ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 10, 2014 13:45 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

1) ปีการผลิต 2556/57

มาตรการแก้ไขปัญหา

โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/57

ผลการดำเนินงาน จำนวนเกษตรกรที่รับเงินกับ ธ.ก.ส. (ตั้งแต่ วันที่ 1 ตุลาคม 2556 – 2 กันยายน 2557)

  • จำนวนสัญญา 1,825,397 สัญญา
  • จำนวนตัน 11,650,818 ตัน
  • จำนวนเงิน 191,581.769 ล้านบาท

2) ปีการผลิต 2557/58

มติ ครม.คสช. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 และมติที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 1/2557 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เห็นชอบแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 ดังนี้

2.1) มาตรการหลัก

  • ลดต้นทุนการผลิต โดยการลดราคาปัจจัยการผลิตและบริการ ไร่ละ 432 บาท แบ่งเป็น ปุ๋ยเคมีไร่ละ 40 บาท สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชไร่ละ 20 บาท ค่าเมล็ดพันธุ์ไร่ละ 122 บาท ค่าบริการรถเกี่ยวข้าวไร่ละ 50 บาท และค่าเช่าที่นาไร่ละ 200 บาท

2.2) มาตรการสนับสนุน

(1) มาตรการเร่งด่วน

(1.1) สนับสนุนแหล่งเงินทุน ได้แก่

  • โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
  • ลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกร

(1.2) ส่งเสริมการตลาด ได้แก่

  • เร่งหาตลาดใหม่
  • เชื่อมโยงการตลาดข้าวในประเทศและต่างประเทศ
  • ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก
  • สินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ประกันยุ้งฉาง)

(1.3) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ได้แก่

  • โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557

(2) มาตรการระยะยาว

(2.1) ส่งเสริมปัจจัยการผลิต ได้แก่

  • การเพิ่มผลผลิตต่อไร่
  • การจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว
  • การจัดตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์
  • กำหนดเขตเกษตรเศรษฐกิจ (Zoning)
  • จัดหาแหล่งน้ำสนับสนุน

(2.2) ส่งเสริมการมีส่วนร่วม

  • การจัดตั้งสถาบันพัฒนาศักยภาพการค้าข้าว

ปรับปรุงข้อมูล ณ วันที่ 2 กค. 57

  • การจัดตั้งกองทุนข้าวและชาวนาแห่งชาติ

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรขายได้เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังเริ่มเข้าสู่ต้นฤดูเก็บเกี่ยวข้าวนาปี ส่งผลให้มีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยและมีคุณภาพลดลง ประกอบกับช่วงนี้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้ข้าวมีความชื้นสูง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 14,036 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 14,030 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 0.04

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 7,961 บาท ราคาลดลงจากตันละ 8,300 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 4.08

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 12,275 บาท ราคาลดลงจากตันละ 12,610 บาท ของสัปดาห์ที่ผ่านมาร้อยละ 2.66

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี. ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 1,084 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,443 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 1,090 ดอลลาร์สหรัฐฯ (34,546 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 103 บาท

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 604 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,192 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 617 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,555 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.11 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 363 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,409 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,977 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.31 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 568 บาท

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 402 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,773 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 419 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,280 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.06 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 507 บาท

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. เฉลี่ยตันละ 432 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,726 บาท/ตัน) ราคาลดลง

จากตันละ 444 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,072 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.70 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 346 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.7742 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

อินเดีย

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า กระทรวงเกษตรอินเดียประมาณการพื้นที่ปลูกข้าวบาสมาติฤดูมรสุม (มิถุนายน – ธันวาคม) ปี 2557 ประมาณ 3.5 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 21.87 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 15.62 ล้านไร่) หรือประมาณร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกของปีที่ผ่านมา โดยกระทรวงเกษตรคาดว่าพื้นที่ปลูกข้าวบาสมาติจะเพิ่มขึ้นทั้งในรัฐที่ปลูกข้าวบาสมาติอยู่เดิม อาทิ รัฐปัญจาบ รัฐหรยาณา รัฐอุตตราขัณฑ์ รัฐหิมาจัลประเทศ และพื้นที่บางส่วนของรัฐชัมมูและแคชเมียร์ และในรัฐที่ไม่ได้ปลูกข้าวบาสมาติอยู่ก่อน อาทิ รัฐมัธยประเทศ และรัฐราชสถาน

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตร ระบุว่า พื้นที่ปลูกข้าวบาสมาติเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปีที่ผ่านมาเกษตรกรหลายราย

ได้ผลตอบแทนดี และคาดการณ์ว่า ในปีนี้อินเดียผลิตข้าวบาสมาติ 8.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6.25 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ในภาพรวม ปีนี้อินเดียเริ่มปลูกข้าวช้า เนื่องจากฤดูมรสุมที่ล่าช้ากว่าปกติ โดย ณ วันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา อินเดียมีพื้นที่ปลูกข้าวฤดูมรสุมทั้งหมด 33.5 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 209.37 ล้านไร่) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 33.4 ล้านเฮคตาร์ (หรือประมาณ 208.75 ล้านไร่) เมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ องค์การพัฒนาการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูป (Agricultural and Processed Food Products Export Development Agency: APEDA) เปิดเผยว่า ในปี 2556/57 (เมษายน 2556 – มีนาคม 2557) อินเดียส่งออกข้าวทั้งหมด 10.78 ล้านตัน ในจำนวนนี้เป็นข้าวบาสมาติ 3.76 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 10.15 ล้านตัน และ 3.46 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 และร้อยละ 9 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

ที่มา Oryza.com

เมียนมาร์

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า เกษตรกรในพื้นที่ราบลุ่มอิรวดี (Irrawaddy Delta) ซึ่งถือเป็นพื้นที่อู่ข้าวของเมียนมาร์ เริ่มปลูกข้าวในเดือนสิงหาคม ล่าช้ากว่าการปลูกในปีปกติประมาณ 3 เดือน เนื่องจากฝนที่ตกหนักและน้ำท่วมตั้งแต่ช่วงต้นฤดูการปลูกข้าวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งทำให้เกษตรกรต้องรอจนกว่าน้ำลด จึงจะเริ่มการเพาะปลูกได้ โดยถึงแม้ว่าจะเร่งการผลิตข้าวในพื้นที่ดังกล่าว แต่เกษตรกรหลายรายยังคงกังวลว่า ในปีนี้จะได้ผลผลิตข้าวช้าและน้อยกว่าทุกปี

ทั้งนี้ รัฐบาลเมียนมาร์พยายามที่จะกลับมาเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดอีกครั้ง โดยตั้งเป้าเพิ่ม

การส่งออกข้าวให้ได้ 3 ล้านตัน ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่าเมื่อเทียบกับการส่งออกในปัจจุบัน การลดลงของผลผลิตในครั้งนี้ส่งผลกระทบให้เมียนมาร์บรรลุเป้าหมายด้านการส่งออกได้ยากขึ้น

ล่าสุด เจ้าหน้าที่จากจีนอยู่ระหว่างการเยือนเมียนมาร์เพื่อหาข้อตกลงด้านการค้าชายแดน โดยจัดทำกรอบการทำงานเกี่ยวกับการส่งออกข้าวไปยังจีนอย่างถูกกฎหมาย โดยภายหลังการเจรจา ทั้ง 2 ประเทศมีกำหนดที่จะลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณภาพและการค้าข้าว

ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าวที่สำคัญของเมียนมาร์ แต่การส่งออกข้าวส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านชายแดนทางตอนเหนือของประเทศ ซึ่งทางการจีนระบุว่า เป็นการส่งออกอย่างผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ทางการเมียนมาร์รายงานว่า ในปี 2556 เมียนมาร์ส่งข้าวไปยังจีนผ่านการค้าชายแดนทางตอนเหนือของประเทศ ประมาณ 747,000 ตัน และเป็นการส่งออกอย่างถูกกฎหมาย ทั้งนี้ รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2556/57 เมียนมาร์ส่งออกข้าว 1.1 ล้านตัน ลดลงจาก 2.1 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 47 เมื่อเทียบกับปี 2555/56

ขณะที่ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ประมาณการว่า ในปี 2557 เมียนมาร์ส่งออกข้าว 1.3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.16 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และในปีการตลาด 2556/57 (มกราคม – ธันวาคม 2557) เมียนมาร์ผลิตข้าวได้ 11.96 ล้านตัน และมีความต้องการใช้ประมาณ 10.5 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า องค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority: NFA) ล้มเลิกการประมูลข้าวขาว 25% จำนวน 500,000 ตัน เมื่อวันที่ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสูง ทั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์จัดสรรงบประมาณในการนำเข้าข้าวไว้ประมาณ 1.027 หมื่นล้านเปโซ (หรือประมาณ 234.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 7.45 พันล้านบาท) โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ฟิลิปปินส์เปิดรับการเสนอราคาข้าวตันละ 460 – 496.75 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณตันละ 14,616 – 15,784 บาท) อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์ได้กำหนดเพดานราคาไว้ที่ตันละ 456.6 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 14,508 บาท

โฆษกองค์การอาหารแห่งชาติ กล่าวว่า NFA จะจัดการประมูลซื้อข้าวขึ้นอีกครั้งภายหลังจากการล้มเลิกการประมูลที่ผ่านมา โดยคาดหวังว่าการนำเข้าข้าว ที่มีกำหนดส่งมอบในช่วงเดือนกันยายน – พฤศจิกายน จะช่วยเสริมสร้างสต็อกภายในประเทศและทำให้ราคาขายปลีกในประเทศลดลงได้ สำนักงานสถิติฟิลิปปินส์ (Philippine Statistics Authority: PSA) เปิดเผยว่า ในปีนี้ ฟิลิปปินส์ผลิตข้าวได้ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 19.07 ล้านตัน และรัฐบาลอนุมัติให้ NFA นำเข้าข้าวเพิ่มอีก 500,000 ตัน ซึ่งทำให้ในปีนี้ ฟิลิปปินส์

จะนำเข้าข้าวประมาณ 2 ล้านตัน ในอัตราภาษีร้อยละ 0 ทั้งนี้ ภาคเอกชนสามารถนำเข้าข้าวประมาณ 350,000 ตัน ในอัตราภาษีร้อยละ 40 ภายใต้โควตาขององค์การการค้าโลก

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า ในปี 2557 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าว 1.45 ล้านตัน ซึ่งรวมถึง

การนำเข้าข้าวอย่างไม่เป็นทางการ จำนวน 250,000 ตัน ขณะที่องค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติ (FAO) ประมาณการว่า ในปี 2557 ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าวประมาณ 1.2 ล้านตัน

ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 1 - 7 ก.ย. 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ