สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการชุมชนพอเพียง พ.ศ. 2553

ข่าวทั่วไป Monday November 1, 2010 14:55 —สำนักงานสถิติแห่งชาติ

การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโครงการชุมชนพอเพียง พ.ศ. 2553 มีวัตถุประสงค์ เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าไปมีส่วนร่วมประชุม/ประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชนปัญหาและอุปสรรคในการจัดทำโครงการชุมชนพอเพียงประโยชน์ของโครงการ และการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินโครงการและในการดำเนินชีวิต ตลอดจนข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจไปใช้เป็นแนวทางในการติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวต่อไป ซึ่งปฏิบัติงานเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่าง 1-15 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 โดยทำการสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปเป็นตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 5,800 คน แบ่งเป็นประชาชนในเขตเทศบาล จำนวน 2,240 คน และนอกเขตเทศบาล จำนวน 3,560 คน ซึ่งสรุปผลการสำรวจที่สำคัญได้ดังนี้

สรุปการสำรวจที่สำคัญ ๆ

1. การรับทราบโครงการชุมชนพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน

ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.7 ระบุว่าทราบ มีร้อยละ 15.3 ระบุว่าไม่ทราบ

2. การมีส่วนร่วมในโครงการชุมชนพอเพียงการประชุมประชาคมคัดเลือกคณะกรรมการชุมชนเพื่อดำเนินการโครงการชุมชนเพียงพอ

จากผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนที่ทราบถึงโครงการชุมชนพอเพียง ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.6 ระบุว่าในหมู่บ้าน/ชุมชนที่อาศัยอยู่มีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน (โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน ร้อยละ 73.1 และไม่ได้เข้าไปร่วม ร้อยละ 26.9) ส่วนอีกร้อยละ 21.4 ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนยังไม่มีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน (โดยให้เหตุผลที่สำคัญ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง และยังไม่มีการจัดกลุ่มรองรับในหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นต้น) สำหรับประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการคัดเลือกคณะกรรมการชุมชนแต่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา

3. การประชุมประชาคมคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียงเพื่อดำเนินการ

จากผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชนส่วนใหญ่ร้อยละ 98.7 ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียง (โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียง ร้อยละ 75.1 และไม่ได้เข้าไปร่วม ร้อยละ 24.9) มีร้อยละ 1.3 ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนยังไม่มีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียง (โดยให้เหตุผลที่สำคัญ ได้แก่ ยังไม่มีการเลือกโครงการ และไม่ได้ประกาศแจ้งข่าวสาร เป็นต้น) สำหรับประชาชนที่หมู่บ้านมีการประชุมเพื่อคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียงแต่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้เหตุผลว่าไม่มีเวลาไม่ได้ติดตามข่าวสาร ติดธุระ และไม่สนใจที่จะเข้าร่วม เป็นต้น

4. โครงการที่หมู่บ้าน/ชุมชนคัดเลือกเพื่อดำเนินการ

จากการสอบถามประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมเกี่ยวกับการคัดเลือกโครงการที่จะดำเนินการเป็นโครงการชุมชนพอเพียงนั้น พบว่า ส่วนใหญ่คัดเลือกโครงการที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการเกษตรมากที่สุด ร้อยละ 33.4 รองลงมา การสาธารณูปโภค ร้อยละ 27.4 ส่งเสริมการประกอบอาชีพ ร้อยละ 23.6 สวัสดิการชุมชน ร้อยละ 20.7 สนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือพลังงานทดแทน หรือพลังงานทางเลือก ร้อยละ 6.6 เป็นต้น

5. โครงการชุมชนพอเพียงที่หมู่บ้าน/ชุมชนจัดทำขึ้นตรงตามความต้องการ พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีประชุมประชาคมแล้ว ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.5 ระบุว่าตรงตามความต้องการ มีร้อยละ 23.5 ระบุว่าไม่ตรงตามความต้องการ (โดยได้ให้เหตุผล คือ ความต้องการของคนในหมู่บ้าน/ชุมชนมีหลากหลาย เป็นโครงการที่มาจากความคิดของผู้นำไม่ใช่เสียงชาวบ้าน และประชาชนละเลยสิทธิที่จะเข้าไปร่วมคัดเลือกปัญหา/โครงการ เป็นต้น)

6. วิธีการดำเนินงานโครงการ พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุม/ประชาคม ระบุว่าดำเนินงานโครงการของหมู่บ้าน/ชุมชนเองทั้งหมด คือ ร้อยละ 37.6 ทำเองได้แต่ต้องมีคนแนะนำ/ให้คำปรึกษา ร้อยละ 17.0 ทำเองได้แต่ต้องขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน ร้อยละ 14.9 ทำเองไม่ได้ต้องให้หน่วยงานอื่นทำให้ ร้อยละ 1.9 ส่วนอื่น ๆ ร้อยละ 1.0 และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 27.6

7. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ พบว่า ประชาชน ที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม ประมาณ ร้อยละ 57.5 ระบุว่าไม่มีปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินโครงการ ส่วนผู้ที่ระบุว่ามีปัญหา มีร้อยละ 10.7 (ซึ่งมีปัญหา/อุปสรรค ได้แก่ มีการอนุมัติงบล่าช้า งบประมาณน้อย/ไม่เพียงพอและขาดความรู้ เป็นต้น) และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 31.8

8. ประโยชน์ของโครงการชุมชนพอเพียง

จากการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ของโครงการชุมชนพอเพียงนั้น พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.2 ระบุว่ามีประโยชน์ (ซึ่งมีประโยชน์ในด้านคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของครัวเรือนดีขึ้น ร้อยละ 44.4 รองลงมา การสร้างงาน/อาชีพร้อยละ 40.3 และความเข้มแข็งของชุมชน/พึ่งพาตนเองได้ร้อยละ 37.5 รายได้ของครัวเรือน ร้อยละ 35.9 สร้างความรู้/ ความเข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 27.9 เสริมสร้างการเรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตย ร้อยละ 6.8 และอื่น ๆ ร้อยละ 2.6) ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่มีประโยชน์ มีร้อยละ 2.9 และผู้ที่ไม่มีความคิดเห็น ร้อยละ 12.9

9. ความพึงพอใจของประชาชนต่อโครงการชุมชนพอเพียง พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม ระบุว่าพึงพอใจ มากถึงปานกลาง ร้อยละ 83.7 (โดยพึงพอใจในระดับมากร้อยละ 22.6 และปานกลาง ร้อยละ 61.1) ส่วนผู้ที่ระบุว่าพึงพอใจน้อยถึงไม่พึงพอใจ มีเพียงร้อยละ 16.3

10. ความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการโครงการชุมชนพอเพียง พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการดำเนินการเสร็จแล้วประมาณ ร้อยละ 62.2 ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนประสบผลสำเร็จของการดำเนินงานในระดับปานกลาง และร้อยละ 23.9 ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนประสบผลสำเร็จในระดับมาก มีร้อยละ 13.9 ที่ระบุว่าประสบผลสำเร็จน้อย/ไม่ประสบผลสำเร็จ (โดยให้เหตุผลที่ประสบผลสำเร็จน้อย/ไม่ประสบผลสำเร็จ คือ ไม่ตรงจุดประสงค์ของหมู่บ้าน/ชุมชน การทุจริต และใช้ประโยชน์ได้น้อย)

11. การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้

การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในโครงการชุมชนพอเพียงที่จัดทำขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชน พบว่าประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม ประมาณร้อยละ 59.9 ระบุว่านำมาประยุกต์ใช้ในระดับปานกลาง และร้อยละ 18.3 ระบุว่านำมาประยุกต์ใช้ในระดับมาก ส่วนผู้ที่ระบุว่านำมาประยุกต์ใช้ในระดับน้อยถึงไม่ได้ใช้เลย มีร้อยละ 13.3 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 8.5

แผนการสุ่มตัวอย่าง

แผนการสุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นแบบ Stratified three - stage sampling โดยมีกรุงเทพมหานคร และภาคเป็นสตราตัม ซึ่งมีทั้งสิ้น 5 สตราตัม คือ กรุงเทพมหานคร ภาคกลาง (ยกเว้น กทม.) ภาคเหนือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นหน่วยตัวอย่างขั้นที่หนึ่ง ครัวเรือนส่วนบุคคลเป็นหน่วยตัวอย่างขั้นที่สอง และสมาชิกที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นหน่วยตัวอย่างขั้นที่สาม

การเลือกตัวอย่างขั้นที่หนึ่ง

ในแต่ละภาค ทำการเลือกหมู่บ้าน/ชุมชนตัวอย่าง อย่างอิสระต่อกัน โดยใช้ความน่าจะเป็นในการเลือกเป็นปฏิภาคกับจำนวนครัวเรือนหมู่บ้าน/ชุมชน นั้นๆ ได้จำนวนหน่วยตัวอย่างทั้งสิ้น 580 หมู่บ้าน/ชุมชนกระจายตามภาค

การเลือกตัวอย่างขั้นที่สอง

ในขั้นนี้เป็นการเลือกครัวเรือนตัวอย่างที่มีสมาชิกอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่ม โดยกำหนดให้เลือก 10 ครัวเรือนตัวอย่างต่อหมู่บ้าน/ชุมชน จำแนกตามภาค

การเลือกตัวอย่างขั้นที่สาม

ในแต่ละครัวเรือนตัวอย่าง ได้ทำการเลือกสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ครัวเรือนละ 1 คน เพื่อทำการสัมภาษณ์ ได้จำนวนหน่วยตัวอย่างทั้งสิ้น 5,800 คน

วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยทำการสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปครัวเรือนละ 1 คน โดยให้กระจายตามเพศ อายุ และสถานภาพการทำงาน

คาบเวลาการปฏิบัติงานเก็บรวบรวมข้อมูล

ปฏิบัติงานเก็บรวบรวมข้อมูล ระหว่างวันที่ 1 - 15 พฤษภาคม 2553

การเสนอผล

เสนอผลสำรวจทั่วประเทศ กรุงเทพมหานคร และภาค ในรูปร้อยละ

ผลการสำรวจ

ข้อมูลทั่วไปของผู้ตอบแบบสัมภาษณ์

ผู้ตอบแบบสัมภาษณ์ เป็นชาย ร้อยละ 48.9 เป็นหญิง ร้อยละ 51.1 ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่อยู่ในช่วงอายุ 40 - 49 ปี ร้อยละ 27.6 รองลงมา ช่วงอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 22.2 ช่วงอายุ 30 - 39 ปี ร้อยละ 18.9 ช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 13.7 ช่วงอายุ 20 - 29 ปี ร้อยละ 11.4 และช่วงอายุ 15 - 19 ปี ร้อยละ 6.2 สำหรับการศึกษาของผู้ตอบแบบสัมภาษณ์ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษา ร้อยละ 49.7 รองลงมา มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 16.9 มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 16.4 ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ร้อยละ 8.7 อนุปริญญา/ปวส./ปวท.หรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.9 และไม่ได้รับการศึกษาร้อยละ 2.3

ส่วนสถานภาพการทำงานของผู้ตอบแบบสัมภาษณ์ ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ร้อยละ 31.3 รองลงมา ค้าขายประกอบธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 19.8 แม่บ้าน/ข้าราชการบำนาญ/ว่างงาน ร้อยละ 11.7 รับจ้างทั่วไป/กรรมกร ร้อยละ 11.5 พนักงาน/ลูกจ้างเอกชน ร้อยละ 11.4 ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 6.7 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 6.3 และอื่นๆ ร้อยละ 1.3

สำหรับการเป็นคณะกรรมการชุมชนของผู้ตอบแบบสัมภาษณ์ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.2 ระบุว่าไม่ได้เป็นคณะกรรมการฯ มีเพียงร้อยละ 17.8 ระบุว่าเป็น (โดยเป็นในตำแหน่งประธานมากที่สุด รองลงมาเลขานุการ/ผู้ช่วย รองประธาน และเหรัญญิก/ผู้ช่วย ตามลำดับ) ส่วนการเป็นผู้นำหมู่บ้าน/ชุมชนหรือท้องถิ่นพบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.7 ระบุว่าไม่เป็น มีเพียงร้อยละ 15.3 ระบุว่าเป็นซึ่งเป็นในตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านและ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านมากที่สุด

การรับทราบเกี่ยวกับโครงการชุมชนพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน (โครงการชุมชนพอเพียง)

จากการสอบถามประชาชนเกี่ยวกับการรับทราบถึงโครงการชุมชนพอเพียงซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลให้จัดทำขึ้นนั้น พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.7 ระบุว่าทราบ มีเพียงร้อยละ 15.3 ระบุว่าไม่ทราบเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคประชาชนในกรุงเทพมหานครทราบถึงโครงการดังกล่าว สูงกว่าภาคอื่นๆ คือ ร้อยละ 87.9 รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 86.2 ภาคเหนือ ร้อยละ 85.0 ภาคใต้ ร้อยละ 81.3 และ ภาคกลาง ร้อยละ 77.2 ตามลำดับ

ส่วนแหล่ง/สื่อที่ประชาชนทราบถึงโครงการชุมชนพอเพียงของรัฐบาลมากที่สุด คือ โทรทัศน์ ร้อยละ 56.6 รองลงมา กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 31.9 ผู้นำชุมชน ร้อยละ 25.9 และหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 16.3 ในขณะที่ประชาชนทราบจากสื่ออินเทอร์เน็ตน้อยที่สุด เพียงร้อยละ 2.7

สำหรับการติดประกาศ/แจ้งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการชุมชนพอเพียงภายในหมู่บ้าน/ชุมชนนั้นประชาชนที่ทราบถึงโครงการฯ เห็นว่าในหมู่บ้าน/ชุมชนของตัวเอง มีการติดประกาศ/แจ้งข้อมูลข่าวสารร้อยละ 68.3 (โดยมีการติดประกาศ/แจ้งในระดับมาก ร้อยละ 12.1 ปานกลาง ร้อยละ 44.0 และน้อย ร้อยละ 12.2) ไม่มีการติดประกาศ/แจ้งข้อมูล ร้อยละ 14.6 และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.1

การมีส่วนร่วมในโครงการชุมชนพอเพียง

ประชุมประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชนเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน

จากผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนที่ทราบถึงโครงการชุมชนพอเพียง ส่วนใหญ่ร้อยละ 78.6 ระบุว่าในหมู่บ้าน/ชุมชนที่อาศัยอยู่มีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน (โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน ร้อยละ 73.1 และไม่ได้เข้าไปร่วม ร้อยละ 26.9) ส่วนอีกร้อยละ 21.4 ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนยังไม่มีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน (โดยให้เหตุผลที่สำคัญ ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ยังไม่ทั่วถึง และยังไม่มีการจัดกลุ่มรองรับในหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นต้น) สำหรับประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการคัดเลือกคณะกรรมการชุมชนแต่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนที่ทราบถึงโครงการชุมชนพอเพียงในภาคเหนือ ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน สูงกว่าภาคอื่น ถึงร้อยละ 91.2 รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 89.9 ภาคใต้ ร้อยละ 85.5 และภาคกลาง ร้อยละ 82.5 ในขณะที่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ระบุว่าชุมชนมีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชนอยู่ในสัดส่วนน้อยสุด มีร้อยละ 62.9

ความโปร่งใส/เป็นธรรมของคณะกรรมการ

ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุม/ประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน ระบุว่าคณะกรรมการที่เลือกขึ้นมาเป็นตัวแทนในการดำเนินงานมีความโปร่งใส/เป็นธรรมร้อยละ 75.5 ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่มีความโปร่งใส/ไม่เป็นธรรม มีร้อยละ 3.8 และอีกร้อยละ 20.7 ระบุว่าไม่มีความคิดเห็น

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในภาคใต้ และกรุงเทพมหานครที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุม/ประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน เห็นว่าคณะกรรมการที่เลือกขึ้นมาเป็นตัวแทนในการดำเนินงานไม่โปร่งใส/ไม่เป็นธรรมอยู่ในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกันและสูงกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 5.8 และร้อยละ 5.4 ส่วนภาคกลาง ร้อยละ 4.5 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 2.6 ในขณะที่ประชาชนภาคเหนือที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุม/ประชาคม เห็นว่าคณะกรรมการที่เลือกขึ้นมาเป็นตัวแทนในการดำเนินงานไม่โปร่งใส/ไม่เป็นธรรมอยู่ในสัดส่วนน้อยสุดร้อยละ 1.5

ความโปร่งใสของการคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียง

ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมระบุว่าโครงการที่เลือกมีความโปร่งใส ร้อยละ 74.8 ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่มีความโปร่งใส มีร้อยละ 4.5 และอีกร้อยละ 20.7 ระบุว่าไม่มีความคิดเห็น

สำหรับในรายภาค พบว่า ประชาชนกรุงเทพมหานครที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุม/ประชาคมเห็นว่าโครงการที่เลือกขึ้นไม่มีความโปร่งใส อยู่ในสัดส่วนสูงกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 9.3 รองลงมา ภาคใต้ร้อยละ 4.8 ภาคกลาง ร้อยละ 3.5 ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ มีร้อยละ 1.7 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ

การดำเนินโครงการชุมชนพอเพียง

1) การคัดเลือกโครงการ

จากผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน ส่วนใหญ่ร้อยละ 98.7 ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียง (โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียง ร้อยละ 75.1 และไม่ได้เข้าไปร่วมร้อยละ 24.9) มีร้อยละ 1.3 ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนยังไม่มีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียง (โดยให้เหตุผลที่สำคัญ ได้แก่ ยังไม่มีการเลือกโครงการ และไม่ได้ประกาศแจ้งข่าวสาร เป็นต้น)สำหรับประชาชนที่หมู่บ้านมีการประชุมเพื่อคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียงแต่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้เหตุผลว่าไม่มีเวลา ไม่ได้ติดตามข่าวสาร ติดธุระ และไม่สนใจที่จะเข้าร่วม เป็นต้น

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชนแล้ว ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกโครงการชุมชนพอเพียงเพื่อจะดำเนิการสูงกว่าภาคอื่น มีร้อยละ 99.0 รองลงมา กรุงเทพมหานครร้อยละ 98.8 ภาคเหนือ และภาคกลางอยู่ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 98.5 และภาคใต้ ร้อยละ 98.4 ทั้งนี้ผู้ระบุว่าได้มีการประชุมประชาคมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการชุมชน ร้อยละ 1.3 โดยให้เหตุผลว่ายังไม่มีการเลือกโครงการ ไม่ได้ประกาศแจ้งข่าวสาร ไม่มีคนสนใจ เป็นต้น

2) ประเภทโครงการ

จากการสอบถามประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมเกี่ยวกับการคัดเลือกโครงการที่จะดำเนินการเป็นโครงการชุมชนพอเพียงนั้น พบว่า ส่วนใหญ่คัดเลือกโครงการที่จะดำเนินการเกี่ยวกับการเกษตรมากที่สุด ร้อยละ 33.4 รองลงมา การสาธารณูปโภค ร้อยละ 27.4 ส่งเสริมการประกอบอาชีพร้อยละ 23.6 สวัสดิการชุมชน ร้อยละ 20.7 สนับสนุนและส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน หรือพลังงานทดแทนหรือพลังงานทางเลือก ร้อยละ 6.6 เป็นต้น

เมื่อพิจารณาระดับภาค พบว่า ทุกภาค ยกเว้น กรุงเทพมหานคร เลือกโครงการใน 3 อันดับแรกเหมือนกัน คือ การเกษตร การสาธารณูปโภค การส่งเสริมอาชีพ/รายได้ การมีงานทำ สำหรับกรุงเทพมหานครโครงการที่เลือกให้อันดับแรก คือ สวัสดิการชุมชน รองลงมาคือ การส่งเสริมอาชีพ/รายได้ การมีงานทำ และการสาธารณูปโภค

เมื่อสอบถามประชาชนที่เข้าร่วมประชุมประชาคมหมู่บ้าน/ชุมชนเกี่ยวกับโครงการชุมชนพอเพียงที่ได้จัดทำขึ้นนั้นตรงตามความต้องการของตนหรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 76.5 ระบุว่าตรงตามความต้องการ มีร้อยละ 23.5 ระบุว่าไม่ตรงตามความต้องการ โดยได้ให้เหตุผล คือ ความต้องการของคนในหมู่บ้าน/ชุมชนมีหลากหลาย ตัวแทนประชาชนในหมู่บ้าน/คณะผู้ดำเนินการไม่มีความโปร่งใส ประชาชนละเลยสิทธิที่จะเข้าไปร่วมคัดเลือกปัญหา/โครงการ และขาดความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการเป็นต้น

หากพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในภาคเหนือ ระบุว่าโครงการที่หมู่บ้าน/ชุมชนได้จัดทำขึ้นตรงตามความต้องการของตนมากที่สุด ร้อยละ 90.7 รองลงมา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 87.4 ภาคกลาง ร้อยละ 81.6 และภาคใต้ ร้อยละ 80.8 ในขณะที่ประชาชนกรุงเทพมหานครระบุว่าโครงการชุมชนพอเพียงได้จัดทำขึ้นตรงตามความต้องการของตนอยู่ในสัดส่วนที่น้อยสุดเมื่อเทียบกับภาคอื่น คือ ร้อยละ 54.1

3) วิธีการดำเนินงานโครงการ

จากการสอบถามเกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานโครงการชุมชนพอเพียงของหมู่บ้าน/ชุมชน พบว่าประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม ระบุว่าดำเนินงานโครงการชุมชนพอเพียงของหมู่บ้าน/ชุมชนเองทั้งหมด ร้อยละ 37.6 ทำเองได้แต่ต้องมีคนแนะนำ/ให้คำปรึกษา ร้อยละ 17.0 (โดยผู้ให้คำปรึกษาได้แก่ หน่วยงานราชการ / เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ อบต. / นักการเมืองท้องถิ่น และสำนักงานเขต เป็นต้น) ทำเองได้แต่ต้องขอความช่วยเหลือจากหลายหน่วยงาน ร้อยละ 14.9 (โดยขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ / เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ อบต. / นักการเมืองท้องถิ่น และสำนักงานเขต เป็นต้น) ทำเองไม่ได้ต้องให้หน่วยงานอื่นทำให้ ร้อยละ 1.9 (โดยหน่วยงานอื่นที่ทำให้ ได้แก่ นักการเมืองท้องถิ่น สำนักงานเขต / พัฒนาชุมชน / เทศบาล และอบต. เป็นต้น) อื่น ๆ ร้อยละ 1.0 และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ มีร้อยละ 27.6

4) การได้รับอนุมัติโครงการ

ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม ร้อยละ 47.8 ระบุว่าได้รับการอนุมัติโครงการแล้ว (โดยกำลังดำเนินโครงการ ร้อยละ 30.4 ดำเนินโครงการเสร็จแล้ว ร้อยละ 57.7 และยังไม่ได้ดำเนินโครงการ ร้อยละ 2.8 สำหรับผู้ที่ระบุว่ายังไม่ได้ดำเนินการ ให้เหตุผลว่างบประมาณยังมาไม่ถึงเกิดจากปัญหาของโครงการเอง เป็นต้น) ส่วนที่ยังไม่ได้รับการอนุมติโครงการ มีร้อยละ 26.9 และไม่ทราบร้อยละ 25.3

หากพิจารณาในรายภาค พบว่า ประชาชนในกรุงเทพมหานคร ระบุว่าได้รับอนุมัติโครงการแล้วในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 59.8 รองลงมา ภาคเหนือ ร้อยละ 47.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 43.2 ภาคใต้ ร้อยละ 41.5 และภาคกลาง ร้อยละ 36.9

5) ปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินการ

สำหรับปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินการจัดทำโครงการชุมชนพอเพียง จากการสอบถามประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 57.5 ระบุว่าไม่มีปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินโครงการ ส่วนผู้ที่ระบุว่ามีปัญหา มีร้อยละ 10.7 (ซึ่งมีปัญหา/อุปสรรค ได้แก่ มีการอนุมัติล่าช้า งบประมาณได้มาไม่พอ และความไม่เข้าใจในโครงการ / ขาดความรู้ เป็นต้น) และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ ร้อยละ 31.8

ถ้าพิจารณาในรายภาค พบว่า ประชาชนกรุงเทพมหานครที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุม/ประชาคมระบุว่ามีปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินโครงการอยู่ในสัดส่วนที่สูง คือ ร้อยละ 16.6 รองลงมา ภาคเหนือร้อยละ 11.8 ภาคใต้ ร้อยละ 9.6 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 6.9 ภาคกลาง ร้อยละ 6.1

6) การร่วมลงทุนกับหมู่บ้าน/ชุมชนใกล้เคียงเพื่อแก้ไขปัญหา

สำหรับการร่วมลงทุนกับหมู่บ้าน/ชุมชนใกล้เคียงหรือองค์กรภาครัฐและเอกชนในพื้นที่หรือนอกพื้นที่เพื่อร่วมจัดทำโครงการที่มีลักษณะปัญหาคล้ายคลึงกัน พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม ประมาณร้อยละ 46.8 ระบุว่าไม่ได้ร่วม และผู้ที่ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ มีถึงร้อยละ 30.8 ในขณะที่มีผู้ระบุว่ามีการร่วมลงทุนกัน ร้อยละ 22.4 โดยโครงการที่ร่วมกันดำเนินการ ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาในการจัดทำร้อยละ 96.2 ส่วนมีปัญหาในการร่วมกันจัดทำโครงการ มีร้อยละ 3.8 ซึ่งปัญหา ได้แก่ ขาดความสามัคคี/ขาดความร่วมมือ ความเป็นอยู่ของประชาชน แนวความคิดในการทำงาน และขั้นตอนการทำงานต่างกันเป็นต้น

7) การทุจริตคอรัปชันในการดำเนินงานโครงการชุมชนพอเพียงในหมู่บ้าน/ชุมชน

ผลการสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม เห็นว่ามีการทุจริตคอรัปชันในโครงการชุมชนพอเพียง ร้อยละ 8.9 (โดยมีในระดับมาก ร้อยละ 1.9 ปานกลาง ร้อยละ 4.6 และน้อยร้อยละ 2.4) ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่มีการทุจริตคอรัปชัน ร้อยละ 63.7 และอีกร้อยละ 27.4 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ

สำหรับในรายภาค พบว่า ประชาชนกรุงเทพมหานครที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม เห็นว่ามีการทุจริตคอรัปชันในโครงการชุมชนพอเพียงอยู่ในสัดส่วนสูงกว่าภาคอื่น คือ ร้อยละ 18.0 รองลงมา ภาคใต้ร้อยละ 11.7 ภาคกลาง ร้อยละ 6.2 ส่วนภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีร้อยละ 3.6 และร้อยละ 3.1 ตามลำดับ

ผลสำเร็จของการดำเนินโครงการ

1) ประโยชน์ของโครงการชุมชนพอเพียง

จากการสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับประโยชน์ของโครงการชุมชนพอเพียงนั้น พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.2 ระบุว่ามีประโยชน์ (ซึ่งมีประโยชน์ในด้านคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของครัวเรือนดีขึ้น ร้อยละ 44.4 รองลงมา การสร้างงาน/อาชีพ ร้อยละ 40.3 และความเข้มแข็งของชุมชน / พึ่งพาตนเองได้ ร้อยละ 37.5 รายได้ของครัวเรือน ร้อยละ 35.9 สร้างความรู้ /ความเข้าใจในหลักเศรษฐกิจพอเพียง ร้อยละ 27.9 เสริมสร้างการเรียนรู้กระบวนการประชาธิปไตย ร้อยละ 6.8 และอื่น ๆ ร้อยละ 2.6) ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่มีประโยชน์ มีร้อยละ 2.9 และผู้ที่ไม่มีความคิดเห็น ร้อยละ 12.9

จากการสอบถามเกี่ยวกับโครงการชุมชนพอเพียงสามารถช่วยสนับสนุนและส่งเสริม/ผู้ไม่มีงานทำผู้มีรายได้น้อย หรือ ผู้ว่างงานตามฤดูกาลให้มีงานทำและมีรายได้หรือได้บ้าง พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม ส่วนใหญ่ร้อยละ 71.7 ระบุว่าสามารถสนับสนุนและส่งเสริมได้ (โดยช่วยได้ในระดับมาก ร้อยละ 15.8 ปานกลาง ร้อยละ 47.3 และน้อย ร้อยละ 8.6) ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่ใช่ มีร้อยละ 12.2 และไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ มีร้อยละ 16.1

ทั้งนี้เมื่อสอบถามประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมเกี่ยวกับโครงชุมชนพอเพียงสามารถช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน / ความเดือดร้อนได้เพียงใดนั้น พบว่า ประมาณร้อยละ 58.2 ระบุว่าช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน / ความเดือดร้อนได้ในระดับปานกลาง ร้อยละ 18.9 ระบุว่ามาก และร้อยละ 17.7 ระบุว่าช่วยได้น้อย ส่วนผู้ที่ระบุว่าช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน / ความเดือดร้อนไม่ได้เลย มีร้อยละ 5.2

2) ความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการชุมชนพอเพียง

จากการสอบถามประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนได้รับการอนุมัติโครงการแล้วเกี่ยวกับความสำเร็จของโครงการชุมชนพอเพียงของหมู่บ้าน/ชุมชนที่ได้ดำเนินงานเสร็จแล้วนั้น พบว่า ประมาณร้อยละ 62.2 ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนประสบผลสำเร็จในระดับปานกลาง และร้อยละ 23.9 ระบุว่าหมู่บ้าน/ชุมชนประสบผลสำเร็จในระดับมาก มีร้อยละ 13.9 ที่ระบุว่าประสบผลสำเร็จน้อย/ไม่ประสบผลสำเร็จ (โดยให้เหตุผลที่ประสบผลสำเร็จน้อย/ม่ประสบผลสำเร็จ คือ ไม่ตรงจุดประสงค์ของหมู่บ้าน/ชุมชน การทุจริต และใช้ประโยชน์ได้น้อย เป็นต้น)

ถ้าพิจารณาเป็นรายภาค จะเห็นว่าประชาชนในภาคเหนือที่หมู่บ้าน/ชุมชนได้รับการอนุมัติโครงการแล้วและดำเนินโครงการเสร็จแล้วระบุว่าโครงการชุมชนพอเพียงของตนที่ได้ดำเนินการประสบผลสำเร็จในระดับมากอยู่ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่นๆ คือ ร้อยละ 30.9 รองลงมา ภาคใต้ ร้อยละ 29.4 และภาคกลางร้อยละ 25.8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 23.9 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 17.7

ความพึงพอใจต่อโครงการชุมชนพอเพียง

ตามที่รัฐบาลได้จัดให้มีโครงการชุมชนพอเพียงขึ้นนั้นจากการสอบถามถึงความพึงพอใจต่อโครงการดังกล่าว พบว่า ประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม ระบุว่าพึงพอใจในระดับมาก ร้อยละ 22.6 และพึงพอใจในระดับปานกลาง ร้อยละ 61.1 ส่วนผู้ที่ระบุว่าพึงพอใจน้อย ร้อยละ11.7 และไม่พึงพอใจมีเพียงร้อยละ 4.6

จากการสอบถามประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคมแล้วถึงความต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงโครงการชุมชนพอเพียงหรือไม่นั้น พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 64.5 ระบุว่าไม่ต้องการปรับปรุง และร้อยละ 35.5 ระบุว่าต้องการให้มีการปรับปรุง โดยต้องการให้ปรับปรุง ดังนี้ เพิ่มงบประมาณ ควรอนุมัติงบประมาณให้เร็วขึ้น และความไม่โปร่งใสในการทำงาน เป็นต้น

การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้

การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในโครงการที่จัดทำขึ้นในหมู่บ้าน/ชุมชน พบว่าประชาชนที่หมู่บ้าน/ชุมชนมีการประชุมประชาคม ประมาณร้อยละ 59.9 ระบุว่านำมาปรับใช้ในระดับปานกลาง และร้อยละ 18.3 ระบุว่านำมาปรับใช้ในระดับมาก ส่วนผู้ที่ระบุว่านำมาปรับใช้ในระดับน้อยถึงไม่ได้ใช้ มีร้อยละ 13.3 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 8.5

สำหรับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต พบว่า ประชาชนร้อยละ 57.9 ระบุว่านำมาปรับใช้ในระดับปานกลาง และร้อยละ 20.7 ระบุว่านำมาปรับใช้ในระดับมากส่วนผู้ที่ระบุว่านำมาปรับใช้ในระดับน้อยถึงไม่ได้ใช้เลย มีร้อยละ 14.6 และไม่มีความคิดเห็น ร้อยละ 6.8

ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการชุมชนพอเพียง

ประชาชนประมาณ ร้อยละ 23.9 ได้แสดงความคิดเห็นต่อโครงการชุมชนพอเพียง โดยให้ข้อเสนอแนะในเรื่องที่สำคัญๆ ได้แก่ เป็นโครงการที่ดีทำให้คนในหมู่บ้าน/ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ควรดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง / ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง สร้างความรู้ / ความเข้าใจ / ให้การอบรมความรู้ในเรื่องที่จะจัดทำโครงการ โครงการควรเป็นประโยชน์กับชุมชน / ควรคำนึงถึงประโยชน์ของชาวบ้านในชุมชนและเพิ่มงบประมาณ เป็นต้น

การนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิต

ประชาชนประมาณ ร้อยละ 18.4 ได้แสดงความคิดเห็นต่อการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องที่สำคัญๆ ได้แก่ ประหยัดและอดออม / ลดค่าใช้จ่ายลง / ไม่ฟุ่มเฟือย / ทำบัญชีรายรับรายจ่าย ควรนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตเพื่อจะประสบผลสำเร็จ / เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตเป็นโครงการที่ดีทำให้ชีวิตมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่งเสริมกิจกรรมการผลิตเบื้องต้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายในแต่ละ ครัวเรือน เช่น ปลูกผักสวนครัว และควรมีเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์แนะนำเรื่องหลักเศรษฐกิจพอเพียงให้กับหมู่บ้าน/ชุมชน เป็นต้น

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ