เปิดผลศึกษาโซนนิ่งข้าว สศท.4 เจาะพื้นที่ อ.ซำสูง แจงพื้นที่-ต้นทุน แนะอาชีพเสริม เพิ่มรายได้เกษตรกร

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 24, 2015 13:47 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

เปิดผลศึกษาโซนนิ่งข้าว สศท.4 เจาะพื้นที่ อ.ซำสูง แจงพื้นที่-ต้นทุน แนะอาชีพเสริม เพิ่มรายได้เกษตรกร

สศท.4 เผย ผลการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ กรณีสินค้าข้าว ในอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น แจง ต้นทุนการผลิตในพื้นที่เหมาะสมและไม่เหมาะสม แนะ ส่งเสริมปลูกผัก ปลอดสารพิษและพืชฤดูแล้ง เพื่อเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร

นางราตรี พูนพิริยะทรัพย์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4จังหวัดขอนแก่น (สศท.4)สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก)เปิดเผยถึงผลการการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการเขตเกษตรเศรษฐกิจสินค้าเกษตรที่สำคัญ (Zoning)กรณีสินค้าข้าว ของอำเภอซำสูง จังหวัดขอนแก่น โดยผลการศึกษา พบว่า อำเภอ ซำสูง มีพื้นที่ทางการเกษตร จำนวนทั้งสิ้น 101,072 ไร่ เป็นพื้นที่ความเหมาะสมในการปลูกข้าวระดับมากและ ปานกลาง ( S1 และ S2 ) จำนวน 32,949 ไร่ มีการปลูกข้าวจริงจำนวน 29,573 ไร่ และเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว (N) จำนวน 68,123 ไร่ โดยมีการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม จำนวน 18,674 ไร่ ทั้งนี้ แต่ละตำบลมีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหมาะสมเพื่อปลูกข้าวจริง และยังคงมีการปลูกข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสมบ้างเพียงเล็กน้อย เพื่อการบริโภคในครัวเรือน

สำหรับการศึกษาด้านต้นทุน พบว่า พื้นที่ที่เหมาะสมมากและปานกลาง มีต้นทุนเฉลี่ย 4,381บาทต่อไร่ เป็นค่าแรงงานด้านเก็บเกี่ยวมากที่สุด ร้อยละ 33 รองลงมา คือ เป็นค่าแรงงานในการปลูก ร้อยละ 14 และ ค่าปุ๋ย ร้อยละ 13 ตามลำดับ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 511.67 กิโลกรัมต่อไร่ ขายได้ 11.50 บาทต่อกิโลกรัม รายได้ 5,884 บาทต่อไร่ มีกำไรสุทธิเฉลี่ย 1,503 บาทต่อไร่

ส่วนต้นทุนการผลิตข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม (N) พบว่า มีต้นทุนเฉลี่ย 5,013 บาทต่อไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่าเก็บเกี่ยว ร้อยละ 29 รองลงมา คือ ค่าปุ๋ยเคมี ร้อยละ 24 และค่าเตรียมดิน ร้อยละ 12 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 351.26 กิโลกรัมต่อไร่ ขายได้ 11.50 บาทต่อกิโลกรัม คิดเป็นรายได้ 4,039 บาทต่อไร่ ขาดทุนเฉลี่ย 974 บาทต่อไร่ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง จากการใช้แรงงานในการเก็บเกี่ยวผลผลิต เตรียมดิน และใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมาก ทำให้เกษตรกรขายข้าวขาดทุน (เป็นการคิดต้นทุนทั้งหมด ทั้งต้นทุนเป็นเงินสดและไม่เป็นเงินสด) จึงควรแนะนำให้ปลูกเพียงเล็กน้อยเพื่อบริโภคเท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าว ควรให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อย มันสำปะหลัง เนื่องจากได้ผลตอบแทนที่สูงกว่า โดยการปลูกอ้อยได้กำไรสุทธิ 4,611 บาทต่อไร่ และปลูกมันสำปะหลังจะได้กำไรสุทธิ 1,238 บาทต่อไร่

อย่างไรก็ตาม จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและสภาพทางเศรษฐกิจ โดยสอบถามความคิดเห็นของเกษตรกร พบว่า ควรพัฒนาการผลิตข้าวในพื้นที่เหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง เพื่อเพิ่มผลผลิตข้าว โดยมีการอบรมถ่ายทอดความรู้ สนับสนุนการใช้เมล็ดข้าวพันธุ์ดี รวมทั้งหา วิธีลดต้นทุนการผลิต โดยส่งเสริมเทคโนโลยี เช่น เครื่องหยอดเพื่อลดการใช้เมล็ดพันธุ์ รถเกี่ยวข้าวเพื่อลดค่าแรงงาน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นต้น

ทั้งนี้ พืชทางเลือกอื่นที่ควรส่งเสริมให้ปลูกเพิ่มรายได้ ได้แก่ ปลูกผักปลอดสารพิษเช่น ผักบุ้ง ผักปรัง คื่นช่าย ต้นหอม ผักชี โหระพา กะเพรา สะระแหน่ พริก ดอกขจร ถั่วฝักยาว กวางตุ้ง คะน้า กระหล่ำปลี แตงกวา และ มะเขือ เป็นต้น เนื่องจากได้กำไรสุทธิเฉลี่ย 279,360บาทต่อไร่ หรือปลูกพืชฤดูแล้ง เช่น ถั่วลิสง มันแกว และข้าวโพดหวานซึ่งใช้ระยะเวลาการปลูกประมาณ 3 เดือน แต่ได้ผลตอบแทนสูง โดยถั่วลิสงได้ผลตอบแทน 4,000 บาทต่อไร่ มันแกว 1,000 บาทต่อไร่ และข้าวโพดหวาน 2,000 บาทต่อไร่ ทั้งนี้ การส่งเสริมปลูกพืชต่างๆ ควรคำนึงถึงตลาดและแหล่งรับซื้อเป็นสำคัญในพื้นที่นั้นๆ อย่างเหมาะสมด้วย

**********************************

ข่าว : ฝ่ายประชาสัมพันธ์

ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 จังหวัดขอนแก่น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ