ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 4, 2014 14:02 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 ผลการดำเนินงาน

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2555 – 8 พฤษภาคม 2557)

  • จำนวนสัญญา 2,913,054 สัญญา
  • จำนวนตัน 22,499,820 ตัน
  • จำนวนเงิน 352,277.545 ล้านบาท

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

1) มติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2556 รับทราบราคา ปริมาณ วงเงินการรับจำนำข้าวเปลือกของเกษตรกร และระยะเวลาการรับจำนำโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

2) ชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ให้กำหนดชนิดและราคารับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556/57 ณ ความชื้นไม่เกิน 15 % ดังนี้

  • ครั้งที่ 1

(1) ข้าวเปลือกหอมมะลิ (42 กรัม) ตันละ 20,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกหอมจังหวัด (40 กรัม) ตันละ 18,000 บาท

(ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ 23 จังหวัด)

(3) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(4) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 15,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 14,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 14,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 14,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 13,800 บาท

(5) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม

โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ 160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

  • ครั้งที่ 2

(1) ข้าวเปลือกปทุมธานี 1 (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

(2) ข้าวเปลือกเจ้า :-

ข้าวเปลือกเจ้า 100% ตันละ 13,000 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 5% ตันละ 12,800 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 10% ตันละ 12,600 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 15% ตันละ 12,200 บาท

ข้าวเปลือกเจ้า 25% ตันละ 11,800 บาท

(3) ข้าวเปลือกเหนียว :-

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดยาว (42 กรัม) ตันละ 16,000 บาท

ข้าวเปลือกเหนียว 10% เมล็ดสั้น (40 กรัม) ตันละ 15,000 บาท

ทั้งนี้ ราคารับจำนำข้าวเปลือกปทุมธานี 1 ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัมในอัตรากรัมละ 200 บาท และราคารับจำนำข้าวเปลือกเหนียว ให้ปรับเพิ่ม – ลดตามจำนวนกรัม โดยเมล็ดยาว ในอัตรากรัมละ

160 บาท และเมล็ดสั้นในอัตรากรัมละ 150 บาท

3) เป้าหมายการรับจำนำ จะรับจำนำข้าวเปลือกคุณภาพดี โดยจะไม่รับจำนำข้าวเปลือกที่มีอายุน้อยกว่า 110 วัน ที่มีคุณภาพต่ำ จำนวน 18 พันธุ์ ตามที่กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ประกาศ โดยจะไม่ให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 2 ครั้ง

4) วงเงินการรับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ไม่เกินรายละ 350,000 บาท
  • ครั้งที่ 2 ไม่เกินรายละ 300,000 บาท

5) เป้าหมายการรับจำนำ รวมจำนวน 16.5 ล้านตัน

6) ระยะเวลารับจำนำ

  • ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 28 กุมภาพันธ์ 2557 ยกเว้น ภาคใต้จะสิ้นสุดวันที่ 31 กรกฎาคม 2557
  • ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 30 กันยายน 2557 ยกเว้น ภาคใต้ระหว่างวันที่ 1 สิงหาคม – 30 พฤศจิกายน 2557

7) ผลการดำเนินงาน ครั้งที่ 1

จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 8 พฤษภาคม 2557)

  • จำนวนสัญญา 900,167 สัญญา
  • จำนวนตัน 5,984,784 ตัน
  • จำนวนเงิน 97,954.635 ล้านบาท
ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับผู้ประกอบการชะลอการสั่งซื้อข้าว เพราะมีการระบายข้าวในสต็อกจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,840 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,743 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.71

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 6,990 บาท ราคาลดลงจากตันละ 6,998 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.12

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,175 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,200 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.22

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,025 ดอลลาร์สหรัฐฯ (32,965 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,030 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33,026 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.48 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 61 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 581 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,686 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 584 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,725 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.51 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 39 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 393 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,639 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 395 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,665 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.20 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 26 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 349 ดอลลาร์สหรัฐฯ (11,224 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 350 ดอลลาร์สหรัฐฯ (11,222 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.29 แต่สูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 2 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 418 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,443 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้น จากตันละ 417 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,371 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.24 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 72 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.1614 บาท

2. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในต่างประเทศ

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไนจีเรีย

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า รัฐบาลไนจีเรียอยู่ระหว่างวางแผนพัฒนาพันธุ์ข้าวพันธุ์ผสมที่ให้ผลผลิตสูง เพื่อเพิ่มผลผลิตของประเทศ ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านการผลิตข้าวภายในปี 2558 โดยรัฐมนตรีเกษตร ซึ่งเป็นผู้ลงนามในบันทึกความตกลง (MOU) กับสถาบันเทคโนโลยีด้านการเกษตรแอฟริกา (African

Agriculture Technology Foundation: AATF) เกี่ยวกับความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการเกษตร ได้ระบุกับสื่อดังกล่าวว่า สถาบันฯ จะให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลในการสนับสนุนการผลิตข้าวพันธุ์ผสม เพื่อเสริมสร้างธุรกิจการเกษตรข้าวพันธุ์ผสมอย่างยั่งยืนในแอฟริกาตะวันออก แอฟริกาตะวันตก และแอฟริกาใต้

รัฐมนตรีเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันเทคโนโลยีด้านการเกษตรแอฟริกา ซึ่งปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ของการดำเนินโครงการสนับสนุนการยกระดับการเติบโต (Growth Enhancement Support: GES) ยังให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าวและยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรรายย่อย โครงการดังกล่าวให้การสนับสนุนกระทรวงเกษตรในการจัดหาปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรจำนวน 10 ล้านราย

รัฐบาลไนจีเรียมีกำหนดที่จะห้ามการนำเข้าข้าวภายในปี 2558 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เป็นไปได้ยาก โดยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ รายงานว่า ปัจจุบัน ไนจีเรียนำเข้าข้าวปีละเกือบ 3 ล้านตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลักลอบนำเข้า เนื่องจากไนจีเรียผลิตข้าวได้ปีละประมาณ 2.7 ล้านตัน ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศที่มีสูงถึง 6 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

สถาบันวิจัยข้าวฟิลิปปินส์ (Philippines Rice Research Institute: PhilRice) เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าฟิลิปปินส์จะบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองด้านการผลิตข้าวในปี 2556 เพียงร้อยละ 97 แต่ปัจจุบัน การผลิตข้าวของฟิลิปปินส์มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในเอเชีย ซึ่งสูงกว่าประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ของเอเชีย อาทิ อินเดีย เวียดนาม และไทย เนื่องจากมีการวิจัยและพัฒนาด้านข้าวในประเทศเพิ่มขึ้น

สถาบันดังกล่าว ระบุในรายงานการค้าโลก (World Markets Trade report) โดยอ้างข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ว่า ในปี 2556/57 (กรกฎาคม 2556 – มิถุนายน 2557) ฟิลิปปินส์ผลิตข้าวได้ 11.64 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจาก 10.71 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปี 2555/56 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในเอเชีย มากกว่าประเทศผู้ผลิตข้าวรายอื่นๆ อาทิ จีน อินเดีย บังคลาเทศ และอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2556/57 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวประมาณ 2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับปี 2555/56 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงกว่าจีนที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของเอเชีย โดยในปี 2556/57 จีนนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปี 2555/56 ทั้งนี้ หน่วยงานด้านอาหารแห่งชาติ (National Food Authority: NFA) ระบุว่า ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวเพื่อคงไว้ซึ่งมูลภัณฑ์กันชน (buffer stocks) และยับยั้งผลกระทบของภาวะเงินเฟ้อในประเทศ

ที่มา Oryza.com

กัมพูชา

สำนักงานบริการพิธีการส่งออกข้าว (Secretariat One Window Service: SOWS-REF) เปิดเผยว่า ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 กัมพูชาส่งออกข้าว 120,921 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 118,504 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยประเทศคู่ค้าที่สำคัญของกัมพูชาในปีนี้ ได้แก่ สหภาพยุโรป มาเลเซีย และจีน

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนเมษายน 2557 กัมพูชาส่งออกข้าว 35,961 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 23,276 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.5 เมื่อเทียบกับเดือนเมษายน 2556 และเพิ่มขึ้นจาก 35,757 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2557 โดยส่งออกข้าวขาวเมล็ดยาว (long grain white rice) ประมาณ 17,264 ตัน ข้าวหอมมะลิ (Jasmine rice) 11,157 ตัน และข้าวนึ่งเมล็ดยาว (long grain parboiled rice) 3,255 ตัน

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 26 พ.ค. - 1 มิ.ย. 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ