สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 ปี 2557 (กรกฎาคม – กันยายน 2557)(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 14, 2015 15:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในภาพรวมของประเทศยังคงขยายตัว และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากนโยบายของภาครัฐในการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แม้ว่าการผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสนี้จะมีปริมาณลดลง แต่ปริมาณการจำหน่ายในประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์มีปริมาณและมูลค่าลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าได้ลดคำสั่งซื้อลง ระเทศคู่ค้าได้ลดคำสั่งซื้อลง

การผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2557 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 10.36 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 10.37 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดลดลงร้อยละ 2.72 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.05 สำหรับการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 5.38 และ 6.49 ตามลำดับ ทั้งนี้ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ เมียนมาร์และกัมพูชา ลดลง ทำให้บริษัทผู้ผลิตบางรายชะลอการผลิตลงโดยการหยุดเดินเครื่องจักรบางส่วนเพื่อซ่อมบำรุง

การตลาดและการจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 3 ปี 2557 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 9.15 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.13 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.02 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.43 ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.65 ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าภาคก่อสร้างยังคงขยายตัวได้ ถึงแม้ว่าจะมีอัตราการขยายตัวไม่สูงมากเท่าที่มีการคาดการณ์ไว้ในช่วงครึ่งปีแรกก็ตาม และความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศของไทยในไตรมาสนี้เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนไม่ได้ลดน้อยลง แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศยังคงขยายตัวได้ตามปกติ

การค้าระหว่างประเทศ

การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2557 มีปริมาณการส่งออกรวม 2.73 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 150.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 0.70 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 28.59 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดลดลงร้อยละ 40.17 และ 41.00 ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.00 และ 58.92 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 2.03 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 121.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.33 และ 4.39 ตามลำดับ ในขณะที่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.15 และ 11.91 ตามลำดับ ทั้งนี้ ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในภาพรวม เนื่องจากไทยมีการขยายกำลังการผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้น ซึ่งถึงแม้ความต้องการใช้ในประเทศจะมีปริมาณลดลง ก็ไม่สามารถลดกำลังการผลิตลงได้เนื่องจากจะทำให้ไม่คุ้มต้นทุนพลังงานที่เสียไป จึงทำให้บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์มีความจำเป็นที่จะต้องผลิตปูนซีเมนต์ในปริมาณที่ค่อนข้างคงที่ ยกเว้นกรณีมีการหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน จะเห็นได้ว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ดและปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งไตรมาส โดยตลาดส่งออกที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยยังคงเป็นเมียนมาร์ รองลงมา คือ กัมพูชา ลาว บังคลาเทศ และมาเลเซีย ตามลำดับ

การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 3 ปี 2557 มีปริมาณรวม 4,987.61 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.18 และ 56.29 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.60 และ 19.88 ตามลำดับ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ดจำนวน 28.24 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.016 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 4,959.37 ตัน คิดเป็นมูลค่า 2.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ไทยเพิ่มปริมาณการนำเข้าปูนซีเมนต์ขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์บางประเภทในประเทศมากขึ้น ซึ่งการนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นปูนซีเมนต์ขาวชนิดพิเศษ และอะลูมินัสซีเมนต์ ที่ไม่มีการผลิตในประเทศ โดยแหล่งนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทยยังคงเป็นจีน รองลงมา คือ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย อียิปต์ และฝรั่งเศส ตามลำดับ

ราคาสินค้า

ราคาปูนซีเมนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรเนื่องมาจากราคาเชื้อเพลิงที่ขยับสูงขึ้นเมื่อกลางปี 2555 รวมถึงต้นทุนการขนส่งและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์บางรายได้ปรับขึ้นราคาขายปูนซีเมนต์บ้างแล้ว โดยเฉลี่ย 100-200 บาท ต่อตัน ตามต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น

นโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลไม่มีมาตรการ/นโยบาย รองรับสำหรับอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์โดยตรง แต่มีมาตรการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทำให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

สรุปและแนวโน้ม

สรุป

ปริมาณการผลิตปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ในขณะที่ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสนี้ค่อนข้างทรงตัว โดยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แสดงให้เห็นว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศในภาพรวมไม่ได้ลดน้อยลง และภาคก่อสร้างของไทยยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ปริมาณการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชา ซึ่งเป็นตลาดหลักของไทยในอาเซียน มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์ของไทยบางรายได้ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้ไทยมีปูนซีเมนต์มากพอที่จะขยายการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อคำนวณความคุ้มทุนในการผลิตแล้ว จำเป็นต้องผลิตปูนซีเมนต์ในปริมาณที่ค่อนข้างคงที่ ดังนั้น ในกรณีที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงและปริมาณความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศไม่ขยายตัวมากเท่าที่คาดการณ์ไว้อย่างเช่นในไตรมาสนี้ บริษัทผู้ผลิตปูนซีเมนต์จึงต้องวางแผนหยุดเดินเครื่องจักรชั่วคราวเพื่อซ่อมบำรุงให้พร้อมใช้ในการผลิตในไตรมาสต่อไป

แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในประเทศ โดยเฉพาะโครงการขยายเส้นทางรถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน โดยเฉพาะในธุรกิจที่อยู่อาศัยแนวสูง (คอนโดมิเนียม) ตามบริเวณแนวรถไฟฟ้าต่อไป

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นทั้งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศคู่ค้าหลักของไทยในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะเมียนมาร์และกัมพูชา มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในปริมาณมาก ประกอบกับไทยมีการขยายกำลังการผลิตปูนซีเมนต์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณผลผลิตมากเกินความต้องการในประเทศ และสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้มากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ