ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร: ข้าว

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 3, 2017 14:51 —สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

1. สรุปภาวะการผลิต การตลาด และราคาในประเทศ

1.1 การตลาด

l มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการผลิต

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 3 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการส่งเสริมสนับสนุนการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี ปี 2559/60 (กข.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่หลากหลาย ฤดูนาปรัง ปี 2560 (กสก.)

(3) โครงการสนับสนุนสินเชื่อให้กลุ่มชาวนาผู้ผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 5 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงกระบือ (ปศ.)

(2) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ (ปศ.)

(3) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแพะ (ปศ.)

(4) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำนาไม่เหมาะสมเพื่อส่งเสริมการทำนาหญ้า (ปศ.)

(5) โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมเป็นเกษตรกรรมทางเลือกอื่น (กสก.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการตลาด

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯจำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการสินเชื่อเกษตรกรเพื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (พณ.)

3) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2559/60 ด้านการเงิน

มติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 4 โครงการ ดังนี้

(1) โครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(2) โครงการพักชำระหนี้ต้นเงินและลดดอกเบี้ยเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2559/60 (ธ.ก.ส.)

(3) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรรายย่อย (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการประกันข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 (ธ.ก.ส.)

l มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2560/61

มติที่ประชุม นบข. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2560 เห็นชอบมาตรการฯ จำนวน 7 โครงการ ดังนี้

1) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ด้านการผลิต

(1) โครงการส่งเสริมการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิคุณภาพดี (กข.)

(2) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบนาแปลงใหญ่ (กข.)

(3) โครงการส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่ : ข้าวอินทรีย์ (กข.)

2) มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 ด้านการตลาด

(1) อบรม GMP/HACCP โรงสีติดดาว/4.0 นวัตกรรมข้าวและความรู้ด้านการตลาดและ เทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการโรงสี (คน.)

(2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก (คน.)

(3) โครงการสินเชื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่ม (ธ.ก.ส.)

(4) โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก (ธ.ก.ส.)

ภาวการณ์ซื้อขายข้าวสัปดาห์นี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้น เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากข้าวของไทยมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง

1.2 ราคา

1) ราคาที่เกษตรกรขายได้ทั้งประเทศ

ข้าวเปลือกเจ้านาปีหอมมะลิ สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 9,670 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 9,496 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.84

ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 8,416 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 8,361 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.65

2) ราคาขายส่งในตลาดกรุงเทพฯ

ข้าวหอมมะลิ 100% ชั้น 1 (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 24,090 บาท ราคาสูงขึ้นจากตันละ 23,610 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 2.03

ข้าวขาว 5% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 14,210 บาท ราคาลดลงจากตันละ 14,370 บาท ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.11

3) ราคาส่งออกเอฟโอบี

ข้าวหอมมะลิไทย100% (ใหม่) สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 793 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,739 บาท/ตัน) ราคาสูงขึ้นจากตันละ 792 ดอลลาร์สหรัฐฯ (26,710 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.12 และสูงขึ้นในรูปเงินบาทตันละ 29 บาท

ข้าวขาว 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 455 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,342 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 461ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,547 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.30 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 205 บาท

ข้าวขาว 25% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 427 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,398 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 431 ดอลลาร์สหรัฐฯ (14,535 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 0.92 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 137 บาท

ข้าวนึ่ง 5% สัปดาห์นี้ เฉลี่ยตันละ 473 ดอลลาร์สหรัฐฯ (15,949 บาท/ตัน) ราคาลดลงจากตันละ 481 ดอลลาร์สหรัฐฯ (16,222 บาท/ตัน) ในสัปดาห์ก่อนร้อยละ 1.66 และลดลงในรูปเงินบาทตันละ 273 บาท

หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 33.7194 บาท

2. สถานการณ์ข้าวของประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคที่สำคัญ

เวียดนาม

ภาวะราคาข้าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงขยับสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2557 เนื่องจาก มีความต้องการข้าวจากบังคลาเทศ ขณะที่ผู้ค้าข้าวต่างก็เก็บสต็อกข้าวไว้ เพราะคาดว่าราคาข้าวจะสูงขึ้นอีก โดยราคาข้าวขาว 5% ของเวียดนามตันละ 410-420 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เพิ่มขึ้นจากตันละ 410 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อน ขณะที่วงการค้าคาดว่าราคาข้าวมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก หากมีการเจรจาขายข้าวเพิ่มเติมให้แก่บังคลาเทศได้อีก มีรายงานว่าบริษัท Vinafood 1 (the Vietnam Northern Food Corporation) และ Vinafood 2 (the Vietnam Southern Food Corporation) ต้องการที่จะเป็นตัวแทนในการทำสัญญาส่งออกข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐ (G2G) แต่นักวิเคราะห์ได้เตือนว่าอาจจะเป็นการผูกขาดอำนาจในการขายข้าวของประเทศ ทั้งนี้ สมาคมอาหารเวียดนาม (The Vietnam Food Association; VFA) กล่าวกับผู้ส่งออกข้าวว่าจะต้องไม่มีการทำสัญญาส่งออกข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐ ในช่วงระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน ไปจนถึงช่วงวันที่บริษัท Vinafood 1 และ Vinafood 2 ได้ทำสัญญาหลังจากที่บรรลุข้อตกลงขายข้าวแล้ว ซึ่งบริษัท Vinafood 1 และ Vinafood 2 จะเป็นบริษัทส่งออกข้าวเพียงสองแห่งที่เป็นตัวแทนของเวียดนามที่จะเสนอราคาข้าวสำหรับการทำสัญญาส่งออกข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐ

สมาคมอาหารเวียดนามได้อ้างถึง ระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (Ministry of Industry and Trade ; MOIT) ที่ประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งระบุว่า บริษัทส่งออกข้าวรายอื่นๆ จะต้องไม่ส่งออกข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลจนกว่าจะได้ รับอนุญาตกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ยกเว้นเพียงบริษัท Vinafood 1 และ Vinafood 2 เท่านั้น ทางด้าน นาย Duong Van Chin จากกลุ่ม Loc Troi ได้แสดงความเห็นว่า นโยบายการจัดการการส่งออกข้าวที่ VFA ต้องการนำไปใช้จะเป็นการบิดเบือนความสำคัญของห่วงโซ่คุณค่าของข้าว ซึ่งรัฐบาลควรจะจำกัดการผูกขาด โดยบริษัท Vinafood 1 และ Vinafood 2 และลดขั้นตอนที่ซับซ้อนเพื่อสนับสนุนธุรกิจที่มีความสามารถในการส่งออกข้าว และหากผู้ส่งออกรายอื่นๆ สามารถส่งออกข้าวในปริมาณมากได้ จะช่วยกระตุ้นการผลิตในประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และยังกล่าวว่าบริษัท Vinafood 1 และ Vinafood 2 ได้รับสิทธิมากมาย เช่น สิทธิในการส่งออกข้าวภายใต้สัญญาแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล และมักจะเสนอราคาขายข้าวที่ต่ำ รวมทั้งมีการยอมรับเงื่อนไขที่ไม่เอื้ออำนวยและไม่เป็นการยกระดับข้าวของเวียดนามในตลาดโลก

ทั้งนี้บริษัท Vinafood 1 และ Vinafood 2 สามารถทำกำไรได้มากกับสัญญาส่งออกข้าวแบบรัฐบาลต่อรับบาล ซึ่งราคาส่งออกที่ตันละ 300-400 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะได้กำไรตันละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็เพียงพอแล้วที่ทั้งสองบริษัทจะได้รับเงินมหาศาลจากปริมาณการส่งออกที่สูงเป็นล้านตัน

ด้านนาย Nguyen Van Nam ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าสถาบันวิจัย ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหว ของสมาคมอาหารเวียดนามในครั้งนี้ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ามีเหตุผลในการแต่งตั้งบริษัท Vinafood 1 และ Vinafood 2 ขึ้นมา เพื่อให้เป็นตัวแทนของเวียดนามในการเจรจาต่อรองสัญญาส่งออกข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งในครั้งนั้นมีหลายบริษัทเข้าร่วมประมูล แต่กลับเสนอราคาขายข้าวที่ต่ำมาก และมีการยกเลิกการเสนอราคา ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเวียดนาม อย่างไรก็ตามเขายอมรับว่าการผูกขาดอำนาจในการส่งออกข้าวของทั้งสองบริษัทควรที่จะได้รับการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง

ที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ น นครโฮจิมินห์, Oryza.com, Riceonline.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ฟิลิปปินส์

องค์การอาหารแห่งชาติ (National Food Authority; NFA) ระบุว่า ฟิลิปปินส์มีความต้องการนำเข้าข้าว เพิ่มเติมถึง 500,000 ตัน เพื่อเตรียมไว้สำหรับในช่วงเดือนที่อุปทานข้าวในประเทศจะลดต่ำลงในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี(lean season) หรือประมาณเดือนกรกฎาคม-กันยายน โดยก่อนหน้านี้สภาองค์การอาหารแห่งชาติ (The National Food Authority Council; NFAC) ได้อนุมัติแผนการนำเข้าข้าวปริมาณ 250,000 ตัน ในรูปแบบรัฐบาลและเอกชน (G-P) แทนการนำเข้าในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G-G) อย่างไรก็ตาม NFA คาดว่า ปริมาณดังกล่าวยังไม่เพียงพอกับความต้องการ ซึ่งตามที่กฎหมายกำหนดไว้ NFA มีหน้าที่ที่จะต้องสำรองข้าวไว้ให้เพียงพอสำหรับการบริโภคในช่วงเวลาปกติประมาณ 15 วัน และในช่วงเดือนที่ประเทศมีอุปทานข้าวลดลง NFA จะต้องมีข้าวสำรองไว้อย่างน้อย 30 วัน โดยในขณะนี้ความต้องการบริโภคข้าวของฟิลิปปินส์เฉลี่ยวันละ 32,720 ตัน

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการลงประกาศรายละเอียดของการประมูลซื้อข้าว (the terms of reference; TOR) ในเร็วๆ นี้ โดยจะลงประกาศในสื่อสิ่งพิมพ์อย่างน้อย 3 ฉบับ ซึ่งรายละเอียดในเบื้องต้นของการนำเข้าข้าว จำนวน 250,000 ตัน จะแบ่งเป็น 10 ล็อต โดยล็อตแรกจำนวน 25,000 ตัน จะต้องส่งมาถึงฟิลิปปินส์ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม

ที่มา : Oryza.com, Riceonline.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

จีน

สำนักงานศุลกากร (China Customs General Administration) รายงานว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-พฤษภาคม) จีนนำเข้าข้าวประมาณ 862,900 ตัน และมีการส่งออกประมาณ 419,100 ตัน

สำนักข่าว Reuters รายงานว่า การประมูลขายข้าวจากสต็อกของรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา ศูนย์การค้าธัญพืชแห่งชาติ (the National Grain Trade Center) สามารถระบายข้าวได้ประมาณ 773,392 ตัน ส่วนการประมูลเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน สามารถขายข้าวได้ 122,110 ตัน

ที่มา : Oryza.com, Riceonline.com และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

--ข่าวการผลิต การตลาด ผลิตผลการเกษตร ประจำวันที่ 26 มิ.ย. - 2 ก.ค. 60 --


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ