สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 ปี 2559 (เมษายน - มิถุนายน 2559)(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 6, 2016 14:53 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.2 จากไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 และขยายตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 โดยปัจจัยที่ทำให้ขยายตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 คือ การเพิ่มขึ้นของภาคนอกเกษตร จากการขยายตัวได้ดีของสาขาการก่อสร้างและภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรมหดตัวจากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลง ขณะที่ภาคเกษตรหดตัวตามปริมาณผลผลิตพืชผลสำคัญที่ลดลงจากผลกระทบปัญหาภัยแล้ง

ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 หดตัวร้อยละ 0.3 หดตัวจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 และหดตัวจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 การที่ GDP สาขาอุตสาหกรรมหดตัวจากไตรมาสที่ 4 ปี 2558 เนื่องจากอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูปและอุตสาหกรรมสิ่งทอที่หดตัวต่อเนื่องจากการสูญเสียความสามารถในการแข่งขันโดยเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อุตสาหกรรมยาสูบลดการผลิตลงเพื่อลดระดับปริมาณสินค้าคงคลัง ขณะที่อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นประจำปี

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.0-3.5 จากปี 2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8

สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 พบว่า บางตัวยังมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ เป็นต้น ส่วนมูลค่าการส่งออกในภาพรวมหดตัวร้อยละ 1.6 (ม.ค.-มิ.ย.59) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น

ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และการลงทุนภาคเอกชนลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2558 และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม)

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI)ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 106.5 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (112.2) ร้อยละ 5.1 แต่ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (104.9) ร้อยละ 1.5

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ แป้งมัน กลูโคส เครื่องสำอางและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 0.2 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีขยายตัว ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องสำอางและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด เครื่องประดับเพชรพลอย ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ เป็นต้น

ดัชนีการส่งสินค้า

ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 109.5 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (112.6) ร้อยละ 2.8 แต่ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (107.0) ร้อยละ 2.3

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม น้ำมันพืช เครื่องสำอางและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์รถจักรยานยนต์ เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ดัชนีการส่งสินค้าขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 1.8 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการส่งสินค้าขยายตัว ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องประดับเพชรพลอย อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ เป็นต้น

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง

ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดแคลน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 110.9 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (119.6) ร้อยละ 7.3 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (111.8) ร้อยละ 0.8

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ สายไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องสำอางและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เสื้อผ้าสำเร็จรูป เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 ร้อยละ 0.4 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังลดลง ได้แก่ เครื่องสำอางและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ยาง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตเต็มที่ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 64.4 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (ร้อยละ 68.8) แต่ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (ร้อยละ 63.6)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ หลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบสำหรับยานยนต์ ผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า เครื่องสำอางและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด เป็นต้น

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องสำอางและเคมีภัณฑ์ที่ใช้ในการทำความสะอาด ผลไม้และผักกระป๋อง แป้งมัน กลูโคส เป็นต้น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเฉลี่ยรวมมีค่า 72.3 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (74.6) และไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (75.5) โดยแบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต พบว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ทั้ง 3 ดัชนีดังกล่าวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2558

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จากการส่งออกที่ยังหดตัว ปัญหาภัยแล้ง และราคาพืชผลทางการเกษตรที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมถึงความวิตกกังวลของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

เมื่อแยกพิจารณาในแต่ละดัชนี พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีค่า 61.1 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (63.5) และยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เนื่องจากยังคงมีปัจจัยหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคกังวล

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีค่า 67.4 ลดลงจากไตรมาสผ่านมา (69.6) และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวการณ์จ้างงานโดยรวมยังไม่ดี ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ยังปรับตัวอยู่ในระดับต่ำ

ดัชนีความเชื่อมั่นในผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีค่า 88.4 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (90.6) และยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แม้ว่าผู้บริโภคจะกังวลเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตแต่ระดับความเชื่อมั่นยังคงสูงกว่าความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจและโอกาสหางานทำ

จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีค่าเท่ากับ 50.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (49.4) และไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (48.2) โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ดัชนีโดยรวมมีค่าเท่ากับ 50.0 แสดงว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจทรงตัว สำหรับดัชนีที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อทั้งหมด การลงทุนของบริษัท การจ้างงานของบริษัท และการผลิตของบริษัท

ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2559 ดัชนีโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2558 โดยดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ผลประกอบการของบริษัท การลงทุนของบริษัท และการผลิตของบริษัท

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)

จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พบว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 85.6 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (86.0) แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 (85.2) การที่ค่าดัชนียังอยู่ระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นว่าภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นเป็นรายเดือน จะเห็นว่าดัชนีในเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ระดับ 85.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 86.4 ในเดือนพฤษภาคม 2559 และอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 โดยค่าดัชนีที่ปรับลดลงเป็นผลมาจากการลดลงของดัชนีด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2559 ลดลง คือ จากความกังวลต่อความเปราะบางของเศรษฐกิจภายในประเทศ ปัญหาการแข่งขันด้านราคา การขาดแคลนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนความกังวลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และผลกระทบจากการลงมติของสหราชอาณาจักรที่สนับสนุนการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (BREXIT) นอกจากนี้ ผู้ประกอบการได้มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ได้แก่ สนับสนุนให้มีการพัฒนาสินค้าอุตสาหกรรมโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันได้ในต่างประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจเพื่อเพิ่มศักยภาพ และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Digital Economy) ส่งเสริมการใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) เพื่อป้องกันสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพจากต่างประเทศ ให้ภาครัฐเร่งการลงทุนโดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ เร่งแก้ปัญหาการเข้าถึงเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดย่อม และเร่งกระตุ้นและพัฒนาการค้าชายแดนโดยเฉพาะกับประเทศเมียนมาร์

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ

ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ระดับ 155.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2559 ร้อยละ 0.4 ที่ระดับ 154.8 ตามการขยายตัวของพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาล การส่งออก ณ ราคาคงที่ และปริมาณเงินตามความหมายกว้าง ณ ราคาคงที่

สำหรับดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีค่าเฉลี่ย 155.3 ปรับตัวลดลง ร้อยละ 0.9 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 156.6

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ

ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ระดับ 128.4 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากเดือนพฤษภาคม 2559 ร้อยละ 0.1 ที่ระดับ 128.5 ตามการหดตัวของการนำเข้า ณ ราคาคงที่ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ

ดัชนีพ้องเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีค่าเฉลี่ย 128.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 จากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่าเฉลี่ย 127.8

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีค่า 118.7 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 113.8 และไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ที่ระดับ 113.4 ซึ่งเครื่องชี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้าในทุกประเภทกิจการ ปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ปริมาณการจำหน่ายโซดาและน้ำดื่มบริสุทธิ์ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์และรถยนต์นั่ง และปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์

การลงทุนภาคเอกชน

การลงทุนภาคเอกชนโดยรวมจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย พิจารณาจากปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ และการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ พบว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนโดยรวมมีค่า 124.7 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 125.6 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ที่ระดับ 123.4

หากแยกตามรายการสินค้า พบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศและการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2558

ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558

ปริมาณการจำหน่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์ภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2558

ภาวะราคาสินค้า

จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ดัชนีราคาผู้บริโภคมีค่าเท่ากับ 106.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 105.6 และไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ที่ระดับ 106.5 การที่ราคาผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ อาหารสำเร็จรูปรวมทั้งกลุ่มอาหารสดและพลังงาน

ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีค่าเท่ากับ 102.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ผ่านมาที่ระดับ 100 แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ที่ระดับ 103.6 โดยราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2558 ส่วนราคาในหมวดผลผลิตภัณฑ์จากเหมืองและผลผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2558

แรงงานในภาคอุตสาหกรรม

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สองของปี 2559 (ข้อมูลเดือนมิถุนายน2559) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.701 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 38.167 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.62 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.39 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.01)

สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมไตรมาสที่สองของปี 2559 มีจำนวน 6.146 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 16.10 ของผู้มีงานทำทั้งหมด

การค้าต่างประเทศ

มูลค่าการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 มีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญยังอยู่ในสภาวะชะลอตัว ประกอบกับราคาสินค้า โภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับลดลง ส่งผลให้การส่งออกและการนำเข้ามีมูลค่าลดลง สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 นี้ เกินดุลการค้าเป็นมูลค่า 4,224.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 หดตัวลงเนื่องจากการส่งออกที่กลับมาหดตัวลงร้อยละ 4.07 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัวลง ประกอบกับการนำเข้าที่ยังคงหดตัวอย่างต่อเนื่อง จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกปรับตัวลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งการนำเข้ามีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.44 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการค้าต่างประเทศของไทยในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าทั้งสิ้น 98,391.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 51,308.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้า 47,083.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2559 นั้น มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.68 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 สำหรับดุลการค้าในไตรมาสที่ 2 นี้ อยู่ในสภาวะเกินดุลการค้า โดยมีมูลค่า 4,224.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงโดยตลอดทั้ง 3 เดือน แต่เป็นการลดลงที่มีแนวโน้มชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนเมษายนมีมูลค่า 15,545.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.00 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อมาในเดือนพฤษภาคมการส่งออกมีมูลค่า 17,616.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 4.40 และการส่งออกในเดือนมิถุนายนลดลงเพียงร้อยละ 0.08 เมื่อ

เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออก 18,146.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

โครงสร้างการส่งออก

การส่งออกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 40,666.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 79.26) ซึ่งเป็นหมวดสินค้าที่มี การส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือสินค้าเกษตรกรรม 4,705.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.17) สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 4,366.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.51) และสินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีมูลค่าการส่งออก 1,568.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.06)

เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จะพบว่าการส่งออกในหมวดสินค้าสำคัญส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลง ยกเว้นการส่งออกในหมวดสินค้า อุตสาหกรรมการเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.50 สำหรับการส่งออกสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ยังคงมีมูลค่าลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 นี้ มีมูลค่าลดลงร้อยละ 37.38 การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมมีมูลค่าลดลงร้อยละ 8.27 และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า ลดลงร้อยละ 2.41

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 มีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.41 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม 10 รายการหลัก ได้แก่ สินค้ายานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบมีมูลค่าการส่งออก 7,570.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.62 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม) เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ 7,563.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 18.60) เครื่องใช้ไฟฟ้า 5,443.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 13.39) อัญมณี และเครื่องประดับ 3,452.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 8.49) เม็ดพลาสติก 1,870.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.60) ผลิตภัณฑ์ยาง 1,628.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 4.00) สิ่งทอ 1,621.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.99) เคมีภัณฑ์ 1,575.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.87) เครื่องจักรกล และส่วนประกอบของเครื่อง 1,572.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.87) และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าการส่งออก 1,230.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.03) โดยมูลค่าการส่งออกทั้ง 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 33,529.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 82.45 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมทั้งหมด

ตลาดส่งออก

การส่งออกไปยังตลาดหลักในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 ซึ่งได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป จีนและญี่ปุ่นมีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็น ร้อยละ 66.59 ของการส่งออกทั้งหมด โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการส่งออกไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลง ยกเว้นการส่งออกไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 0.58 สำหรับการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 10.45 การส่งออกไปยังประเทศจีน มีมูลค่าลดลงร้อยละ 10.30 การส่งออกไปยัง ประเทศญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปมีมูลค่าลดลง ร้อยละ 7.49 และ 1.29 ตามลำดับ

โครงสร้างการนำเข้า

การนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 เป็นการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมากที่สุด ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้า 18,725.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 39.77) รองลงมาเป็นการนำเข้าสินค้าทุน โดยมีมูลค่า 13,120.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 27.87) สินค้าเชื้อเพลิง 6,281.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 13.34) สินค้าอุปโภคบริโภค 5,743.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 12.20) สินค้าหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง 3,109.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.60) และสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัยและสินค้าอื่นๆ 102.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 0.22)

โดยมูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่าการนำเข้าสินค้าในหมวดสำคัญส่วนใหญ่มีมูลค่าลดลง โดยการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมี มูลค่าลดลงร้อยละ 30.20 เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนสำหรับการนำเข้าสินค้าทุนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 11.06 และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปมีมูลค่าลดลงร้อยละ 2.66 สำหรับการนำเข้าสินค้าอาวุธ ยุทธปัจจัย และสินค้าอื่นๆ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.89 การนำเข้าสินค้ายานพาหนะ และอุปกรณ์การขนส่ง และสินค้าอุปโภคบริโภคมีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.11 และ 3.10 ตามลำดับ

แหล่งนำเข้า

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 แหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ อาเซียน (9 ประเทศ) ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนนำเข้ารวมคิดเป็นร้อยละ 50.00 เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่าการนำเข้าสินค้าจากแหล่งนำเข้าสำคัญทั้งหมดมีมูลค่าลดลง โดยการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐอเมริกามีมูลค่าลดลงร้อยละ 28.30 การนำเข้าจากกลุ่มประเทศในอาเซียนมีมูลค่าลดลงร้อยละ 10.55 การนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นมีมูลค่าลดลงร้อยละ 6.97 และ 2.95 ตามลำดับ

การลงทุนจากต่างประเทศ

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมีมูลค่ารวม 24,145.6 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนเมษายนมีมูลค่า 16,037.3 ล้านบาท สำหรับเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 8,108.3 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือนแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ -6,316.1 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 6,811.0 ล้านบาท โดยการลงทุนรวมในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 495.0 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 96.61 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 14,608.7 ล้านบาท

ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 2 ปี 2559 การลงทุนในกิจกรรมที่พักแรมและบริการด้านอาหารเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุดเป็นเงินลงทุน 9,710.7 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในกิจกรรมรองลงมาคือกิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัยซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 9,398.3 ล้านบาท สำหรับกิจกรรมในสาขาการผลิต หรือสาขาอุตสาหกรรมมีเงินลงทุน 495.0 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์มากที่สุดซึ่งมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 6,780.1 ล้านบาท

รองลงมาคือการผลิตเครื่องจักรและเครื่องมือ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่นมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 6,654.6 ล้านบาท การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้ามีมูลค่าลงทุนสุทธิ 4,456.2 ล้านบาท และการผลิตยางและพลาสติกมีมูลค่าลงทุนสุทธิ 3,985.9 ล้านบาท สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นการซื้อกิจการที่มีอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นการลงทุนใหม่แบบอดีต และส่วนใหญ่จะเป็นการลงทุนในกิจกรรมภาคบริการ จึงทำให้มูลค่าการลงทุนสุทธิในกิจการสาขาอุตสาหกรรมลดลง

ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2559 คือประเทศสิงคโปร์ซึ่งมีเงินลงทุนสุทธิ 10,445.3 ล้านบาท รองลงมาคือประเทศเนเธอร์แลนด์และประเทศสหรัฐอเมริกาโดยมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 9,674.3 ล้านบาท และ 6,455.5 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 403 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 461 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 186,550 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 195,130 ล้านบาท โดยโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 139 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 29,510 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ จำนวน 94 โครงการ เป็นเงินลงทุน 61,660 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 170 โครงการ เป็นเงินลงทุน 95,380 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนพบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนที่มีเงินลงทุนมากที่สุด คือ หมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตรมีเงินลงทุน 65,410 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดกิจการบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 61,930 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 21,180 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2559 พบว่านักลงทุนจากประเทศหลักที่มีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด คือประเทศจีน โดยได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 26 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 20,033 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศออสเตรเลียได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 10 โครงการ มีเงินลงทุน 18,546 ล้านบาท ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวน 61 โครงการที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งมีเงินลงทุน 15,769 ล้านบาท และประเทศมาเลเซียมีจำนวนโครงการได้รับอนุมัติ 14 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 5,610 ล้านบาท

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ