พม.หวั่นมาตรการเคอร์ฟิว ละเมิดสิทธิเด็ก เล็งนัดหารือตำรวจ ถกหาทางออกที่ชัดเจน

ข่าวทั่วไป Friday January 21, 2011 17:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--พม. วันที่ ๒๑ ม.ค.๕๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนพญาไท อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยภายหลัง “การประชุมคณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/ ๒๕๕๔” โดยกล่าวถึงกรณีกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) เตรียมออกมาตรการห้ามเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ออกจากบ้านหลังเวลา ๒๒.๐๐ น.เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ว่า จากการหารือร่วมกับคณะกรรมการฯ มีทั้งส่วนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับมาตรการเคอร์ฟิวเด็ก อายุต่ำกว่า ๑๘ ปี โดยส่วนใหญ่ มีความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันในเรื่องของหลักการ ที่มุ่งลดอาชญากรรมที่เกิดขึ้น ต่อเด็กและเยาวชน แต่ยังมีข้อกังวลในวิธีการปฏิบัติตามมาตรการ ซึ่งอาจไปละเมิดสิทธิเด็กและยังไม่มีกฎหมายมารองรับที่ชัดเจน เช่น พบเด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี แล้วนำไปที่สถานีตำรวจ ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสม อีกทั้งมีความห่วงใยในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจบางคน ซึ่งอาจดำเนินการอย่างไม่โปร่งใส แสวงหาผลประโยชน์จากคำสั่งของต้นสังกัดไปยัดเยียด ข้อกล่าวหาต่อผู้บริสุทธิ์ ซึ่งปรากฏตามข่าวอยู่บ่อยครั้ง ดังกรณีนิสิตจุฬา โดนยัดข้อหามียาเสพติดไว้ครอบครอง โดยภายหลังพิสูจน์ได้ว่า เป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ได้กระทำความผิดแต่อย่างใด เป็นต้น โดยเฉพาะการไปปฏิบัติต่อกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็ก จะเป็นการทำร้ายจิตใจ ทำให้เด็กเสียอนาคต และไม่มีโอกาสที่จะต่อสู้ได้ และเห็นว่าเครื่องมือทางกฎหมายที่มีอยู่เดิมนั้น เช่น การใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้จัดการได้อย่าง มีประสิทธิภาพเพียงพออยู่แล้ว “เบื้องต้นมีข้อสรุปว่า ควรให้ตำรวจชี้แจงถึงมาตรการและวิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อน ซึ่งจะได้เร่งนัดหารือกับผู้บัญชาการตำรวจนครบาลหรือผู้แทน เพื่อทำความเข้าใจและกำหนดมาตรการที่ชัดเจนร่วมกันต่อไป” นายอิสสระ กล่าว ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าวว่า ในกรณีนี้ควรมุ่งเน้นในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่ ในการจัดการกับสถานที่ประกอบการที่ล่อแหลม เช่น สถานบันเทิงหรือร้านเกมส์ ซึ่งไม่ควรเปิดให้บริการแก่เด็กอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี หลังเวลา ๒๒.๐๐ น.มากกว่าการวางมาตรการกำหนดโทษต่อตัวเด็กโดยตรง อีกทั้งการสอดส่องดูแลเด็กนั้น ต้องทำตลอด ๒๔ ชั่วโมง ไม่ควรให้ความสำคัญเฉพาะหลังเวลา ๒๒.๐๐ น.เท่านั้น.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ