ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 7, 2016 11:13 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์

ที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดมีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงเร่งจัดหาข้าวเพื่อทยอยส่งมอบให้ลูกค้า

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ราคาข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลินาปี ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,724 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,373 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.18

ราคาข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,149 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 6,980 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.42

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 23,150 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,710 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 11,430 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.45

3) ราคาส่งออก เอฟ.โอ.บี.

ราคาข้าวหอมมะลิไทย ชั้น 1 (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 683 ดอลลาร์สหรัฐฯ (24,153 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 644 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,726 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 6.06

ราคาข้าวปทุมธานี ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 497 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,575 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 499 ดอลลาร์สหรัฐฯ (17,609 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.40

ราคาข้าวสารเจ้า 5% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 374 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,226 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 364 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,845 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.75

ราคาข้าวสารเจ้า 25% (ใหม่) ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 364 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,872 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 357 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,598 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.96

ราคาข้าวนึ่ง 5% ส่งออก เอฟ.โอ.บี. สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 377 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,332 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 361 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,739 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 4.43

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 35.3625 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ไทย

นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวไทยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 28 พฤศจิกายน 2559 มีการส่งออกข้าวรวมทั้งสิ้น 9.18 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยมีมูลค่าส่งออก 4.159 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1.45 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.55 ทำให้มั่นใจว่าการส่งออกข้าวไทยทั้งปี 2559 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 9.5 ล้านตัน รวมทั้งราคาส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวเหนียว หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 77 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด ซึ่งประเทศผู้นำเข้าสำคัญ 10 อันดับแรก อยู่ในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย ได้แก่ เบนิน ไอวอรี่โคสต์ ญี่ปุ่น จีน แองโกลา แคเมอรูน อินโดนีเซีย มาเลเซีย คอมโก และโมซัมบิก

ทั้งนี้ การส่งออกข้าวที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการเร่งรัดจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นและผลักดันการส่งออกข้าวไทย อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีตลาดรองรับผลผลิตข้าวที่ออกสู่ตลาดพร้อมกันในช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์การส่งออกข้าวไทยขณะนี้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ที่เพิ่มสูงขึ้น จากการที่มีการนำเข้าข้าวไปสำรองไว้สำหรับการจำหน่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่และตรุษจีนในตลาดสำคัญ เช่น จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์

ที่มา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน

อินเดีย

บริษัทผู้ผลิตข้าวสัญชาติอินเดีย LT Foods มีแผนที่จะเปิดศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่ขึ้นที่ Rotterdam โดย LT Foods มีสำนักงานอยู่ทั้งสิ้น 65 สาขาทั่วโลก ซึ่งเนเธอร์แลนด์จะเป็นสาขาที่ 66 และจะเป็นสาขาแรกในยุโรป รวมถึงเป็นศูนย์กระจายสินค้าหลักในภูมิภาคนี้ โดย Rotterdam Partners ซึ่งเป็นสำนักงานดูแลเรื่องการตลาดของเมือง Rotterdam กล่าวว่า “LT Foods จะช่วยสร้างงานให้กับเมือง Rotterdam ถึง 70 – 100 ตำแหน่งงาน” บริษัทผลิตข้าวยักษ์ใหญ่ระดับโลกรายนี้ มีแบรนด์ข้าวเป็นที่รู้จักอย่างดี คือ Dawaat และ Royal โดย LT Foods มีแผนที่จะเปิดทำการสาขาในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2560 โดยจะตั้งอยู่ที่ Maasvlakte ในท่าเรือ Europoort Rotterdam โดยการมาเปิดสาขาของบริษัทอินเดียนี้ จะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารของ Rotterdam LT Foods จะเช่าพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร และใช้พื้นที่ดังกล่าวในกระบวนการผลิตข้าวกล้องและกระจายสินค้าไปภายในยุโรป โดยเมือง Rotterdam หวังว่าการมาเปิดสาขาของ LT Foods ที่ Rotterdam นี้ จะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะมีบริษัทอินเดียและบริษัทต่างชาติมาเปิดสาขาที่ Rotterdam กันเพิ่มมากขึ้น

การมาเปิดสาขาของ LT Foods ที่ Rotterdam เกิดขึ้นจากการร่วมมือระหว่างสำนักงานการตลาดของ Rotterdam (Rotterdam Partners) การท่าเรือ Rotterdam (Port of Rotterdam Authority) และบริษัทตัวแทนดูแลการลงทุนจากต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ [Netherlands Foreign Investment Agency (NFIA)] โดย Rotterdam Partners ที่มีหน้าที่ส่งเสริมเศรษฐกิจของ Rotterdam กล่าวว่า มีโอกาสมากมายที่สามารถทำให้เศรษฐกิจดัตช์เติบโตขึ้นไปอีก โดย Rotterdam จะมุ่งความสนใจไปในด้านอื่นๆ ของอินเดียด้วย เช่น ด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร (Agro-food) ชีววิทยาศาสตร์และสุขภาพ และเคมี

ที่มา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์, สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงเฮก

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 28 พ.ย. – 4 ธ.ค. 2559--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ