สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 19, 2014 17:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI เดือนเมษายน 2557 อยู่ที่ระดับ 156.63 ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน Hard Disk Drive สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.76 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวร้อยละ 2.0

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม1 หรือ MPI เดือนเมษายน 2557 อยู่ที่ระดับ 156.63 ลดลงร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ ยานยนต์ เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือน Hard Disk Drive

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต2 เดือนเมษายน 2557 อยู่ที่ร้อยละ 56.58 จากร้อยละ 64.46 ในเดือนมีนาคม 2557 และร้อยละ 60.37 ในเดือนเมษายน 2556

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.76 และเมื่อไม่รวมทองคำแท่งขยายตัวร้อยละ 2.0

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(เมษายน 2557)

อุตสาหกรรมอาหาร การผลิต (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนเมษายน 2557 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.3 กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตชะลอตัวลงร้อยละ 13.9 33.6 และ 4.7 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในกุ้งและสับปะรดเป็นสำคัญ ส่วนปลาทูน่าแม้ว่าราคาจะปรับลดลง แต่ความต้องการของต่างประเทศยังชะลอตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า ส่วนกลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีการผลิตลดลงร้อยละ 5.3 เนื่องจากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และผ้าลูกไม้ ลดลง ร้อยละ 6.6 และ 10.0 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อของตลาดภายในและต่างประเทศลดลง ในขณะที่ การผลิตผ้าผืน ผ้าขนหนูและเครื่องนอน และอื่น ๆ (ยางยืด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.9 3.1 และ 11.3 ตามลำดับ เนื่องจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นจากประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสิ่งทอจากไทย

การผลิตเสื้อผ้าถัก และเสื้อผ้าทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.4 และ 8.9 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น และตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการสินค้าไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากมหกรรมการแข่งขันฟุตบอลโลกทำให้มีปริมาณคำสั่งซื้อเข้ามาจำนวนมาก

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนเมษายน 2557 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน พบว่าดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.63 เนื่องจากผู้ผลิตบางรายเริ่มกลับมาผลิตอีกครั้งหลังจากประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.48 แต่เหล็กทรงยาวลดลง ร้อยละ 5.55 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนเมษายน 2557 เทียบกับเดือนก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ได้แก่ เหล็กเส้น เหล็กแผ่นรีดเย็น สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เหล็กแท่งเล็ก Billet รองลงมาคือ เหล็กแท่งแบน ส่วนเหล็กแผ่นรีดร้อนมีดัชนีราคาที่ทรงตัว

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 126,730 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีการผลิต 170,434 คัน ร้อยละ 25.64 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2557 ร้อยละ 30.11 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ สำหรับการส่งออก มีจำนวน 69,804 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2556 ซึ่งมีการส่งออก 68,205 คัน ร้อยละ 2.34 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.93 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.67 โดยมาจากเครื่องปรับอากาศที่ เพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น รวมถึงเครื่องรับโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.14 เนื่องจากมีการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์เพื่อรองรับกับระบบดิจิตอลและความต้องการที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการปรับตัวลดลง คือ ตู้เย็น พัดลม และหม้อหุงข้าว จากการที่ผู้บริโภคในประเทศมีการชะลอการใช้จ่ายตามสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 มาจาก Semiconductor , Monolithic IC และ Other IC เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.73 5.20 และ 6.12 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนใน Smart Phone/อุปกรณ์สื่อสารต่าง ๆ (Communication system) และกลุ่มผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ HDD ปรับตัวลดลงร้อยละ 0.91 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบเดือนที่ผ่านมา

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ