ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนพฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 21, 2016 15:28 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2558 ขยายตัวร้อยละ 0.1 อุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องประดับ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ การกลั่นน้ำมัน และเครื่องปรับอากาศ

อุตสาหกรรมรถยนต์ ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศโดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ PPV และ SUV

อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีการส่งออกไปประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นมากตามความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น

อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ ขยายตัวได้ดี เนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น

การเปิดปิดโรงงานเดือนพฤศจิกายน 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 387 รายเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2558 ร้อยละ 9.94 แต่มียอดเงินลงทุนรวมลดลงร้อยละ 64.57 และมีจำนวนการจ้างงานลดลงร้อยละ 33.69 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ มีจำนวน 15 โรง จำนวนเงินทุน 7,032.42 ล้านบาท และจำนวนคนงาน 144 คน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2557 ร้อยละ 13.42 สำหรับโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมีจำนวน 197 ราย มากกว่าเดือนตุลาคม 2558 ร้อยละ 15.88 และมากกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 57.6

การขอรับการส่งเสริมการลงทุน เดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2558 มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOl ทั้งสิ้น 959 โครงการ เงินลงทุน 195,630 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 28.9 และ 74.1 ตามลำดับ โดยประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุด คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนคิดเป็นร้อยละ 52.9

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนพฤศจิกายน 2558 การนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรม และเครื่องมือกล มีมูลค่า 947.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าการนำเข้าเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 อย่างไรก็ตามการนำเข้าเครื่องมือกลยังคงหดตัวสูงอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 23.2

ด้านการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป(ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่า 5,377.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 15.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าด้ายและเส้นใย เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รวมถึงอุปกรณ์ส่วนประกอบของเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง

การใช้ไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2558 มีปริมาณทั้งหมดจำนวน 10,067.9 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง ลดลงจากเดือนตุลาคม 2558 ร้อยละ 1.22 (10,191.8 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 จากช่วงเดียวกันของปี 2557 (9,825.7ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมง) หากแยกการใช้ไฟฟ้าตามขนาดของกิจการ พบว่า กิจการขนาดเล็กและขนาดกลางมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาและช่วงเดียวกันของปี 2557 ส่วนกิจการขนาดใหญ่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าลดลงจากเดือนที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2557

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมไทยเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นหรือขยายตัวร้อยละ 0.1 อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้การผลิตเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ ปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศไต้หวันหดตัวร้อยละ 5.0

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 0.4

สำหรับข้อมูลการผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 ยังไม่มีการเผยแพร่ แต่ยังมีแนวโน้มขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยในเดือนตุลาคม 2558 การผลิตในภาคอุตสาหกรรมประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ขยายตัวร้อยละ 6.2 และ 5.2 ตามลำดับ

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2558

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2558 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 387 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 352 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 9.94 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 23,990 ล้านบาท ลดลงจากเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งมีการลงทุน 67,715 ล้านบาท ร้อยละ 64.57 มีการจ้างงานจำนวน 9,156 คน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2558 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 13,807 คน ร้อยละ 33.69

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 447 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 13.42 มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีการลงทุน 36,531 ล้านบาท ร้อยละ 34.33 แต่มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,526 คน ร้อยละ 7.39

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2558 คืออุตสาหกรรมผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ และทำผลิตภัณฑ์คอนกรีต จำนวน 39 โรงงาน รองลงมา คืออุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ จำนวน 25 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2558 คือ อุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ จำนวนเงินทุน 7,032.42 ล้านบาทรองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติกและเป่าขึ้นรูปขวดพลาสติก จำนวนเงินทุน 1,891.45 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2558 คืออุตสาหกรรมผลิตเสื้อไหมพรม จำนวนคนงาน 677 คน รองลงมา คือ อุตสาหกรรมทาผลิตภัณฑ์ ด้วยการกลึง เจียรนัย เชื่อมโลหะ จำนวนคนงาน 520 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2558 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 197 ราย มากกว่าเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 170 ราย คิดเป็นร้อยละ 15.88 มีการเลิกจ้างงาน จำนวน 5,109 คน มากกว่าเดือนตุลาคม 2558 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,340 คน แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 2,807 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนตุลาคม 2558 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 3,128 ล้านบาท

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 125 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 57.6 มีเงินทุนของการเลิกกิจการมากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,585 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานมากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2557 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 4,132 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2558 คืออุตสาหกรรม ซ่อมรถยนต์ พ่นสีรถยนต์ จำนวน 26 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมบรรจุก๊าซ จำนวน 15 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2558 คือ อุตสาหกรรมบรรจุก๊าซ เงินทุน 507.59 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ เงินทุน 488.84 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2558 คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้าจากผ้า หนังสัตว์ จำนวนคนงาน 1,203 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำภาชนะบรรจุจากโลหะ จำนวนคนงาน 733 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.)ในเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท.ทั้งสิ้น 959 โครงการ น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 1,350 โครงการ ร้อยละ 28.9 และมีเงินลงทุน 195,630 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 755,530 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 74.1

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมในเดือนมกราคม - พฤศจิกายน 2558
          การร่วมทุน                        จำนวน         มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)

(โครงการ)

          1.โครงการคนไทย 100%              431               98,230
          2.โครงการต่างชาติ 100%             354               54,370
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ       174               43,030
  • ประเภทกิจการที่ขอรับการส่งเสริมมากที่สุดในเดือนมกราคม- พฤศจิกายน 2558 คือ หมวดบริการ และ สาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 103,490 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 31,370 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง จากการยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการหยุดทำประมงของเรือประมงบางส่วนที่ปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ ประกอบกับคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าลดลง ส่งผลให้การส่งออกปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการจำหน่ายในประเทศปรับตัวลดลงเช่นกันน

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤศจิกายน 2558 ปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.2 แบ่งเป็น

กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออก หากเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าที่ปรับตัวลดลง เช่น กุ้ง ทูน่ากระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 25.3 17.8 และ 11.6 ตามลำดับ เนื่องจากวัตถุดิบปริมาณลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประมงที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกสัมปทานน่านน้ำของประเทศอินโดนีเซีย และการปฏิบัติตามกฎหมายประมงฉบับใหม่ ทำให้เรือประมงบางส่วนต้องหยุดทำประมง

กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ แบ่งเป็นสินค้าที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม การผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.6 เนื่องจากผลผลิตลดลง ส่วนสินค้าที่ใช้วัตถุดิบนำเข้า คือ น้ำมันถั่วเหลือง การผลิตปรับตัวลดลงมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 77.2 2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2558 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.3 จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่แม้จะเพิ่มขึ้น แต่อำนาจซื้อยังคงชะลอตัว

2) ตลาดต่างประเทศ ภาพรวมมูลค่าการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤศจิกายน 2558 ปรับตัวลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.8 เนื่องจากคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าลดลง จากเศรษฐกิจที่ยังคงชะลอตัว และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากการตัดสิทธิ์ GSP และการทำประมงผิดกฎ lUU ของสหภาพยุโรป ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ สับปะรดกระป๋องเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.5 เนื่องจากระดับราคาเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทอ่อนตัว ส่วนสินค้าน้ำตาลปรับตัวลดลงร้อยละ 32.5 จากระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน

3. แนวโน้ม

การผลิตคาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ยังคงเติบโตดี การได้รับคืนสิทธิ์ GSP ในกลุ่มอาหารแปรรูปจากสหรัฐอเมริกา ตลอดจนสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้าหลักฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่วนการส่งออกคาดว่า จะปรับชะลอตัวลงจากปีก่อน จากสินค้ากลุ่มประมง กลุ่มข้าวและธัญพืช จากคำสั่งซื้อของประเทศผู้นำเข้าลดลง ส่งผลให้การค้าการลงทุนซบเซาตามไปด้วย ประกอบกับเศรษฐกิจจีนที่เป็นประเทศคู่ค้าหลัก มีการเติบโตในอัตราที่ลดลง จากการปรับนโยบายเศรษฐกิจที่เน้นการพึ่งพาสินค้าในประเทศเพื่อลดการนำเข้า ผนวกกับระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะฟื้นจากการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

กลุ่มสิ่งทอมีการผลิตลดลงตามความต้องการที่ถดถอย สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชุดกีฬา จะขยายตัวได้ตามนโยบายส่งเสริมด้านการกีฬาและการท่องเที่ยวของภาครัฐ

1. การผลิต

ผลิตภัณฑ์กลุ่มสิ่งทอเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.0 เนื่องจากมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปีในส่วนการผลิตผ้าผืนลดลง ร้อยละ 13.8 และมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี เนื่องจากผู้ประกอบการชะลอการผลิตตามความต้องการที่ถดถอย ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีนและไต้หวัน

ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องนุ่งห่มเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตเสื้อผ้าถักลดลง ร้อยละ 5.9ในผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายผ้าถักชั้นนอกสตรีและเด็กหญิงในส่วนกลุ่มเสื้อผ้าทอลดลง ร้อยละ 3.9 ในกลุ่มเครื่องแต่งกายบุรุษและเด็กชาย และเครื่องแต่งกายชั้นในสตรีและเด็กหญิง จากคำสั่งซื้อสินค้าในตลาดอาเซียนและสหภาพยุโรปลดลง

2. การจำหน่าย

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มสิ่งทอ มีการจำหน่ายลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืนและผ้าขนหนู ส่วนกลุ่มเครื่องนุ่งห่มมีการจำหน่ายลดลงในส่วนเสื้อผ้าถัก ประเภทเสื้อผ้าชุดกีฬาซึ่งมีการผลิตและส่งมอบไปก่อนหน้าแล้ว แต่เสื้อผ้าทอยังขยายตัว

การส่งออกเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในภาพรวมลดลงร้อยละ 8.5 แบ่งเป็นกลุ่มสิ่งทอลดลง ร้อยละ 12.3 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ลดลง ร้อยละ 9.5 41.8 23.7 17.3 และ 12.3 ตามลำดับ โดยเฉพาะตลาดนำเข้าหลัก ได้แก่ เวียดนาม สามารถพัฒนาสิ่งทอต้นน้ำเพิ่มขึ้นจากการเข้าไปลงทุนของไต้หวันและจีน จึงลดการนำเข้าจากไทย กลุ่มเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 2.2 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าสำเร็จรูปเครื่องยกทรง รัดทรง และส่วนประกอบลดลง ร้อยละ 2.8 และ 1.3 ตามลำดับซึ่งเป็นผลจากการส่งออกไปตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรป มีมูลค่าลดลง ร้อยละ 7.6 และ14.8 ตามลำดับ ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

3. แนวโน้ม

คาดว่า กลุ่มสิ่งทอที่ผลิตสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องภายใน ประเทศจะขยายตัวไม่มากนัก จากผลกระทบของความต้องการผ้าผืนที่ถดถอยส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์สิ่งทอ คาดว่า จะหดตัวจากผลิตภัณฑ์ผ้าผืนเนื่องจากเวียดนามซึ่งเป็นตลาดหลักนำเข้าผ้าผืนจากไทยลดลง สำหรับกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป และชุดกีฬา จะขยายตัวได้ตามนโยบายส่งเสริมด้านการกีฬาและการท่องเที่ยวของภาครัฐประกอบกับภาคเอกชนมีการเตรียมการผลิตรองรับความต้องการในช่วงที่เหลือของปี

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

สถาบันเพื่อการวิจัยและวางแผนอุตสาหกรรมเหล็กของจีนคาดการณ์การบริโภคเหล็กของจีนในปี 2558 ประมาณ 668 ล้านเมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการผลิตเหล็กดิบในปี 2558 จะอยู่ที่ 806 ล้านตัน และคาดการณ์ปีหน้าว่าจะอยู่ที่ 781 ล้านตัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ความต้องการบริโภคเหล็กลดลง เนื่องจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบ New Normal ของรัฐบาลจีน รวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กปลายน้ำที่ชะลอตัวลง

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤศจิกายน 2558 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 106.76 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลง ร้อยละ 20.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุดังนี้

ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 22.97 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 40.61 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 32.40 เนื่องจากประสบปัญหาการส่งออกอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องไปยังตลาดส่งออกหลักที่สำคัญ คือ สหภาพยุโรป ที่ลดลง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องยังประสบปัญหาจากการขาดแคลนวัตถุดิบเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง

ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาวมีการผลิต ลดลง ร้อยละ 20.18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเหล็กเส้นกลม มีการผลิตลดลง ร้อยละ 34.24 เหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลง ร้อยละ 21.36 เนื่องจากสถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่อาศัยกำลังประสบภาวะชะลอตัว และมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงมากขึ้น เมื่อภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ ความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคลดลง และสถาบันการเงินระมัดระวังในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัย จึงทำให้การซื้อขายที่อยู่อาศัยชะลอลง ซึ่งมีผลต่อเนื่องมายังจำนวนที่อยู่อาศัยรอขายทั้งที่สร้างเสร็จและกำลังก่อสร้างสะสมเพิ่มขึ้นทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด

2. ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในเดือนพฤศจิกายน 2558เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่า ผลิตภัณฑ์เหล็กมีการปรับตัวลดลงทุกชนิด เช่น เหล็กแท่งแบน ลดลงจาก 106.97 เป็น 53.72 ลดลง ร้อยละ 49.78 เหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 102.56 เป็น 56 ลดลง ร้อยละ 45.40 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 111.21 เป็น 62.24 ลดลง ร้อยละ 44.03 เหล็กเส้น ลดลงจาก 108.51 เป็น 62.76 ลดลง ร้อยละ 42.16 และ เหล็กแท่งเล็ก Billet ลดลงจาก 101.88 เป็น 63.76 ลดลง ร้อยละ 37.42 เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ทรงตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้ในตลาดโลกชะลอตัว ประกอบกับประเทศที่เป็นผู้ส่งออกเหล็กรายใหญ่ของโลก เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ซึ่งมีความต้องการในประเทศลดลง แต่ต้องการรักษาระดับการผลิตไว้ จึงเพิ่มการส่งออกไปยังหลายประเทศของโลก มีผลทำให้หลายประเทศต่างใช้มาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ กลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่เหล่านี้จึงต้องหาวิธีส่งออกไปยังประเทศที่ยังไม่มีมาตรการคุ้มครองดีพอ

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กของไทยในเดือนธันวาคม 2558 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าการผลิตเหล็กโดยรวมจะลดลง ทั้งเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน เนื่องจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังชะลอตัวอยู่ นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีสถานการณ์การผลิตที่ทรงตัว แม้ว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ จะมียอดการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่เหล็กที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กนำเข้าไม่ใช่เหล็กที่ผลิตภายในประเทศ

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2558 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศโดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรถยนต์ PPV และ SUV

1.การผลิตรถยนต์

จำนวน 163,170 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีการผลิต 158,038 คัน ร้อยละ 3.25 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

2.การจำหน่ายรถยนต์

จำนวน 76,426 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2557ซึ่งมีการจำหน่าย 73,068 คัน ร้อยละ 4.60 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์PPV และ SUV เนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ที่มีการจัดเก็บภาษีตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์(CO2) อาจมีผลต่อราคาของรถยนต์ที่มีการปล่อย CO2 มาก จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคเร่งการซื้อรถยนต์ประเภทดังกล่าว

3.การส่งออกรถยนต์

จำนวน 101,650 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2557 ซึ่งมีการส่งออก 106,591 คัน ร้อยละ 4.64 โดยตลาดส่งออกชะลอตัวในประเทศแถบโอเชียเนียแอฟริกา ยุโรป รวมทั้งอเมริกากลางและอเมริกาใต้

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2558 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2557 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 52 และส่งออกร้อยละ 48

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน2558 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557

1.การผลิตรถจักรยานยนต์

จำนวน 135,714 คัน ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน2557 ซึ่งมีการผลิต 149,526 คัน ร้อยละ 9.24 โดยเป็นการปรับลดลงของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบครอบครัว

2.การจำหน่ายรถจักรยานยนต์

จำนวน 121,599 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน2557 ซึ่งมีการจำหน่าย 121,025 คัน ร้อยละ 0.47 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถจักรยานยนต์แบบสกูตเตอร์และแบบสปอร์ต

3.การส่งออกรถ

จักรยานยนต์สำเร็จรูป(CBU) จำนวน 25,247 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน2557 ซึ่งมีการส่งออก 22,872 คัน ร้อยละ 10.38 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการส่งออกในประเทศสหรัฐอเมริกาเนเธอร์แลนด์ และฟิลิปปินส์

4.แนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม2558 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2557 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2558 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80 และส่งออกร้อยละ 20

5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
"ในภาพรวมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยหากพิจารณาจากกราฟจะเห็นว่าปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศทรงตัวอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบห้าปีที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงกลางปี และมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ สำหรับมูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงเช่นกัน เนื่องจากฐานตัวเลขการส่งออกของช่วงปลายปี 2557 สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การส่งออกปูนซีเมนต์ของไทย ประกอบกับประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ เมียนมาร์ และกัมพูชา ปรับลดการสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลงมาก"
1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนพฤศจิกายน 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในประเทศลดลงร้อยละ 22.09 และร้อยละ 18.44 ตามลำดับ

หากพิจารณาจากกราฟแสดงปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ จะเห็นได้ว่าเส้นกราฟสีม่วงของปี 2558 ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวต่อเนื่องของภาคก่อสร้างและตลาดปูนซีเมนต์ในประเทศ โดยเฉพาะในเดือนนี้ที่มีตัวเลขการผลิตและจำหน่ายต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นส่งผลให้ความมั่นใจในการลงทุนของภาคเอกชนลดลง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศลดลงตาม

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนพฤศจิกายน 2558 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.64

เมื่อพิจารณาจากกราฟ จะเห็นว่ามูลค่าการส่งออกปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานตัวเลขการส่งออกช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2557 สูงมาก ประกอบกับเมียนมาร์และกัมพูชาซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยปรับลดคำสั่งซื้อปูนซีเมนต์จากไทยลง ถึงแม้ว่าระยะหลังอินโดนีเซียจะมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จากไทยเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่สามารถทดแทนส่วนที่ลดลงของเมียนมาร์และกัมพูชาได้

3. แนวโน้ม

การผลิตและจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว โดยคาดว่าจะรักษาระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี เช่นเดียวกับทุกเดือนในช่วงครึ่งปีหลังที่ผ่านมา เนื่องจากภาคเอกชนน่าจะยังไม่ขยายการลงทุนมากนักถึงแม้รัฐบาลจะมีมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองออกมาเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม เนื่องจากมาตรการดังกล่าวไม่ได้มีผลเฉพาะกับโครงการที่ก่อสร้างใหม่เท่านั้น จึงไม่ส่งผลให้มีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นมากเท่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ สังเกตได้จากปริมาณการผลิตและจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่ยังคงลดลงต่อเนื่องในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน

สำหรับแนวโน้มการส่งออก คาดว่าจะมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากฐานของปีก่อนสูงมาก ประกอบกับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยทั้งเมียนมาร์และกัมพูชายังลดลงอย่างต่อเนื่องทำให้บริษัทผู้ผลิตอาจต้องหาตลาดใหม่เพื่อระบายสต็อก

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤศจิกายน 2558 มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.48 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.52 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้น และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 2.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ที่ปรับตัวลดลง

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/                มูลค่า           %YoY
          อิเล็กทรอนิกส์            (ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
          อุปกรณ์ประกอบของ           1,432.37         -8.96

เครื่องคอมพิวเตอร์

          แผงวงจรไฟฟ้า                640.13         +1.92
          เครื่องปรับอากาศ              272.10         +4.73
          กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้อง         165.22        -16.38

ถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล

          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า           4,377.89         -8.09

และอิเล็กทรอนิกส์

ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤศจิกายน 2558 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 102.42 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.48 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้ามีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 101.39 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.52 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ที่ปรับตัวเพิ่มมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน คอนเดนซิ่ง เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วน แฟนคอยล์ยูนิต และคอมเพรสเซอร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.89 19.48 และ 14.82 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศไปสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนเครื่องรับโทรทัศน์ปรับตัวลดลงร้อยละ 63.89 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ 103.06 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ HDDและ Semiconductor ปรับตัวลดลงร้อยละ 18.83 และ 5.61 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน๊ตบุ๊คในตลาดโลกลดลง ยกเว้นกลุ่ม Monolithic lC และ Other lC เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.42 และ 1.56 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการส่งออกไปประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นมากตามความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มสูงขึ้น

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ต่อ)

2. การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤศจิกายน 2558 มีมูลค่า 4,377.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 8.09 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า มีมูลค่าการส่งออก 1,818.83 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 9.58 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อาเซียน จีน และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 27.02 5.20 และ 9.50 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ ยกเว้น สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.25 และ 2.59 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ มีมูลค่าส่งออก 272.10 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.73 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกไปสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 61.94 และ 2.99 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้ารองลงมาคือ กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล มีมูลค่า 165.22 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 16.38 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นลดลงมากถึงร้อยละ 28.07 29.27 และ 13.77 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีมูลค่า 109.34 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 20.17 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกไปสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ลดลงร้อยละ 59.50 และ 34.92 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าการส่งออก 2,559.06 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 13.28 13.61 8.84 และ 16.39 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีมูลค่าส่งออก 1,432.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.96 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักทุกตลาดลดลง ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป จีนสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 9.99 18.54 12.83 11.53 และ 13.49 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน รองลงมา คือ แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 640.13 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.92 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไปจีน และญี่ปุ่น เพิ่มขึ้นร้อยละ 124.82 และ 3.61 แต่การส่งออกไปอาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 3.67 4.68 และ 3.83 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนธันวาคม 2558 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ลดลงร้อยละ 4.20 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกัน ของปีก่อน โดยอุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่าจะลดลงร้อยละ 1.39 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศ และการส่งออกไปตลาดหลักยังไม่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะปรับตัวลดลงร้อยละ 5.60 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิต HDD ลดลงตามความต้องการคอมพิวเตอร์ที่มีการปรับตัวลดลง

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ