ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 26, 2016 13:27 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

การตลาด
1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59
โครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 เห็นชอบในหลักการโครงการตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรและรักษาเสถียรภาพราคาข้าว ปีการผลิต 2558/59 เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธนาคารเพื่อเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ส่วนรายละเอียดการดำเนินโครงการและงบประมาณ ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มีกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินโครงการ จำนวน 1,860.57 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส. ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีต่อๆ ไป ตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2558/59 วงเงิน 975.57 ล้านบาท

(2) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 236.67 ล้านบาท (ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการจาก MLR เป็น MLR-1 รัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 2 โดยปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5)

(3) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2558/59 วงเงินงบประมาณ 648.33 ล้านบาท (ปรับลดระยะเวลาให้สอดคล้องกับระยะเวลาดำเนินโครงการไม่เกิน 10 เดือน)

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต จำนวน 3 โครงการ ดังนี้ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

— มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด จำนวน 4 โครงการ ดังนี้ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับผู้ประกอบการส่งออกชะลอการรับซื้อเพื่อรอประมูลข้าวจากโครงการรัฐบาลที่ผ่านมา

ราคา
ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,119 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,128 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.08

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,691 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,690 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.01

ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 25,050 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 13,950 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 827 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,757 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 823 ดอลลาร์สหรัฐฯ (28,729 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.49

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 636 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,116 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 633 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,097 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 443 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,404 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 441 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,394 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.45

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 425 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,779 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 423 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,766 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 490 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,039 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 494 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,245 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.81

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.7731 บาท

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

สถานการณ์ข้าวโลก
การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2559/60 ประจำเดือนกรกฎาคม 2559 ว่าจะมีผลผลิต 481.232 ล้านตันข้าวสาร (717.5 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 470.637 ล้านตันข้าวสาร (701.6 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.25 จากปี 2558/59

การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2559/60 ณ เดือนกรกฎาคม 2559 ว่าผลผลิต ปี 2559/60 จะมี 481.232 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2558/59 ร้อยละ 2.25 การใช้ในประเทศจะมี 480.627 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.45 การส่งออก/นำเข้าจะมี 40.510 ล้านตันข้าวสาร ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 2.01 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 107.304 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.57

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล เมียนมาร์ กัมพูชา เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ จีน อียู อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย อุรุกวัย และไทย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา กานา อิหร่าน เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา เฮติ อินโดนีเซีย ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น

สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

สมาคมอาหารของเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) รายงานการส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1-30 มิถุนายน 2559 มีจำนวน 380,002 ตัน มูลค่า 170.906 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณและมูลค่าลดลงร้อยละ 39.9 และร้อยละ 32.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้ 632,010 ตัน มูลค่า 256.743 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกข้าวช่วงวันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2559 มีจำนวน 2.657 ล้านตัน มูลค่า 1,146 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยปริมาณลดลงร้อยละ 2.1 แต่มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ที่ส่งออกได้2.713 ล้านตัน มูลค่า 1,132 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสมาคมฯ ได้ปรับลดเป้าการส่งออกข้าวจากเดิม 6.5 ล้านตัน เหลือเพียง 5.65 ล้านตัน และเมื่อปี 2558 เวียดนามส่งออกข้าวได้เกือบ 6.6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 6.37 ล้านตัน ในปี 2557 โดยสมาคมฯ กล่าวว่า ธุรกิจชะงักในปีนี้เป็นผลจากการส่งออกลดลงนับตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ทำให้การส่งออกช่วงครึ่งแรกของปีลดลงเกือบร้อยละ 2 เมื่อเทียบปีต่อปี ที่จำนวนน้อยกว่า 2.7 ล้านตัน และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวในหลายจังหวัดของเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงมีแนวโน้มลดลง สมาคมฯ คาดการณ์ว่า ลูกค้ารายใหญ่ของเวียดนามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในเร็วๆ นี้จะมีการซื้อข้าวจากเวียดนามมากขึ้น ขณะเดียวกันในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุดอย่างจีน ที่มีสัดส่วนการสั่งซื้อเกือบร้อยละ 35 ของการส่งออกข้าวของเวียดนาม กลับมีการนำเข้าข้าวลดลง ส่วนลูกค้าในภูมิภาคอื่นๆ ต่างรอข้าวราคาถูกจากไทย ที่กำลังจะประมูลขาย 3.7 ล้านตัน ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อลดปริมาณสำรองข้าวของประเทศ โดยประมาณร้อยละ 60 จะขายให้กับผู้ประกอบการส่งออก อย่างไรก็ตาม ตลาดแอฟริกายังคงเป็นตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกเวียดนาม โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี มียอดจำหน่ายข้าวเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 11 ซึ่งผู้ประกอบการค้าข้าว กล่าวว่าค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ ที่มา Oryza.com

กัมพูชา

เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ธนาคารโลก (World Bank) ได้ประกาศยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา จากระดับประเทศผู้มีรายได้ระดับล่าง (lower income) ขึ้นมาเป็นประเทศผู้มีรายได้ระดับล่าง-กลาง (lower-middle income) ด้วยเหตุที่ว่า ประเทศกัมพูชาประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศในระดับหนึ่งแล้ว โดยมีระดับรายได้ประชาชาติอยู่ในเกณฑ์ที่สูงขึ้น

สำหรับการปรับสถานะทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในครั้งนี้ มีนักเศรษฐศาสตร์บางรายให้ความเห็นว่า อาจส่งผล กระทบต่อการได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ และสิทธิประโยชน์ทางการค้าต่างๆ ของกัมพูชาในอนาคต ซึ่งการปรับระดับสถานะทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในครั้งนี้ ธนาคารโลกได้พิจารณาจากรายได้ประชาชาติต่อจำนวนประชากรของกัมพูชา (Gross National Income: GNI) ที่ปรับจาก 1,020 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,026 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ต้นปี 2558 ซึ่งจากเกณฑ์ที่ธนาคารโลกใช้กำหนดระดับสถานะทางเศรษฐกิจจากระดับ GNI ระบุว่า ประเทศที่มีระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวน้อยกว่า 1,025 ดอลลาร์สหรัฐฯ จัดเป็นประเทศในกลุ่มผู้มีรายได้ระดับล่าง (lower income) ประเทศที่มีระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ระหว่าง 1,026 ถึง 4,035 ดอลลาร์สหรัฐฯ จัดเป็นประเทศในกลุ่มผู้มีรายได้ระดับล่าง-กลาง (lower-middle income) ประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวระหว่าง 4,036 ถึง 12,745 ดอลลาร์สหรัฐฯ จัดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้มีรายได้ระดับสูง-กลาง (upper-middle-income) และประเทศผู้มีรายได้มากกว่า 12,745 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไป จัดอยู่ในกลุ่มประเทศผู้มีรายได้ระดับสูง (High-income) โดยกัมพูชาเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่ถูกปรับสถานะจากธนาคารโลกในปีนี้ และเป็น 1 ใน 3 ประเทศ พร้อมกับประเทศจอร์เจียและกายอานา ที่ได้ปรับสถานะสูงขึ้น ซึ่งกัมพูชาถูกปรับสถานะใหม่ขึ้นมาอยู่ในสถานะเดียวกับอีก 51 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งอินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ตาม การปรับสถานะขึ้นของกัมพูชาอาจทำให้สูญเสียสิทธิพิเศษทางการค้าบางอย่าง รวมถึงนโยบายสิทธิพิเศษปลอดภาษีและปลอดโควตานำเข้าสินค้าทุกชนิด ยกเว้นอาวุธของสหภาพยุโรป (EBA) ที่มอบให้กับกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ซึ่งเป็นการเข้าถึงกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลก เช่นเดียวกับระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GPS) ที่อนุญาตให้สินค้าจากกัมพูชาเข้าสู่ตลาดสหรัฐอเมริกาโดยปลอดภาษีและปลอดโควตานำเข้า ซึ่งสิทธิต่างๆ เหล่านี้เป็นตัวช่วยให้การค้าและการลงทุนให้อุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ของกัมพูชา เช่น สิ่งทอการ์เมนท์ และเกษตรกรรม มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด

หัวหน้าทีมเศรษฐศาสตร์สถาบันวิจัยธุรกิจแห่งกัมพูชา ให้ความเห็นว่า สิทธิประโยชน์ทางการค้าต่างๆ ที่กัมพูชา เคยได้รับจะต้องถูกตัดออกหรือได้รับน้อยลง หากมีการปรับสถานะทางเศรษฐกิจให้พ้นจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม การปรับระดับดังกล่าวจะมีผลอย่างเป็นทางการต่อเมื่อ United Nations เป็นผู้ปรับ ไม่ใช่ World Bank โดย UN จะมีการพิจารณาสถานะทางเศรษฐกิจของกัมพูชาในทุกๆ 3 ปี โดยจะพิจารณาภาพรวมจากหลายมิติ ไม่ได้วัดจากเพียงระดับรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียงด้านเดียว ซึ่งในกรณีของกัมพูชานั้น หากจะผ่านเกณฑ์ครบทุกมิติ

ตามที่ UN กำหนด ก็จะต้องปรับเลื่อนสถานะสู่ประเทศผู้มีรายได้ระดับล่าง-กลาง ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะเป็น ปี 2564 หรือ 2567ทูตสหภาพยุโรปประจำกัมพูชา กล่าวว่า ถึงแม้สถานะประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดจะหมดอายุภายในใน 2-3 ปีข้างหน้านี้ กัมพูชายังคงมีช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านอยู่พอสมควรเพื่อปรับตัว เพราะเมื่อใดก็ตามที่สถานะทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ได้รับการยืนยันจาก UN ให้เลื่อนชั้นจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ประเทศดังกล่าวยังคงได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า เช่น EBA ต่อไปอีก 3 ปี เพื่อเป็นการช่วยให้ประเทศดังกล่าวได้ปรับตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของกัมพูชา ให้ความเห็นว่า การปรับสถานะทางเศรษฐกิจในครั้งนี้ ไม่น่ามีผลกระทบต่อกัมพูชา แต่กัมพูชาจะใช้ช่วงเวลานี้ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด ในการเตรียมตัวให้พร้อมที่จะสูญเสียสิทธิพิเศษต่างๆ และจะพยายามเจรจาเพื่อให้ได้สิทธิพิเศษจากข้อตกลงทางการค้าในตลาดอื่นต่อไป ที่มา Oryza.com

ฟิลิปปินส์

รัฐบาลใหม่ของประธานาธิบดี Rodrigo Duterte กำลังออกนโยบายห้ามภาคเอกชนนำเข้าข้าวโดยตรง โดยแนวคิดนี้มีขึ้นเพื่อจัดระเบียบและแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าข้าวอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรและกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้าวภายในประเทศสูญเสียรายได้ที่ผ่านมา ผู้ค้าเอกชนได้รับอนุญาตให้นำเข้าข้าวโดยตรงได้ในปริมาณ 805,200 ตันต่อปี ในอัตราภาษีร้อยละ 35 ภายใต้ข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) โดยองค์การอาหารแห่งชาติฟิลิปปินส์ หรือ NFA (National Food Administration) เป็นผู้ออกใบอนุญาตและจัดสรรโควตาการนำเข้าข้าวให้แก่เอกชนผ่านการประมูล อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนที่ได้รับการประมูลจะนำโควตาไปขายต่อ ทำให้เกิดความไม่เป็นระเบียบในการบริหารจัดการกระบวนการนำเข้าข้าว รวมถึงการลักลอบการนำเข้าข้าวเกินโควตา โดยเบื้องต้นกลุ่มผู้ประกอบการโรงสี และกลุ่มผู้ค้าส่งข้าวมีความพอใจกับการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายในครั้งนี้ เพราะเชื่อว่าการนำเข้าข้าวแบบ G2G จะมีการตรวจสอบอย่างโปรงใส ควบคุมได้ง่าย และจะช่วยป้องกันปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำได้ทั้งนี้ องค์การอาหารแห่งชาติและสภาความมั่นคงทางอาหารได้ร่วมหารือความจำเป็นที่ฟิลิปปินส์จะนำเข้าข้าวเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 3 และ 4 โดยคาดว่า ในปีนี้จะมีการนำเข้าข้าวเพิ่มเติมผ่านการทำสัญญาแบบ G2G ประมาณ 500,000 ตัน เนื่องจากกำลังการผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ และผลผลิตข้าวในไตรมาสแรกลดลง โดยภาคเกษตรมีอัตราการหดตัวมากถึงร้อยละ 4.4 เนื่องจากภาวะแห้งแล้งจากปรากฏการณ์เอลนิญโญ ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 18 - 24 ก.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ