ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 20, 2016 09:41 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ขณะที่ความต้องการข้าวจากประเทศคู่ค้าชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการรับซื้อข้าวเปลือก

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,929 บาท ราคาลดลงจากตันละ 10,013 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.84

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,511 บาท ราคาลดลงจากตันละ 7,655 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.01

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,950 บาท ราคาลดลงจากตันละ 24,150 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.83

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,770 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.02

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 745 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,060 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 760 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,187 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.97

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 542 ดอลลาร์สหรัฐฯ (18,959 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 553 ดอลลาร์สหรัฐฯ (19,055 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.99

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 364 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,733 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 372 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,818 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.15

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,593 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,680 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.17

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,118 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 383 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,197 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.09

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.9804 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2559 รัฐบาลจีนได้ตกลงซื้อข้าวงวดแรกปริมาณ 1 แสนตัน เป็นชนิดข้าวขาว 5% ฤดูกาลผลิตใหม่ ขนาดบรรจุ 25 กิโลกรัม ราคา 399 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และขนาดบรรจุ 50 กิโลกรัม ราคา 394 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เทอม FOB CY (Container Yard) กำหนดส่งมอบเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไทยได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) กับจีน เมื่อเดือนธันวาคม 2558 ปริมาณ 1 ล้านตัน โดยมีเงื่อนไขที่จะตกลงราคาเป็นรายงวด งวดละประมาณ 1 แสนตัน

“ราคาข้าวที่กรมการค้าต่างประเทศเจรจาจนสามารถตกลงขายได้ ถือว่าเป็นราคาที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับราคาข้าวจากประเทศคู่แข่งสำคัญ เช่น เวียดนามและปากีสถาน ซึ่งขณะนี้ราคาข้าวอยู่ที่ระดับ 332 และ 335 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ตามลำดับ”

นอกจากนี้ การที่ไทยมีคำสั่งซื้อข้าวปริมาณมากจากตลาดต่างประเทศมารองรับผลผลิตข้าวฤดูใหม่ที่กำลังออกสู่ตลาดในขณะนี้ ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่กระตุ้นให้ราคาข้าวเปลือกที่เกษตรกรจะได้รับสูงขึ้นตามไปด้วย เป็นผลดีต่อราคาข้าวไทยทั้งระบบ ซึ่งจากนี้ไปจะมีการเร่งเจรจาให้รัฐบาลจีนตกลงราคาและนำเข้าข้าวที่เหลือตามสัญญาเพื่อให้ครบปริมาณ 1 ล้านตัน โดยเร็วต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การส่งออกข้าวเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในปีนี้ที่ 9.5 ล้านตัน กระทรวงพาณิชย์จะเดินหน้าทำตลาดข้าวไทย ทั้งการเข้าร่วมประมูลขายข้าวให้รัฐบาลฟิลิปปินส์ ที่คาดว่าจะมีการเปิดประมูลอีกครั้งปลายปีนี้ การจัดคณะผู้แทนการค้าไปหารือกับหน่วยงานนำเข้าข้าวในอาเซียน การให้การรับรองคณะผู้ซื้อที่จะเดินทางมาไทย รวมถึงการจัดกิจกรรมโปรโมตข้าวไทยในประเทศต่างๆ เช่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เยอรมนี และสหรัฐฯ เป็นต้น

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมฯ ได้มีการปรับปรุงมาตรฐานข้าวไทย เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้าข้าวในปัจจุบัน เนื่องจากมาตรฐานข้าวที่ใช้ในปัจจุบัน ทำมาตั้งแต่ปี 2540 ใช้มา 20 ปี แล้ว โดยการปรับปรุงครั้งนี้ ได้กำหนดมาตรฐานข้าวหอมไทยไว้ 3 มาตรฐาน คือ กลุ่มตลาดระดับบน ระดับกลาง และระดับล่าง โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ประมาณเดือนธันวาคม 2559 นี้

สำหรับมาตรฐานกลุ่มตลาดระดับบน กำหนดให้มีข้าวหอมมะลิไทยไม่น้อยกว่า 92% โดยปริมาณ ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ข้าวหอมมะลิไทย” ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “THAI HOM MALI RICE” กลุ่มตลาดระดับกลาง กำหนดให้ใช้ข้าวหอมไทยไม่น้อยกว่า 80% โดยปริมาณ มีอมิโลสไม่เกิน 20% ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “ข้าวหอมไทย” และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “THAI JASMINE RICE หรือ THAI FRAGRANT RICE หรือ THAI AROMATIC RICE” ส่วนกลุ่มตลาดระดับล่าง เป็นการเปิดช่องให้ผสมข้าวหอมตามเงื่อนไขที่ผู้ซื้อต้องการได้ แต่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ที่มา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

เมียนมาร์

สถานการณ์ราคาข้าวในประเทศยังคงมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ทำให้ทั้งเกษตรกรและผู้ค้าข้าวต่างเกิดความกังวลใจ และได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการรับซื้อข้าวในราคารับประกัน หลังจากที่ความต้องการข้าวจากประเทศจีนลดลง ประกอบกับทางการจีนเพิ่มความเข้มงวดในการนำเข้าข้าว รวมถึงพืชเกษตรอื่นๆ ผ่านทางแนวชายแดนมากขึ้น

เมื่อเร็วๆ นี้ สหพันธ์ข้าวเมียนมาร์ (Myanmar Rice Federation; MRF) ได้เข้าพบผู้บริหารของกระทรวง พาณิชย์และเกษตร เพื่อขอให้ทางการออกมาตรการมาช่วยเหลือในช่วงนี้ ซึ่งเกรงว่าหากทางการไม่มีมาตรการช่วยเหลือด้านการอุดหนุนราคาข้าวจะทำให้เกษตรกรประสบกับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ หลังจากทางการจีนมีความเข้มงวดการนำเข้าสินค้าทางแนวชายแดนมากขึ้น ส่งผลให้การส่งออกข้าวผ่านทางด่าน Muse ที่เคยมีการส่งออกมากถึงวันละ 5,000 ตัน ลดลงเหลือไม่ถึงวันละ 1,000 ตัน ทำให้ ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เมียนมาร์มีอุปทานข้าวส่วนเกินเหลือประมาณ 600,000 ตัน ที่มา Oryza.com

อินเดีย

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาเอฟโอบี ข้าวนึ่ง 5% ของอินเดีย อ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 365-375 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ท่ามกลางภาวะความต้องการข้าวในตลาดที่เบาบาง โดยผู้ซื้อในแอฟริกายังคงชะลอการซื้อในช่วงนี้ ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่าอุปทานข้าวในตลาดปีนี้จะเพิ่มมากขึ้นจากการที่ผลผลิตข้าวมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ คาดว่าการเก็บเกี่ยวข้าวในฤดูการผลิตหลักของปีการผลิต 2559/60 จะมีประมาณ 93.88 ล้านตัน ส่วนการส่งออกข้าวขาวที่ไม่ใช่บาสมาติในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน-สิงหาคมที่ผ่านมา มีประมาณ 3 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับปืที่ผ่านมา ที่มา Oryza.com

ปากีสถาน

กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) รายงานว่า ในปีการตลาด 2558/59 (พฤศจิกายน 2558-ตุลาคม 2559) คาดว่าจะมีการส่งออกข้าวประมาณ 4.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับจำนวน 3.8 ล้านตันในปี 2557/58 โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีการตลาด 2558/59 (พฤศจิกายน 2558-สิงหาคม 2559) ปากีสถานส่งออกข้าวไปแล้วประมาณ 3.718 ล้านตัน (ข้อมูลจาก Pakistan Bureau of Statistics)

ทางด้านภาวะการผลิตข้าว คาดว่าในปีการตลาด 2558/59 จะมีผลผลิตประมาณ 6.7 ล้านตันข้าวสาร ลดลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับจำนวน 6.9 ล้านตันข้าวสาร ในปีการตลาด 2557/58 ส่วนในปี 2559/60 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 6.9 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการบริโภคข้าวในปีการตลาด 2558/59 คาดว่าจะมีประมาณ 2.8 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับจำนวน 2.6 ล้านตัน ข้าวสารในปีการตลาด 2557/58 ส่วนในปี 2559/60 คาดว่าจะมีประมาณ 2.8 ล้านตัน ที่มา Oryza.com

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 10 - 16 ตุลาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ