จับตาภัยแล้งกระทบภาคเกษตร สศก.ระบุ พื้นที่เสียหาย เจาะผลกระทบรายสินค้าเกษตรสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 31, 2015 13:40 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย สถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา (นครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี) ตั้งแต่ ตุลาคม 57 – 6 มีนาคม 58 พบพื้นที่ประสบภัย 7 หมื่น 5 พันไร่ มูลค่าความเสียหายของสินค้าข้าวกว่า 212 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณผลผลิต 2 หมื่น 5 พันตัน พร้อมแจงสถานการณ์รายสินค้าที่สำคัญเพื่อรับมือ

นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมทุกปี โดยมีปริมาณผลกระทบแตกต่างกัน ซึ่งแต่ละปีมีครัวเรือนเกษตรกรที่ได้ความเสียหายจากน้ำท่วมเฉลี่ยปีละ 1.33 ล้านครัวเรือน และครัวเรือนที่ ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 2.86 ล้านครัวเรือน พื้นที่ความเสียหายด้านเกษตรจากน้ำท่วมเฉลี่ยปีละ 8.45 ล้านไร่ และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 2.74 ล้านไร่มูลค่าความเสียหายจากน้ำท่วม เฉลี่ยปีละ 6,340.16 ล้านบาท มูลค่าความเสียหายจากภัยแล้งเฉลี่ยปีละ 727.04 ล้านบาท

จากสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่งจากการประมาณการผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา (รวบรวมข้อมูลจากจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท ลพบุรี) ในช่วงตั้งแต่ตุลาคม 2557 ถึง ณ วันที่ 6 มีนาคม 2558 พบว่า มีพื้นที่ประสบภัย 75,706 ไร่ พบมูลค่าความเสียหายของสินค้าข้าว 212.60 ล้านบาท จากพื้นที่เสียหาย 36,930.25 ไร่ คิดเป็นปริมาณผลผลิต 25,195.89 ตัน ในการนี้ สศก. ได้สรุปสถานการณ์การผลิตของสินค้าเกษตรสำคัญ พบว่า

ข้าว ข้าวนาปี ปีเพาะปลูก 2557/58 เนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่แล้วทุกภาคเนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายภาครัฐและราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ให้ผลตอบแทนดี มีแหล่งรับซื้อแน่นอน เช่น อ้อยโรงงานสำหรับผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จากการดูแลเอาใจใส่และปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อการเจริญเติบโตของต้นข้าว ทำให้ภาพรวมผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

ข้าวนาปรัง ปี 2558 เนื้อที่เพาะปลูกคาดว่าลดลงทุกภาคจากปีที่แล้ว เนื่องจากภาพรวมปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดกลางและขนาดใหญ่ที่ใช้การได้มีน้อย และไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้ออกประกาศงดการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2557 จนถึง 30 เมษายน 2558 ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 26 จังหวัด ประกอบกับราคาข้าวมีแนวโน้มลดลง ทำให้เกษตรกรลดเนื้อที่เพาะปลูกลงโดยปล่อยพื้นที่ว่างและบางรายปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่า เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวโพดหวาน เป็นต้น

พืชไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว จากการที่เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า มันสำปะหลังโรงงาน ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ของปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรปลูกทดแทนพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงานที่รื้อตอทิ้งและพื้นที่ว่างเปล่า ถั่วเหลือง ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตลดลงจากปีที่แล้ว จากการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนการผลิตสูง และขาดแคลนแรงงานในการเก็บเกี่ยว ถึงแม้ว่าจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังไม่สามารถจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกได้ สับปะรด ปี 2558 ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว จากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีตั้งแต่ต้นปี 2557 ทำให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในพื้นที่เคยปลูกสับปะรดแล้วปล่อยว่าง

ไม้ยืนต้น – ไม้ผล ในปี 2558 เนื้อที่ให้ผลปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้น ส่วนผลผลิตต่อไร่ในภาพรวมลดลงจากปาล์มที่เริ่มให้ผลผลิตยังคงให้ผลทะลายเล็กและน้ำหนักน้อย แต่ผลผลิตในภาพรวมยังคงเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มของเนื้อที่ให้ผล กาแฟ ผลผลิตลดลงเนื่องจากเนื้อที่ให้ผลกาแฟพันธุ์โรบัสตาในแหล่งผลิตกาแฟทางภาคใต้ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่องประกอบกับผลผลิตต่อไร่ลดลงจากแหล่งผลิตกาแฟทางภาคใต้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วง อากาศร้อน และแห้งแล้งในช่วงกาแฟออกดอก ส่งผลให้กาแฟติดดอกออกผลไม่ดี

สำหรับลำไย และลิ้นจี่ ผลผลิตโดยรวมลดลงเนื่องจากสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวย อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยจะสูงกว่าค่าปกติและสูงกว่าปีที่แล้วทำให้ออกดอกติดผลลดลง เงาะและทุเรียน ผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นและสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล ในขณะที่ มังคุด ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการออกดอกและติดผล ถึงแม้ว่าจะมีการลดเนื้อที่บางส่วนไปปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นอื่นก็ตาม สำหรับลองกอง ผลผลิตลดลงตามการลดลงของเนื้อที่ให้ผล

พืชผัก ปีเพาะปลูก 2557/58 ผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กระเทียม หอมหัวใหญ่และมันฝรั่ง ส่วนหอมแดงผลผลิตลดลง โดยกระเทียม ผลผลิตเพิ่มขึ้นจากที่ราคาเกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดี จึงจูงใจให้เกษตรกรเก็บพันธุ์เพื่อเตรียมขยายเนื้อที่เพาะปลูกมากขึ้น หอมหัวใหญ่ ผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากในปีที่แล้วมีฝนตกหนักในช่วงเพาะกล้า ทำให้ต้นกล้าเสียหายเป็นจำนวนมาก แต่ปีนี้ต้นกล้าเพียงพอสำหรับการขยายพื้นที่เพาะปลูก จากการที่เกษตรพัฒนาวิธีการปลูกโดยการยกร่องแปลงให้สูงขึ้น คลุมพลาสติกป้องกันฝน มันฝรั่ง ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากปีที่แล้วราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในเกณฑ์ดีและมีสภาพอากาศหนาวเย็นติดต่อกันยาวนาน ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนสูง จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกในปี 2558 สำหรับหอมแดง ผลผลิตลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง และราคาที่เกษตรกรขายได้ไม่จูงใจ จึงทำให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นและมีแหล่งรับซื้อแน่นอน

ปศุสัตว์ ปี 2558 ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ยกเว้นโคเนื้อ และโคนม สำหรับโคเนื้อ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนพื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ อีกทั้งราคาโคเนื้อยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง จูงใจให้เกษตรกรขายโคเนื้อออกทั้งโคเพศผู้และเมีย ทำให้ขาดแคลนแม่โค วัยเจริญพันธุ์ที่จะนำมาขยายพันธุ์ต่อ ส่วนปริมาณการผลิตน้ำนมดิบลดลง จากจำนวนแม่โครีดนมลดลง ในขณะที่ปริมาณการผลิตไก่เนื้อและสุกร เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดส่งออกและตลาดในประเทศที่เพิ่มขึ้น

ประมง ปี 2558 ปริมาณการผลิตปลานิลและปลาดุกคาดว่าลดลง จากภัยแล้งปริมาณน้ำไม่เพียงพอ ในขณะที่กุ้งขาวแวนนาไม ปริมาณการผลิตคาดว่าเพิ่มขึ้น จากราคาที่จูงใจ การจัดการโรคระบาด EMS ได้ดีขึ้น รวมทั้งภาครัฐได้นำเข้าพ่อแม่พันธุ์ดี ปลอดโรคจากอเมริกา เพื่อผลิตลูกกุ้งจำหน่ายให้แก่เกษตรกร ส่วนปริมาณการผลิตกุ้งกุลาดำ คาดว่าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จากความต้องการของตลาดส่งออกและราคาที่จูงใจ ให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะเลี้ยง

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรจากปรากฏการณ์เอลนีโน ขึ้นอยู่กับความหนักเบาในแต่ละปี ปริมาณน้ำในเขื่อนก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้หากเจอภัยแล้งดังกล่าว ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศควบคู่กับการรักษาสภาพแวดล้อม ลดการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อเพิ่มโอกาสในการอยู่รอดของเกษตรกรและภาคเกษตรไทย รวมทั้ง เกิดความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งควรดำเนินการแก้ปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเร่งดำเนินการศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาพันธุ์พืชที่ใช้น้ำน้อย มีความต้านทานต่อภาวะอุณหภูมิที่สูงขึ้น ต้านทานโรคและแมลง ทนแล้ง ทนน้ำท่วมขัง

นอกจากนี้ ยังต้องบริหารจัดการน้ำและใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ เน้นการสร้างแหล่งน้ำขนาดเล็กในไร่นาและระบบ ชลประทานขนาดเล็กให้เพียงพอต่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง และบรรเทาผลกระทบจากน้ำท่วม ตลอดจนการทำฝนเทียม ซึ่งแก้ไขปัญหาในการขาดแคลนน้ำจืดที่ได้ผลดีวิธีหนึ่งโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย โดยส่วนใหญ่แล้วมักใช้ในพื้นที่ฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนและพื้นที่สำคัญในการเพาะปลูกพืชทางเศรษฐกิจ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ