เกษตรกรไทยความเป็นอยู่ดีขึ้น สศก. ชู ความยากจนของภาคเกษตรไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง

ข่าวทั่วไป Monday April 2, 2012 15:32 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผยผลการวิเคราะห์ตัวเลขภาวะความยากจนของครัวเรือนเกษตรปีเพาะปลูก 2553/54 พบ มีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านจำนวนและสัดส่วน ระบุ ภาคอีสานมีจำนวนครัวเรือนเกษตรที่ยากจนมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ ส่วนการกระจายรายได้ของครัวเรือนเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพและการจัดสวัสดิการที่มีความทั่วถึงมากขึ้นของรัฐบาล

นางนารีณัฐ รุณภัย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและแรงงานเกษตร ปีเพาะปลูก 2553/54 พบว่า ภาวะความยากจนของครัวเรือนในภาคเกษตร ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 1.745 ล้านครัวเรือนในปีเพาะปลูก 2551/52 (ร้อยละ 30 ของครัวเรือนเกษตรทั้งหมด) เป็น 1.380 ล้านครัวเรือนในปี 2552/53 โดยในปีเพาะปลูก 2553/54 ได้ลดลงเหลือ 1.372 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 23 (จากจำนวนครัวเรือนเกษตรทั้งหมด 5.875 ล้านครัวเรือน) โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีครัวเรือนเกษตรยากจนมากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65 ของครัวเรือนเกษตรยากจนทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ตามลำดับ

จากการวัดการกระจายรายได้ด้วยค่าสัมประสิทธิ์จินิ (Gini coefficient) พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์จินิลดลงจาก 0.5367 ในปีเพาะปลูก 2551/52 เหลือ 0.5199 ในปีเพาะปลูก 2553/54 และเมื่อแบ่งครัวเรือนออกเป็น 5 กลุ่ม โดยเรียงตามลำดับรายได้ พบว่ากลุ่มของครัวเรือนที่มีรายได้ชั้นต่ำสุด (หรือกลุ่มคน 20% แรกที่จนสุด) มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มมากขึ้นของรายได้ทั้งหมดในปีเพาะปลูก 2553/54 ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ของครัวเรือนในชั้นสูงสุด (หรือกลุ่มคน 20% สุดท้ายที่รวยสุด) ได้รับลดลง ซึ่งแสดงถึงการกระจายรายได้มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลทั้งการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพและการจัดสวัสดิการที่มีความทั่วถึงมากขึ้น

สำหรับด้านความรุนแรงของปัญหาความยากจน พบว่า ระดับของความรุนแรง มีแนวโน้มลดลงเพียงเล็กน้อย รวมทั้งอัตราส่วนระหว่างรายได้ของกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้สูงสุดต่อกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดยังมีความแตกต่างกันประมาณ 15 เท่า ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการหาแนวทางแก้ไขปัญหาความยากจนต่อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการทางสังคมให้เข้าถึงกลุ่มคนยากจนรุนแรงได้อย่างแท้จริง เพื่อให้เกษตรกรทุกกลุ่มมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ