อังกฤษ-ไทยร่วมมือทำวิจัยระยะยาวในเด็กไทยเน้นศึกษาภาวะโภชนาการที่ก่อให้เกิดโรคเรื้อรัง

ข่าวทั่วไป Wednesday September 25, 2002 15:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--สกว.
นักวิจัยอังกฤษ ผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลเจ้าของผลงานโภชนาการของทารกตั้’แต่อยู่ในครรภ์ สัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรังในผู้ใหญ่ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง และเบาหวาน ร่วมทำงานกับนักวิจัยไทยในโครงการ “วิจัยระยะยาวในเด็กไทย” ตั้งแต่แรกคลอดจนถึงอายุ 24 ปี หวังได้องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชนและครอบครัวไทยอย่างเป็นระบบ
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีและจะมีการมอบรางวัลเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้จะมีการประกาศผลผู้ได้รับรางวัลประมาณต้นเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นการดำเนินงานปีที่ 11 สำหรับการพิจารณารางวัลจะแบ่งออกเป็น 2 รางวัลคือ รางวัลสาขาการแพทย์มอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงานหรือมีผลงานวิจัยดีเด่นทางด้านการแพทย์ และรางวัลสาขาสาธารณสุขมอบให้แก่บุคคลหรือองค์กรที่ปฏิบัติงานดีเด่นทางด้านสาธารณสุขที่เป็นประโยชน์แก่สุขอนามัยของมนุษยชาติสำหรับในปีนี้เป็นที่น่ายินดีที่มีผู้ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าเมื่อปี 2543 คือ ศ.เดวิด บาร์เกอร์ ที่ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับภาวะโภชนาการของมารดาขณะตั้งครรภ์กับความสัมพันธ์ของการเกิดโรคเรื้อรังในประชากรวัยผู้ใหญ่หลายประเทศเช่น ชิลี เนเธอร์แลนด์ อินเดีย จีน และในอีกหลายๆรัฐในสหราชอาณาจักร ได้มาร่วมทำงานวิจัยกับพญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ ผู้อำนวยการโครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)
ศ.นพ.วิจารณ์กล่าวต่อว่า ศ.เดวิด บาร์เกอร์ ได้ทำการศึกษาภาวะโภชนาการของทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์และในช่วงเริ่มต้นชีวิตสัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ อาทิ โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ความดันโลหิตสูง และเบาหวานเป็นต้น สำหรับแนวทางที่ ศ.เดวิดใช้ทำการศึกษาคือจะใช้น้ำหนักทารกแรกเกิดและความยาวของลำตัวทารก(วัดจากศรีษะถึงปลายเท้า) เป็นตัวบ่งชี้ธรรมชาติ พบว่าทารกแรกเกิดที่มีน้ำน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน(เฉลี่ย 2500 กรัม) และมีความยาวลำตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน(เฉลี่ย 50 เซนติเมตร) จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันสูงกว่าทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักและความยาวของลำตัวอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
นอกจากนี้ผลการศึกษาประชากรในประเทศฟินแลนด์ พบว่าทารกเพศหญิงที่มีความยาวลำตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 1 เซนติเมตรจะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันเพิ่มขึ้น 10.2 % ขณะที่ทารกเพศชายอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคจะสัมพันธ์กับน้ำหนักแรกเกิดและความยาวลำตัวเมื่อแรกเกิด กล่าวคืออัตราเสี่ยงจะเพิ่มขึ้น 14% เมื่อน้ำหนักแรกเกิดและความยาวลำตัวลดลงหนึ่งหน่วย และยังพบความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงคือทุกๆ 1 กก.ของน้ำหนักแรกเกิดที่ลดลงจะส่งผลให้แรงดันโลหิตเพิ่มขึ้น 2.7 มิลลิเมตรปรอท และเมื่อศึกษาติดตามการเจริญเติบโตของเด็กแรกเกิดที่มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์จนกระทั่งอายุ 6 ปี พบว่าเด็กเหล่านี้เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเด็กปกติทั่วไป
ส่วนมารดาขณะตั้งครรภ์หากกินอาหารน้อยเกินไปไม่เพียงพอต่อความต้องการของทารกโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทารกจะปรับตัวให้เจริญเติบโตช้าลง ส่งผลให้อวัยวะที่สำคัญคือ หัวใจ ระบบสมอง ปอด กระดูก ตับ และไต มีการทำงานผิดปรกติ ส่งผลให้มีอัตราเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่อีกหลายโรคเช่น โรคอ้วน คลอเลสเตอรอลในเลือดสูง กระดูกพรุนและภาวะมีลิ่มเลือดในหลอดเลือดเป็นต้น
นอกจากนี้ ศ.เดวิดยังพบว่าอีกว่าโรคเรื้อรังที่กล่าวถึงนี้มีอุบัติการการเกิดโรคและมีความรุนแรงในประชากรกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้มีรายได้ต่ำ เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มที่มีการศึกษาหรือกลุ่มที่มีรายได้สูง โรคเรื้อรังที่เกิดขึ้นในประชากรกลุ่ม ผู้ใช้แรงงาน ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้มีรายได้ต่ำ เหล่านี้มักเกิดจากความไม่รู้และสภาวะบีบบังคับทำให้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดโรคได้ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดโรคเรื้อรังเหล่านี้ควรเริ่มต้นโดยการให้ความรู้ทางโภชนากร สุขอนามัย การปฏิบัติต่างๆตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ไปจนกระทั่งคลอด เพื่อลดอุบัติการการเกิดโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งจากความรู้ที่ ศ.เดวิดค้นพบนี้เป็นที่น่ายินดีว่าจะมีการนำองค์ความรู้ดังกล่าวมาประมวลเข้ากับงานวิจัยระยะยาวในเด็กไทยเพื่อให้งานวิจัยชิ้นนี้ได้เนื้อหาชัดเจนมากขึ้น โดยเมื่อเร็วๆนี้ ศ.ดร.เดวิด บาร์เกอร์ได้ร่วมทำวิจัยภาคสนามที่ภาคใต้ และที่ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เพื่อร่วมเก็บข้อมูลและร่วมวางแผนงานวิจัยร่วมกับทีมงานด้วย
สำหรับโครงการวิจัยระยะยาวในเด็กไทยนี้ถือเป็นงานวิจัยครั้งแรกของประเทศที่มีการทำวิจัยติดตามเด็กไทยอย่างต่อเนื่องในระยะยาวตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาแรกคลอดและติดตามเป็นระยะๆจนอายุ 24 ปี โดยจะศึกษาพัฒนาการและการเติบโตของเด็ก ความสัมพันธ์ต่างๆซึ่งเกี่ยวโยงกับปัจจัยแวดล้อมภายนอกทั้งครอบครัว สิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมวัฒนธรรมของไทย โดยโครงการวิจัยดังกล่าวได้แบ่งการศึกษาเป็น 5 พื้นที่ในประเทศไทยได้แก่ ภาคกลาง (อ.พนมทวน) ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ (อ.เทพา) และกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลเป็นระยะต่อเนื่องเริ่มตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์ จนกระทั่งเด็กคลอด และติดตามต่อเนื่องเป็นระยะตามอายุคือ 1 ปี 3 ปี 5 ปี 7 ปี 9 ปี 11 ปี 13 ปี 15 ปี 18 ปี 21 ปีและ 24 ปี โดยขณะนี้ เด็กในโครงการวิจัยชุดแรกที่เก็บข้อมูลตั้งแต่มารดาตั้งครรภ์นั้น มีอายุ 1 ปี โดยโครงการวิจัยระยะยาวนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็ก เยาวชนและครอบครัวทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้องค์ความรู้ที่ชัดเจนและสอดคล้องกับความเป็นจริงของสภาพสังคมไทยอันจะเกิดประโยชน์มหาศาลต่อไปในอนาคต--จบ--
-ศน-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ