ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 26, 2016 11:56 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน
มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิที่เกษตรกรขายได้ ราคาลดลงเมื่อเทียบกับสัปดาห์

ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ขณะที่ความต้องการข้าวหอมมะลิในตลาดต่างประเทศชะลอตัว

1.2 ราคา
1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,722 บาท ราคาลดลงจากตันละ 9,929 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.08

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,555 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,511 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.59

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,775 บาท ราคาลดลงจากตันละ 23,950 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.73

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,500 บาท ราคาลดลงจากตันละ 11,650 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.29

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ ไม่มีรายงานราคา

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.8659 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
2.1 สถานการณ์ข้าวโลก
1) การผลิต

ผลผลิตข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์ผลผลิตข้าวโลกปี 2559/60 ประจำเดือนตุลาคม 2559 ว่าจะมีผลผลิต 483.260 ล้านตันข้าวสาร (720.5 ล้านตันข้าวเปลือก) เพิ่มขึ้นจาก 472.092 ล้านตันข้าวสาร (703.8 ล้านตันข้าวเปลือก) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.37 จากปี 2558/59

2) การค้าข้าวโลก

บัญชีสมดุลข้าวโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ได้คาดการณ์บัญชีสมดุลข้าวโลกปี 2559/60 ณ เดือนตุลาคม 2559 ว่าผลผลิต ปี 2559/60 จะมี 483.260 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปี 2558/59 ร้อยละ 2.37 การใช้ในประเทศจะมี 478.156 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.50 การส่งออก/นำเข้าจะมี 41.080 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 1.76 และสต็อกปลายปีคงเหลือ 115.603 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 0.004

โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ออสเตรเลีย เมียนมาร์ กัมพูชา จีน อียิปต์ อียู เวียดนาม สหรัฐอเมริกา และไทย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะส่งออกลดลง ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล อินเดีย ปากีสถาน ปารากวัย และอุรุกวัย

สำหรับประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าเพิ่มขึ้น ได้แก่ แองโกลา จีน เฮติ อินโดนีเซีย อิรัก เคนย่า มาเลเซีย เม็กซิโก โมแซมบิค เนปาล ฟิลิปปินส์ เซเนกัล สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะนำเข้าลดลง ได้แก่ บราซิล ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา อิหร่าน ไนจีเรีย และแอฟริกาใต้

ประเทศที่มีสต็อกคงเหลือปลายปีเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่คาดว่าจะมีสต็อกคงเหลือปลายปีลดลง ได้แก่ อินเดีย และญี่ปุ่น

2.2 สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ
เวียดนาม

เวียดนาม นิวส์ เอเจนซี่ รายงานว่าฟิลิปปินส์ได้รับอนุญาตจาก Philippines’ National Food Authority (NFA) ให้นำเข้าข้าวรวมทั้งสิ้น 805,200 ตัน ซึ่งรวมที่นำเข้าจากเวียดนามด้วย 293,100 ตัน เพื่อเติมเต็มความต้องการอาหารในปี 2560 ตามแถลงการของ Vietnam Food Association (VFA) บริษัท ฟิลิปปินส์ จะซื้อข้าวจากไทยจำนวน 293,100 ตัน (เท่ากับที่ซื้อจากเวียดนาม) และซื้อจากจีน อินเดีย ปากีสถาน รวมจำนวน 50,000 ตัน ออสเตรเลียจำนวน 15,000 ตัน เอลซาล์วาดอร์จำนวน 4,000 ตัน และจากประเทศอื่นๆ จำนวน 50,000 ตัน ทั้งนี้ การส่งมอบจะต้องดำเนินการก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 โดย Mr. Huynh The Nang ประธาน VFA กล่าวว่า แม้ว่าความต้องการข้าวเวียดนามจะไม่สูงนัก แต่ก็เป็นโอกาสในการผลักดันการขายข้าวในประเทศได้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เวียดนามชนะ

การประมูลจัดหาข้าวหัก 25% จำนวน 150,000 ตัน ให้แก่ฟิลิปปินส์ในราคา 424.85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน อย่างไรก็ตาม สัญญานี้ไม่มีผลกระทบในทางบวกกับตลาดท้องถิ่น เนื่องจากปริมาณข้าวที่เวียดนามชนะการประมูลนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่ผู้ส่งออกข้าวเก็บสต็อกไว้ สำหรับการส่งออกข้าวของเวียดนามในปีนี้จะยังคงประสบปัญหา เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ได้มากกว่าความต้องการในตลาดโลก

อนึ่ง สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์ ให้ความเห็นว่า เนื่องจากผลผลิตข้าวในปีนี้มีปริมาณมาก ถ้ารวมข้าวที่เก็บในสต็อกของทั้งผู้ส่งออกเวียดนามและภาครัฐของไทย จะเห็นว่ามีปริมาณที่มากเกินความต้องการที่ประเทศผู้ซื้อหลักๆ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ฯลฯ ต้องการ ประกอบกับราคาข้าวหัก 25% อาจลดลงอีก ดังนั้น ไทยควรหาทางเร่งการวิจัยและพัฒนาข้าวให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้มากยิ่งขึ้นกว่าปัจจุบัน ที่มา สคต. ณ นครโฮจิมินห์, The Saigon Times Daily, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

จีน

หนังสือพิมพ์ไชน่าเดลี่ รายงานว่าจีนและกัมพูชาทำสัญญาความร่วมมือ 2 ประเทศ 31 เรื่อง ทั้งเงินกู้ ผลิตไฟฟ้า ก่อสร้าง และการค้า โดยจีนตกลงซื้อข้าว 200,000 ตัน เพื่อช่วยชาวนากัมพูชา

แหล่งข่าวระบุว่า ประธานาธิบดีจีน นายสี จิ้น ผิง และนายกรัฐมนตรีกัมพูชา นายฮุน เซ็น ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามสัญญาความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ 2 ประเทศ จำนวน 31 ฉบับ ในช่วงการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการเมื่อเร็วๆ นี้ โดยฝ่ายจีนเสนอซื้อข้าว 200,000 ตัน จากกัมพูชาเป็นการช่วยเหลือเพิ่มเติม นอกจากสัญญาความร่วมมือที่ครอบคลุมในทุกด้านและการซื้อขายข้าวแล้ว รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายได้ตกลงร่วมมือกันในโครงการแถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเลในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นความริเริ่มของประธานาธิบดีสี ตั้งแต่ปี 2557 โดยเป็นโครงการ ที่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่มา หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 17 - 23 ตุลาคม 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ