูงตามปัจจัยพื้นฐานด้านการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาปรับเพิ่มเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2556 จากเดิม 24.3 ล้านคน เป็น 26 ล้านคน และ สศช. ปรับเพิ่มจากเดิม 24.7 ล้านคน เป็น 26.2 ล้านคน

- ปัจจัยเสี่ยงและข้อจำกัด

1) ความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินสกุลหลักและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แม้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีแต่เงินสกุลยูโรยังอยู่ภายใต้แรงกดดันของการอ่อนค่า เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่การดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะสร้างแรงกดดันให้เงินเยนอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จีนยังอยู่ในช่วงการปรับสมดุลทางเศรษฐกิจและการลดแรงกดดันจากปัญหาในภาคการเงินซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการชะลอตัว เงื่อนไขดังกล่าวทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังของปียังเป็นไปอย่างช้าๆ และเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการส่งออก

2) ข้อจำกัดจากฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นและการลดลงของแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์และการก่อสร้างเพื่อทดแทนความเสียหายจากภาวะน้ำท่วมซึ่งจะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในปี 2556 และการบริโภคสินค้าคงทนซึ่งได้รับแรงส่งจากมาตรการรถยนต์คันแรกซึ่งทำให้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในไตรมาสที่สามและไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 สูงถึง 373,393 คัน และ 399,697 คัน ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม แรงส่งจากมาตรการรถยนต์คันแรกเริ่มลดลง ซึ่งจะเห็นได้จากการลดลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เป็น 398,142 คัน ในไตรมาสแรก และ 327,543 คันในไตรมาสที่สองของปี 2556 เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี

3) การดำเนินการตามแผนการลงทุนของภาครัฐมีแนวโน้มที่จะล่าช้ากว่าการคาดการณ์ ทั้งการลงทุนภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำวงเงิน 350,000 ล้านบาท ที่จะต้องผ่านขั้นตอนการจัดทำประชาพิจารณ์ตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง และแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... และแม้ว่ากฎหมายดังกล่าวจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือนตุลาคม 2556 ก็ตาม แต่จากการประเมินล่าสุดพบว่ามีโครงการที่มีความพร้อมสำหรับการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีประมาณ 6,600 ล้านบาท และยังมีความเสี่ยงที่การประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวจะมีความล่าช้าออกไป

4) ความเสี่ยงด้านความขัดแย้งและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ ข้อจำกัดในการขยายตัวของการส่งออกและการบริโภคภาคครัวเรือน ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพิงการขยายตัวของการลงทุนและภาคการท่องเที่ยวซึ่งยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของการลงทุนและการท่องเที่ยวมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจ

การผลิตรถยนต์กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

ในปี 2555 ปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ (รถยนต์นั่งและบรรทุกเล็ก) สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 2.38 และ 1.35 ล้านคันตามลำดับ ในครึ่งแรกของปี 2556 การผลิตและการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 และร้อยละ 26.2 ตามลำดับ และสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบภายใต้มาตรการคืนภาษีให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ตาม ภาวะตลาดในประเทศเริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นซึ่งจะเห็นได้จากการชะลอตัวของปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศจากร้อยละ 35.4 และร้อยละ 49.6 ในไตรมาสแรกเป็นร้อยละ 8.3 และร้อยละ 6.1 ตามลำดับในไตรมาสที่สอง รวมทั้งมีความเสี่ยงที่จะลดลงเร็วกว่าการคาดการณ์และส่งผลกระทบต่อจำนวนการผลิตและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งปีหลัง

จำนวนรถยนต์ที่ลดลง          การเปลี่ยนแปลงของปริมาณการผลิต (%)              การเปลี่ยนแปลงของมูลค่าผลผลิต (ล้านบาท)

(คิดที่ราคาเฉลี่ย 530,000 บาทต่อคัน)

                          H1           H2           ทั้งปี                              ทั้งปี
                                                                           มูลค่า          %GDP*
50,000                   21.1        -12.3          2.5                  26,500          0.23
100,000                  21.1        -16.1          0.4                  53,000          0.47
150,000                  21.1        -19.8         -1.7                  79,500          0.70
หมายเหตุ: * ร้อยละของ GDP ปี 2555 ณ ราคาปัจจุบัน

- สมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจ

1) เศรษฐกิจโลกในปี 2556 ขยายตัวร้อยละ 3.3 เท่ากับการขยายตัวในปี 2555 ซึ่งเป็นการปรับลดจากสมมติฐานการขยายตัวร้อยละ 3.6 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ตามการปรับลดอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนจากเดิมร้อยละ 2.2 และร้อยละ 8 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า เป็นร้อยละ 1.9 และร้อยละ 7.6 ในการประมาณการครั้งนี้ รวมทั้งการปรับลดอัตราการขยายตัวของประเทศสำคัญ อื่นๆ ตามการขยายตัวในไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองซึ่งอยู่ในระดับต่ำกว่าการคาดการณ์

2) ราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ) เฉลี่ยทั้งปีที่ 104 - 109 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบกับเฉลี่ย 108.8 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลในปี 2555 เท่ากับสมมติฐานในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนแรกของปีอยู่ที่เฉลี่ย 104.2 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในช่วงที่เหลือของปี ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ เนื่องจาก (1) ความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการปรับลดการคาดการณ์ของอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและยุโรป (2) การเพิ่มขึ้นของขีดความสามารถในการผลิตและการส่งออกน้ำมันของสหรัฐ และ (3) แนวโน้มการปรับลดขนาดของมาตรการขยายปริมาณเงินในสหรัฐ ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจจีนและการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินของญี่ปุ่นซึ่งส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. มีเสถียรภาพและแข็งค่ามากขึ้น

3) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2556 อยู่ที่ 29.8 - 30.8 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. เทียบกับเฉลี่ย 30.6 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2555 และสมมติฐาน 28.8 - 29.8 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ในช่วงครึ่งแรกของปีค่าเงินบาทอยู่ที่เฉลี่ย 29.9 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. และในช่วงเดือนกรกฎาคม เงินบาทอ่อนค่าลงเป็นเฉลี่ย 31.13 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าเงินบาทจะอยู่ในช่วง 30.2 - 31.2 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลงกว่าในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเนื่องจาก (1) การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ในไตรมาสแรกซึ่งส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 (2) การชะลอตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่สองซึ่งจะส่งผลต่อการคาดการณ์ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของนักลงทุน (3) ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจจีนซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจและค่าเงินของภูมิภาคเอเชีย และ (4) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่มีความชัดเจนมากขึ้นและแนวโน้มการปรับลดขนาดของมาตรการขยายปริมาณเงินซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์ สรอ. มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น

4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีที่ผ่านมา เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในปี 2555 ซึ่งเป็นการปรับลดจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองของปี 2556 ราคาส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 และลดลงร้อยละ 0.4 ตามลำดับ ส่งผลให้ราคาส่งออกในช่วงครึ่งแรกของปีลดลงร้อยละ 0.01 ในช่วงที่เหลือของปีราคาสินค้าส่งออกยังมีแนวโน้มอ่อนตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกในภาพรวม และค่าเงินดอลลาร์ สรอ. (Trade Weighted) ที่ยังอยู่ภายใต้แรงกดดันของการแข็งค่า

5) ราคานำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.3 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ในปี 2555 ซึ่งเป็นการปรับลดจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่สองราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ลดลงร้อยละ 1.8 และร้อยละ 3 ตามลำดับ ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกลดลงร้อยละ 2.4 ในช่วงที่เหลือของปีคาดว่าราคานำเข้าจะขยายตัวอย่างช้าๆ ตามราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลก และการอ่อนค่าของเงินเยนซึ่งทำให้ราคานำเข้าสินค้าวัตถุดิบ และเครื่องจักรอุปกรณ์ลดลง

6) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยในปี 2556 รวม 26.2 ล้านคน เทียบกับ 22.3 ล้านคนในปี 2555 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มจากสมมติฐาน 24.7 ล้านคนในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงกว่าการคาดการณ์ในครึ่งปีแรกซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 12.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 22

7) ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศทั้งปี 2556 ลดลงจากปีก่อนหน้าไม่เกิน 100,000 คันและการลดลง ดังกล่าวสามารถชดเชยโดยการส่งออกซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตยังคงเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.5 ล้านคัน เท่ากับปริมาณการผลิตในปี 2555

8) การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐทั้งปีไม่ต่ำกว่าร้อยละ 94 ของวงเงินงบประมาณและการเบิกจ่ายงบประมาณ จากแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำประมาณ 22,428 ล้านบาท และแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 6,600 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับลดจาก 67,000 ล้านบาทและ 10,000 ล้านบาทในสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

สมมติฐานการประมาณการ

                               2554        2555                              2556

20 พ.ค. 56 19 ส.ค. 56

การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก (%)     3.8         3.3                     3.6               3.3
สหรัฐอเมริกา                     1.8         2.2                     2.2               1.9
ยูโรโซน                         1.4        -0.6                    -0.2              -0.2
ญี่ปุ่น                           -0.7         2.0                     1.6               1.8
จีน                             9.3         7.8                     8.0               7.6
ปริมาณการค้าโลก (%)              5.8         2.8                     4.1               3.5
อัตราแลกเปลี่ยน (THB/USD)        30.5        31.1                 28.8 - 29.8       29.8 - 30.8
ราคาน้ำมันดิบดูไบ (USD/Barrel)   106.0       108.8                  105 - 110         104 - 109
ราคาส่งออก ดอลลาร์ สรอ. (%)      5.6         0.6                     1.5                0.0
ราคานำเข้า ดอลลาร์ สรอ.(%)      10.1         1.6                     0.5               -1.3
จำนวนนักท่องเที่ยว (ล้านคน)        19.1        22.3                    24.7               26.2

- ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2556

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.8 - 4.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในปี 2555 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.3 - 2.8 เทียบกับร้อยละ 3 ในปี 2555 และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 0.3 ของ GDP เทียบกับการเกินดุลร้อยละ 0.8 ของ GDP ในปี 2555

ในการแถลงข่าววันที่ 19 สิงหาคม 2556 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับช่วงประมาณการเศรษฐกิจให้แคบลงและปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากเดิมร้อยละ 4.2 - 5.2 ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 เป็นการขยายตัวร้อยละ 3.8 - 4.3 โดยมีเหตุผลหลักของการปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจประกอบด้วย

1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ ทั้งนี้ในการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงร้อยละ 4.2 - 5.2 ในการประมาณการครั้งก่อนตั้งอยู่บนสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองร้อยละ 3.3 - 4.3 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเศรษฐกิจในไตรมาสที่สองขยายตัวเพียงร้อยละ 2.8 ทำให้ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยทั้งปีจะขยายตัวเกินร้อยละ 4.3 ลดลง

2) การปรับลดสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญๆ โดยเฉพาะ (1) การปรับลดสมมติฐานด้านการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากร้อยละ 3.6 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 เป็นร้อยละ 3.3 (2) การปรับลดสมมติฐานด้านราคาสินค้าส่งออกจากร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 0.0 และ (3) การปรับลดสมมติฐานด้านการเบิกจ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายจากแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากเดิม 67,000 ล้านบาทและ 10,000 ล้านบาทในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 22,428 ล้านบาทและ 6,600 ล้านบาท ควบคู่ไปกับการปรับเพิ่มวงเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ครอบคลุมแผนการนำเข้าเครื่องบินในปี 2556 ซึ่งไม่ได้รวมคำนวณไว้ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า

3) การขยายตัวในช่วงที่เหลือของปียังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ (Downside Risk) หาก (1) การขยายตัวของการส่งออกต่ำกว่าร้อยละ 5.0 (2) ความต้องการรถยนต์ในประเทศและการส่งออกไม่สามารถขยายตัวชดเชยแรงส่งจากมาตรการลดภาษีให้แก่ผู้ซื้อรถยนต์คันแรกที่ลดลงและทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งปี ต่ำกว่าปริมาณการผลิตในปี 2555 และ (3) การเบิกจ่ายงบประมาณปกติและการเบิกจ่ายจากแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่ำกว่าสมมติฐานการประมาณการ

- องค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวมขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.8 ในปี 2555 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ตามการปรับลดประมาณการการขยายตัวของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน จากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า เป็นการขยายตัวร้อยละ 2.5 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการขยายตัวในไตรมาสที่สองต่ำกว่าการคาดการณ์ ตลอดจนการปรับสมมติฐานด้านปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ และการ ปรับลดสมมติฐานด้านราคาสินค้าส่งออก ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกลดลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคและการบริโภคภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้า

2) การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 6 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 13.2 ในปี 2555 ซึ่งเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 7.9 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดอัตราการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนจากเดิมร้อยละ 6.3 ในการประมาณการเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 เป็นการขยายตัวร้อยละ 4 ตามข้อมูลจริงในไตรมาสที่สองซึ่งการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ ในขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 13.8 เท่ากับการประมาณการในครั้งก่อนหน้าเนื่องจากเป็นการปรับลดสมมติฐานด้านการเบิกจ่ายจากแผนการบริหารทรัพยากรน้ำและแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับการปรับเพิ่มแผนการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ครอบคลุมแผนการนำเข้าเครื่องบินในปี 2556

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2555 ซึ่งเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้าตามการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากเดิมร้อยละ 3.6 เป็นร้อยละ 3.3 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 5 ต่ำกว่าร้อยละ 6.1 ในการประมาณการครั้งก่อน รวมทั้งการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของราคาสินค้าส่งออกจากเดิมร้อยละ 1.5 เป็นร้อยละ 0.0 อย่างไรก็ตาม การปรับสมมติฐานด้านจำนวนนักท่องเที่ยวส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวสูงขึ้นกว่าผลการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 6.5 เทียบกับร้อยละ 7.8 ในปี 2555 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 7.6 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดสมมติฐานด้านราคานำเข้าจากเดิมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เป็นการลดลงร้อยละ 1.3 อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าสินค้าปรับตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.1 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมาเป็นร้อยละ 7.8 เนื่องจากปริมาณการนำเข้าในช่วงครึ่งปีแรกยังขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 5.8 แม้ว่าปริมาณการส่งออกจะขยายตัวต่ำร้อยละ 1.2 ก็ตาม รวมทั้งการปรับสมมติฐานด้านการลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้ครอบคลุมแผนการนำเข้าเครื่องบินในปี 2556

5) ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เทียบกับการเกินดุล 200 ล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2555 และเป็นการปรับลดจากการเกินดุล 3.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งที่แล้ว โดยการเกินดุลการค้าลดลงจาก 8.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อนหน้าเป็น 5.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของปริมาณการส่งออกและการนำเข้าจากร้อยละ 6.1 และร้อยละ 7.1 เป็นร้อยละ 5.0 และร้อยละ 7.8 รวมทั้งการปรับสมมติฐานราคาสินค้าส่งออกและนำเข้า ซึ่งส่งผลให้อัตราการค้า (Terms of trade) ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับประมาณการครั้งก่อนหน้า อย่างไรก็ตามการปรับสมมติฐานด้านการท่องเที่ยวส่งผลให้ดุลบริการปรับตัวดีขึ้นจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

6) อัตราเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 2.3 - 2.8 เทียบกับร้อยละ 3 ในปี 2555 และร้อยละ 2.3 - 3.3 ในการประมาณการครั้งก่อนหน้าซึ่งเป็นผลมาจากการปรับลดประมาณการราคาสินค้านำเข้า ราคาสินค้าส่งออกและการปรับลดช่วงการประมาณจากร้อยละ 1 เป็นช่วงประมาณการ ร้อยละ 0.5

6. ประเด็นการบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2556

เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปียังคงขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ในช่วงครึ่งปีหลัง การขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศยังมีข้อจำกัดจากฐานที่สูงขึ้นและการลดลงของแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่การขยายตัวของการส่งออกยังมีข้อจำกัดจากการฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญที่จะทำให้การขยายตัวของการส่งออกต่ำกว่าประมาณการ นอกจากนั้น แม้ว่าแรงกดดันด้านการแข็งค่าของเงินบาทจะลดลงจากครึ่งปีแรก แต่อัตราแลกเปลี่ยนแท้จริงเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้ายังคงมีแนวโน้มอยู่ในระดับแข็งค่าอย่างต่อเนื่องและสร้างแรงกดดันต่อ ขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง ดังนั้น การบริหารเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีจึงควรให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการเพื่อรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะสั้นควบคู่ไปกับการดำเนินนโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในระยะยาว ประกอบด้วย

1) การเร่งรัดดำเนินมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ให้สามารถสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้ายซึ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจมีข้อจำกัดจากฐานการขยายตัวที่สูง ซึ่งสามารถรองรับโดยมาตรการด้านการใช้จ่ายภาครัฐที่สามารถดำเนินการในระยะสั้น โดยเฉพาะ (1) การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2556 และไตรมาสแรกของปี 2557 (2) การเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปี (3) การเร่งรัดการเบิกจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (4) การเร่งรัดการเบิกจ่ายของกองทุนนอกงบประมาณ รวมทั้งมาตรการสนับสนุนการส่งออกสินค้าและบริการ โดยเฉพาะการเร่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีศักยภาพซึ่งรวมถึงการค้าชายแดนที่ยังต้องให้ความสำคัญกับการอำนวยความสะดวกต่อการส่งออก ตลอดจนการเตรียมความพร้อมให้กับมาตรการด้านการสนับสนุนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน

2) การเร่งรัดให้เม็ดเงินที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนให้สามารถดำเนินโครงการลงทุนได้โดยเร็ว เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังที่ยังมีข้อจำกัดจากฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น

3) การเตรียมความพร้อมของโครงการลงทุนภายใต้แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้โครงการลงทุนที่มีความพร้อมสามารถเริ่มดำเนินการและสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี ตลอดจนสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

4) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวและขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้สามารถขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั้งที่มีอยู่เดิมและแหล่งท่องเที่ยวใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ และยกระดับคุณภาพการให้บริการให้ได้มาตรฐานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวโดยการดูแลความปลอดภัยอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และแก้ไขปัญหาการเอาเปรียบนักท่องเที่ยวให้เกิดผลโดยเร็ว

มาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจปี 2556 และมาตรการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงการคลังและสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ โดยประกอบด้วย มาตรการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ 3 ด้าน ได้แก่ (1) มาตรการทางการเงิน (2) มาตรการด้านการคลัง และ (3) มาตรการเฉพาะด้าน และต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2556 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพที่กระทรวงการคลังเสนอเพิ่มเติมใน 4 ด้าน ดังนี้

ด้าน                         มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
1. การบริโภคภาคเอกชน         1.1 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดสัมมนาภายในประเทศ

1.2 มาตรการสนับสนุนให้ผู้บริโภคใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ประหยัดพลังงาน

2. การลงทุนภาคเอกชน          2.1 มาตรการภาษีเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

2.2 มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล (Eco Car) ระยะที่ 2

2.3 มาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตรที่เป็นทั้งอาหารและพลังงาน

2.4 มาตรการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รายเล็กและรายย่อย

(1) มาตรการสินเชื่อและค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

(2) มาตรการค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการ OTOP และวิสาหกิจชุมชน (สินเชื่อ Micro-finance)

(3) มาตรการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนของประชาชนรายย่อย (สินเชื่อ Nano-finance)

3. การใช้จ่ายภาครัฐ            3.1 มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2556

(1) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

(2) เร่งรัดการเบิกจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

(3) เร่งรัดการเบิกจ่ายของกองทุนนอกงบประมาณ

3.2 มาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557

(1) เตรียมความพร้อมในการใช้งบประมาณปี 2557 ในลักษณะเร่งรัดในช่วงแรกของปีงบประมาณ

(2) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณเหลื่อมปีของปีงบประมาณ 2556 และปีงบประมาณก่อนหน้า

(3) เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินรางวัลของข้าราชการและลูกจ้างประจำ ประจำปีงบประมาณ 2555

(4) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบอบรมและสัมมนา 4. การส่งออกสินค้าและบริการ 4.1 การส่งออกสินค้าและการค้าสินค้าระหว่างประเทศ

(1) การเร่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีศักยภาพ

(2) การสนับสนุนการใช้เงินบาทในการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน

(3) การส่งเสริมการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance)

4.2 การสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวจากต่างชาติ

(1) การสนับสนุนการจัดทำวีซ่าประเภทเข้าออกหลายครั้ง (Multiple-Entry Visa)

ที่มีระยะเวลาหลายปี

(2) การสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอย (Shopping Paradise)

เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

                                                       ประมาณการเศรษฐกิจปี 2556
                                            ข้อมูลจริง                        ประมาณการ ปี 2556
                                       ปี 2554     ปี 2555              20 พ.ค.56         19 ส.ค. 56
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านบาท)           10,540     11,375                 12,228             12,126
   รายได้ต่อหัว (บาทต่อคนต่อปี)             155,926    167,508                178,513            177,664
GDP (ณ ราคาประจำปี: พันล้านดอลลาร์ สรอ.)    345.6        366                    417                400
   รายได้ต่อหัว (ดอลลาร์ สรอ. ต่อหัวต่อปี)      5,113      5,390                  6,093              5,864
อัตราการขยายตัวของ GDP (ณ ราคาคงที่, %)       0.1        6.5              4.2 - 5.2          3.8 - 4.3
การลงทุนรวม (ณ ราคาคงที่, %)                 3.3       13.2                    7.9                6.0
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                7.2       14.4                    6.3                4.0
   ภาครัฐ (ณ ราคาคงที่, %)                  -8.7        8.9                   13.8               13.8
การบริโภครวม (ณ ราคาคงที่, %)                1.3        6.8                    3.2                2.6
   ภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่, %)                1.3        6.7                    3.3                2.5
   ภาครัฐบาล (ณ ราคาคงที่, %)                1.1        7.5                    2.6                3.6
ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)      9.5        3.1                    7.1                7.4
   มูลค่าการส่งออกสินค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)  219.1      226.2                  243.2              237.5
      อัตราการขยายตัว (%)2/                14.3        3.2                    7.6                5.0
      อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)2/          8.3        2.6                    6.1                5.0
ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการ (ปริมาณ, %)     13.7        6.2                    6.9                7.2
   มูลค่าการนำเข้าสินค้า(พันล้านดอลลาร์สรอ.)1/  202.1      217.8                  234.3              232.0
      อัตราการขยายตัว (%)2/                24.9        7.8                    7.6                6.5
      อัตราการขยายตัว (ปริมาณ, %)2/         13.4        6.1                    7.1                7.8
ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์ สรอ.)1/             17.0        6.0                    8.9                5.5
ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์ สรอ.) 1/        5.9        0.2                    3.7                1.2
ดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP (%)                    1.7        0.1                    0.9                0.3
เงินเฟ้อ (%)
   ดัชนีราคาผู้บริโภค                          3.8        3.0                2.3-3.3          2.3 - 2.8
   GDP Deflator                           4.2        1.3                2.3-3.3          2.3 - 2.8
          ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 19 สิงหาคม 2556 ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
          หมายเหตุ: 1/  ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงวิธีการคำนวณดุลการชำระเงินให้เป็นไปตามคู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 6 ของ IMF  (ดูรายละเอียดที่http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/ExternalSector/Pages/Newtable.aspx) ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าที่ใช้เป็นฐานในการประมาณการในครั้งก่อนหน้าลดลง  2/  ตัวเลขการส่งออกและการนำเข้าเป็นไปตามฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย

          --สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ