ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 13, 2017 13:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก(ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว(ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดมีไม่มาก ผู้ประกอบการส่งออกจึงชะลอการสั่งซื้อ

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,293 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,291 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.02

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 7,499 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 7,455 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.59

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 21,650 บาท ราคาลดลงจากตันละ 21,790 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.64

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 11,450 บาท ราคาทรงตัวเท่ากับสัปดาห์ก่อน

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย 100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 635 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,137 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 638 ดอลลาร์สหรัฐฯ (22,128 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.47 แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 9 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 368 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,829 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 369 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,798 บาท/ตัน)ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 31 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 361 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,585 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 363 ดอลลาร์สหรัฐฯ (12,590 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.55

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 374 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,038 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 375 ดอลลาร์สหรัฐฯ (13,006 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.27 แต่เพิ่มขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 32 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 34.6836 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

ฟิลิปปินส์

มีรายงานว่า สภา NFA (National Food Authority Council; NFAC) ขยายเวลาการส่งมอบข้าวที่ได้จัดสรรโควตานำเข้าให้แก่เอกชนภายใต้ระบบ the minimum access (MAV) ออกไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560 จากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 28 กุมภาพันธ์ และเพิ่มผู้ที่สามารถลงนามในใบอนุญาตนำเข้าข้าวจากที่มีเพียงผู้อำนวยการของ NFA โดยให้ประธานสภา NFA สามารถลงนามได้ด้วย ทั้งนี้ NFA อนุญาตให้เอกชน 210 ราย นำเข้าข้าวจำนวน 692,340 ตัน (จากที่มีการยื่นขอนำเข้าไทย 300,180 ตัน เวียดนาม 303,350 ตัน ปากีสถาน 82,670 ตัน อินเดีย 6,140 ตัน) โดย ณ วันที่ 27 กุมภาพันธ์มีการนำเข้าแล้วประมาณ 433,699.35 ตัน

ก่อนหน้านี้ กลุ่มสหกรณ์การเกษตรและภาคเอกชนฟิลิปปินส์เรียกร้องให้องค์การอาหารแห่งชาติ (NFA) ขยายเวลานำเข้าข้าวในโควตานำเข้าขั้นต่ำ (minimum access volume : MAV) เพิ่มเติมอีก 1 เดือน เนื่องจากการอนุญาตนำเข้าเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมาทำให้ภาคเอกชนมีเวลาจำกัดในการเตรียมเอกสาร ซึ่งตามคู่มือของ NFA ข้าวที่นำเข้าด้วยโควตา MAV จะต้องส่งข้าวมาถึงฟิลิปปินส์ก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560

ทั้งนี้ เมื่อเดือนธันวาคม 2559 NFA อนุญาตให้กลุ่มเกษตรกรและภาคเอกชน 210 ราย นำเข้าข้าวจากประเทศ ที่มีข้อตกลงร่วม (country specific quota : CSQ) ได้แก่ ไทยและเวียดนาม ประเทศละประมาณ 300,000 ตัน จีน อินเดีย และปากีสถาน ประเทศละ 50,000 ตัน ออสเตรเลีย 15,000 ตัน เอลซัลวาดอร์ 4,000 ตัน และอีก 50,000 ตันจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งสิ้นประมาณ 700,000 ตัน ซึ่งต่ำกว่าเพดานสูงสุดของ NFA ประมาณ 1 แสนตัน ปัจจุบันการนำเข้าข้าวภายในโควตาตามกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก (WTO) มายังฟิลิปปินส์ มีการจัดเก็บภาษีที่อัตราร้อยละ 35 ขณะที่การนำเข้านอกโควตาจะต้องเสียภาษีสูงถึงร้อยละ 50

ในปีนี้องค์การอาหารแห่งชาติมีแผนที่จะรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในประเทศเพื่อเพิ่มสต็อกข้าวของประเทศ ซึ่งกำหนดปริมาณรับซื้อประมาณ 230,367 ตัน (หรือ 4,607,350 ถุง) ในราคาข้าวแห้งที่ 17 เปโซต่อกิโลกรัม พร้อมทั้งมีแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการโดยการเพิ่มราคาค่าขนส่ง ค่าอบข้าว รวมเป็นราคารับซื้อที่ประมาณ 17.70-18.00 เปโซต่อกิโลกรัม โดย NFA คาดว่า ในระหว่างช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนจะซื้อข้าวเปลือกได้ประมาณ 79,240 ตัน ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์สามารถจัดซื้อได้แล้วประมาณ 47,782 ถุง

ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อินเดีย

ภาวะราคาข้าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัวท่ามกลางคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่ลดลง โดยข้าวนึ่ง 5% ราคาอยู่ที่ 373-378 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน เท่ากับสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ซื้อจากแอฟริกาลดการสั่งซื้อข้าวในช่วงนี้ประกอบกับผู้ส่งออกข้าวของอินเดียไม่สามารถลดราคาลงได้เพราะราคาข้าวเปลือกในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจากหน่วยงานรัฐบาลกำลังเร่งซื้อข้าวตามโครงการจัดหาข้าวของรัฐบาล ประกอบกับค่าเงินรูปีแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวอินเดียสูงกว่าข้าวไทยและเวียดนามมาก

วงการค้าคาดว่า การส่งออกข้าวบาสมาติไปยังตลาดสหภาพยุโรปอาจเผชิญอุปสรรคครั้งใหญ่ หากสหภาพยุโรปประกาศปรับค่า MLR (Maximum Residue Limit) ที่ยอมให้สาร tricyclazole ตกค้างในข้าวลดลงเหลือ 0.01 ppm ซึ่งสาร tricyclazole เป็นสารเคมีที่อินเดียใช้ในขบวนการเพาะปลูกข้าว ขณะนี้ทางการอินเดียกำลังพยายามคัดค้าน ไม่ให้ EU ดำเนินการดังกล่าว เพราะจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวบาสมาติของอินเดียอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม อินเดียยังคงพอมีเวลาในการคัดค้านเรื่องดังกล่าว เนื่องจากตามกรอบเวลาหากมีการปรับลดจริงก็จะมีผลในปี 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สาร tricyclazole จะใช้ในการกำจัดโรคใบไหม้ในข้าว ปัจจุบัน EU กำหนดค่า MLR ไว้ ที่ 1 ppm. ซึ่งระดับการตกค้างนี้จะไม่เป็นปัญหากับข้าวบาสมาติจากอินเดีย เพราะปริมาณสารตกค้างที่ตรวจพบยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 1 ppm. แต่หากมีการกำหนดค่าต่ำลงเหลือ 0.01 ppm จะส่งผลกระทบต่ออินเดียแน่นอน

ที่มา Oryza.com, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

อิตาลี

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน รายงานว่า ในปี 2559 การนำเข้าข้าวจากต่างประเทศของสหภาพยุโรปมีปริมาณสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 18 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้มาพร้อมกับการแจ้งเตือนเกี่ยวกับสารปนเปื้อน ทั้งข้าวและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากข้าวถึง 12 ประเภท จากประเทศนอกสหภาพฯ ตามข้อมูลของระบบการแจ้งเตือนสินค้าของสหภาพยุโรป (RASFF)

จากการศึกษาข้อมูลดังกล่าว สมาพันธ์เกษตรกรแห่งชาติอิตาลี หรือ Coldiretti ได้แจ้งเตือนถึงการพบสารเคมีที่ผิดกฎหมายในสินค้าข้าวนำเข้า อาทิ สารเคมีตกค้าง ยาต้านปรสิต สารอัลฟาท็อกซิน หรือสารพิษอื่นๆ ในปริมาณที่เกินกำหนด ยาฆ่าแมลง สารประเภทโลหะหนักในระดับที่เกินมาตรฐาน หรือการพบสินค้า GMO (การดัดแปลงพันธุกรรมที่เป็นที่ต้องห้ามในสหภาพยุโรป) ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคอิตาเลียนในวงกว้าง ซึ่งในปี 2559 ปริมาณการนำเข้าข้าวที่ผ่านการขัดสีแล้วในยุโรปสูงถึง 1.38 ล้านตัน โดย 0.37 ล้านตัน มาจากประเทศด้อยพัฒนา ในปัจจุบัน 2 ใน 3 ของการนำเข้าข้าวในสหภาพยุโรปได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าจากมาตรการยกเว้นภาษีของสหภาพยุโรปสำหรับประเทศด้อยพัฒนา (EBA) ในการส่งสินค้าเข้ายังกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ แม้ว่าอิตาลีจะยังคงเป็นประเทศผู้ผลิตอันดับหนึ่งของยุโรป บนพื้นที่กว่า 1.48 ล้านไร่ ในสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ แต่การนำเข้าข้าวพันธุ์ Indica ที่ผ่านการขัดสีแล้วจากต่างประเทศของอิตาลีในปริมาณที่ มากเกินไป ส่งผลให้ภาคการผลิตอยู่ในสภาวะวิกฤต เนื่องจากผู้ผลิตหันมาปลูกข้าวพันธุ์ Japonica มากขึ้น ก่อให้เกิด ความไม่สมดุลของสินค้าในตลาด รวมไปถึงความเสี่ยงในการเลิกผลิตที่จะส่งผลให้ทั้งลูกจ้างและนายจ้างในภาคการผลิตกว่า 1 หมื่นครอบครัวต้องตกงาน

ทั้งนี้ Coldiretti ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้าว Made in Italy มีความสำคัญในเรื่องคุณภาพเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึง ประเภท และการผลิตในสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน ที่ทุกฝ่ายควรปกป้องและรักษาไว้ โดยใช้มาตรการบังคับการระบุบนฉลากถึงแหล่งที่มา ชื่อผู้นำเข้าข้าวจากต่างประเทศ รวมทั้ง การตรวจสอบข้าวที่นำเข้าได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ที่จะลดความเสี่ยงในการสูญเสียทางเศรษฐกิจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวของอิตาลี โดยการดำเนินการต่างๆ เหล่านี้ ควรจะนำมาปรับใช้เพื่อให้เกิดนำเข้าอย่างประสิทธิภาพ และสร้างความมั่นใจในคุณภาพสินค้าข้าวที่นำเข้าในสหภาพยุโรป

สาหรับปี 2559 อิตาลีนำเข้าข้าวจากไทยปริมาณ 17,164 ตัน (ปี 2558 ปริมาณ 14,339 ตัน) คิดเป็นมูลค่า 13.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 15) อยู่ในอันดับที่ 4 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการพบสารปนเปื้อนในสินค้าข้าวที่นำเข้าในสหภาพยุโรป ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกซื้อข้าวที่ผลิตในประเทศอิตาลีมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการซื้อข้าวที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรใช้สื่อประชาสัมพันธ์เพื่อเน้นย้ำถึงคุณภาพและเป็นการยกระดับข้าวไทยในตลาดผู้บริโภคชาวอิตาเลียน รวมไปถึงการเพิ่มรูปแบบสินค้าที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการและรูปแบบการใช้ชีวิตของชาวอิตาเลียนในปัจจุบัน และการใช้ชีวิตของคนเมือง ซึ่งจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพของข้าวไทย รวมทั้งพัฒนาเรื่องบรรจุภัณฑ์ และการทำฉลากที่ระบุขั้นตอนการปรุงและวิธีทำเป็นภาษาอิตาเลียน เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ที่มา ส่านักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน, สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 6 - 12 มี.ค. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ