ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 17, 2014 14:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) ปีการผลิต 2556/57

มาตรการแก้ไขปัญหา

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

ผลการดำเนินงาน จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 7 กรกฎาคม 2557)

  • จำนวนสัญญา 1,825,268 สัญญา
  • จำนวนตัน 11,650,247 ตัน
  • จำนวนเงิน 191,571.575 ล้านบาท

2) ปีการผลิต 2557/58

มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร

ผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้

2.1) มาตรการหลัก

  • ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท

2.2) มาตรการสนับสนุน

(1) มาตรการเร่งด่วน

(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่

  • โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร

(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่

  • เร่งหาตลาดใหม่
  • เชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ
  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
  • สินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)

(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่

  • โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557

(2) มาตรการระยะยาว

(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่

  • การเพิ่มผลผลิตต่อไร่
  • การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว
  • กำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning)
  • จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน

(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม

  • การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57

  • การจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

ราคาค่อนข้างทรงตัว เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตและคุณภาพข้าวลดลง ขณะที่ตลาดยังคงมีความต้องการข้าวอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 13,832 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 13,794 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.28

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,766 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,767 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.01

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,000 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,950 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.42

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

สัปดาห์นี้ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 32.1460 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

องค์การอาหารแห่งเวียดนาม เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา (มกราคม – มิถุนายน 2557) เวียดนามส่งออกข้าว 3.003 ล้านตัน ลดลงจาก 3.5 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 14 ขณะที่ ราคาส่งออกข้าว (FOB) เฉลี่ยตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 13,887 บาท) เพิ่มขึ้นจากตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 13,855 บาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เวียดนามส่งออกข้าวได้ 671,174 ตัน ลดลงจาก 698,199 ตัน หรือลดลงร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนของปี 2556 แต่เพิ่มขึ้นจาก 585,536 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมของปี 2557 ราคาส่งออกเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเฉลี่ยตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 13,598 บาท) เพิ่มขึ้นจากตันละ 13 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 418 บาท) เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนของปีที่ผ่านมา แต่ลดลงตันละ 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 64 บาท) เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ข้าวที่เวียดนามส่งออกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย ข้าวขาว 15 – 20% จำนวน 306,828 ตัน (หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมด) ข้าวขาว 3 – 10% จำนวน 151,160 ตัน

(หรือคิดเป็นร้อยละ 23 ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมด) ข้าวหอม จำนวน 101,988 ตัน (หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมด) และข้าวเหนียว จำนวน 50,304 ตัน (หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของปริมาณส่งออกข้าวทั้งหมด)

ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ฟิลิปปินส์อยู่ระหว่างพิจารณาเพิ่มปริมาณการนำเข้าข้าวในปี 2557 และยกเลิกการให้เงินสนับสนุนแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยจะมีการประชุมกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้

สื่อท้องถิ่น ระบุว่า ที่ผ่านมารัฐบาลฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวประมาณ 1 ล้านตัน (โดยนำเข้าข้าว จำนวน 800,000 ตัน ในเดือนมีนาคม และ 200,000 ตัน ในเดือนมิถุนายน) จากเวียดนาม และข้าวอีก 60,000 ตัน มีกำหนดจะส่งถึงฟิลิปปินส์ภายในเดือนกันยายน นอกจากนี้ รัฐบาลยังอนุญาตให้ผู้นำเข้าเอกชนนำเข้าข้าว จำนวน 163,000 ตัน ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ภายใต้กรอบปริมาณนำเข้าขั้นต่ำแบบโควตาระบุรายประเทศ (Minimum Access Volume – Country Specific Quota: MAV-CSQ) จากไทย ออสเตรเลีย และอินเดีย

ผู้ช่วยประธานาธิบดีฝ่ายความมั่นคงด้านอาหาร (The Presidential Assistant for Food Security) กล่าวว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างวางแผนนำเข้าข้าว 1.4 ล้านตัน ในปีนี้ ซึ่งรวมถึงข้าวที่อยู่ระหว่างดำเนินการตั้งแต่ปีที่ผ่านมาด้วย โดยปริมาณที่จะนำเข้าเพิ่มเติมขึ้นอยู่กับผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญ ผลผลิตต่อไร่ และมูลภัณฑ์กันชน (buffer stocks) นอกจากนี้ รัฐบาลยังอยู่ระหว่างพิจารณาเปิดเสรีการนำเข้าข้าว โดยอนุญาตให้ผู้ประกอบการเอกชนสามารถนำเข้าข้าวได้มากขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ให้ความสนใจกับการยกเลิกเงินสนับสนุนเพื่อลดภาระหนี้สินขององค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority) ที่คาดว่าจะสูงถึง 1.8 แสนล้านเปโซ (หรือประมาณ 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.32 แสนล้านบาท) เมื่อโครงการสิ้นสุดลงปลายปี 2559 โดยที่ผ่านมารัฐบาลรับซื้อข้าวจากเกษตรกรในราคาที่สูงและขายข้าวในราคาต่ำผ่านองค์การอาหารแห่งชาติ นักวิเคราะห์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า มาตรการในปัจจุบันมีปัญหาเนื่องจากรัฐบาลใช้งบประมาณในการดำเนินงานจำนวนมาก ขณะที่ประชากรฟิลิปปินส์ต้องซื้อข้าวในราคาที่สูงขึ้น

ที่มา Oryza.com

อินเดีย

หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล (Wall Street Journal) รายงานว่า ปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูมรสุมของอินเดียอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ซึ่งเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้รัฐบาลอินเดียตระหนักว่าผลผลิตข้าว

ในปี 2557/58 (ตุลาคม 2557 – กันยายน 2558) จะลดลง ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับลดปริมาณการส่งออกข้าวเพื่อรักษาอุปทานในประเทศ

ตั้งแต่อินเดียยกเลิกการห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติในเดือนกันยายน 2554 ที่ผ่านมา อินเดียครองแชมป์ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดมาโดยตลอด แต่ในปีนี้ หากอินเดียต้องการรักษาแชมป์ดังกล่าว อาจทำให้อินเดียต้องนำเข้าข้าวจากประเทศอื่น เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงอาหาร (Food Ministry) ระบุว่า อินเดียไม่ต้องการให้มีการนำเข้าธัญพืช แม้ว่าอินเดียจะมีข้าวเพียงพอในสต็อก แต่อินเดียต้องสำรองข้าวไว้ในกรณีที่สภาพอากาศ

ไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตข้าว ล่าสุด รัฐบาลอินเดียได้ตัดสินใจแจกจ่ายข้าว จำนวน 5 ล้านตัน จากสต็อกกลาง (Central Pool) ให้แก่ครัวเรือนที่มีความเป็นอยู่เหนือเส้นความยากจน (Above Poverty Line: APL) และครัวเรือนที่มีความเป็นอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน (Below Poverty Line: BPL)

กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย เปิดเผยว่า ปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูมรสุมนี้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 43 ซึ่งโดยปกติแล้ว ปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูมรสุม ระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน คิดเป็นร้อยละ 70 ของปริมาณน้ำฝนทั้งปี

การปลูกข้าวในช่วงฤดูมรสุมที่เริ่มปลูกในช่วงเดือน มิถุนายนได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยกระทรวงเกษตร รายงานว่า ณ วันที่ 4 กรกฎาคม อินเดียมีพื้นที่ปลูกข้าว 4.5 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 28.12 ล้านไร่) ลดลงจาก 6.9 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 43.12 ล้านไร่) หรือลดลงร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ล่าสุด เจ้าหน้าที่รัฐบาลปฏิเสธการระงับการส่งออกในทันที โดยระบุว่าการตัดสินใจขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝนและการแจกจ่ายข้าวตลอดช่วงฤดูกาล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าว (Central Rice Research Institute)

ให้ความเห็นว่า ผลผลิตข้าวของอินเดียในปีนี้ อาจจะเหลือต่ำกว่า 100 ล้านตัน ลดลงจาก 106 ล้านตัน เมื่อปีที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 7 - 13 ก.ค. 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ