ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ทั้งปี 2560 และแนวโน้มปี 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 19, 2018 11:57 —สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

สำนักยุทธศาสตร์และการวางแผนเศรษฐกิจมหภาค

แถลงข่าว วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 09.30 น.

  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2560 ร้อยละ 0.5 (QoQ_SA)
  • ด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งออกสินค้า และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง ในด้านการผลิต การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาขนส่งและคมนาคม และสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และ การประปาขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ในขณะที่ ภาคเกษตร และสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลง
  • รวมทั้งปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2559 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 9.7 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 0.7 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 10.8 ของ GDP
  • แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.6 - 4.6 โดยมีแรงสนับสนุน ที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) การขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการ ใช้จ่ายภาครัฐที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และการลงทุนภาครัฐที่จะเร่งตัวขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐ (3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน (4) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ และ (5) การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 6.8 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 - 1.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 7.8 ของ GDP
  • ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับ (1) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตรเพื่อชดเชยการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ โดย (i) การดูแลการส่งออกให้ขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพและต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน (ii) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน การชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย และสร้างความมั่นใจเกี่ยวกับความต่อเนื่องของโครงการและนโยบายการพัฒนาที่สำคัญหลังเปลี่ยนผ่านสู่การเลือกตั้ง (iii) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวรายได้สูงและนักท่องเที่ยวระยะไกล ควบคู่ไปกับการกระจายรายได้สู่ชุมชน (2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดย (i) การเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงที่เหลือของปี ควบคู่ ไปกับการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 72.0 และร้อยละ 77.0 ตามลำดับ (ii) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (iii) การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และ (iv) การจัดทำแผนและขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจในระดับภาคและจังหวัดสำคัญๆ (3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก ทั้งในด้าน (i) การผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรและการติดตามและป้องกันผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา (ii) มาตรการการเงินการคลัง โดยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการดูแลมาตรการสินเชื่อให้มีวงเงินที่เพียงพอ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และ (iii) การให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินธุรกิจ การเพิ่มขึ้นของค่าแรงและการแข็งค่าของเงินบาท และ (4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ทั้งปี 2560 และแนวโน้มปี 2561

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการใช้จ่าย มีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชน การขยายตัวในเกณฑ์สูงของการส่งออกสินค้า และการขยายตัวต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง ในด้านการผลิต การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการค้าส่งค้าปลีก สาขาขนส่งและคมนาคม และสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา ขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ในขณะที่ภาคเกษตร และสาขาก่อสร้างปรับตัวลดลง และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2560 ร้อยละ 0.5 (QoQ_SA) รวมทั้งปี 2560 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 3.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2559

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 และทั้งปี 2560

1) การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้รวมในระบบเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภค โดยการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นร้อยละ 21.8 สอดคล้องกับการขยายตัวของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งร้อยละ 33.9 ในขณะที่การใช้จ่ายของด้านบริการ สินค้ากึ่งคงทน และสินค้าไม่คงทน ขยายตัวร้อยละ 2.3 ร้อยละ 0.5 และร้อยละ 1.8 ตามลำดับ สอดคล้องกับดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล ที่ขยายตัวร้อยละ 11.5 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ระดับ 65.2 และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัวร้อยละ 0.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2560 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 และการใช้จ่ายของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 0.5

2) การลงทุนรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3) โดยการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและการลดลงของกำลังการผลิตส่วนเกินในหลายอุตสาหกรรม แต่การลงทุนในสิ่งก่อสร้างยังปรับตัวลดลงร้อยละ 2.3 ส่วนการลงทุนภาครัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 6.0 โดยการลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว แต่การลงทุนของรัฐบาลลดลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาอุทกภัยและการปรับตัวด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ สอดคล้องกับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 14.0 เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 21.1 และอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 17.0 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวมทั้งปี 2560 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 0.9 โดยการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 1.2 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.7

3) การส่งออกสินค้า มีมูลค่า 61,164 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องร้อยละ 11.6 ซึ่งเป็นการขยายตัวในทุกตลาดส่งออกสำคัญ และเกือบทุกหมวดสินค้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 กลุ่มสินค้าส่งออกที่มูลค่าขยายตัว เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถกระบะและรถบรรทุก เครื่องจักรและอุปกรณ์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) และตะวันออกกลาง (15) ขยายตัวดีต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกไปออสเตรเลียกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 เมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9

รวมทั้งปี 2560 การส่งออกมีมูลค่า 235,106 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 9.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.1 ในปี 2559 และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกมีมูลค่า 7,969 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ในปี 2559

4) ภาคเกษตร ลดลงร้อยละ 1.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.7 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะฝนตกชุก อุทกภัย และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายพื้นที่ ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ข้าวเปลือกนาปี และมันสำปะหลัง และผลผลิตในหมวดประมง อย่างไรก็ตาม ผลผลิตอ้อย ปาล์มน้ำมัน กลุ่มไม้ผล ยางพารา ข้าวโพด และหมวดปศุสัตว์เพิ่มขึ้น ส่วนดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 6.1 เนื่องจากสินค้าเกษตรบางรายการออกสู่ตลาดมากขึ้น โดยราคาสินค้าเกษตรที่ลดลง ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสุกร ในขณะที่ราคา มันสำปะหลัง ข้าวเปลือก ไก่เนื้อ และข้าวโพดเพิ่มขึ้น การลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 7.0

รวมทั้งปี 2560 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 6.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.5 ในปี 2559

5) สาขาอุตสาหกรรม ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 3.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้าตามการปรับตัวดีขึ้นของการส่งออก สอดคล้องกับการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) ร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.0 ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.3 เนื่องจากการลดลงของอุตสาหกรรมบางรายการ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 59.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และเครื่องใช้ในบ้านเรือน เป็นต้น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลง เช่น เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ การแปรรูปสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น

รวมทั้งปี 2560 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2559 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.0

6) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 15.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า รายรับรวมจากการท่องเที่ยว 729.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 494.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 ตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงของรายรับจากนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 235.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 69.44 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 66.97 ในไตรมาสเดียวกัน ของปีก่อน

รวมทั้งปี 2560 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 8.5 รายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2,754.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 แบ่งเป็น รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1,824.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 และรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 930.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 35.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.49

7) สาขาขนส่งและการคมนาคม ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 8.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 9.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก โดยบริการขนส่งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ ขยายตัวร้อยละ 7.3 ร้อยละ 18.5 และร้อยละ 7.4 ตามลำดับ ในขณะที่บริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 8.5 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม รวมทั้งปี 2560 การผลิตสาขาขนส่งและคมนาคมขยายตัวร้อยละ 7.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในปี 2559

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561

สศช. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 3.6 - 4.6 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกขยายตัวดีต่อเนื่องและทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาสนับสนุนเศรษฐกิจได้มากขึ้น (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี และการลงทุนภาครัฐที่จะเร่งตัวขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุน และความคืบหน้าที่ชัดเจนมากขึ้นของโครงการลงทุนภาครัฐ (3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน (4) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ และ (5) การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 6.8 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.2 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย อยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 - 1.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 7.8 ของ GDP

1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ในด้านต่างๆ เป็นดังนี้

ด้านการใช้จ่าย

การบริโภคภาคเอกชน: ขยายตัวเร่งขึ้นตามการขยายตัวของการใช้จ่ายบริโภคสินค้าคงทนและรายจ่าย ภาคบริการ สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของเศรษฐกิจ การเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อภาคครัวเรือน และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.4 ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของรายจ่ายบริโภคสินค้าคงทน โดยเฉพาะปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 33.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 10.9 ในไตรมาสก่อนหน้า (ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในประเทศในไตรมาสนี้อยู่ที่ 101,623 คัน สูงสุดในรอบ 16 ไตรมาส และเป็นปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ที่สูงกว่า 100,000 คันเป็นครั้งแรกในรอบ 16 ไตรมาส) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการจัดกิจกรรมการขาย ของผู้ประกอบการที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าอื่นๆ ขยายตัวต่อเนื่อง โดยดัชนีภาษีมูลค่าเพิ่มหมวดโรงแรมและภัตตาคาร (ราคาคงที่) ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และปริมาณการจำหน่ายน้ำมันดีเซล ขยายตัวร้อยละ 11.5 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนมาจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวเร่งขึ้นท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับต่ำ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งอยู่ที่ระดับ 65.2 เทียบกับระดับ 62.4 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ไตรมาส

รวมทั้งปี 2560 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.0 ในปี 2559

การลงทุนภาคเอกชน: ขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวอย่างช้าๆ ของการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 2.4 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 3.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ร้อยละ 4.2 ร้อยละ 9.5 และร้อยละ 0.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.4 ร้อยละ 13.1 และร้อยละ 0.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงร้อยละ 2.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ปริมาณการจำหน่ายคอนกรีตในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายกระเบื้อง ในประเทศ และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล ร้อยละ 3.5 ร้อยละ 3.1 ร้อยละ 5.3 และร้อยละ 5.7 ตามลำดับ สำหรับยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในไตรมาสนี้ อยู่ที่ 265.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 29.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3) ในขณะที่ยอดการออกบัตรส่งเสริมการลงทุนอยู่ที่ 264.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 63.4 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 22.1 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจอยู่ที่ระดับ 50.7 เทียบกับระดับ 51.1 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2560 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรขยายตัวร้อยละ 2.4 และการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลงร้อยละ 1.0

การส่งออก: การส่งออกในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง สอดคล้องกับการขยายตัว เร่งขึ้นของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก การส่งออกสินค้าใน ไตรมาสที่สี่ของปี 2560 มีมูลค่า 61,164 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 11.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 12.5 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวติดต่อกัน 6 ไตรมาส โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 8.7 ในไตรมาสที่สาม และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ในไตรมาสที่สาม การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจาก (1) การเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์จากต่างประเทศที่ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก และ (2) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาส่งออกสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เช่น ราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.5) ราคาเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 (สัดส่วน การส่งออกร้อยละ 3.1) ราคาเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.7) และราคาผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.5) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 11.2 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาทการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 2,015 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.7 ในไตรมาส ก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2560 การส่งออกมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 235,106 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 9.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.1 ในปี 2559 และเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยปริมาณ การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 และราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ในปี 2559

มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 13.6 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 28.4 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5) โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก มาจากการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญ ได้แก่ ข้าว และยางพารา ส่วนราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาส่งออกข้าว มันสำปะหลัง และยางพารา เป็นสำคัญ แต่ราคาส่งออกสินค้าเกษตรอื่นๆ เช่น น้ำตาลปรับตัวลดลง การส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญๆ ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.5 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.8 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังประเทศบังคลาเทศ สหรัฐอเมริกา และแคเมอรูน และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 มันสำปะหลัง มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 เนื่องจากประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักมีความต้องการใช้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทานอล ในขณะที่ปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 5.0 เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยางพารา มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ตามอุปสงค์จากตลาดส่งออกหลัก (จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น) ที่มีอย่างต่อเนื่อง และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับจีนมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากสต็อกยางลดลง มูลค่าการส่งออกน้ำตาลลดลงร้อยละ 9.5 เนื่องจากราคาส่งออกลดลงร้อยละ 7.3 และปริมาณการส่งออกลดลงร้อยละ 2.1 มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 13.1 เร่งขึ้นจากร้อยละ 9.6 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 6 และสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาส) ตามความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจโลก และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 6.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ราคาสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.9 ในไตรมาสก่อนหน้า สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม (ร้อยละ 60.4) ผลิตภัณฑ์ยาง (ร้อยละ 44.3) ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ยานยนต์ (ร้อยละ 16.9) แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน (ร้อยละ 3.6) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (ร้อยละ 26.0) ปิโตรเคมี (ร้อยละ 10.7) และเคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 21.4) เป็นต้น ในขณะที่การส่งออกรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ร้อยละ 13.5 ตามการเพิ่มขึ้นของการส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ รัสเซีย และซาอุดิอาระเบีย เช่นเดียวกับการส่งออกรถกระบะและรถบรรทุก และเครื่องปรับอากาศที่กลับมาขยายตัวร้อยละ 30.2 และร้อยละ 6.5 ตามลำดับ จากการส่งออกไปตลาดออสเตรเลียเป็นสำคัญ มูลค่าการส่งออกสินค้าประมงลดลงร้อยละ 4.1 เนื่องจากปริมาณการส่งออกที่ลดลงร้อยละ 11.3 ขณะที่ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกลดลง ได้แก่ ปลา และปลาหมึก ในขณะที่กุ้ง ปู กั้ง และล็อบสเตอร์ยังคงขยายตัว สินค้าส่งออกอื่นๆ ลดลงร้อยละ 43.1 เป็นผลจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปร้อยละ 46.6 (มูลค่าการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปอยู่ที่ 592 ล้านดอลลาร์ สรอ. คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม)

ตลาดส่งออก: การส่งออกไปยังตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวทุกตลาด ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (15) จีน ญี่ปุ่น อาเซียน (9) ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง (15) การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (15) ขยายตัวร้อยละ 10.7 และร้อยละ 11.4 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 8.1 และร้อยละ 4.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปยังตลาดจีน และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 14.2 และร้อยละ 9.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 21.7 และร้อยละ 10.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีน และญี่ปุ่น สำหรับการส่งออกไปตลาดอาเซียน (9) ขยายตัวร้อยละ 11.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน (5) ร้อยละ 13.1 และการขยายตัวต่อเนื่องของการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ร้อยละ 9.9 ส่วนการส่งออกไปยังตะวันออกกลาง (15) ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดออสเตรเลียกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ร้อยละ 17.2 จากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ และเม็ดพลาสติก เป็นสำคัญ

การนำเข้า: มูลค่าการนำเข้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของทั้งราคาและปริมาณการนำเข้า ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 การนำเข้ามีมูลค่า 54,661 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 14.6 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 13.0 ในไตรมาสก่อนหน้าโดยราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 8.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของปริมาณการนำเข้าทั้งในหมวดวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค สอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และอุปสงค์ภายในประเทศ เมื่อหักการนำเข้าทองคำออกแล้ว มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 ทั้งนี้ หากไม่รวมการนำเข้าทองคำและน้ำมันดิบ มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 ในรูปของเงินบาท การนำเข้ามีมูลค่ารวม 1,801 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

รวมทั้งปี 2560 การนำเข้ามีมูลค่า 203,240 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ14.4 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.1 ในปี 2559 โดยปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 และร้อยละ 5.5 ตามลำดับ และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.8 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.1 ในปี 2559 ในรายหมวด มูลค่าการนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยมูลค่าการนำเข้าหมวดวัตถุดิบและสินค้า ขั้นกลางเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 เนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.8 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5) สอดคล้องกับการขยายตัวของการส่งออกสินค้า และการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ แผงวงจรรวมและชิ้นส่วน และวัสดุที่ทำด้วยโลหะ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.9 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวต่อเนื่องเป็น ไตรมาสที่ 4) สอดคล้องกับการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.7 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม และเครื่องจักรกลอื่นๆ และชิ้นส่วน เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.9 โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.4 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ในไตรมาสก่อนหน้า (ขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาส ที่ 3) สอดคล้องกับการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 สินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากสัตว์และประมง อาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์นม และยาและเวชภัณฑ์ เป็นต้น มูลค่าการนำเข้าหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.3 โดยเฉพาะการนำเข้าทองคำ (ไม่รวมทองรูปพรรณ) ซึ่งมีมูลค่า 3,834 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.7

อัตราการค้า (Term of Trade) ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้าเนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เร็วกว่าราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 ส่งผลให้อัตราการค้าปรับตัวลดลงจากระดับ 111.2 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นระดับ 109.7 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560

รวมทั้งปี 2560 อัตราการค้าอยู่ที่ 110.5 ปรับตัวลดลงจาก 112.5 ในปี 2559 เนื่องจากราคานำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.5 เร็วกว่าราคาส่งออกซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6

ดุลการค้าเกินดุล ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ดุลการค้าเกินดุล 6.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (214.3 พันล้านบาท) น้อยกว่าการเกินดุล 10.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (337.4 พันล้านบาท) ในไตรมาสก่อนหน้า และการเกินดุล 7.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (215.2 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวมทั้งปี 2560 ดุลการค้าเกินดุล 31.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (1,080.1 พันล้านบาท) น้อยกว่าการเกินดุล 36.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (1,289.5 พันล้านบาท) ในปี 2559

ด้านการผลิต

ภาคเกษตร: ปรับตัวลดลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายพื้นที่ ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงจากฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าและผลผลิตบางรายการที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกรปรับตัวลดลง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 การผลิตภาคเกษตรลดลงร้อยละ 1.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 9.7 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสาขาเกษตรกรรมและสาขาประมงลดลงร้อยละ 1.2 และร้อยละ 2.4 ตามลำดับ สอดคล้องกับการลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรร้อยละ 0.9 ซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของดัชนีผลผลิตหมวดพืชผลสำคัญและหมวดประมงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะปัญหาอุทกภัยและฝนตกชุกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2560 รวมทั้งฝนตกชุกและอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ผลผลิตหมวดปศุสัตว์ขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง โดยผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ (1) ข้าวเปลือกลดลงร้อยละ 8.9 โดยเฉพาะข้าวนาปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2560 (2) กุ้งขาวแวนนาไมลดลงร้อยละ 11.6 เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง และ (3) มันสำปะหลังลดลงร้อยละ 10.1 ตามพื้นที่การเพาะปลูกที่ลดลง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัว เช่น ผลผลิตอ้อย (ร้อยละ 64.3) ปาล์มน้ำมัน (ร้อยละ 29.6) ไก่เนื้อ (ร้อยละ 7.4) กลุ่มไม้ผล (ร้อยละ 2.4) สุกร (ร้อยละ 4.8) ยางพารา (ร้อยละ 1.8) ไข่ไก่ (ร้อยละ 6.0) และข้าวโพด (ร้อยละ 3.5) เป็นต้น ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 6.1 โดยดัชนีราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง ได้แก่ (1) ยางพารา เนื่องจากความต้องการในต่างประเทศชะลอตัว (2) ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และสต็อกปาล์มน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง และ(3) สุกร เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นลงกระตุ้นให้ลูกสุกรโตเร็ว ส่งผลให้ผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่าความต้องการของผู้บริโภค เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังมีดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่ขยายตัว เช่น ราคามันสำปะหลัง (ร้อยละ 30.8) ราคาข้าวเปลือก (ร้อยละ 4.8) ราคาไก่เนื้อ (ร้อยละ 2.0) และราคาข้าวโพด (ร้อยละ 3.7) เป็นต้น การลดลงของดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรและดัชนีราคาสินค้าเกษตรส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรใน ไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 7.0

รวมทั้งปี 2560 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 6.2 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.5 ในปี 2559 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 2.7 ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9

สาขาอุตสาหกรรม: ขยายตัวในเกณฑ์ดีโดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งตัวขึ้นของอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก แม้ว่าการลดลงของอุตสาหกรรมการผลิตบางรายการจะทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าก็ตาม ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากการขยายตัวร้อยละ 4.2 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อส่งออก (สัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ และการผลิตเครื่องใช้ในบ้านเรือน ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 และร้อยละ 5.6 ตามลำดับ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกในช่วงร้อยละ 30 - 60 ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการผลิตในอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น อุตสาหกรรมส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ขยายตัวร้อยละ 14.2 และร้อยละ 6.9 ตามลำดับ ในขณะที่การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำปรับตัวลดลงร้อยละ 8.9 สอดคล้องกับการลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรในหมวดประมง ซึ่งได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ในขณะที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมกลุ่มการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ (สัดส่วนส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30) ลดลงร้อยละ 0.3 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ ซึ่งปรับตัวลดลงร้อยละ 14.4 และร้อยละ 19.7 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตผลิตภัณฑ์ ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ และการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องร้อยละ 6.9 ร้อยละ 2.4 และร้อยละ 2.9 ตามลำดับ อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 60.8 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 59.5 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมสำคัญ ที่มีการใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 60 - 70 ประกอบด้วย การผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ร้อยละ 61.0) การผลิตยางนอกและยางใน การหล่อดอกยางและการซ่อมสร้างยาง (ร้อยละ 61.1) และการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ (IC) (ร้อยละ 62.8) อุตสาหกรรมสำคัญที่ใช้กำลังการผลิตในช่วงร้อยละ 71 - 80 ประกอบด้วย การผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง (ร้อยละ 70.4) การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (HDD) (ร้อยละ 70.6) และการผลิตยานยนต์ (ร้อยละ 77.1) ส่วนอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 80 ประกอบด้วย การผลิตส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ และเครื่องยนต์ (ร้อยละ 85.3) การผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ (ร้อยละ 87.2) และการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (ร้อยละ 89.6)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ (ร้อยละ 31.8) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์และเครื่องยนต์ (ร้อยละ 14.2) ยานยนต์ (ร้อยละ 6.9) ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม (ร้อยละ 6.9) และเครื่องใช้ในบ้านเรือน ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (ร้อยละ 5.6) เป็นต้น

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ ที่ลดลง ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน (ร้อยละ -14.4) การจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ (ร้อยละ -19.7) การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ (ร้อยละ -8.9) เครื่องจักรที่ใช้งานทั่วไปอื่น ๆ (ร้อยละ -10.4) และผลิตภัณฑ์จากคอนกรีต ซีเมนต์ และ ปูนปลาสเตอร์ (ร้อยละ -3.6) เป็นต้น

รวมทั้งปี 2560 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2.5 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในปี 2559 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 และอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 61.0

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร: ขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นตามการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายรับจากการท่องเที่ยว ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 15.3 เร่งขึ้นมากจากการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยในไตรมาสนี้มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 9.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากฐานที่ต่ำในช่วงไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า และนักท่องเที่ยวจากตลาดสำคัญๆ เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน (สัดส่วนร้อยละ 26.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 67.2) รัสเซีย (สัดส่วนร้อยละ 5.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0) เกาหลีใต้ (สัดส่วนร้อยละ 4.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6) และอินเดีย (สัดส่วนร้อยละ 4.0 เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6) เมื่อรวมกับการขยายตัวของนักท่องเที่ยวชาวไทยส่งผลให้ในไตรมาสนี้ มีรายรับรวมจากการท่องเที่ยว 729.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.9 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 9.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 494.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากรายรับของนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย เกาหลีใต้ อินเดีย และกัมพูชา เป็นสำคัญ และ (2) รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 235.0 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.1 ส่วนอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 69.44 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63.71 ในไตรมาสก่อนหน้า และร้อยละ 66.97 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

รวมทั้งปี 2560 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 8.5 โดยรายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 2,754.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 แบ่งเป็น รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 1,824.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 และรายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 930.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 35.38 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.49

สาขาการค้าส่งค้าปลีก: ขยายตัวในเกณฑ์ดีและเร่งตัวขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและการส่งออก รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 การผลิตสาขาค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 6.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ในด้านการค้าปลีก ดัชนีการค้าปลีกปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 และเป็นการขยายตัวในเกือบทุกหมวดสินค้า ประกอบด้วย หมวดสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 หมวดห้างสรรพสินค้าและร้านค้าทั่วไป (เช่น ร้านขายปลีกอาหาร เครื่องดื่ม หรือยาสูบ เป็นสินค้าหลัก เป็นต้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.1 หมวดยอดขายรถยนต์ ซ่อมแซมรถยนต์ และน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.5 และหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ในขณะที่ดัชนีหมวดสินค้าไม่คงทน (เช่น ร้านขายปลีกเครื่องดื่ม และร้านขายปลีกผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น) ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.2 ในด้านการค้าส่ง ดัชนีค้าส่งหมวดสินค้าไม่คงทน (เช่น การขายส่งอาหาร และการขายส่งสินค้าทางเภสัชกรรมและทางการแพทย์ เครื่องหอม และเครื่องประทินโฉม เป็นต้น) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ในขณะที่หมวดสินค้าขั้นกลาง ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 10.6

รวมทั้งปี 2560 การผลิตสาขาการค้าส่งค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในปี 2559

สาขาขนส่งและการคมนาคม: ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว รวมทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการส่งออก ซึ่งส่งผลให้บริการขนส่งขยายตัวในเกณฑ์สูง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 การผลิตสาขาขนส่งและคมนาคมขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 8.9 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 9.1 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ประกอบด้วย (1) บริการขนส่งทางบกขยายตัวร้อยละ 7.3 (2) บริการขนส่งทางอากาศขยายตัวร้อยละ 18.5 และ (3) บริการขนส่งทางน้ำขยายตัวร้อยละ 7.4 ส่วนบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 8.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 8.6 ในไตรมาสก่อนหน้า และสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของผลประกอบการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม

รวมทั้งปี 2560 การผลิตสาขาขนส่งและคมนาคมขยายตัวร้อยละ 7.3 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ในปี 2559

สาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปา: ขยายตัวต่อเนื่อง ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยกิจกรรมการผลิตและจำหน่ายน้ำประปาเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้น้ำประปาในภาคธุรกิจที่ขยายตัวสูงโดยเฉพาะกลุ่มภัตตาคารและโรงแรม ส่วนกิจกรรมโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 7.4 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวของปริมาณก๊าซที่ส่งเข้าโรงแยกก๊าซ ในขณะที่กิจกรรมการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 3.5 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการลดลงของอุณหภูมิเฉลี่ยของประเทศ

รวมทั้งปี 2560 การผลิตสาขาไฟฟ้า ก๊าซ และการประปาขยายตัวร้อยละ 1.7 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 4.3 ในปี 2559

สาขาก่อสร้าง: ปรับตัวลดลงตามการลดลงของการก่อสร้างทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 การผลิตสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 5.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการก่อสร้างภาครัฐลดลงร้อยละ 7.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากการก่อสร้างของรัฐบาลลดลงสอดคล้องกับการลดลงของการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน ในขณะที่การก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจกลับมาขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 8.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 2.3 ต่อเนื่องจากการลดลงร้อยละ 1.0 ในไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ตามการเพิ่มขึ้นของดัชนีหมวดไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และหมวดคอนกรีต โดยเฉพาะเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4

รวมทั้งปี 2560 การผลิตสาขาก่อสร้างลดลงร้อยละ 2.3 โดยการก่อสร้างภาครัฐและการก่อสร้างภาคเอกชนลดลงร้อยละ 3.0 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ

การจ้างงาน: การจ้างงานนอกภาคเกษตรเริ่มกลับมาขยายตัวและส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลง ในขณะที่การจ้างงานในภาคเกษตรยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องสอดคล้องกับการลดลงของผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญๆ บางรายการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยและสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 การจ้างงานรวมลดลงร้อยละ 0.6 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.6 ในไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานนอกภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 67.9) ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.8 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส โดยการจ้างงานในสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารขยายตัวร้อยละ 6.8 สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และการจ้างงานในสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวติดต่อกันในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม สอดคล้องกับการขยายตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงครึ่งหลังของปี ในขณะที่การจ้างงานในสาขาก่อสร้างยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ส่วนการจ้างงานภาคเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 32.1) ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.0 สอดคล้องกับการลดลงของปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญๆ เช่น ข้าว มันสำปะหลัง และประมง เป็นต้น อัตราการว่างงานในไตรมาสที่สี่อยู่ที่ร้อยละ 1.1 ลดลงจากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยมีผู้ว่างงานเฉลี่ย จำนวน 4.2 แสนคน

เฉลี่ยทั้งปี 2560 มีผู้ว่างงานจำนวน 4.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2

ด้านการคลัง

การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 (ตุลาคม - ธันวาคม 2560) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 547,678.6 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณร้อยละ 4.5 แต่ยังต่ำกว่า ช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ส่งผลให้การจัดเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีเบียร์ และภาษียาสูบ ลดลงร้อยละ 14.2 ร้อยละ 44.4 และร้อยละ 12.5 ตามลำดับ ขณะที่ภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 เพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ ในส่วนของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะราคาน้ำมัน และการขยายตัวเพิ่มขึ้นของการค้าส่งค้าปลีกภายในประเทศ

การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 1,067,060.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 ประกอบด้วย (1) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 เบิกจ่ายจำนวน 897,851.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 31.0 ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 30.3) โดยรายจ่ายประจำเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 35.6 ของวงเงินงบประมาณ สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 33.0) ขณะที่รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายลดลงร้อยละ 5.5 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 14.0 ของวงเงินงบประมาณ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 21.1)

(2) งบประมาณกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 69,716.0 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 25.1 (อัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 21.7 ต่ำกว่าร้อยละ 33.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) โดยอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอยู่ที่ร้อยละ 18.6 เทียบกับ ร้อยละ 47.2 ในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (3) งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ (รวม ปตท.) คาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายประมาณ 101,642.8 ล้านบาท (รวมรายจ่ายลงทุนที่ได้รับการจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี จำนวน 3,141.7 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.5 (4) เงินกู้นอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 992.6 ล้านบาท เทียบกับการเบิกจ่าย 2,277.9 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเบิกจ่ายตามมาตรการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 (แผนงาน/โครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน) และเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน (Development Policy Loan: DPL)

หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนธันวาคม มีมูลค่าทั้งสิ้น 6,371,416.1 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 41.2 ของ GDP แบ่งเป็น เงินกู้ภายในประเทศ 6,076,002.3 ล้านบาท (ร้อยละ 39.3 ของ GDP) และเงินกู้จากต่างประเทศ 295,413.9 ล้านบาท (ร้อยละ 1.9 ของ GDP) และแบ่งออกเป็นหนี้ของรัฐบาล 5,027,438.4 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 940,263.5 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) 393,063.0 ล้านบาท และหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐ 10,651.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 78.9 ร้อยละ 14.8 ร้อยละ 6.2 และร้อยละ 0.2 ของหนี้สาธารณะคงค้าง ตามลำดับ

ฐานะการคลัง: ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 416,056.0 ล้านบาท ลดลงจากการขาดดุลในช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.8 และเมื่อรวมกับการขาดดุลเงินนอกงบประมาณ 87,845.0 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 161,053.0 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดสุทธิ 342,848.0 ล้านบาท น้อยกว่าการขาดดุลช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.4 ส่งผลให้ฐานะเงินคงคลัง ณ สิ้นไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2561 อยู่ที่ 180,910.0 ล้านบาท

ภาวะการเงิน

อัตราดอกเบี้ยนโยบายทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560

ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน และ 26 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติ คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เพื่อรักษาแนวทางการดำเนินนโยบายผ่อนปรน อันจะช่วยสนับสนุนพัฒนาการของเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจากอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ประเทศเศรษฐกิจหลักเริ่มปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ทั้งในด้านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและการลดขนาดงบดุล โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 13 - 14 ธันวาคม มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.25 - 1.50 ต่อปี ควบคู่ไปกับการปรับเพิ่มเพดานการลดงบดุล (Reinvestment) จากเดือนละ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2560 เป็นเดือนละ 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 (แยกเป็นพันธบัตรรัฐบาลไม่เกิน 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยค้ำประกันไม่เกิน 8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ส่วนธนาคารกลางอังกฤษได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 0.50 ในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากแรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี ร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.50 ในเดือนพฤศจิกายนจากการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ เช่นเดียวกับธนาคารกลางจีนซึ่งปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย Reverse Repo Rate ระยะ 28 วัน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (Medium-term Lending Facility: MLF) และระยะ 1 ปี ในเดือนธันวาคม

รวมทั้งปี 2560 อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 1.50 ต่อปี เท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2559

ล่าสุดเดือนมกราคม 2561 ธนาคารกลางของประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังคงนโยบายการเงินไว้เช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางแคนาดาและธนาคารกลางมาเลเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 1.25 และร้อยละ 3.25 ตามลำดับ

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ทรงตัวเท่ากับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นจากการรับโอนสินเชื่อลูกค้ารายย่อย ขณะที่ธนาคารพาณิชย์รายอื่นและสถาบันการเงินเฉพาะกิจต่างคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงและอัตราดอกเบี้ย MLR ที่แท้จริงปรับตัวลดลง เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไป

รวมทั้งปี 2560 อัตราดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทยและสถาบันการเงินเฉพาะกิจทรงตัว ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR ปรับตัวลดลงเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย และสถาบันการเงินเฉพาะกิจบางแห่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย MLR เพื่อช่วยลดภาระให้แก่ลูกค้า

ล่าสุดเดือนมกราคม 2561 ดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทุกขนาดและสถาบันการเงินเฉพาะกิจยังคงทอยู่ ณ ระดับเดียวกับ ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2560

สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินทั้งระบบเร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจนสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของภาวะเศรษฐกิจ โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ยอดคงค้างสินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงินขยายตัวร้อยละ 4.1 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.3 ในไตรมาสที่สามซึ่งเป็นการเร่งตัวขึ้นทั้งในส่วนของสินเชื่อภาคธุรกิจและสินเชื่อภาคครัวเรือน โดยสินเชื่อภาคธุรกิจขยายตัวขึ้นจากสินเชื่อจากกิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย ธุรกิจการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์และการขายส่งและการขายปลีก เช่นเดียวกับสินเชื่อภาคครัวเรือนที่ขยายตัวเร่งขึ้นได้ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ทั้งสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยเป็นการขยายตัวจากสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในขณะที่คุณภาพของสินเชื่อในไตรมาสที่สี่ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.92 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 2.98 ในไตรมาสที่สาม

ในปี 2560 สินเชื่อภาคเอกชนของสถาบันรับฝากเงิน ณ สิ้นปีขยายตัวร้อยละ 4.1 เร่งตัวขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.5 ณ สิ้นปี 2559 โดยเป็นการเร่งตัวขึ้นตามการขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินเชื่อในสาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย สินเชื่อสาขาการผลิตและสาขาอสังหาริมทรัพย์ สำหรับสินเชื่อภาคครัวเรือนในปี 2560 ชะลอลงเล็กน้อย โดยเฉพาะการชะลอลงของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและการซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์จากฐานสูงในปีก่อนหน้า

อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาสสี่ของปี 2560 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 32.95 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.3 จากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้า ตามการเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลจาก (1) ความไม่แน่นอนในการผลักดัน ร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ (2) การคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป หลังจากเริ่มมีความชัดเจนเกี่ยวกับผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งประธาน Fed คนต่อไป และ (3) การฟื้นตัวดีอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในยูโรโซน ซึ่งทำให้ค่าเงินยูโรแข็งค่าขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินลงทุนสุทธิในตลาดตราสารหนี้ของ นักลงทุนต่างชาติ ทั้งนี้ เงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้น สะท้อนจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER)1 และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 และร้อยละ 1.6 จากค่าเฉลี่ยในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ

ทั้งปี 2560 อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอยู่ที่ 33.93 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยในปีก่อนหน้าร้อยละ 3.9 และเป็นการเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เนื่องจากความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และช่วงเวลา ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ที่ส่งผลให้เงินดอลลาร์ สรอ. อ่อนค่าลง ประกอบกับค่าเงินบาทได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและการไหลเข้าสุทธิในบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้า/คู่แข่งอื่นๆ แข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนี ค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ที่ร้อยละ 4.2 และร้อยละ 3.0 จากค่าเฉลี่ยในปี 2559 ตามลำดับ

หมายเหตุ: 1 ธปท. เริ่มปรับใช้สกุลเงินพร้อมน้ำหนักใหม่ในการคำนวณดัชนีค่าเงินบาท (NEER) และดัชนีค่าเงินบาทที่แท้จริง (REER) ในเดือนมีนาคม 2557 พร้อมปรับปีฐานของ ค่าดัชนีให้สอดคล้องกับปีที่ใช้คำนวณน้ำหนัก คือ ปี 2555 เพื่อให้สะท้อนถึงโครงสร้างทางการค้าตามความเป็นจริงได้ดียิ่งขึ้น

ในเดือนมกราคม 2561 เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่องและรวดเร็วมากขึ้นสอดคล้องกับการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ สรอ. ซึ่งได้รับผลกระทบจากความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของสหรัฐฯ ทั้งในประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ การถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA การปิดทำการของหน่วยงานราชการ (Government Shutdown) ตลอดจนการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้นักลงทุนส่วนหนึ่งเคลื่อนย้ายเงินทุนไปแสวงหาผลตอบแทนจากสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ 31.89 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นจากค่าเฉลี่ยในเดือนธันวาคม 2560 ร้อยละ 2.4 และแข็งค่าขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0

ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในช่วงกลางเดือนตุลาคมจนถึงเดือนพฤศจิกายน SET Index ทรงตัวและผันผวนในกรอบแคบๆ โดยนักลงทุนต่างชาติมีสถานะเป็นขายสุทธิเพื่อเคลื่อนย้ายเงินลงทุนกลับสู่ประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีการแถลงนโยบายการการเงินในช่วงเวลาดังกล่าว ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอังกฤษ รวมถึงความวิตกกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับความสำเร็จในการผลักดันแผนการปฏิรูปภาษีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในช่วงหลังจากที่พรรครีพับลิกันพ่ายแพ้การเลือกตั้งวุฒิสมาชิก ในหลายมลรัฐในเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติกลับมามีสถานะเป็นซื้อสุทธิอีกครั้งหลังจากที่มีสัญญาณว่าการผลักดันแผนปฎิรูปภาษีจะประสบความสำเร็จภายในปี 2560 ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ SET Index และดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อรวมกับการเข้าซื้อจากนักลงทุนสถาบันเพื่อปรับมูลค่าสุทธิทางบัญชีในช่วงท้ายของปี ทำให้ SET Index ปิดตลาด ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ที่ 1,753.71 จุด เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้นไตรมาสที่สามที่ 1,673.16 จุด

ในปี 2560 SET Index ขยายตัวร้อยละ 12.2 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองในต่างประเทศ ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนระหว่างประเทศเข้ามาสู่ภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นที่สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ในภูมิภาค (2) การปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศ ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญตั้งแต่ช่วงปลายเดือนสิงหาคม โดยมีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในปี 2560 อยู่ที่ 47.7 พันล้านบาท ในขณะที่มูลค่าตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 17.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ร้อยละ 16.6

ในเดือนมกราคม 2561 SET Index ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ ในภูมิภาค โดย SET Index ปรับตัวสู่ระดับ 1,800 จุด เป็นครั้งแรก ตามแรงเข้าซื้อหลักของนักลงทุนสถาบันในช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคม ก่อนจะเริ่มทยอยขายทำกำไรจนถึงสิ้นเดือน โดย SET Index ทำสถิติสูงสุดใหม่ ที่ 1,838.96 จุดในวันที่ 24 มกราคม 2561 ก่อนจะปรับตัวลดลงและปิดตลาด ณ สิ้นเดือนมกราคมที่ 1,826.86 จุด

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield) ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกช่วงอายุสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศเศรษฐกิจหลัก โดย Yield Curve มีความชันขึ้นตั้งแต่ช่วงอายุ 7 ปี ขึ้นไป สะท้อนถึงการคาดการณ์เศรษฐกิจที่ดีขึ้นของนักลงทุนตามการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยและสหรัฐอเมริกาอายุ 10 ปี (spread) เริ่มแคบลง โดย Yield พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างล่าช้า โดย ณ สิ้นไตรมาสที่สี่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี อยู่ที่ร้อยละ 2.54 ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 2.42 ต่อปี ณ สิ้นไตรมาสที่สาม ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นมีการเปลี่ยนแปลงจาก ณ สิ้นไตรมาสที่สามเพียงเล็กน้อย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี ณ สิ้นไตรมาสที่สี่อยู่ที่ร้อยละ 1.15 ร้อยละ 1.19 ร้อยละ 1.37 และร้อยละ 1.42 ต่อปี ตามลำดับ ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ในเดือนมกราคม 2561 เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2560 ตามการเข้าซื้อของนักลงทุนต่างชาติในช่วงครึ่งแรกของเดือนซึ่งส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมากขึ้น โดย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ณ สิ้นเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 2.52 ต่อปี ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ร้อยละ 2.72

เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิ ในไตรมาสสี่ของปี 2560 มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 7.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นการปรับตัวจากการไหลเข้าสุทธิ 0.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในไตรมาสก่อนหน้า จากการออกไปลงทุนต่างประเทศของนักลงทุนไทย ทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์

ในปี 2560 เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกสุทธิที่ 19.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งเป็นผลจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักลงทุนไทยเป็นสำคัญ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การออกไปลงทุนในต่างประเทศของผู้ลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่ามีเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบของการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในหลักทรัพย์ โดยเฉพาะหลักทรัพย์ในตลาดตราสารหนี้ก็ตาม

ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลในเกณฑ์สูง 12.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (417.5 พันล้านบาท) สูงกว่าการเกินดุล 10.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (380.9 พันล้านบาท) ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และการเกินดุล 13.8 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (458.1 พันล้านบาท) ในไตรมาส ก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการเกินดุลการค้า 6.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และการเกินดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิ 6.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ.

รวมทั้งปี 2560 ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 49.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (1,671.2 พันล้านบาท) เทียบกับการเกินดุล 48.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (1,704.1 พันล้านบาท) ในปี 2559

เงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ 202.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. (และมี net forward position อีก 36.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) คิดเป็นประมาณ 3.3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น (ข้อมูลเบื้องต้น ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560) และเทียบเท่ามูลค่าการนำเข้า 11.1 เดือน (ค่าเฉลี่ยมูลค่า การนำเข้าในไตรมาสที่สี่ของปี 2560)

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 อยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.9 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาสที่สามของปี 2560 โดยดัชนีราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.5 ในไตรมาสที่สามของปี 2560 เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาผักและผลไม้ และปลาและสัตว์น้ำ ในขณะที่ดัชนีราคาในหมวดที่มิใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.0 ในไตรมาสที่สามของปี 2560 เนื่องจากราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งทำให้ดัชนีราคาในหมวดพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่สามของปี 2560 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.6 เทียบกับร้อยละ 0.5 ในไตรมาสที่สามของปี 2560 2

รวมทั้งปี 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.2 ในปี 2559 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่เฉลี่ยร้อยละ 0.6 เทียบกับร้อยละ 0.7 ในปี 2559

ดัชนีราคาผู้ผลิต ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ทรงตัวที่ร้อยละ 0.0 เทียบกับการลดลงร้อยละ 0.5 ในไตรมาส ที่สามของปี 2560 โดยราคาผลผลิตเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 3.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.8 ในไตรมาส ที่สามของปี 2560 เนื่องจากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร และสัตว์มีชีวิตและผลิตภัณฑ์ ในขณะที่ราคาผลิตภัณฑ์จากเหมืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.7 ในไตรมาสที่สามของปี 2560 เนื่องจากราคาลิกไนต์ ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติปรับตัวสูงขึ้น ส่วนราคาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 เร่งขึ้นอย่างช้าๆ จากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 ในไตรมาสที่สามของปี 2560 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม3

รวมทั้งปี 2560 ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.2 ในปี 2559

หมายเหตุ: 2 ในเดือนมกราคม 2561 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.7 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6

3 ในเดือนมกราคม 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลงร้อยละ 0.8

2. ความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันไตรมาสที่สี่ของปี 2560

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 58.84 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 49.32 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่สามของปี 2560 ร้อยละ 16.9

การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบในไตรมาสนี้ มีสาเหตุสำคัญมาจาก (1) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 ความต้องการใช้น้ำมันของโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 98.96 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 97.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐอเมริกา เฉลี่ยอยู่ที่ 19.90 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 19.76 ล้านบาร์เรล ต่อวัน สอดคล้องกับการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ส่วนความต้องการใช้น้ำมันของยุโรป และจีน เฉลี่ยอยู่ที่ 14.24 และ 13.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 และร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 14.19 และ 12.89 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ และ (2) การปฏิบัติตามข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน โดยกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกและนอกกลุ่มโอเปกได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 ที่จะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบออกไปอีก 9 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2561 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561

รวมทั้งปี 2560 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 4 ตลาด (ดูไบ เบรนท์ โอมาน และเวสท์เท็กซัส) อยู่ที่ 53.01 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาเฉลี่ย 42.81 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2559 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.8

3. เศรษฐกิจโลกไตรมาสที่สี่ของปี 2560

ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 เศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง นำโดยการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่น และการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งและสูงกว่าเป้าหมายของเศรษฐกิจจีน รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีและสูงเกินการคาดการณ์ของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาในหลายประเทศ และเมื่อรวมกับการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ทำให้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมขยายตัวร้อยละ 3.7 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.2 ในปี 2559 โดยเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นของทั้งเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาและเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่

การขยายตัวทางเศรษฐกิจในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องทำให้ช่องว่างการผลิต (Output gap) ของประเทศพัฒนาแล้ว ปิดลงและเข้าสู่ช่วงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าศักยภาพในบางประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และแคนาดา ในขณะที่ช่องว่างการผลิตของเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศเริ่มแคบลงตามการเร่งขึ้นของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เงื่อนไขดังกล่าวส่งผลให้อัตราการว่างงานลดต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ ในหลายๆ ประเทศ ในขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และแคนาดาปรับทิศทางนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับธนาคารกลางยุโรป ที่เริ่มส่งสัญญาณการปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน และธนาคารกลางของประเทศในภูมิภาคเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ และมาเลเซีย เริ่มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกนับจากปี 2559

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.5 (Advance Estimate) เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 10 ไตรมาส โดยมีแรงสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนเป็นสำคัญ สอดคล้องกับภาวะการจ้างงานที่ยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งซึ่งทำให้อัตราการว่างงานปรับตัวลดลงเข้าสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปีที่ร้อยละ 4.1 รวมทั้งการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ที่เข้าสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อ (PCE Price Index) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.7 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อ ที่มาจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงเริ่มปรากฏสัญญาณที่มีความชัดเจนมากขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อจะยังคงต่ำกว่าเป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 2.0 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางการเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ของแรงกดดันจากเงินเฟ้อส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยการเริ่มดำเนินการปรับลดขนาดงบดุลนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 และในการประชุมเมื่อวันที่ 12 - 13 ธันวาคม 2560 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) มีมติให้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 1.25 - 1.50 ต่อปี รวมทั้งปี 2560 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.5 ในปี 2559

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน ขยายตัวในเกณฑ์ดีร้อยละ 2.7 ใกล้เคียงกับร้อยละ 2.8 ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ขยายตัวเร่งขึ้นโดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมนี ในขณะที่เศรษฐกิจลัตเวียและลิทัวเนียชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า การขยายตัวในเกณฑ์ดีของเศรษฐกิจได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัว อย่างต่อเนื่องของการผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ซึ่งส่งผลให้อัตราการว่างงานในไตรมาสที่สี่ลดลงเป็นร้อยละ 8.7 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นและอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 17 ปี อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อ (HICP) ยังทรงตัวอยู่ที่ ร้อยละ 1.4 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า และยังคงต่ำกว่าเป้าหมายของนโยบายการเงิน การปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจแต่อัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในการประชุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 มีมติคงอัตราดอกเบี้ยและการเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้ที่ระดับเดิมก่อนที่จะเริ่มลดระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์เป็น 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมจนกระทั่งสิ้นสุดเดือนกันยายน 2561 รวมทั้งปี 2560 เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 1.8 ในปี 2559

เศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.5 ชะลอลงจากร้อยละ 1.9 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนภาคเอกชน และการอุปโภคภาครัฐบาลเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า สอดคล้องกับการผลิตที่ยังขยายตัวดีขึ้นสะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 15 ไตรมาส สำหรับอัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.6 เท่ากับไตรมาสก่อนหน้า และต่ำกว่าระดับเป้าหมายนโยบายการเงิน ส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินไว้ที่ระดับเดิม นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังมูลค่ารวมประมาณ 660 พันล้านเยน ภายใต้กรอบงบประมาณปี 2560 - 2563 โดยมุ่งเน้นการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเพิ่มผลิตภาพการผลิต รวมทั้งปี 2560 เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 1.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.9 ในปี 2559

เศรษฐกิจจีน ขยายตัวร้อยละ 6.8 ทรงตัวเท่ากับการขยายตัวในไตรมาสก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนหลัก จากการขยายตัวในเกณฑ์ดีของการผลิตภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ รวมทั้งการส่งออกที่เร่งตัวขึ้นเข้าสู่อัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 ไตรมาส ในขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมความเสี่ยงด้านการเงินและระดับหนี้สินภาคธุรกิจ ขณะที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากการไหลเข้าออกของเงินทุนที่มีเสถียรภาพมากขึ้นและการเพิ่มขึ้นของทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ โดย ณ สิ้นปี 2560 เงินทุนสำรองอยู่ที่ 3,140.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นจาก 3,108.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นไตรมาสที่สาม รวมทั้งปี 2560 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 6.9 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.7 ในปี 2559 และเป็นการขยายตัวเร่งขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ภายหลังจากการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจนับตั้งแต่ปี 2553

เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) ส่วนใหญ่ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม โดยเศรษฐกิจสิงคโปร์และเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากร้อยละ 5.5 และร้อยละ 3.8 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจไต้หวันขยายตัวร้อยละ 3.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 3.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามการขยายตัวดีขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อ การบริโภคภาคเอกชน สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ส่วนใหญ่ขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่องตามการขยายตัวของการส่งออก การใช้จ่ายภาคครัวเรือน และการลงทุนภาครัฐ โดยเศรษฐกิจเวียดนาม และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 7.7 และร้อยละ 5.2 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.5 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ ในขณะที่เศรษฐกิจฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ขยายตัวร้อยละ 6.6 และร้อยละ 5.9 ชะลอลงจากร้อยละ 7.0 และร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อน ตามลำดับ

4. แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2561

ในปี 2561 เศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่สองและเข้าสู่การขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 ปีที่ร้อยละ 3.8 นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นและเข้าสู่วัฏจักรการขยายตัว ทางเศรษฐกิจที่ยาวนานที่สุด โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและแรงกระตุ้นเพิ่มเติมจากกฎหมายการปรับลดภาษีและการส่งเสริมการจ้างงาน ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ ยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าและเข้าสู่ช่วงการขยายตัวเต็มที่ของวัฏจักรเศรษฐกิจอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีโดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ยังอยู่ในภาวะผ่อนคลาย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และรายจ่ายเพื่อการเตรียมการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2563 ส่วนเศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะชะลอตัวลงอย่างช้าๆ ภายใต้มาตรการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ดังกล่าว เมื่อรวมกับการปรับตัวดีขึ้นของปริมาณการค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีและมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะเศรษฐกิจอินเดีย บราซิล และตะวันออกกลาง ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 7.2 ร้อยละ 1.9 และร้อยละ 3.6 เทียบกับร้อยละ 6.7 ร้อยละ 1.1 และร้อยละ 2.5 ในปี 2560 ตามลำดับ รวมทั้งทำให้ช่องว่างการผลิต (Output gap) ของเศรษฐกิจโลกปิดตัวลงอย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกนับจากวิกฤติการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2551 - 2552 โดยเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มจะเข้าสู่ช่วงของการขยายตัวที่สูงกว่าศักยภาพมากขึ้น ตามลำดับ หลังจากที่ช่องว่างผลผลิตปิดตัวลงในปี 2560 ในขณะที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่เข้าใกล้ศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทำให้ช่องว่างผลผลิตปิดตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี เงื่อนไขดังกล่าวคาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อในประเทศสำคัญๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งทำให้วัฏจักรอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างช้าๆ และมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศสำคัญ และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรระยะยาวที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามการคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อโลก รวมทั้งการดำเนินมาตรการปรับลดงบดุลและปรับลดมาตรการขยายปริมาณเงินของประเทศสำคัญๆ ที่จะทำให้อุปทานของพันธบัตรเพิ่มขึ้น

ในกรณีฐาน คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวร้อยละ 2.5 เร่งขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในปี 2560 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลดลงของอัตราการว่างงานและการเพิ่มขึ้นของราคาหลักทรัพย์ที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การใช้จ่ายภาคครัวเรือนขยายตัว ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นตามการปรับตัวดีขึ้นของผลประกอบการภาคธุรกิจ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน และการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ รวมทั้งแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากกฎหมายการปรับลดภาษีและการส่งเสริมการจ้างงานซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจขยายตัวเร่งขึ้นประมาณร้อยละ 0.4 ในขณะที่การจ้างงานลดลงต่ำกว่าร้อยละ 4.0 แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงกว่าศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ค่าแรงในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นและทำให้แรงกดดันด้านเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งในกรณีฐานคาดว่าจะทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกสามครั้งในปี 2561 ควบคู่ไปกับการปรับลดขนาดงบดุลโดยการหยุดซื้อพันธบัตรเพื่อทดแทนพันธบัตรเดิมที่หมดอายุลง (Re-invest) และลดการถือครอง ตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมหากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศ ยูโรโซน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.4 ใกล้เคียงกับการขยายตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2560 โดยมีแรงสนับสนุน มาจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศที่ขยายตัวได้อย่างเข้มแข็งตามการปรับตัวที่ดีขึ้นของความเชื่อมั่นสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของเงื่อนไขทางการเมืองในหลายประเทศ และอัตราการว่างงานในไตรมาสที่สี่ ปี 2560 ที่ปรับตัวลดลงเป็นร้อยละ 8.7 ต่ำสุดในรอบ 9 ปี รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างเป็นวงกว้างของเศรษฐกิจที่เคยประสบปัญหาวิกฤติการณ์เศรษฐกิจรุนแรง (PIIGS) ซึ่งส่งผลให้การค้าในภูมิภาค การผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แม้กระนั้นก็ตาม แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ภายใต้ค่าเงินยูโรที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรปยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิมอย่างน้อยในช่วงครึ่งปีแรกควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการลดขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์เป็น 3 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนกันยายน 2561 และมีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเพิ่มเติมหากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เศรษฐกิจญี่ปุ่นคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.2 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 1.6 ในปี 2560 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง การปรับตัวดีขึ้นของการส่งออกและภาคการผลิตตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินเยน การปรับตัวดีขึ้นของเสถียรภาพทางการเมืองหลังการจัดตั้งรัฐบาลผสมและการดำเนินนโยบายปฏิรูปภาษี รวมทั้งแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับงานโตเกียวโอลิมปิกปี 2563 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำและปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างล่าช้า จะส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายและดำเนินการตามแผนการเข้าซื้อสินทรัพย์ปีละ 80 ล้านล้านเยน อย่างต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.7 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 6.9 ในปี 2560 โดยมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนและการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวดี สอดคล้องกับแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของภาคการผลิต รวมทั้งมาตรการด้านการคลังภาครัฐผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ดี ผลจากมาตรการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม มาตรการป้องกันการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการควบคุมปัญหาหนี้สินและเสถียรภาพของระบบการเงินอย่างต่อเนื่องจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างช้าๆ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIEs) มีแนวโน้มจะขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อยตามฐานการขยายตัวที่เข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ จะขยายตัวร้อยละ 3.1 ร้อยละ 2.7 และร้อยละ 3.2 เทียบกับร้อยละ 3.7 ร้อยละ 2.8 และร้อยละ 3.6 ในปี 2560 ตามลำดับ ขณะที่เศรษฐกิจเกาหลีใต้ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 เท่ากับการขยายตัวในปี 2560 เช่นเดียวกับเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่องตามการขยายตัวในเกณฑ์ดีของภาคการส่งออกและการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศโดยเฉพาะแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลและการลงทุนภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนามจะขยายตัวร้อยละ 5.9 ร้อยละ 5.6 ร้อยละ 6.8 และร้อยละ 6.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.9 ร้อยละ 5.1 ร้อยละ 6.7 และร้อยละ 6.8 ในปี 2560 ตามลำดับ

ในภาพรวม เศรษฐกิจโลกในปี 2561 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวเร่งขึ้นควบคู่กับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ช่วงขาขึ้นของวัฏจักรเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก แม้กระนั้นก็ตาม ความเสี่ยงต่อความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์สูง โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญๆ ซึ่งจะต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย (1) การปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญที่อาจส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโลกลดลงเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน และหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย (2) การปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ของนักลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของเศรษฐกิจโลกทั้งในด้านการเร่งตัวขึ้นของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้นของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความผันผวนในการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และก่อให้เกิดความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินสกุลหลัก อัตราดอกเบี้ย ราคาสินค้าขั้นปฐม และราคาหลักทรัพย์ในตลาดสำคัญๆ (3) ทิศทางการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะการดำเนินการทางการค้ากับจีน และการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) (4) ทิศทางและผลการเจรจา Brexit (5) เงื่อนไขทางการเมืองในประเทศสำคัญๆ อาทิ การเลือกตั้งทั่วไปในอิตาลี การขอแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นคาตาลันในสเปน (Catalexit) และ (6) ปัญหาความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี และความขัดแย้งในตะวันออกกลาง

ผลจากการปฏิรูปภาษีของสหรัฐอเมริกา

ในวันที่ 23 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป็ ของสหรัฐฯ ได้ลงนามในร่างกฎหมายบัญญัติปฏิรูประบบภาษี (Tax Cuts and Jobs Act) ภายหลังจากสภาคองเกรสของสหรัฐฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในทันทีในวันที่ 1 มกราคม 2561 ซึ่งสาระสำคัญในกฎหมายดังกล่าว ประกอบด้วย (1) การปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลมาอยู่ที่ร้อยละ 21 จากเดิมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 35 ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2482 และ (2) การปรับลดอัตราภาษีสูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามาอยู่ที่ร้อยละ 37 จากเดิมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 39.6 แต่ยังคงขั้นรายได้เพื่อการคำนวณภาษีไว้ที่ 7 ขั้นเท่าเดิม คือที่ระดับร้อยละ 10, 12, 22, 24, 32, 35 และ 37 รวมทั้งการปรับปรุงเงื่อนไขด้านภาษีอื่น ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนภายในประเทศและสนับสนุนการจ้างงาน ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า นโยบายดังกล่าวจะสนับสนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 ร้อยละ 0.6 และร้อยละ 0.2 ในปี 2561 ปี 2562 และปี 2563 ตามลำดับ ในขณะที่คาดว่าการขาดดุลงบประมาณสะสมและการสิ้นสุดลงของมาตรการภาษีบางรายการจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลงภายหลังจากปี 2565

ขณะเดียวกัน สำนักงบประมาณประจำรัฐสภาของสหรัฐฯ (Congressional Budget Office: CBO) ร่วมกับคณะกรรมการร่วมด้านภาษี (Joint Committee on Taxation: JCT) ประเมินว่า การดำเนินมาตรการปฏิรูปภาษีดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานและจะก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ในช่วงกรอบการดำเนินนโยบาย แต่จะส่งผลให้เกิดการขาดดุลงบประมาณรวมเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ระหว่างปี 2561-2570 (ยังไม่รวมผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคอื่นๆ) จากการขาดดุล 665.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2560 นอกจากนี้ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะทำให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นกว่า 1.8 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. ภายในระยะเวลา 10 ปี จากการเริ่มดำเนินนโยบาย โดยคาดว่าจะทำให้หนี้สาธารณะอยู่ที่ร้อยละ 97.5 ต่อ GDP ในช่วงปี 2570 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 91.2 ต่อ GDP ในฐานการคำนวณเดือนมิถุนายนปี 2560

ทั้งนี้ ภายหลังจากร่างกฎหมายปฏิรูปภาษีผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐฯ จนเป็นผลสำเร็จ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 2.4 ในเดือนธันวาคม 2560 เป็นร้อยละ 2.7 ในเดือนมกราคม 2561 สูงสุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ปี 2557 ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากคาดว่านโยบายดังกล่าวจะช่วยลดภาระทางการเงินของภาคเอกชนและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ผลจากการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวประกอบกับแผนงบประมาณรายจ่ายภาครัฐในช่วงสองปีข้างหน้า (2561-2562) ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์ สรอ. จะทำให้การขาดดุลงบประมาณของสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น และก่อให้เกิดแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อให้เพิ่มสูงขึ้นจนอาจนำไปสู่การพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้นเร็วกว่าที่คาด ในขณะเดียวกันการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลที่เกิดจากการปรับลดภาษีและการเพิ่มการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อรวมกับมาตรการปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ปริมาณพันธบัตรและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น และทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้น แม้ว่า ในกรณีฐานการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และในตลาดโลกยังมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างช้าๆ ก็ตาม แต่การปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ของนักลงทุนและการปรับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศต่างๆ อาจเป็นปัจจัยเพิ่มเติมที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยในสหรัฐฯ และในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

5. แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561

เศรษฐกิจไทยในปี 2561 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีและเร่งตัวขึ้นจากปี 2560 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นและสนับสนุนเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากขึ้น แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีและการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น รวมทั้งการขยายตัวในเกณฑ์ดีของสาขาเศรษฐกิจสำคัญๆ ต่อเนื่องจากปี 2560 และการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ แม้กระนั้นก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดจากการชะลอตัวเข้าสู่ภาวะปกติของการผลิตภาคเกษตร รวมทั้งยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่อาจเกิดขึ้นจากการปรับทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญๆ ที่เร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และการปรับการคาดการณ์ของนักลงทุนในช่วงการปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้นของวัฏจักรราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก รวมทั้งความผันผวนที่เกิดจากการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศสำคัญๆ

ปัจจัยสนับสนุน

1) การขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอย่างชัดเจนและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากขึ้น อย่างต่อเนื่องจากครึ่งหลังของปี 2560 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ได้ส่งผลให้การส่งออกเริ่มฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 และขยายตัวในเกณฑ์สูงในปี 2560 ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม (สัดส่วนร้อยละ 27.2 ของ GDP) ขยายตัวเร่งขึ้นอย่างชัดเจนร้อยละ 4.2 และร้อยละ 3.0 ในไตรมาสที่สาม และไตรมาสที่สี่ ตามลำดับ เร่งขึ้นจากการขยายตัวเฉลี่ย ร้อยละ 1.5 ในครึ่งปีแรก และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสที่สี่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการลดลงของการผลิตภาคเกษตร ในกรณีฐานคาดว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 3.8 เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่สองและเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 7 ปี แนวโน้มดังกล่าวคาดว่าจะทำให้การส่งออก การท่องเที่ยว และบริการเกี่ยวเนื่องขยายตัวในเกณฑ์ดีและเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเร่งขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้มากขึ้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

ในปี 2559 การลงทุนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือคิดเป็นร้อยละ 83.0 ของการลงทุนภาคเอกชน และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อการส่งออก ดังนั้น การลดลงของมูลค่าการส่งออกในปี 2556 - 2559 โดยเฉลี่ยร้อยละ 0.2 ท่ามกลางภาวะการซบเซาของเศรษฐกิจโลกในช่วงปี 2557 - 2559 ซึ่งทำให้กำลังการผลิตส่วนเกินเพิ่มขึ้นจึงเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการส่งออกในปี 2560 เริ่มทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวได้อย่างชัดเจนในครึ่งหลังของปี 2560 ในขณะที่การใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องจักรเครื่องมือซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.5 ในครึ่งหลังของปี 2560 เทียบกับร้อยละ 1.2 ในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 การใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมหลายรายการอยู่ในระดับสูง ซึ่งคาดว่าจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้มีการขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตมากขึ้นและส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนในปี 2561 ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2560 ร้อยละ 22.4

2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลยังอยู่ในเกณฑ์ดี ในขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การจัดทำกรอบงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 150,000 ล้านบาท ประกอบด้วย การใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก วงเงิน 35,000 ล้านบาท การใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาพื้นที่ผ่านกระบวนการประชาคม วงเงิน 35,358 ล้านบาท และการใช้จ่ายเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตรทั้งระบบ วงเงิน 30,000 ล้านบาท (2) การเพิ่มขึ้นของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2561 และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 14.7 และร้อยละ 45.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และการลดลงร้อยละ 2.1 ในปี 2560 และ (3) ความคืบหน้าของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีโครงการเข้าสู่การก่อสร้างมากขึ้นและทำให้การเบิกจ่ายเร่งตัวขึ้นตามลำดับ โดยการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ปี 2559 วงเงิน 1,383,938.9 ล้านบาท มีโครงการเข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้ว 15 โครงการ วงเงินรวม 725,084 ล้านบาท ในขณะที่ โครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งปี 2560 วงเงิน 895,757.55 ล้านบาท มีโครงการที่เข้าสู่การก่อสร้างแล้ว 4 โครงการ วงเงิน 8,088.43 ล้านบาท และการดำเนินโครงการภายใต้แผนงานพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้ามากขึ้นหลังจากพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... มีผลบังคับใช้ (สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่าน ร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อลงพระปรมาภิไธย)

ความคืบหน้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐ

การลงทุนภาครัฐในปี 2560 ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.2 หลังจากที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 28.4 และร้อยละ 9.5 ในปี 2558 และ 2559 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบจาก (1) การปรับลดลงจากฐานที่สูงของการลงทุนภาครัฐในปี 2558 - 2559 ซึ่งมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ และการสิ้นสุดลงของโครงการพัฒนาน้ำและถนนในระยะเร่งด่วน (2) งบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2560 ที่เพิ่มขึ้นในเกณฑ์ต่ำร้อยละ 2.8 ทำให้การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐจำเป็นต้องอาศัยการเพิ่มขึ้นของอัตราการเบิกจ่าย และ (3) การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลมีปัญหาอุปสรรคจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทั้งปัญหาอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือในไตรมาสที่สาม และภาคใต้ในไตรมาสที่สี่ รวมทั้งการปรับตัวต่อระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ในขณะที่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ยังอยู่ในระยะแรกของการดำเนินการซึ่งทำให้มีรายจ่ายในบางส่วนไม่นับรวมเป็นการลงทุนภายใต้กรอบนิยามการลงทุนของระบบบัญชีประชาชาติ อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐในปี 2561 เร่งตัวขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกรอบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 14.7 และร้อยละ 45.7 ในขณะที่โครงการลงทุนด้านโครงพื้นฐานที่สำคัญมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นและคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนภายใต้กรอบนิยามบัญชีประชาชาติมากขึ้นตามลำดับ

ทั้งนี้ ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 มีโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2559 (Action Plan ปี 2559 จำนวน 20 โครงการ) และโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วน ปี 2560 (Action Plan ปี 2560 จำนวน 36 โครงการ) ที่เข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างแล้วจำนวน 19 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 733,172 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการภายใต้ Action Plan ปี 2559 จำนวน 15 โครงการ วงเงินรวม 725,084 ล้านบาท และโครงการภายใต้ Action Plan ปี 2560 จำนวน 4 โครงการ วงเงินรวม 8,088 ล้านบาท

3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 โดยเฉพาะการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรดีขึ้นตามลำดับจากการลดลงร้อยละ 0.4 ในไตรมาสแรก เป็นการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในไตรมาสที่ผ่านมา ก่อนที่จะขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 3.7 ในไตรมาสที่สาม และขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.4 ในไตรมาสที่สี่ของปี 2560 สอดคล้องกับการขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่องของการส่งออกและการเร่งตัวขึ้นของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในปี 2561 การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะขยายตัว อย่างชัดเจนมากขึ้นโดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) แนวโน้มการขยายตัวดีขึ้นของการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรตามการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการส่งออกซึ่งทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในอุตสาหกรรมส่งออกสำคัญๆ ปรับตัวเข้าสู่ช่วงของการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้นตามลำดับ (2) การลงทุนเอกชนในภาคการก่อสร้างมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามความคืบหน้าของโครงการลงทุนภาครัฐที่มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งที่สำคัญ เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สีชมพู และสีส้ม โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ - นครราชสีมา โครงการทางด่วน ขั้นที่ 3 สายเหนือเชื่อมถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการลงทุนภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ (3) การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและ นักลงทุนสะท้อนจากการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 641,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ปี 2559 ร้อยละ 22.4 และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจซึ่งล่าสุดในเดือนมกราคม 2561 อยู่ที่ระดับ 52.5 สูงสุดในรอบ 10 เดือน

4) สาขาเศรษฐกิจสำคัญที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2560 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้าน (1) ภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งประเทศเศรษฐกิจหลัก และประเทศสำคัญๆ ที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องและเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวเร่งขึ้นอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจรัสเซีย อินเดีย และตะวันออกกลาง (2) ภาคการส่งออกซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัว ในเกณฑ์ดีตามแนวโน้มการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าในตลาดโลก โดยเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นแม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้นก็ตาม (3) สาขาการขนส่งและการคมนาคมที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการขยายตัวของกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว กิจกรรมการผลิต และการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากความสำเร็จของรัฐบาลไทยในการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (Significant Safety Concerns: SSC) ขององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้สายการบินของไทยสามารถเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศมากขึ้น และ (4) สาขาการค้าส่งค้าปลีกท มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ตามการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภาคครัวเรือน การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว กิจกรรมการค้าที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและส่งออก รวมทั้งปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และการเริ่มสิ้นสุดลงของข้อกำหนดการถือครองรถยนต์ภายใต้มาตรการรถยนต์คันแรก

5) การปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าการจ้างงานรวมทั้งปี 2560 จะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.6 และส่งผลให้อัตราการว่างงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยร้อยละ 1.0 ในปี 2559 เป็นเฉลี่ย ร้อยละ 1.2 ก็ตาม แต่สถานการณ์การจ้างงานในไตรมาสสุดท้ายของปีมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ ตามลำดับ โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคนอกเกษตร (สัดส่วนร้อยละ 67.9 ของการจ้างงานรวม) ซึ่งเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 และร้อยละ 0.5 ติดต่อกันในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ตามลำดับ และส่งผลให้อัตราการว่างงานเริ่มปรับตัวลดลง ในขณะที่ในปี 2561 การจ้างงานมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การจ้างงานในภาคเกษตรที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของผลผลิตที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณน้ำในเขื่อนซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2) การฟื้นตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม (สัดส่วนการจ้างงานร้อยละ 16.2) ที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างชัดเจนมากขึ้น และทำให้อุตสาหกรรมบางรายการปรับตัวเข้าสู่ช่วงการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตและ ดูดซับแรงงานในระบบเศรษฐกิจได้มากขึ้น และ (3) แนวโน้มการขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องของภาคบริการสำคัญๆ

ข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง

1) การลดลงของแรงขับเคลื่อนจากการขยายตัวของการผลิตภาคเกษตรในช่วงของการปรับตัวเข้าสู่ การขยายตัวปกติ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะลดลงเร็วกว่าการคาดการณ์จากปรากฏการณ์ลานีญา ในปี 2560 การผลิตภาคเกษตรขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.2 และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 0.5 (Contribution to growth) โดยการขยายตัวในเกณฑ์สูงของการผลิตภาคเกษตรในปี 2560 ส่วนหนึ่งมีปัจจัยสนับสนุนมาจากภัยแล้งในปี 2558 - 2559 ซึ่งทำให้การผลิตและผลผลิตภาคเกษตรในช่วงดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2557 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภัยแล้งได้สิ้นสุดลงและส่งผลให้ การผลิตและผลผลิตภาคเกษตรในภาพรวมกลับสู่ภาวะปกติและเข้าสู่ระดับเดียวกับปี 2557 เป็นครั้งแรกในไตรมาสที่สี่ของปี 2559 การปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติดังกล่าว ส่งผลให้การขยายตัวของการผลิต ภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัวลงและเข้าสู่ระดับการขยายตัวปกติในปี 2561 ซึ่งจะทำให้แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการผลิตภาคเกษตรลดลงและมีความเสี่ยงที่จะลดลงเร็วกว่าการคาดการณ์ในกรณีที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากปรากฏการณ์ลานีญา

2) ราคาสินค้าในตลาดโลก อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลให้ช่องว่างผลผลิต (Output Gap) ในประเทศเศรษฐกิจหลักปิดลงและทำให้ประเทศต่างๆ เริ่มปรับมาตรการขยายปริมาณเงินและอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น แม้ว่าในกรณีฐานจะคาดว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเป็นไปอย่างช้าๆ และยังไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ก็ตาม แต่ในระยะต่อไปมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของครัวเรือนและธุรกิจบางกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อราคาสินค้าและอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงที่การปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการเงินในประเทศสำคัญๆ จะทำให้สภาพคล่อง ในตลาดโลกลดลงและอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่องควบคู่กับการเพิ่มขึ้นของปริมาณพันธบัตรในตลาดสหรัฐฯ ที่อาจจะสูงถึงประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ.

3) ความเสี่ยงจากความผันผวนในระบบเศรษฐกิจโลก ที่เกิดจาก (1) การปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ของ นักลงทุนในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ช่วงขาขึ้นของวัฏจักรเศรษฐกิจ เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่อาจสร้างความผันผวนให้กับระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกทั้งในด้านการเคลื่อนย้ายเงินทุน อัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าขั้นปฐม อัตราดอกเบี้ย และตลาดทุนที่สำคัญๆ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ของนักลงทุนเกี่ยวกับฐานะการคลังและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะยาวที่อาจส่งผลให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงและสร้างแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง และ (2) ทิศทางการดำเนินนโยบายและเงื่อนไขทางการเมืองในประเทศสำคัญๆ ประกอบด้วย ทิศทางการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าและการลงทุนของสหรัฐฯ ต่อประเทศคู่ค้าสำคัญๆ ผลการเจรจา NAFTA และ BREXIT ผลการเลือกตั้งอิตาลี เงื่อนไขทางการเมืองในสเปน และความขัดแย้งทางการเมืองบนคาบสมุทรเกาหลีและ ตะวันออกกลาง

ข้อสมมติฐานการประมาณการเศรษฐกิจปี 2561

1) เศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลกในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 3.8 และร้อยละ 4.2 ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.6 และร้อยละ 4.0 ในการประมาณการครั้งก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศสำคัญๆ ขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นและการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยาวนานที่สุดโดยมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากแผนการปฏิรูปภาษีและสร้างการจ้างงาน ในขณะที่เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวใกล้เคียงกับปีก่อนหน้าและเข้าสู่ช่วงการขยายตัวเต็มที่ของวัฏจักรเศรษฐกิจอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดี การปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการขยายตัวในเกณฑ์ดีของประเทศเศรษฐกิจหลักอื่นๆ เมื่อรวมกับการปรับตัวดีขึ้นของปริมาณการค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก คาดว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดีและมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกในภาพรวมยังขยายตัวเร่งขึ้น

2) ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 2561 อยู่ในช่วง 31.5 - 32.5 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นเทียบกับ 33.93 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในปี 2560 และปรับจากสมมติฐาน 34.0 - 35.0 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับค่าเงินบาทในเดือนมกราคม 2561 ซึ่งอยู่ที่เฉลี่ย 31.89 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.4 จาก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 และแข็งค่าขึ้นร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ในช่วงที่เหลือของปีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับลดขนาดงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตร มีแนวโน้มที่จะทำให้เงินสหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นและเงินบาทอ่อนค่าลง ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของการขาดดุลการคลังและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องของไทยมีแนวโน้มที่จะทำให้ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้น

3) ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 55.0 - 65.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลสูงกว่าราคาเฉลี่ย 53.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากสมมติฐาน 50.0 - 60.0 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น ประกอบด้วย (1) การปรับตัวเพิ่มขึ้นของปริมาณความต้องการใช้น้ำมันตามการขยายตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจประเทศสำคัญๆ อาทิ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีน (2) การขยายความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC และกลุ่ม Non-OPEC จากเดิมในเดือนมีนาคม 2561 ไปจนถึงสิ้นสุดปี 2561 และ (3) ปัจจัยทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิต อาทิ การปราบปรามการคอร์รัปชันในซาอุดิอาระเบีย และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์บนคาบสมุทรเกาหลีและประเทศในตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศ Non-OPEC โดยเฉพาะสหรัฐฯ และแคนาดา ภายหลังราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นมากกว่า 50 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรล ยังเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นไปอย่างช้าๆ

4) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.5 - 2.5 ชะลอลงจากการขยายตัว ร้อยละ 3.6 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 0.5 - 1.5 โดยเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบจากเดิม ซึ่งจะส่งผลให้ราคาส่งออกในหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงและราคาหมวดสินค้าอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเพิ่มขึ้นด้านราคานำเข้าในรูปดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5 - 3.5 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 1.0 - 2.0 ในการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลมาจากแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นราคาสินค้าในหมวดวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปเป็นสำคัญ

5) รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.6 จาก 1.95 ล้านล้านบาท ในปี 2560 และเป็นการปรับลดจาก 2.21 ล้านล้านบาท ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับปรุงข้อมูลดุลบริการรับค่าท่องเที่ยวของธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2559 โดยรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศในตลาดหลักยังคงขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีทั้งสหภาพยุโรป จีน อาเซียน และกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออก ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ (1) แนวโน้มการขยายตัวได้ดีของเศรษฐกิจโลกทั้งประเทศเศรษฐกิจหลักและประเทศสำคัญๆ ในเอเชียที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของนักท่องเที่ยวระยะไกลและนักท่องเที่ยวในภูมิภาค โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากรัสเซีย อินเดีย จีน และตะวันออกกลาง (2) การดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงื่อนไขและเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ (3) ประเทศไทยยังคงได้รับการจัดอันดับและยกย่องให้เป็นจุดหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง (4) การเพิ่มขึ้นของสายการบินต้นทุนต่ำ ที่เดินทางระหว่างประเทศในระยะใกล้ และ (5) การเร่งขยายสนามบินหลักที่สำคัญเพื่อให้สามารถรองรับเที่ยวบินและจำนวนนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ประกอบด้วย (1) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2561 ร้อยละ 93.0 ของวงเงินงบประมาณ โดยแบ่งเป็นอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ร้อยละ 98.5 ปรับเพิ่มจากร้อยละ 97.0 ในสมมติฐานเดิม และอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 73.0 ปรับลดจากร้อยละ 75.0 ในสมมติฐานเดิม (2) อัตราเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปีงบประมาณ 2561 ร้อยละ 69.0 (แบ่งเป็นอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายประจำ ร้อยละ 75.0 และรายจ่ายลงทุน ร้อยละ 30.0) (3) อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 77.0 (4) อัตราการเบิกจ่ายงบเหลื่อมปี ร้อยละ 73.0 (5) การเบิกจ่ายเงินนอกงบประมาณภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนน ระยะเร่งด่วน และอื่นๆ ประมาณ 3,878.8 ล้านบาท ลดลงจาก 9,398.4 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2560 และ (6) การเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2562 ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม - ธันวาคม 2561) ร้อยละ 30.0 ของวงเงินงบประมาณ

ประมาณการเศรษฐกิจปี 2561

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 3.6 - 4.6 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.1) ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.9 และร้อยละ 3.3 ในปี 2560 และปี 2559 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.9 - 1.9 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 7.8 ของ GDP

ในการแถลงข่าววันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2561 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2561 จะขยายตัวร้อยละ 3.6 - 4.6 (ค่ากลางการประมาณการร้อยละ 4.1) เท่ากับช่วงการประมาณการในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560 แต่ปรับองค์ประกอบการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ

องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

1) การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชน คาดว่าจะขยายตัว ร้อยละ 3.2 เท่ากับการขยายตัวในปี 2560 และปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงานและฐานรายได้ของประชาชนในระบบเศรษฐกิจตาม (1) การจ้างงานในภาคนอกเกษตรที่เริ่มกลับมาขยายตัวในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ในขณะที่การจ้างงานภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น (2) อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ (3) การลดลงของข้อจำกัดจากการถือครองรถยนต์ภายใต้มาตรการรถยนต์คันแรกและการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และ (4) มาตรการภาครัฐในการดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อยและการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.2 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.5 ในปี 2560 และปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.7 ในการประมาณการครั้งก่อนตามการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณภายใต้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2561

2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.5 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 0.9 ในปี 2560 และเท่ากับการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยการลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 10.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 1.2 ในปี 2560 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงของกรอบวงเงิน งบลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจร้อยละ 14.7 และร้อยละ 45.7 เทียบกับการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และการลดลงร้อยละ 2.1 ในปี 2560 ตามลำดับ และการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น แต่เป็นการปรับลดจากการขยายตัวร้อยละ 11.8 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดสมมติฐานอัตราเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนให้สอดคล้องกับอัตราเบิกจ่ายจริงในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2561 ซึ่งยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในสมมติฐานเดิม ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 1.7 ในปี 2560 และเท่ากับการประมาณการครั้งที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) อัตราการใช้กำลังการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการส่งออกที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีซึ่งจะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการใช้อัตรากำลังการผลิตในปัจจุบันสูงกว่าร้อยละ 75 และ (2) การปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นของนักลงทุนภายใต้บรรยากาศการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพการเมืองในประเทศ รวมทั้งความคืบหน้าของโครงการลงทุนของภาครัฐ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2560 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.4

3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.8 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 9.7 ในปี 2560 และปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 5.0 ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มทั้งทางด้านปริมาณและราคาส่งออก โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.8 ปรับเพิ่มจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับเพิ่มสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก และการปรับเพิ่มสมมติฐานด้านราคาสินค้าส่งออกจากการเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 -1.5 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 - 2.5 ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และเมื่อรวมกับการส่งออกบริการที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่องตามรายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ คาดว่าจะทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 5.3 ในการประมาณการครั้งก่อน

4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.5 เทียบกับการขยายตัว ร้อยละ 14.4 ในปี 2560 และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 7.0 ในการประมาณการ ครั้งก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มประมาณการปริมาณการนำเข้าจากการขยายตัวร้อยละ 5.5 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นการขยายตัวร้อยละ 6.5 สอดคล้องกับการปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกสินค้าและการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนซึ่งจะทำให้ความต้องการสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มสมมติฐานการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้านำเข้าจากร้อยละ 1.0 - 2.0 ในการประมาณการครั้งก่อนเป็นการเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 - 3.5 สอดคล้องกับการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาน้ำมันดิบซึ่งจะส่งผลให้ราคานำเข้าวัตถุดิบและราคาในหมวดเชื้อเพลิงสูงขึ้น เมื่อรวมกับการนำเข้าบริการคาดว่าปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 6.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 5.6 ในการประมาณการครั้งก่อน

5) ดุลการค้า คาดว่าจะยังคงเกินดุลประมาณ 28.5 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากการเกินดุล 31.9 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2560 เนื่องจากประมาณการมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าประมาณการการขยายตัวของมูลค่าการส่งออก และเมื่อรวมกับการเกินดุลบริการคาดว่าจะส่งผลให้บัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 40.0 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือคิดเป็นร้อยละ 7.8 ของ GDP

6) เสถียรภาพทางเศรษฐกิจจะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปี 2561 คาดว่าจะอยู่ในช่วง ร้อยละ 0.9 - 1.9 เทียบกับร้อยละ 0.7 ในปี 2560

6. ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการดำเนินมาตรการของภาครัฐส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนทั้งทางด้านการเร่งขึ้นของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และภาคการผลิตที่เริ่มขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นตามลำดับ ในปี 2561 เศรษฐกิจไทยยังมีพลวัตของการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออก การท่องเที่ยว และบริการที่เกี่ยวเนื่องขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้ม เร่งขึ้นและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐตามการขยายตัวของกรอบงบประมาณรายจ่ายลงทุนและความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญๆ แม้กระนั้นก็ตาม แรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตรมีแนวโน้มชะลอตัวลงเข้าสู่ภาวะปกติ ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนภายใต้แนวโน้มการปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างช้าๆ ของระดับราคาสินค้า และอัตราดอกเบี้ยในตลาดโลก และการปรับการคาดการณ์ของนักลงทุน ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับ

1) การสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตนอกภาคเกษตรเพื่อชดเชยการลดลงของแรงขับเคลื่อนจากภาคเกษตรที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงเข้าสู่การขยายตัวปกติและมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญา โดย (1) การดูแลการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพและต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของการผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดกำลังการผลิตส่วนเกิน สนับสนุนให้เกิดการลงทุนใหม่เพื่อขยายกำลังการผลิต (2) การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนทั้งในด้านการดูแลให้การดำเนินโครงการลงทุนที่สำคัญทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ การชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความต่อเนื่องของมาตรการและนโยบายที่สำคัญในช่วงหลังการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การเลือกตั้งผ่านกลไกยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และ (3) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยว การอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว การส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวรายได้สูงและนักท่องเที่ยวระยะไกล รวมทั้งการลดความแออัดของนักท่องเที่ยวในสนามบินและพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ควบคู่ไปกับการกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่ชุมชน

2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวตามเป้าหมายได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจต่อนักลงทุน รักษาแรงขับเคลื่อนของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ กระจายกิจกรรมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และเพื่อให้มีการลงทุนที่เพียงพอต่อการบรรลุเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้ความสำคัญกับ (1) การเร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายงบลงทุนในช่วงที่เหลือของปี ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกรอบงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 72.0 และร้อยละ 77.0 ตามลำดับ (2) การขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วนปี 2559 และปี 2560 ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนของการก่อสร้างได้อย่างต่อเนื่อง (3) การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในพื้นที่ได้อย่างต่อเนื่อง และ (4) การจัดทำแผนและขับเคลื่อนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจในระดับภาคและจังหวัดสำคัญๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย การสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs และเศรษฐกิจฐานราก

โดยในด้านการผลิตสินค้าเกษตรและรายได้เกษตรกรให้ความสำคัญกับ (1) การเตรียมการรองรับความผันผวนของสภาพดินฟ้าอากาศในช่วงปรากฏการณ์ลานีญาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคเกษตร (2) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรให้ขยายตัวสูงต่อเนื่องจากปี 2560 เพื่อสนับสนุนให้ราคาสินค้าเกษตรในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่การแข็งค่าของเงินบาทมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อระดับราคาสินค้าเกษตรในประเทศมากขึ้น (3) การขับเคลื่อนนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ให้สามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต เพิ่มอำนาจทางการตลาดและการเพิ่มส่วนแบ่งผลตอบแทนให้เกษตรกรในราคาจำหน่ายผลผลิต และ (4) การปลูกพืชและใช้วิธีการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตที่มีมูลค่าสูงและการใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งในด้านเทคโนโลยีการผลิต การตลาด และการบริหารจัดการ ในด้านมาตรการการเงินการคลัง ให้ความสำคัญกับ (1) การเตรียมมาตรการสำหรับการปกป้องความเสี่ยงจากความเสียหายของผลผลิตที่อาจเกิดขึ้นจากความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ (2) การดำเนินการตามโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การดูแลให้มาตรการสินเชื่อและการสนับสนุนเงินทุนที่สำคัญๆ ของรัฐบาลที่มีวัตถุประสงค์ในการลดข้อจำกัดการเข้าถึงสินเชื่อและเงินทุนของเกษตรกรผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจชุมชน และ SMEs ให้มีวงเงินที่เพียงพอและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ต้นทุนการผลิต และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวเข้าสู่ช่วงขาขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้นตามลำดับ และ (3) ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการดำเนินธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการบริโภค และผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงและการแข็งค่าของเงินบาท โดยการส่งเสริมให้ SMEs ใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนของภาครัฐในการปกป้องตนเองจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน มาตรการการบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรง ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนการผลิต การบริหารจัดการ และการตลาดไปสู่การใช้เทคโนโลยีในระดับที่สูงขึ้น การปรับรูปแบบสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของตลาด การเชื่อมโยงกับธุรกิจและการผลิตขนาดใหญ่ รวมทั้งการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการใช้แรงงานต่างชาติในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และการสนับสนุนการเข้าร่วมโครงการการศึกษาทวิภาคีเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้มีเพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน ทั้งในด้านกำลังแรงงานทักษะฝีมือ และแรงงานกึ่งทักษะฝีมือ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างชาติ โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมให้แรงงานที่เพิ่งจบการศึกษาและเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานเป็นครั้งแรก การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานสำหรับผู้เปลี่ยนงานเพื่อรองรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการหางานและการเสาะหาแรงงาน การเชื่อมโยงตลาดแรงงานทั้งผู้หางาน สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและลดต้นทุนในการหางานและการเสาะหาแรงงาน การพัฒนาสถาบันแรงงานเฉพาะทาง เพื่อรองรับการลงทุนในสาขาการผลิตในอนาคต

ที่มา: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ