จดหมายเปิดผนึกจากหัวเว่ย โดย มร. เคน หู รองประธานบริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ และประธานบริษัทหัวเว่ย สหรัฐอเมริกา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 25, 2011 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--หัวเว่ย รายงานข่าวกรณีการซื้อทรัพย์สินของบริษัททรีลีฟ ซิสเต็มส์โดยหัวเว่ย ได้กลายเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันอย่างมากในหลายประเทศ หัวเว่ยต้องการที่จะใช้โอกาสนี้นำเสนอข้อเท็จจริงโดยละเอียดเบื้องหลังกรณีดังกล่าว เพื่อสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบัน และเปิดเผยความจริงเกี่ยวกับข่าวลือและข้อกล่าวหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับบริษัท ฟิวเจอร์เว่ย บริษัทลูกของหัวเว่ยในสหรัฐฯ ได้ทำการซื้อทรัพย์สินบางส่วนของบริษัททรีลีฟ ซิสเต็มส์ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฏาคม 2553 โดยทรีลีฟเป็นบริษัทในอุตสาหกรรมไอทีที่ตั้งอยู่ ณ เมืองซานตา คลารา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ในขณะนั้น ทรีลีฟกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อปิดกิจการ โดยนอกจากฟิวเจอร์เว่ยแล้ว ก็ไม่มีผู้อื่นแสดงความสนใจที่จะซื้อทรัพย์สินของทรีลีฟแต่อย่างใด หัวเว่ยได้ยื่นคำร้องต่อสำนักงานอุตสาหกรรมและความมั่นคง ภายใต้ความดูแลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ เพื่อขออนุมัติการซื้อทรัพย์สินดังกล่าว นอกจากนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ยังได้ยืนยันกับหัวเว่ยอีกด้วยว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องขอใบอนุญาตเพื่อการนำเอาเทคโนโลยีของทรีลีฟไปใช้งานนอกสหรัฐ หลังจากนั้น หัวเว่ยได้ทราบว่าคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนต่างชาติในสหรัฐ (Committee on Foreign Investment in the United States — CFIUS) มีความสนใจในรายละเอียดของข้อตกลงทางธุรกิจกับทรีลีฟ บริษัทจึงตัดสินใจยื่นเรื่องให้ทางคณะกรรมการ CFIUS เริ่มต้นพิจารณาการซื้อขายดังกล่าวทันทีในเดือนพฤศจิกายน 2553 ต่อมา เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554 คณะกรรมการ CFIUS ได้แนะนำให้หัวเว่ยถอนตัวออกจากข้อตกลงซื้อทรัพย์สินของทรีลีฟ ภายใต้เงื่อนไขของทาง CFIUS เอง ในระยะแรก หัวเว่ยได้ตัดสินใจที่จะปฏิเสธข้อแนะนำดังกล่าว เพื่อเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียด แต่ในที่สุดแล้ว บริษัทก็ได้ถอนตัวออกจากข้อตกลงกับทรีลีฟเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการ CFIUS เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้สถานการณ์ดังกล่าวบานปลายยิ่งขึ้น หลังจากพบว่าสื่อมวลชนทั่วโลกได้ให้ความสนใจในกรณีนี้เป็นอย่างมาก หัวเว่ยเชื่อว่าสหรัฐอเมริกาเป็นหนึ่งในชาติที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก เรามีความเคารพอย่างสูงในวัฒนธรรมอเมริกัน ที่มีพื้นฐานอยู่บนหลักการของประชาธิปไตย เสรีภาพ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน อันเป็นหลักการที่หัวเว่ยยึดถือมาโดยตลอด และความสัมพันธ์ของหัวเว่ยกับประชาชนชาวอเมริกันก็ได้ช่วยให้บริษัทเรียนรู้มุมมองใหม่ๆ ในการทำธุรกิจมากมาย ประธานาธิบดีบารัค โอบามาได้กล่าวไว้ในสุนทรพจน์สาบานตนเข้ารับตำแหน่งว่า “วันนี้ พวกเราทุกคนมารวมตัวกันอยู่ที่นี่ ก็เพราะว่าเราเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่กับความหวังและความสามัคคี แทนที่จะเป็นความกลัวและความแตกแยก วันนี้จะเป็นวันที่เราก้าวข้ามความขัดแย้ง การโป้ปดมดเท็จ การสาดโคลน และความเชื่อผิดๆ ที่ล้าสมัย เพื่อพัฒนาระบบการเมืองของเราอย่างจริงจัง” หัวเว่ยศรัทธาในวิสัยทัศน์นี้ และมีความมุ่งมั่นที่จะใช้แนวทางดังกล่าวเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ของเรากับคู่ค้าในสหรัฐฯ ดังเช่นที่เรากระทำมาตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประวัติหัวเว่ย บริษัทหัวเว่ย เทคโนโลยี่ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2530 ในนครเสิ่นเจิ้น ประเทศจีน และเป็นบริษัทเอกชนที่มีสถานะเป็นทรัพย์สินของพนักงาน ปัจจุบัน หัวเว่ยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก หัวเว่ยมีความตั้งใจที่จะทำการลงทุนระยะยาวในสหรัฐฯ และขณะนี้บริษัทก็ได้ว่าจ้างพนักงานอเมริกันแล้วถึง 1,000 คน ในปี 2553 บริษัทลงทุนกว่า 6,100 ล้านเหรียญสหรัฐในการซื้อผลิตภัณฑ์และบริการจากธุรกิจสัญชาติอเมริกัน ตลอดระยะเวลาการทำธุรกิจในสหรัฐ หัวเว่ยได้เพิ่มการลงทุนในด้านการวิจัยและค้นคว้าด้วยอัตราเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 66 ต่อปี โดยงบลงทุนในด้านดังกล่าวของหัวเว่ยในปีที่ผ่านมา คิดเป็นเงินจำนวนกว่า 62 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ บริษัทได้มุ่งมั่นนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่แปลกใหม่และมีคุณภาพแก่ลูกค้าในสหรัฐมาโดยตลอด และยังปฏิบัติตนด้วยความรับผิดชอบในฐานะผู้ลงทุน นายจ้าง ผู้เสียภาษี และส่วนหนึ่งของวงการธุรกิจสหรัฐฯ อีกด้วย ข้อเท็จจริงเบื้องหลังข่าวลือ เป็นที่น่าเสียใจว่าตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่หัวเว่ยลงทุนในสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับข่าวลือและความเชื่อที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริงในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นข้อกล่าวหาว่าหัวเว่ยมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับกองทัพจีน การละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา การได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลจีน และอันตรายของบริษัทต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ข่าวลือที่ไร้มูลเหตุเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของหัวเว่ยในสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก และเราก็ต้องการที่จะชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งหมดเพื่อขจัดข้อสงสัยต่างๆ ที่หลายคนยังมีต่อบริษัท ประเด็นแรกที่เราจะชี้แจงก็คือข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทมีความสัมพันธ์กับกองทัพจีน ข้อกล่าวหานี้มีต้นกำเนิดมาจากความจริงเพียงว่า มร. เริ่น เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของหัวเว่ย ได้เคยรับราชการในกองทัพบกจีนมาก่อน มร. เริ่น เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2487 โดยมีบิดาและมารดาเป็นครู และอาศัยอยู่กับครอบครัวในย่านชนบท มร. เริ่นใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ในเมืองเล็กๆ ในมณฑลกุ้ยโจว ก่อนที่จะเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่สถาบันวิศวกรรมโยธาและสถาปัตยกรรมฉงชิ่ง และสำเร็จการศึกษาในปี 2506 หลังจากนั้น มร. เริ่นเข้าทำงานเป็นวิศวกรจนกระทั่งปี 2517 เมื่อเขากลายเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยวิศวกรในกองทัพจีน ในขณะที่เป็นทหาร มร. เริ่นมีส่วนร่วมในการก่อสร้างโรงงานเส้นใยเคมีเลี่ยวหยางร่วมกับฝรั่งเศส และได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค วิศวกร และรองผู้อำนวยการตามลำดับ โดยในตำแหน่งรองผู้อำนวยการนี้ มร. เริ่นได้ปฏิบัติหน้าที่เสมือนกับเป็นรองผู้บริหารสูงสุดของกิจการในระดับภูมิภาค โดยไม่มีตำแหน่งทางทหารแต่อย่างใด ผลงานที่โดดเด่นดังกล่าวทำให้ มร. เริ่นได้รับเลือกให้เข้าร่วมงานสัมมนาวิทยาศาสตร์แห่งชาติในปี 2521 ก่อนที่จะถูกแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2525 หนึ่งปีให้หลัง รัฐบาลจีนได้ตัดสินใจยุบหน่วยวิศวกรของกองทัพ และ มร. เริ่นก็ได้เข้าร่วมงานกับบริษัทน้ำมัน เสิ่นเจิ้น เซาธ์ ซี ออยล์ ไม่นานนัก มร. เริ่นไม่สบายใจกับการทำงานดังกล่าว จึงได้ตัดสินใจก่อตั้งบริษัทหัวเว่ยขึ้นในปี 2530 ด้วยทุนจดทะเบียนมูลค่า 21,000 หยวน (ราว 2,500 เหรียญสหรัฐ) มร. เริ่นเข้ารับตำแหน่งประธานบริษัทในปีถัดมา และยังคงปฏิบัติงานในตำแหน่งนี้มาจนปัจจุบัน จากข้อมูลข้างต้น บริษัทต้องการจะตอกย้ำถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มร. เริ่นเป็นเพียงหนึ่งในผู้บริหารหลายๆ คนที่เคยรับราชการทหารมาก่อน ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์และบริการทั้งหมดของหัวเว่ยก็มีคุณภาพและคุณสมบัติตรงตามมาตรฐานในตลาดโลก และไม่มีหลักฐานแต่อย่างใดว่าบริษัทเคยมีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือจำหน่ายเทคโนโลยีเพื่อการทหาร ประเด็นที่สองที่หัวเว่ยอยากชี้แจงนั้นก็คือหลักปฏิบัติด้านสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญา บริษัทมีความเคารพอย่างสูงในสิทธิเหนือทรัพย์สินทางปัญญามาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นสิทธิของตนเองหรือผู้อื่น จวบจนปัจจุบัน หัวเว่ยได้ยื่นเรื่องขอจดสิทธิบัตรเป็นจำนวนกว่า 49,040 ฉบับ และได้รับสิทธิบัตรจำนวนถึง 17,765 ฉบับ นอกเหนือจากการคิดค้นเทคโนโลยีด้วยตนเองแล้ว บริษัทยังดำเนินการซื้อสิทธิในการเข้าถึงเทคโนโลยีของผู้อื่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในปี 2553 หัวเว่ยได้ลงทุนเป็นเงินมูลค่ากว่า 222 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการซื้อสิทธิดังกล่าวจากกิจการในซีกโลกตะวันตก โดยในจำนวนนี้ เป็นการซื้อสิทธิจากธุรกิจสัญชาติอเมริกันถึง 175 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ใช้เงินสูงกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการขอสิทธิเพื่อใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอเมริกันอย่างควอลคอมม์ และการที่ซิสโก้ตัดสินใจถอนคำฟ้องในกรณีความขัดแย้งด้านทรัพย์สินทางปัญญากับหัวเว่ยในปี 2546 ก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าบริษัทมีความตั้งใจที่จะดำเนินธุรกิจอย่างสะอาด โปร่งใส และตรงไปตรงมาเท่านั้น ประสบการณ์เหล่านี้ ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าถึงความขัดแย้งอาจเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการทำธุรกิจ แต่การเจรจาระหว่างคู่กรณีก็สามารถคลี่คลายสถานการณ์ลงได้อย่างราบรื่นสำหรับทุกฝ่าย ส่วนความเชื่อที่ว่าหัวเว่ยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากรัฐบาลจีนนั้น ไม่เป็นความจริงอีกเช่นกัน เช่นเดียวกับบริษัทเอกชนอื่นๆ หัวเว่ยได้รับเงินทุนจากผู้ถือหุ้นและการกู้ยืมเงิน นอกจากนี้ บริษัทยังมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเสิ่นเจิ้น ซึ่งทำให้หัวเว่ยมีประสบการณ์ในการแข่งขันและเติบโตในระบบตลาดเปิดมาโดยตลอด หัวเว่ยได้รับประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษีของรัฐบาลจีนสำหรับธุรกิจในกลุ่มเทคโนโลยี และได้รับการสนับสนุนในโครงการวิจัยและพัฒนาบางประเภท ซึ่งไม่ใช่ผลประโยชน์ที่แตกต่างไปจากสิ่งที่บริษัทอื่นได้รับในประเทศจีน และยังมีความคล้ายคลึงกับมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อธุรกิจอเมริกันของรัฐบาลสหรัฐฯ อีกด้วย ในปี 2553 หัวเว่ยได้รับเงินสนับสนุนโครงการวิจัยต่างๆ จากรัฐบาลจีนราว 593 ล้านหยวน (89.75 ล้านเหรียญสหรัฐ) ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ปกติ และไม่ได้แตกต่างไปจากเงินทุนสนับสนุนกิจการที่รัฐบาลในประเทศต่างๆ มอบให้แก่บริษัทในประเทศแต่อย่างใด สำหรับเครดิตเงินกู้ของหัวเว่ยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ของจีนนั้น แท้ที่จริงแล้ว เงินกู้เหล่านี้มีไว้สำหรับสนับสนุนการลงทุนของลูกค้าของหัวเว่ย มิใช่เพื่อบริษัทหัวเว่ยเอง ในฐานะผู้ประสานงาน หัวเว่ยจะแนะนำให้ลูกค้าบางรายใช้แหล่งเงินกู้เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ และหากลูกค้าเห็นด้วย ฝ่ายลูกค้าก็จะต้องรับผิดชอบการจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารโดยตรง ทั้งนี้ โครงการที่พึ่งพาเงินกู้เหล่านี้ มีมูลค่าคิดเป็นเพียงร้อยละ 9 ของรายได้ทั้งหมดของหัวเว่ยในปี 2553 ซึ่งถือเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยในอุตสาหกรรม ในปี 2547 ธนาคารพัฒนาจีนได้ตกลงอนุมัติเครดิตเงินกู้จำนวน 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐแก่ลูกค้าของหัวเว่ย ก่อนที่จะเพิ่มมูลค่าเครดิตรวมเป็น 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 จวบจนปัจจุบัน ลูกค้าของหัวเว่ยได้รับเงินกู้จากธนาคารพัฒนาจีนไปแล้วรวมราว 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ความเชื่อที่ว่าหัวเว่ยอาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ มีรากฐานมาจากความเข้าใจแบบผิดๆ ที่ว่าเราสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อการจารกรรมข้อมูลลับ หรือโจมตีเครือข่ายและระบบคอมพิวเตอร์ต่างๆ ในสหรัฐฯ ได้ บริษัทขอชี้แจงว่าความเชื่อเหล่านี้ ไม่มีหลักฐานสนับสนุนแต่อย่างใด หัวเว่ยไม่เคยละเมิดกฎข้อบังคับด้านความปลอดภัย และยังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยในสหรัฐฯ อย่างอิเล็กทรอนิก วอร์แฟร์ แอสโซซิเอตส์ (EWA) ให้ช่วยตรวจสอบคุณสมบัติด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ของเราอย่างลึกซึ้ง ทั้งนี้ เครือข่ายที่หัวเว่ยมอบให้แก่ลูกค้าทุกรายจะต้องผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยทั้งสองฝ่ายเพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยที่สมบูรณ์แบบ หัวเว่ยเป็นบริษัทแรกในอุตสาหกรรมอุปกรณ์โทรคมนาคมที่สามารถสร้างระบบรักษาความปลอดภัยเครือข่ายแบบสมบูรณ์ที่มีขนาดครอบคลุมทั่วโลก บริษัทยังคงมุ่งมั่นที่จะเอาชนะอุปสรรคด้านความปลอดภัยต่างๆ ผ่านทางความร่วมมือกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์จากนานาประเทศ เราเชื่อว่าปัญหาด้านความปลอดภัยจะเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งขึ้นอีกในอนาคต ควบคู่ไปกับการเติบโตของปริมาณข้อมูลที่ส่งผ่านเครือข่ายดิจิตอล หัวเว่ยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมงานกับรัฐบาลในประเทศต่างๆ เพื่อจัดการกับปัญหาความปลอดภัยในทุกด้าน อับราฮัม ลินคอล์น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ เคยกล่าวไว้ว่า “นิสัยของคนเราก็เหมือนกับต้นไม้ ในขณะที่ชื่อเสียงก็เปรียบได้กับเงาของต้นไม้ต้นนั้น” ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ข่าวลือในทางลบทั้งหลายที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ ก็เป็นเหมือนเงามืดที่ตามบ่อนทำลายทั้งชื่อเสียงของหัวเว่ย และมุมมองของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อบริษัท เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะแก้ไขสถานการณ์นี้ด้วยการเริ่มต้นสืบค้นความจริงอย่างละเอียด เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริงเบื้องหลังคำครหาเหล่านี้ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมในสหรัฐฯ ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในด้านนี้ และหัวเว่ยก็ได้พยายามมาโดยตลอดที่จะแสดงศักยภาพของบริษัท เพื่อเปลี่ยนตนเองให้กลายเป็นธุรกิจรายสำคัญในตลาดนี้ แต่ทว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัท กลับต้องประสบกับความเสียหายร้ายแรงจากข้อกล่าวหาที่ไร้หลักฐานสนับสนุนเหล่านี้ โดยในบางกรณีข้อกล่าวหาเหล่านี้ มีต้นกำเนิดมาจากแรงกดดันในสภาวะการแข่งขันของตลาด หัวเว่ยขอเรียนชี้แจงว่าเทคโนโลยีด้านเครือข่ายบรอดแบนด์ไร้สายของบริษัท สามารถที่จะช่วยให้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งในสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ทั่วโลก มอบบริการประสิทธิภาพสูงที่ใช้เทคโนโลยีล่าสุดแก่ผู้บริโภคได้ ในราคาที่ไม่สูงนัก ในภาพรวมแล้ว สถานีฐานสำหรับเครือข่ายไร้สายเหล่านี้กำลังถูกพัฒนาให้มีความซับซ้อนน้อยลง และเช่นเดียวกับเครื่องโทรศัพท์มือถือทั่วไป อุปกรณ์เหล่านี้ไม่สามารถก่อให้เกิดปัญหาความมั่นคงได้เลยไม่ว่าในกรณีใด ถึงแม้ว่าหัวเว่ยจะพร้อมที่จะยุติการจำหน่ายผลิตภัณฑ์บางประเภทที่อาจสร้างความกังวลให้แก่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมในสหรัฐฯ แต่บริษัทก็อยากจะเรียกร้องขอคำแนะนำจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อจำกัดความว่าผลิตภัณฑ์ประเภทใดบ้างที่ตกอยู่ในข่ายนี้ และข้อจำกัดในการจำหน่ายนี้ จะครอบคลุมเวลานานเท่าใด เราเชื่อว่าการห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีอย่างถาวรโดยไม่มีข้อแม้นั้น เป็นข้อห้ามที่รุนแรงเกินไป และไม่ยุติธรรมเท่าใดนัก สำหรับทั้งหัวเว่ยและบริษัทอื่นๆ ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน เราหวังว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะเริ่มต้นการสอบสวนเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงเบื้องหลังความกังวลในประเด็นต่างๆ ที่มีต่อหัวเว่ย สหรัฐอเมริกาถือเป็นชาติแถวหน้าของโลกในด้านการปกครองแบบประชาธิปไตย เสรีภาพ การบังคับใช้กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน รัฐบาลสหรัฐฯ ได้พิสูจน์แล้วถึงศักยภาพในการบริหารประเทศ และความยุติธรรมในการพิจารณาข้อพิพาท หัวเว่ยประทับใจในแนวทางเหล่านี้เป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เมื่อครั้งที่เริ่มต้นลงทุนในสหรัฐฯ ราว 10 ปีก่อน และเรามั่นใจว่าในไม่ช้า รัฐบาลสหรัฐฯ จะค้นพบข้อเท็จจริงที่ว่าหัวเว่ยเป็นเพียงผู้ดำเนินธุรกิจรายหนึ่งและไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ