ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เดือนกุมภาพันธ์ 2561 และแนวโน้มไตรมาสที่ 2 ปี 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 25, 2018 14:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรม

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ยังคงขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 นับจากเดือนพฤษภาคม 2560 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2561 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 นอกจากนี้ในด้านของกำลังซื้อในประเทศก็มีทิศทางที่ดีเช่นกัน โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชน1ขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนตามการใช้จ่ายที่ขยายตัวในทุกหมวด โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนขยายตัวดีโดยจะเห็นจากปริมาณการจำหน่ายยานยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.3 และปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภค บริโภค เช่น เสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวร้อยละ 25.1 สำหรับการจำหน่ายสินค้าหมวดบริการ (โรงแรมและภัตตาคาร และการขนส่ง) ขยายตัวเนื่องร้อยละ 8.6

สำหรับ 3 เดือนที่ผ่านมา (พฤศจิกายน ธันวาคม และมกราคม 2561) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI(%MoM) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงตามปกติ กล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายนมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 6.5 เดือนธันวาคม -3.2 และเดือนมกราคม 2561 ร้อยละ 5.0 ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลในรอบปี ที่ MPI จะเร่งตัวขึ้นค่อนข้างมากในเดือนพฤศจิกายนเพื่อเตรียมรองรับคำสั่งซื้อในช่วงเทศกาลปีใหม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน (%YoY) ย้อนหลัง 3 เดือน MPI เดือนพฤศจิกายน ธันวาคม และมกราคม 2561 จะเห็นได้ว่าแนวโน้มการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดกล่าวคือ ในเดือนพฤศจิกายนมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 6.3 ธันวาคม 5.8 และมกราคม 2561 ร้อยละ 4.7 สะท้อนทิศทางการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพมากขึ้น

อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนกุมภาพันธ์ 2561 ขยายตัว คือ

  • รถยนต์ ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออก เนื่องจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่จากค่ายรถต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผู้บริโภคทยอยสิ้นสุดการถือครองรถยนต์ภายใต้โครงการรถยนต์คันแรก และเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.27 ประกอบกับตลาดส่งออกที่มีคำสั่งซื้อต่อเนื่องจากตลาดฟิลิปปินส์ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวร้อยละ 4.0
  • การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ร้อยละ 33.9 จากน้ำมันดีเซล น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เป็นหลัก จากการหยุดเดินเครื่องจักรเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงกลั่นบางโรงในปีก่อน และจากความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการท่องเที่ยวที่เติบโตสูง ทำให้มีปริมาณขนส่งสินค้าและการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น
  • น้ำมันพืช จากน้ำมันปาล์มดิบเป็นหลัก โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.5 เนื่องจากช่วงต้นปี 2560 พื้นที่เพาะปลูกในภาคใต้ประสบปัญหาน้ำท่วมไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลปาล์มได้ ประกอบกับพื้นที่ในการปลูกปาล์มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่งผลให้น้ำมันปาล์มดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น
  • Hard Disk Drive เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.4 เนื่องจากผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อจากบริษัทแม่เพิ่มขึ้นจากการปิดฐานการผลิตของประเทศจีนและสิงคโปร์ รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการใช้งาน IoT (Internet of Things)

ในส่วนของการคาดการณ์ คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2/2561 จะขยายตัวเป็นบวกในช่วงร้อยละ 3.5 – 4.0 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่คาดว่าจะขยายตัว ได้แก่ รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 2/2560 MPI ในไตรมาสที่ 2/2560 ขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง แรงขับเคลื่อนในการลงทุนภาครัฐ ประกอบกับการดำเนินโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งร่างพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น

นอกจากนี้ สถานการณ์ภาพรวมทางเศรษฐกิจมหภาคในประเทศยังคงมีแนวโน้มที่ดี โดยการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่วนของการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามทิศทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการใช้จ่ายของภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพร้อมกับการส่งออก

เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนกุมภาพันธ์ 2561

การนำเข้าของภาคอุตสาหกรรมไทย

การนำเข้าเครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีมูลค่า 1,395.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องยนต์ เพลาส่งกำลังและส่วนประกอบเครื่องจักรใช้ในการก่อสร้างและส่วนประกอบ และเครื่องจักรใช้ในการแปรรูปโลหะ ที่ขยายตัว

การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีมูลค่า 6,902.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 17.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ตามการนำเข้าเคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ขยายตัว

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรม

จำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 278 โรงงาน ลดลงจากเดือนมกราคม 2561 ร้อยละ 18.24 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.09 (%YoY)

มูลค่าเงินลงทุนรวมจากโรงงานที่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีมูลค่ารวม 13,783 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2561 ร้อยละ 9.91 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปี 2560 ร้อยละ 0.47 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์2561 คือ โรงงานสำหรับเลื่อย ไส ซอย เซาะร่อง เพื่อทำเฟอร์นิเจอร์จากไม้แปรรูป(22โรงงาน) รองลงมาคือ อุตสาหกรรมคัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย(20โรงงาน)"

"อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 คือ อุตสาหกรรมการทำน้ำตาลทรายดิบ หรือน้ำตาลทรายขาวโดยมีมูลค่าการลงทุน 4,207 ล้านบาท รองลงมาคืออุตสาหกรรมผลิตแผ่นใยไม้อัดความหนาแน่นปานกลางมีมูลค่าการลงทุน 1,688 ล้านบาท"

จำนวนโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีจำนวนทั้งสิ้น 96 ราย ลดลงจากเดือน 2561 มกราคม ร้อยละ 30.43 (%MoM) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.07 (%YoY)

เงินทุนของการเลิกกิจการมีมูลค่ารวม 904 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมกราคม 2561 ร้อยละ 75.44 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.02 (%YoY)

"อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานที่การเลิกกิจการมากที่สุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 คือ อุตสาหกรรมโรงงานทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งในอาคารจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้(12 โรงงาน) และอุตสาหกรรมการทำวงกบขอบประตู หน้าต่าง บานหน้าต่าง บานประตู(7 โรงงาน)

"อุตสาหกรรมที่มีการเลิกประกอบกิจการโดยมีเงินลงทุนสูงสุด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 คือ อุตสาหกรรมโรงงานทำเครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งในอาคารจากไม้ เฟอร์นิเจอร์ไม้มูลค่าเงินลงทุน 161 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการบรรจุก๊าซมูลค่าเงินลงทุน 142 ล้านบาท"

ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายสาขา เดือนกุมภาพันธ์ 2561

1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิต และมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งอุตสาหกรรมอาหารยังได้รับแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกที่ความต้องการบริโภคขยายตัว และการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น(YoY) ร้อยละ 0.7 แบ่งเป็น

1) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดส่งออก คือ ทูน่ากระป๋องปรับตัวเพิ่มขึ้น (YoY) ร้อยละ 11.5 เนื่องจากความกดดันด้านราคาวัตถุดิบคลายตัวทำให้คำสั่งซื้อขยายตัวขึ้นและการผลิตไก่แปรรูปปรับตัวเพิ่มขึ้น (YoY) ร้อยละ3.4 เพื่อรองรับความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีต่ออุตสาหกรรม เป็นผลให้ประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะญี่ปุ่นเพิ่มคำสั่งซื้ออย่างต่อเนื่อง

2) กลุ่มสินค้าที่อิงตลาดภายในประเทศ คือ น้ำมันปาล์มดิบ และน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น (YoY) ร้อยละ 88.8 26.9 ตามลำดับ เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูก ประกอบกับการผลิตไก่แช่แข็งปรับตัวเพิ่มขึ้น(YoY) ร้อยละ 8.3 จากความต้องการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

การตลาดในประเทศปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศ เดือนกุมภาพันธ์2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น (YoY) ร้อยละ 3.0 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น อีกทั้งยังได้รับอานิสงค์จากเทศกาลตรุษจีนทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้น

ตลาดต่างประเทศภาพรวมมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้น (YoY)ร้อยละ 7.9 ในกลุ่มสินค้าที่สำคัญ เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งซาร์ดีนกระป๋อง ข้าวขาว ไก่แปรรูป ข้าวหอมมะลิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และบะหมี่ กึ่งสำเร็จรูป ปรับตัวเพิ่มขึ้น (YoY) ร้อยละ 37.4 35.9 20.8 15.9 14.7 14.2 และ 5.6 ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวที่เข้มแข็งและต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม

"คาดว่าการผลิต และการส่งออกในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารเดือนมีนาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากปัจจัยบวกที่ทำให้การผลิตสินค้าสำคัญเพิ่มขึ้น เช่น กลุ่มปศุสัตว์ (ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูป) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากการระบาดของไข้หวัดนก และเพื่อรองรับเทศกาลในประเทศคู่ค้าประกอบกับ สินค้าข้าว (ข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ) ที่ประเทศคู่ค้ามีความต้องการเพิ่มขึ้น ผนวกกับเศรษฐกิจภายในประเทศมีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง"

2.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

การผลิต

ผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 และ 1.03 (YoY) โดยเป็นการขยายตัวในกลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ ซึ่งผู้ประกอบการรายใหญ่ได้มีการพัฒนาเส้นใยสมบัติพิเศษต่าง ๆ เช่น เส้นใยกันยุง เส้นใยคอลาเจน เส้นใยคาร์บอน เส้นใยกันไฟ เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น และผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายบุรุษ เพื่อรองรับการส่งออกไปยังต่างประเทศ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่น

กลุ่มผ้าผืนลดลงร้อยละ 2.85(YoY) โดยเฉพาะกลุ่มผ้าทอฝ้าย ลดลงตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

การจำหน่ายในประเทศ

กลุ่มเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่มลดลง ร้อยละ 2.52 2.04 และ 2.25 ตามลำดับส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการบริโภคในประเทศยังไม่ขยายตัว เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคฟื้นตัวไม่เต็มที่จากความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังมีการฟื้นตัวไม่ชัดเจน

การส่งออก

กลุ่มเส้นใยสิ่งทอผ้าผืนและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.92 5.15 และ 5.35 โดยเส้นใยสิ่งทอ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 สินค้าส่งออกสำคัญ คือ เส้นใยประดิษฐ์ และผ้าผืนที่ผลิตจากเส้นใยประดิษฐ์ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเส้นใยและผ้าผืนที่มีสมบัติพิเศษซึ่งไทยมีศักยภาพทั้งในการผลิตและการส่งออก

โดยตลาดสำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูป ขยายตัวจากการส่งออกชุดชั้นใน และกลุ่มเสื้อผ้ากีฬา เช่น ชุดว่ายน้ำ ชุดสกี ไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

คาดการณ์แนวโน้มเดือนมีนาคม 2561

แนวโน้มการผลิตกลุ่มเส้นใยสิ่งทอและผ้าผืนคาดว่าจะขยายตัวจากการส่งออกเส้นใยสังเคราะห์และผ้าผืนที่มีสมบัติพิเศษในตลาดเอเชีย

แนวโน้มการผลิตกลุ่มเครื่องนุ่งห่มคาดว่า จะขยายตัวเนื่องจากการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป และชุดชั้นในไปยังตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสหภาพยุโรป กำลังขยายตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางขยายตัว

คาดการณ์แนวโน้มไตรมาสที่ 2/2561

ภาพรวมการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูป คาดว่า จะขยายตัวตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้า เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใย และผ้าผืน ไปยังตลาด CLMV ซึ่งเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่สำคัญของโลก ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการผลิตเส้นใยสมบัติพิเศษหลายชนิด เป็นการเพิ่มช่องทางและโอกาสทางการตลาดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่องสาขาอื่น ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม S-curve ตามเป้าหมายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี

3.อุตสาหกรรมยานยนต์

การผลิตรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561มีจำนวน 178,237คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2561ร้อยละ 7.25 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.37 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และอนุพันธ์และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์

การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 มีจำนวน 75,466 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2561 ร้อยละ 13.41 (%MoM)และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 10.27(%YoY)จากการปรับเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์ PPV รวมกับ SUV เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัวจากการขยายตัวของภาคการส่งออก ภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มขึ้น การถือครองรถยนต์คันแรกครบ 5 ปี การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ รวมทั้งการลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ

การส่งออกรถยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 มีจำนวน 102,217 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2561ร้อยละ 24.55(%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.05 (%YoY) โดยการส่งออกรถยนต์ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบโอเชียเนีย ตะวันออกกลาง และอเมริกากลางและใต้

“คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมยานยนต์ในเดือนมีนาคม ปี 2561 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ปี 2560 เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกภาคเอกชนมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับการถือครองรถยนต์คันแรกครบ 5 ปี”

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรวบรวมจากกลุ่ม อุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม

การผลิตรถจักรยานยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 มี จำนวน 182,910 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2561 ร้อยละ 0.38 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 17.03 (%YoY) จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตรถจักรยานยนต์แบบอเนกประสงค์

การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561มียอดจำหน่ายจำนวน 145,429 คันลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2561 ร้อยละ 6.23 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.39 (%YoY)

การส่งออกรถจักรยานยนต์ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 มีจำนวน 36,872 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2561ร้อยละ6.04 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.89(%YoY) โดยตลาดส่งออกมีการชะลอตัวในประเทศสหราชอาณาจักรสหรัฐอเมริกาและเนเธอร์แลนด์

“คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม ปี 2561จะชะลอตัวเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ปี 2560”

ที่มา : สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรวบรวมจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม

4. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
  • อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์รวม

การผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 มีจำนวน 6.84 ล้านตัน ลดลงจากเดือนมกราคม ปี 2561 ร้อยละ 5.59 (%MoM) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.63(%YoY)

การจำหน่ายปูนซีเมนต์รวมในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 มีปริมาณการจำหน่าย 2.99 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2561 ร้อยละ 1.42 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.49 (%YoY)

การส่งออกปูนซีเมนต์รวม ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561มีจำนวน 1.20 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2561 ร้อยละ 24.42 (%MoM) และเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.68 (%YoY)

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตปูนซีเมนต์รวม ในเดือนมีนาคม ปี 2561 จะสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อยเนื่องจากยังคงมีสต็อคในปริมาณสูงจากเดือนก่อนหน้า

  • อุตสาหกรรมซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)

การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 มีจำนวน 3.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม ปี 2561 ร้อยละ 5.63 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 9.09 (%YoY)

การจำหน่ายซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ภายในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 มียอดจำหน่ายจำนวน 2.96 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2561ร้อยละ 1.49 (%MoM) แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลง ร้อยละ 2.68 (%YoY) จากภาวะการแข่งขันในตลาดที่มีสูง และผลจากความผิดปกติของฤดูกาลที่ยังมีความแปรปรวนอยู่เป็นระยะๆ

การส่งออกซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561 มีจำนวน 0.54 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ปี 2561 ร้อยละ 7.82 (%MoM) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.56 (%YoY) เป็นผลจากตลาดส่งออกหลักปรับลดคำสั่งซื้อลง ได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และเมียนมา ร้อยละ 99.95 58.92 และ 27.59 ตามลำดับ

คาดการณ์แนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ในเดือนมีนาคม ปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้เพิ่มขึ้นด้วยคาดหวังว่าจะสามารถเดินหน้าโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐต่างๆ ได้คืบหน้ามากขึ้น ประกอบกับเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งทำให้การก่อสร้างต่างๆ สามารถดำเนินการได้สะดวกขึ้น

5. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • อุตสาหกรรมไฟฟ้า

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงทรงตัวโดยดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 0.88 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยอยู่ที่ระดับ 113.22 สินค้าที่ปรับตัวลดลงได้แก่ เครื่องปรับอากาศ คอมเพรสเซอร์ตู้เย็น และมอเตอร์ไฟฟ้า โดยลดลงร้อยละ 11.78 0.84 0.19 และ 7.87 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ในประเทศชะลอตัว และการส่งออกในบางตลาดหลักชะลอตัว ในขณะที่สินค้าที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ พัดลมตามบ้าน เครื่องซักผ้า เตาไมโครเวฟ กระติกน้ำร้อน หม้อหุงข้าว และสายไฟฟ้า โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.90 33.29 12.28 18.46 6.36 และ 20.21 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น

การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.39 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 2,002.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก ได้แก่ จีน อาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จากการส่งออกเครื่องปรับอากาศซึ่งเป็นสินค้าหลักมีมูลค่าการส่งออก 370.41 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.80 รองลงมาคือตู้เย็นมีมูลค่าส่งออก 136.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.85 และแผงสวิตซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า มีมูลค่าส่งออก 132.31 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.65 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

“คาดการณ์การผลิตเดือนมีนาคม 2561อุตสาหกรรมไฟฟ้าคาดว่ายังคงชะลอตัว จะมีดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 5.14 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะยังคงชะลอตัว คือ เครื่องปรับอากาศ จากการจำหน่ายในประเทศและคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังชะลอตัว ในขณะที่สินค้าที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เครื่องซักผ้า จากการส่งออกไปตลาดหลักจะยังคงขยายตัว โดยเฉพาะตลาดสหรัฐอเมริกา และสายไฟฟ้ายังคงใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตัว"

  • อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.56 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยมีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 98.22 เนื่องจากกลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์หลัก ได้แก่ Monolithic IC PCBA และ HDD เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.34 17.23 และ 5.10 ตามลำดับ ตามการขยายตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก IC เป็นชิ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาสินค้าที่มีการใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น รวมถึงนำไปใช้เป็นชิ้นส่วน Smart phone Tablet และ HDD มีการพัฒนาให้มีความจุมากขึ้นเพื่อใช้ใน Cloud Storage ในขณะที่ Semiconductor Other IC และ Printer ลดลงร้อยละ 0.59 3.42 และ 6.06 ตามลำดับ จากคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังคงชะลอตัว

การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.97 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนโดยมีมูลค่าการส่งออก 3,095.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยตลาดหลักทั้งหมดปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์มีมูลค่าส่งออก 1,260.83 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.31 รองลงมาคือ วงจรรวม (IC)มีมูลค่าส่งออก 643.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.39 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

“คาดการณ์การผลิตเดือนมีนาคม 2561 ดัชนีผลผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.32 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการส่งออกส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์และวงจรรวมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”

6. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ดัชนีการผลิต ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2561 มีค่า 124.59 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.89 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อพิจารณาตามผลิตภัณฑ์หลัก คือ เหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว พบว่า ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.00 เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.24 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งมีสภาพคล่องทางการเงินที่ ดีขึ้น หลังจากผ่านแผนฟื้นฟูกิจการไปเรียบร้อยแล้วรองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี และท่อเหล็กกล้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.07 และ 16.32 ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยบวกด้านราคาสินค้าเหล็กที่เพิ่มขึ้น และความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 10.29 โดยเหล็กเส้นข้ออ้อยลดลงร้อยละ 24.51 ซึ่งลดลง 5 เดือนติดต่อกันตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560-กุมภาพันธ์ 2561 รองลงมา คือ เหล็กเส้นกลมและลวดเหล็ก ลดลงร้อยละ 17.24 และ 11.59 ตามลำดับ เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศอยู่ในช่วงชะลอตัว

การจำหน่ายในประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 มีปริมาณ 1.44 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 สำหรับเหล็กทรงยาว มีปริมาณ 0.49 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 โดยเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 หลังจากลดลง 4 เดือน เนื่องจากการนำเข้าเหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณชนิด Alloy ซึ่งเป็นเหล็กคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 106.5 และ 98.6 ตามลำดับ สำหรับเหล็กทรงแบน มีปริมาณ 0.95 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่น ๆ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5

การนำเข้า ในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 การนำเข้า มีปริมาณ 0.91 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนมีปริมาณ 0.69 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 7.5 เนื่องจากการนำเข้า Tin Plate เหล็กแผ่นหนารีดร้อน และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลง ซึ่งลดลงร้อยละ 53.4 47.2 และ 36.9 ตามลำดับ ส่วนเหล็กทรงยาว มีปริมาณ 0.23 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.2

“แนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมีนาคม 2561คาดการณ์ว่า การผลิตลดลงร้อยละ 8.12 โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาว ลดลงร้อยละ 5.95 โดยเหล็กเส้นข้ออ้อย ลดลงร้อยละ 17.97 รองลงมา คือ ลวดเหล็กแรงดึงสูง ลดลงร้อยละ 7.01 เนื่องจากอุตสาหกรรมก่อสร้างอยู่ในช่วงชะลอตัว สำหรับเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.72 เหล็กโครงสร้าง รูปพรรณชนิดรีดเย็น ลดลงร้อยละ 0.81 และท่อเหล็กกล้า ลดลงร้อยละ 14.98 ขณะที่ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบน ลดลงร้อยละ 9.02 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลงร้อยละ 40.66 รองลงมา ได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงร้อยละ 12.52 เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง คือ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีดัชนีผลผลิตลดลง ร้อยละ 4.20”

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ