ภาวะตลาดทองคำ by Hua Seng Heng Gold Futures

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 17, 2011 10:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 พ.ย.--ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส - ปัญหายุโรปยังกดดันการลงทุน - SPDR ถือทองเพิ่มขึ้น 9.08 ตัน - คาดทองปรับฐานแต่ยังมีแรงซื้อกลับแนวรับ 1,740-1,745 ดอลลาร์ แรงกดดันจากปัญหาในยุโรปส่งผลให้ราคาทองปรับฐานลง หลังจากมีรายงานข่าวความขัดแย้งระหว่างผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมันเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาของประเทศในกลุ่มยุโรป โดยฝรั่งเศสที่เสี่ยงจะสูญเสียอันดับความน่าเชื่อถือระดับสูง ต้องการให้กลุ่มยุโรปมีมาตรการแก้ไขปัญหาของประเทศสมาชิกเพิ่มเติม แต่เยอรมันกลับมองว่ามาตรการที่มีในขณะนี้คงเพียงพอแล้ว ทำให้ตลาดยังถูกกดดันจากประเด็นปัญหาในยุโรปและสะท้อนออกมาจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของหลายประเทศในยุโรป และมีผลให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเมื่อเทียบดอลลาร์ ซึ่งกดดันราคาทองและโลหะเงินปรับฐานลง ส่วนรายงานตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐซึ่งหดตัวลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ทำให้ความต้องการถือทองคำเพื่อป้องกันเงินเฟ้อลดลง และกดดันราคาทองให้ปรับฐานลงอีกทางหนึ่งเช่นกัน โดยราคาทองปรับฐานลงไปต่ำกว่าแนวรับบริเวณ 1,760 ดอลลาร์ และลงไปทำจุดต่ำสุดระหว่างวันที่บริเวณ 1,753-1,754 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้ภาพการเคลื่อนไหวทางเทคนิคของราคาทองดูอ่อนแรงลง และคาดว่าจะปรับฐานลงสู่แนวรับที่บริเวณ 1,740-1,745 ดอลลาร์ต่อไป หรือในกรณีที่ราคาดีดตัวกลับและไม่สามารถผ่านแนวต้านบริเวณ 1,772 ดอลลาร์ได้ คาดว่าจะมีแรงขายกลับออกมาจนราคาปรับฐานลงต่อไป เช่นเดียวกันกับราคาโลหะเงินซึ่งปรับฐานลงมาเคลื่อนไหวต่ำกว่าแนวรับบริเวณ 33.80 ดอลลาร์ ทำให้การเคลื่อนไหวทางเทคนิคของราคาโลหะเงินยังมีแนวโน้มปรับฐานลงต่อ โดยมีแนวรับอยู่ที่บริเวณ 33.50 และ 33.0 ดอลลาร์ ต่อไป อย่างไรก็ตามคาดว่าช่วงที่ราคาทองปรับตัวลดลง จะดึงดูดความต้องการถือครองทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยกลับเข้ามา รวมทั้งการแก้ไขปัญหาของกรีซและอิตาลีที่เริ่มมีพัฒนาการด้านบวกมากขึ้น จนทำให้ราคาทองเริ่มมีการดีดตัวกลับ จึงยังสามารถทยอยซื้อเก็งกำไรในช่วงที่ราคาปรับฐานลง โกลด์ฟิวเจอร์สเดือนธ.ค.54 Close chg. Support Resistance 26,230 +100 26,100/26,000 26,350/26,500 ราคาทองคำปรับฐานลงหลุดแนวรับบริเวณ1,760 ดอลลาร์ ก่อนที่จะเริ่มดีดตัวกลับขึ้นมาเคลื่อนไหวเหนือบริเวณดังกล่าวได้ในช่วงเช้าวันนี้ แต่คาดว่าอาจมีแรงขายกลับออกมาอีกในช่วงที่ราคาดีดตัวขึ้นเข้าใกล้แนวต้านบริเวณ 1,772-1,775 ดอลลาร์และราคาอาจปรับฐานลงต่อ จึงสามารถเลือกเปิดสถานะขายเก็งกำไรการปรับฐานจากแนวต้านบริเวณดังกล่าว โดยมีจุดปิดสถานะตัดขาดทุนอยู่ที่ 1,780 ดอลลาร์ และหากราคาปรับฐานลงเข้าใกล้แนวรับบริเวณ 1,740-1,745 ดอลลาร์ คาดว่าจะมีแรงซื้อกลับเข้ามา การเก็งกำไรฝั่งซื้อจึงสามารถรอเปิดสถานะช่วงที่ราคาปรับฐานลงเข้าใกล้แนวรับดังกล่าว ซิลเวอร์ฟิวเจอร์สเดือนธ.ค.54 Close chg. Support Resistance 1,074 +24 1,050/1,030 1,080/1,100 ราคาโลหะเงินดีดตัวกลับขึ้นมาเคลื่อนไหวเหนือแนวรับบริเวณ 33.80 ดอลลาร์ ในช่วงเช้าวันนี้ โดยมีแนวต้านอยู่ที่บริเวณ 34.0-34.20 ดอลลาร์ หากราคายังไม่สามารถกลับขึ้นไปยืนเหนือแนวต้านดังกล่าวได้ สามารถเลือกเก็งกำไรฝั่งขายต่อ โดยมีจุดปิดสถานะตัดขาดทุนอยู่ที่บริเวณ 34.50 ดอลลาร์ อัตราแลกเปลี่ยน ยูโรร่วงลงสู่จุดต่ำสุดรอบ 5 สัปดาห์เทียบดอลลาร์และเยนในวันพุธ ในขณะที่การพุ่งขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมของฝรั่งเศสและอิตาลีทำให้นักลงทุนกังวลกับการลุกลามของวิกฤติหนี้ยูโรโซน ทั้งนี้ ดอลลาร์อยู่ที่ 76.98 เยน ขยับลงจากระดับปิดตลาดวันอังคารที่ 77.07 เยน ส่วนยูโรอยู่ที่ 1.3492 ดอลลาร์ ปรับลงจาก 1.3531 ดอลลาร์ ทางด้านยูโร/เยนอยู่ที่ 103.88 เยน ร่วงลงจาก 104.24 เยน ยูโรร่วงลงไปแตะจุดต่ำสุดของวันที่1.3427 ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุด นับตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. ส่วนยูโร/เยนร่วงลงแตะจุดต่ำสุดของวันที่ 103.37 เยน ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เข้าซื้อพันธบัตรอิตาลีและสเปน แต่ช่วยกดดันต้นทุนการกู้ยืมลงได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น โดยเมื่อการแทรกแซงตลาดสิ้นสุดลงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรก็พุ่งขึ้นอีกครั้ง ในขณะที่นักลงทุนตั้งข้อสงสัยว่า อีซีบีจะเข้าซื้อพันธบัตรได้มากเพียงใด ยูโรได้รับแรงกดดันหลังจากธนาคารยูนิเครดิตของอิตาลีระบุว่า ทางธนาคารจะขอให้อีซีบีขยายช่องทางในการระดมทุนของยูนิเครดิต โดยข่าวดังกล่าวทำให้นักลงทุนกังวลกับสถานภาพของธนาคารพาณิชย์ในยูโรโซน การเข้าซื้อพันธบัตรโดยอีซีบีช่วยกดดันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอิตาลีให้ร่วงลงสู่ 6.83 % ในช่วงแรก และช่วยหนุนยูโรให้แข็งค่าขึ้น แต่อัตราผลตอบแทนพุ่งขึ้นเหนือ 7 % ในเวลาต่อมา นายมาริโอ มอนติสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิตาลีและจัดตั้งรัฐบาลใหม่เมื่อวานนี้ แต่นักวิเคราะห์ไม่มั่นใจว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะสามารถลดความกังวลในตลาดการเงินลงได้มากพอหรือไม่ ตลาดหุ้นต่างประเทศ ตลาดหุ้นสหรัฐปิดร่วงลงในวันพุธ โดยมีคำสั่งขายเข้ามาเป็นจำนวนมากในช่วงท้ายตลาด เนื่องจากมีคำเตือนเรื่องผลกระทบที่เศรษฐกิจโลกและระบบการธนาคารอาจได้รับจากวิกฤติหนี้ยูโรโซน ทั้งนี้ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดดิ่งลง 190.57 จุด หรือ 1.58% สู่ 11,905.59, ดัชนี S&P 500 ปิดรูดลง 20.90 จุด หรือ 1.66% สู่ 1,236.91 และดัชนี Nasdaq ปิดดิ่งลง 46.59 จุด หรือ 1.73% สู่ 2,639.61 หุ้นกลุ่มการเงินและวัสดุได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจ และตลาดหุ้นก็ดิ่งลงมากยิ่งขึ้นหลังจากฟิทช์ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระบุว่าถึงแม้อุตสาหกรรมการธนาคารของสหรัฐมีแนวโน้มที่มีเสถียรภาพ แนวโน้มก็อาจย่ำแย่ลงถ้าหากวิกฤติหนี้ยูโรโซนไม่ได้รับการคลี่คลายอย่างรวดเร็ว มูดี้ส์ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของธนาคารหลายแห่งในภาครัฐบาลของเยอรมนี โดยให้เหตุผลว่ามีแนวโน้มน้อยลงที่ธนาคารกลุ่มนี้จะได้รับความช่วยเหลือจากภายนอกนักลงทุนกังวลมากยิ่งขึ้นว่าวิกฤติหนี้ยูโรโซนจะลุกลามเข้าสู่ประเทศเศรษฐกิจสำคัญ โดยค่าสเปรด (ส่วนต่าง) ระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศสประเภท 10 ปีเหนือพันธบัตรเยอรมนีได้ทะยานขึ้นแตะจุดสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มมีการใช้เงินยูโร ตลาดโลหะ ราคาทองที่ตลาดสหรัฐปิดร่วงลงในวันพุธ โดยได้รับแรงกดดันจากการร่วงลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปของสหรัฐ และจากข่าวเรื่องความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมนีในประเด็นที่ว่า ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ควรดำเนินการมากกว่านี้หรือไม่ในการสกัดกั้นวิกฤติหนี้ยูโรโซน กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปของสหรัฐปรับลดลง 0.1% ในเดือนต.ค. ซึ่งถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน และเป็นการตอกย้ำความเชื่อที่ว่าอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงขณะที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างเชื่องช้า ราคาทองได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องวิกฤติหนี้ยุโรป ในขณะที่ฝรั่งเศสต้องการให้อีซีบีดำเนินการมากยิ่งขึ้นในการแก้ไขวิกฤติหนี้ แต่เยอรมนีคัดค้านแนวคิดนี้ ทั้งนี้ ฝรั่งเศสเผชิญกับการพุ่งขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมในช่วงนี้ ในขณะที่ฝรั่งเศสเสี่ยงต่อการสูญเสียอันดับความน่าเชื่อถือขั้น AAA ราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX พุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในวันพุธ โดยได้รับแรงหนุนจากข่าวที่ว่าจะมีการพลิกกลับทิศทางการจัดส่งน้ำมันในท่อส่งน้ำมันซีเวย์ในปีหน้า โดยมีจุดประสงค์เพื่อลดปริมาณน้ำมันส่วนเกินในศูนย์กลางการจัดเก็บน้ำมันที่เมืองคุชชิง รัฐโอกลาโฮมา ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือนธ.ค.พุ่งขึ้น 3.22 ดอลลาร์ หรือ 3.24% มาปิดตลาดที่ 102.59 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนม.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนร่วงลง 30 เซนต์ หรือ 0.3% สู่ 111.88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล บริษัทเอ็นบริดจ์ อิงค์ และบริษัทเอ็นเทอร์ไพรซ์ โพรดัคท์ส พาร์ทเนอร์ส แถลงว่า ทางบริษัทวางแผนจะพลิกกลับทิศทางการจัดส่งน้ำมันในท่อส่งน้ำมันซีเวย์ ซึ่งมีกำลังการจัดส่ง 350,000 บาร์เรลต่อวัน โดยในปัจจุบันนี้ท่อส่งน้ำมันดังกล่าวจัดส่งน้ำมันจากชายฝั่งกัลฟ์โคสต์ของสหรัฐไปยังศูนย์กลางการจัดเก็บน้ำมันที่เมืองคุชชิง มาตรการใหม่นี้จะส่งผลให้มีการจัดส่งน้ำมันจากภูมิภาคมิดเวสท์ของสหรัฐไปยังเมืองฮุสตัน รัฐเท็กซัสแทน คณะผู้บริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามาของสหรัฐเสนอให้มีการปรับขึ้นประสิทธิภาพในการใช้เชื้อเพลิงของยานยนต์ขึ้นเป็นสองเท่า สู่ 54.5 ไมล์/แกลลอนภายในปี 2025 สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ของสหรัฐเปิดเผยข้อมูลสต็อกน้ำมันประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 พ.ย. โดยระบุว่าสต็อกน้ำมันดิบลดลง 1.1 ล้านบาร์เรลสู่ 337.0 ล้านบาร์เรล, สต็อกน้ำมันกลั่นลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล สู่ 133.7 ล้านบาร์เรล, สต็อกน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 1.0 ล้านบาร์เรล สู่ 205.2 ล้านบาร์เรล,สต็อกน้ำมัน heating oil เพิ่มขึ้น 800,000 บาร์เรล สู่ 37.5 ล้านบาร์เรล และอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้น 2.2% สู่ 84.2% ข่าว พรรคการเมืองกรีซป่วนลงนามข้อตกลงยุโรป ขณะอิตาลีคืบหน้าจัดตั้งรบ. นักการเมืองสายอนุรักษ์นิยมในกรีซแสดงความขัดแย้งกับคณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) โดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องที่ให้ทางกลุ่มลงนามในสัญญาว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขในมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน โดยมาตรการดังกล่าวจะช่วยให้กรีซสามารถหลีกเลี่ยงจากภาวะล้มละลายและช่วยคุ้มครองความมั่นคงของยูโรโซน นายกรัฐมนตรีปาปาเดมอสของกรีซมีแนวโน้มที่จะชนะการลงคะแนนเสียงให้ความไว้วางใจในรัฐสภากรีซ อย่างไรก็ดีสมาชิกพรรคนิว เดโมเครซีซึ่งเป็นพรรคอนุรักษ์นิยมในแนวร่วมรัฐบาลกรีซกล่าวว่าพวกเขาจะไม่ทำตามคำสั่งของอีซีในการลงนามรับประกันอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยนายอันโตนิส ซามาราส ผู้นำพรรคนิว เดโมเครซีกล่าวว่า เขาคัดค้านมาตรการที่ไม่สามารถช่วยให้เศรษฐกิจกรีซเติบโตขึ้นได้รัฐบาลประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) มีเวลาจนถึงการประชุมสุดยอดในวันที่ 9 ธ.ค. ในการหามาตรการใหม่ที่แข็งกร้าวมากยิ่งขึ้นและมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นในการแก้ไขวิกฤติหนี้ ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินขนาดใหญ่ วิกฤติหนี้มีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้าในขณะที่อิตาลี, กรีซ, ไอร์แลนด์, โปรตุเกส และสเปนจำเป็นต้องดำเนินมาตรการปรับลดงบรายจ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ ส่วนในอิตาลีนั้น นายมาริโอ มอนติ ว่าที่นายกรัฐมนตรี ประสบความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล เมื่อนายแองเจลิโน อัลฟาโน เลขาธิการพรรคพีเพิล ออฟ ฟรีดอม (PDL) ของนายซิลวิโอ เบอร์ลุสโคนีได้หารือกับนายมอนติ วิกฤติหนี้ฉุดศก.ยูโรโซนโตเพียง 0.2% ใน Q3 ขณะมีแนวโน้มถดถอยต้นปีหน้า เศรษฐกิจยูโรโซนขยายตัวเพียง 0.2% ในไตรมาส 3 ขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในเยอรมนีและฝรั่งเศสได้ถูกบดบังจากประเทศที่เผชิญกับวิกฤติหนี้ และนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยในช่วงต้นปีหน้า ทั้งนี้ การขยายตัวจากเดือนก.ค.-ก.ย.เหมือนกับในไตรมาส 2 แต่แนวโน้มสำหรับช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้เป็นไปอย่างซบเซา ขณะที่วิกฤติหนี้ที่ย่ำแย่ลงของยุโรปส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค สถาบัน ZEW ของเยอรมนีรายงานว่าดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจร่วงลงสู่ระดับ -55.2 ในเดือนพ.ย. ต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ และดิ่งลงอย่างมากจากเดือน ต.ค. โดยระบุว่าปัญหาทางการเมืองและเศรษฐกิจในกรีซและอิตาลีได้เพิ่มความไม่แน่นอนเกี่ยวกับอนาคตของเยอรมนี วิกฤติหนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงในช่วงหลายเดือนข้างหน้าขณะที่ประเทศต่างๆ อาทิ อิตาลี, กรีซ, ไอร์แลนด์, โปรตุเกสและสเปนดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อสกัดกั้นการผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดจากตลาดพันธบัตร คณะกรรมาธิการยุโรปคาดว่า เศรษฐกิจของยูโรโซนซึ่งประกอบด้วย 17 ประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรจะหดตัวลง 0.1% ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 และจะชะงักงันในไตรมาสแรกของปีหน้า เศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัว 0.5% ในเดือนก.ค.-ก.ย.ตามการคาดการณ์ของตลาด และการขยายตัวในไตรมาส 2 ได้ถูกปรับขึ้นเป็น 0.3% จาก 0.1%เศรษฐกิจฝรั่งเศสซึ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของยูโรโซนขยายตัว 0.4%ในไตรมาส 3 หลังหดตัว 0.1% ในไตรมาส 2 อย่างไรก็ตาม นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรปคาดว่ายูโรโซนจะเผชิญกับภาวะถดถอยเล็กน้อยในช่วงสิ้นปี และมุมมองดังกล่าวได้ถูกตอกย้ำโดยนายมิเชล ชโรเดอร์ นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบัน ZEW ฝรั่งเศสได้เร่งดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดโดยประกาศมาตรการปรับขึ้นภาษีและปรับลดงบประมาณวงเงิน 6.5 หมื่นล้านยูโรในระยะ 5 ปี ในช่วงต้นเดือนนี้ ขณะที่ประธานาธิบดีนิโคลาส์ ซาร์โคซีพยายามที่จะปกป้องอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศเพื่อรักษาโอกาสในการลงเลือกตั้งอีกสมัยในระยะเวลาอีกเพียง 6 เดือน รายงานจาก Lisbon Council เมื่อวานนี้ระบุว่า การที่ฝรั่งเศสไม่สามารถปรับตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วนั้นจะเป็นสัญญาณเตือนสำหรับยูโรโซน รายงานดังกล่าวจัดให้ฝรั่งเศสอยู่ที่อันดับ 13 ใน 17 ประเทศในด้านภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งรวมถึงแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, อัตราการจ้างงานและการบริโภค และอันดับที่ 15 สำหรับความคืบหน้าในการปรับตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดงบประมาณและการควบคุมต้นทุนแรงงานต่อหน่วย สำหรับประเทศที่ไม่ได้เผชิญกับวิกฤติหนี้นั้น ภาวะเศรษฐกิจก็อ่อนแอลงด้วยโดยจีดีพีของเนเธอร์แลนด์ลดลง 0.3% ในไตรมาส 3 แม้จีดีพีของออสเตรียและสโลวาเกียขยายตัว 0.3% เศรษฐกิจของสเปนซึ่งใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของยูโรโซน ประสบภาวะชะงักงันในไตรมาส 3 ขณะที่วิกฤติหนี้มีแนวโน้มที่จะสกัดกั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไป และผู้ชนะการเลือกตั้งที่มุ่งมั่นจะคุมเข้มด้านการคลัง ทำให้สเปนมีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย โปรตุเกสซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือจากอียู/ไอเอ็มเอฟนั้น เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว และการทรุดตัวทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้นในไตรมาส 3 โดยเศรษฐกิจหดตัวลง 0.4% พันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัยนั้น ได้ปรับตัวขึ้นขณะที่การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในอิตาลีไม่สามารถยับยั้งการพุ่งขึ้นของต้นทุนการกู้ยืมของอิตาลี และสัญญาณความขัดแย้งทางการเมืองในกรีซเกิดขึ้นอีกครั้งขณะที่นายลูคัส ปาปาเดมอสเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ธ.กลางยุโรปคาดศก.ยูโรโซนถดถอยสิ้นปีนี้ หลังขยายตัวอ่อนแอใน Q3 นายมาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าเศรษฐกิจยูโรโซนอาจประสบภาวะถดถอยเล็กน้อยในช่วงสิ้นปีนี้ โดยเศรษฐกิจยูโรโซนเติบโตเพียง 0.2 % ในไตรมาส 3 และเผชิญกับภาวะตกต่ำอย่างรุนแรง นายไมเคิล ชโรเดอร์ จากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ZEW ของเยอรมนีกล่าวว่า "มีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในทางเทคนิคและเราคาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะหดตัวลงเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ไตรมาส" ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจเยอรมนีและฝรั่งเศสมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในไตรมาส 3 โดยเศรษฐกิจเยอรมนีขยายตัว 0.5 % ในไตรมาสเดือนก.ค.-ก.ย. หลังจากโต 0.3 % ในไตรมาส 2 ส่วนเศรษฐกิจฝรั่งเศสขยายตัว 0.4 % ในไตรมาส 3 หลังจากหดตัว 0.1 % ในไตรมาส 2 แต่ประเทศที่เผชิญกับปัญหาหนี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ โดยเศรษฐกิจสเปนทรงตัวในไตรมาส 3 และใกล้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนเศรษฐกิจโปรตุเกสหดตัวลง 0.4 % ในไตรมาส 3 รัฐบาลประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) มีเวลาจนถึงการประชุมสุดยอดในวันที่ 9 ธ.ค. ในการหามาตรการใหม่ที่แข็งกร้าวมากยิ่งขึ้นและมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นในการแก้ไขวิกฤติหนี้ ซึ่งอาจจะรวมถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินขนาดใหญ่ ธ.กลางญี่ปุ่นประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ 0-0.10% ตามคาด ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยเผื่อเรียกข้ามคืนไว้ที่ 0-0.10 % ในการประชุมวานนี้ และไม่ได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายทางการเงินครั้งใหม่ แต่บีโอเจได้ปรับลดการประเมินภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณความพร้อมที่จะออกมาตรการกระตุ้นทางการเงินเพิ่มเติม ถ้าหากมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ "เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขยายตัว แต่ในอัตราที่ชะลอมากขึ้น อันเนื่องจากผลกระทบจากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจในต่างประเทศ" บีโอเจระบุ ในการประชุมทบทวนนโยบายเมื่อวันที่ 27 ต.ค. บีโอเจได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ และได้ผ่อนคลายนโยบายด้วยการเพิ่มวงเงินของโครงการซื้อสินทรัพย์ขึ้น 5 ล้านล้านเยน สู่ระดับ 20 ล้านล้านเยน ซึ่งตามโครงการดังกล่าว บีโอเจจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ภาคเอกชน สหรัฐเผยดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยพุ่งขึ้นในพ.ย. สมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) ของสหรัฐเปิดเผยดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยพุ่งขึ้นสู่ 20 ในเดือนพ.ย. จาก 17 ในเดือนต.ค.ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดว่า ดัชนี NAHB อาจอยู่ที่ระดับ 18 ในเดือน พ.ย. อียูเล็งคุมเข้มสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สหภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยแผนปรับปรุงการดำเนินงานของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่ได้เลื่อนการใช้แผน "blackouts" ออกไป ซึ่งเป็นการเซ็นเซอร์การจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบางประเทศเป็นการชั่วคราว นายมิเชล บาร์เนียร์ หัวหน้าฝ่ายบริการทางการเงินของอียูกล่าวว่าร่างกฎหมายของเขาจะช่วยส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจการจัดอันดับความน่าเชื่อถือซึ่งปัจจุบันนี้ถูกครอบงำโดยบริษัท 3 แห่ง ซึ่งได้แก่มูดี้ส์, สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) และฟิทช์ เรทติ้งส์ แต่บริษัทกลุ่มนี้ระบุว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้นักลงทุนมีทางเลือกน้อยลง หลังจากหลายประเทศ เช่น อังกฤษ คัดค้านข้อกำหนดเรื่อง blackouts นายบาร์เนียร์จึงได้ตัดสินใจถอนข้อกำหนดดังกล่าวออกไป โดยข้อกำหนดนี้ระบุว่าจะมีการเซ็นเซอร์อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศใดก็ตามถ้าหากกำลังมีการจัดเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศนั้น ผู้กำหนดนโยบายหลายคนของอียูต้องการให้เพิ่มความเข้มงวดด้านกฎระเบียบต่อสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ โดยให้เหตุผลว่าการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือพันธบัตรรัฐบาลกรีซในปีที่แล้วส่งผลให้การจัดทำมาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินรอบแรกสำหรับกรีซต้องใช้ต้นทุนที่สูงยิ่งขึ้น นายบาร์เนียร์กล่าวในการแถลงข่าวว่า "ผมเสนอให้เลื่อนข้อกำหนดนี้ออกไปเพื่อจะได้พิจารณารายละเอียดทางเทคนิคมากยิ่งขึ้น" ขณะนี้นายบาร์เนียร์จะพิจารณาประเด็นที่ว่า จะมีการมอบอำนาจให้สำนักงานหลักทรัพย์และตลาดยุโรป (ESMA) ในการแทรกแซงการดำเนินงานหรือไม่ เจ้าหน้าที่อียูรายหนึ่งกล่าวว่า มาตรการ blackouts ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณา ถึงแม้นักวิเคราะห์แสดงความพึงพอใจในการเลื่อนข้อกำหนดนี้ออกไป นายคาเรล แลนนู ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินของศูนย์ศึกษานโยบายยุโรปกล่าวว่า "ถ้าหากมีการสั่งห้ามการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศใดประเทศหนึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะก่อให้เกิดภาวะตื่นตระหนกในตลาด" มูดี้ส์ระบุว่าการห้ามจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อนักลงทุนว่า ผู้ควบคุมกฎระเบียบได้เข้ามาแทรกแซงเพื่อจำกัดการรับรู้ข้อมูล และจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทางด้านสมาคมตลาดการเงินยุโรปแสดงความกังวลว่า "ความสามารถ ใดก็ตามของ ESMA ในการระงับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับประเทศ อาจสร้างความเสียหายต่อความเป็นอิสระของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ" S&P ระบุว่า ร่างกฎหมายของนายบาร์เนียร์ไม่สอดคล้องกับกฎระเบียบของประเทศอื่นๆ และจะสร้างความเสียหายต่ออันดับความน่าเชื่อถือในฐานะเกณฑ์วัดความน่าเชื่อถือที่เท่าเทียมกันทั่วโลก โดย S&P ระบุว่า "ร่างกฎหมายนี้จะส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกมีอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ยุโรปในจำนวนที่น้อยลงและอันดับความน่าเชื่อถือนี้ก็จะมีคุณภาพต่ำลง และมีความเป็นอิสระน้อยลงด้วย"ประเทศสมาชิกอียูและรัฐสภายุโรปซึ่งจัดการประชุมที่เมืองสตราสบูร์กของฝรั่งเศสในสัปดาห์นี้ จะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับมาตรการนี้ โดยมีแนวโน้มว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางประการในร่างกฎหมายร่างกฎหมายปรับปรุงสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือนี้ตั้งเป้าที่จะกระตุ้นการแข่งขันโดยใช้วิธีกำหนดให้ผู้ใช้อันดับ ซึ่งรวมถึงบริษัทเอกชนและธนาคาร ต้อง "สับเปลี่ยน" สถาบันจัดอันดับเป็นประจำ เพื่อให้สถาบันจัดอันดับขนาดเล็กราว10 แห่งที่จดทะเบียนในยุโรป เช่น บริษัทออยเลอร์ แอร์เมส์ของฝรั่งเศสสามารถมีธุรกิจมากยิ่งขึ้น รัฐสภาอียูได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 507 ต่อ 25 เพื่ออนุมัติกฎหมายอียูที่ให้จำกัดการทำชอร์ตเซลแบบ naked ในหุ้นและพันธบัตรรัฐบาล โดยการทำชอร์ตเซลดังกล่าวคือการทำชอร์ตเซลที่ผู้ขายไม่ได้ทำข้อตกลงในการยืมหลักทรัพย์นั้นมาก่อน เฟดเผยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.7% ในต.ค. ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือนต.ค. หลังจากลดลง 0.1% ในเดือนก.ย. ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับขึ้นสู่ 77.8% ในเดือนต.ค. จาก 77.3% ในเดือนก.ย. ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดว่า การผลิตในภาคอุตสาหกรรมอาจเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนต.ค. และอัตราการใช้กำลังผลิตอาจอยู่ที่ 77.6% ในเดือนต.ค. สหรัฐเผย CPI ทั่วไปปรับลดลง 0.1% ในต.ค. กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยเมื่อวานนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปของสหรัฐปรับลง 0.1% ในเดือนต.ค. หลังจากปรับขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. ส่วนดัชนีCPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนต.ค. หลังเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนก.ย. ก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการสำรวจโดยรอยเตอร์คาดว่า ดัชนี CPI ทั่วไปอาจทรงตัวในเดือนต.ค. และดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานอาจเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนต.ค. จีนเผย FDI ช่วง 10 เดือนแรกพุ่งขึ้นเกือบ 16% กระทรวงพาณิชย์จีนเปิดเผยว่า จีนได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จำนวน 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 15.9% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในเดือน ต.ค. จีนมี FDI 8.3 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 8.75% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่อัตราการเพิ่มขึ้นชะลอตัวลงเล็กน้อยจากในช่วง 9 เดือนแรกซึ่ง FDI พุ่งขึ้น 17% โดยได้รับผลกระทบจากกระแสการลงทุนที่ชะลอตัวจากสหรัฐและยุโรป ทั้งนี้ FDI จากประเทศและภูมิภาคชั้นนำของเอเชีย 10 แห่ง เพิ่มขึ้น 20.7% ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ขณะที่กระแสเงินลงทุนจากญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 65.5%แต่ FDI จากสหรัฐลดลง 18.1% ขณะที่กระแสการลงทุนจากยุโรปเพิ่มขึ้นเพียง 1.1% ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีกระทรวงเปิดเผยว่าแนวโน้มการส่งออกของจีนไม่สดใสในช่วงที่เหลือของปีนี้ และช่วงต้นปีหน้า ขณะที่ยุโรปพยายามจัดการกับวิกฤติหนี้ และสหรัฐก็พยายามกระตุ้นการฟื้นตัวที่เปราะบาง กระแสการลงทุนเข้าสู่จีนซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปี หลังจากจีนเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2001 นั้น ได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมาหลังจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ