สวทช. จับมือ ม.สุรนารี พัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมอีสานใต้ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย(ITAP)

ข่าวเทคโนโลยี Monday October 11, 2004 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--สวทช.
การพัฒนาเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นสิ่งจำเป็นในยุคเศรษฐกิจและการค้าในกระแสโลกาภิวัฒน์ เพื่อความอยู่รอด อุตสาหกรรมในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย จึงจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับตัวและพัฒนาเทคโนโลยีของตนเองให้ทันสมัยก้าวตามกระแสของการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ จากประเทศที่เจริญก้าวหน้าในระดับนานาชาติ เพื่อที่จะมสามารถยืนหยัดแข่งขันได้ในเวทีโลกอย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เอกชนไทยพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสมและให้เกิดการกระจายความรู้ ในการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีออกไปให้ทั่วถึงทุกภูมิภาคของไทย เมื่อวันพุธที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือขึ้น ระหว่าง สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส) ในเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) โดยมีนายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในพิธี
นายกร ทัพพะรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะรับผิดชอบและดูแลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เครือข่ายโครงการ ITAP สวทช.เป็นกลไกที่ช่วยให้เอกชนโดยเฉพาะ SMEs ได้มีการพัฒนาธุรกิจ กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์และบริการให้รุดหน้าไต่ระดับเทคโนโลยีให้สูงขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่ม และผลกำไรให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติและดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน การขยายเครือข่ายการให้บริการเพิ่มเติมของ ITAP ไปยังมหาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จึงนับเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าถึงบริการของ ITAP ได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
"สาเหตุที่เลือก มทส. เนื่องจากได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาจนกระทั่งเป็นอุดมศึกษาระดับแนวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ดังนั้น การที่ได้ มทส. เข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายโครงการ ITAP ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เชื่อว่า จะช่วยขับเคลื่อนความร่วมมือดังกล่าวให้เกิดเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งตนก็อยากเห็น มทส. เป็น Science Park ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีความพร้อมทางด้านต่างๆ ทั้งบุคลากรทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เครื่องมือ อุปกรณ์อยู่แล้ว" นายกร กล่าว
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เพื่อเป็นการขยายเครือข่ายโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย หรือ ITAP โดยมีเทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นหน่วยงานในการดำเนินงาน สำหรับให้บริการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการเชิงลึกแบบครบวงจรแก่อุตสาหกรรมระดับกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งเป็นเครือข่ายโครงการ ITAP แห่งที่ 3 โดยแห่งแรก ดำเนินการโดย สวทช.เครือข่ายภาคเหนือ และแห่งที่ 2 ครอบคลุมพื้นที่ในภาคใต้ดำเนินงานโดย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
"สวทช. ได้ดำเนินกิจการหลายอย่างที่สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถของภาคเอกชนมาเป็นเวลานับสิบปีตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง โดยกรให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน ด้านเทคนิค และด้านโครงสร้างพื้นฐาน จึงหน่วยงานที่มีความพร้อมที่จะผลักดันและลงมือดำเนินการเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีในภาคการผลิต ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว
สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเกษตร อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งวิสาหกิจชุมชน ที่จะสามารถพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพให้เป็นกำลังสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ
ผอ.สวทช.กล่าวอีกว่า สวทช.มีความมุ่งหวังที่จะขยายบริการให้ครอบคลุมพื้นที่ในส่วนภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น โดยในขณะนี้ สวทช. กำลังอยู่ระหว่างการติดต่อประสานงานกับสถาบันอุดมศึกษาอีก 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแกน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อเข้าร่วมในการดำเนินงานเครือข่ายโครงการ ITAP ต่อไป
ด้าน ผศ.ดร.ทวี เลิศปัญญาวิทย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำนวนมาก และมีความหลากหลายของอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร , อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม , อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า และอื่นๆ โดยอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น ความร่วมมือในโครงการ ITAP จะช่วยสร้างความเข้มแข็งและความพร้อมในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมในการแข่งขันในตลาดโลกได้ตามนโยบายของรัฐ
สำหรับการดำเนินงานของโครงการ ITAP ที่ผ่านมา มีทั้งสิ้นกว่า 1,300 โครงการ โดยให้บริการปรึกษาทางเทคโนโลยี เพื่อเข้าไปวิเคราะห์ปัญหาทางเทคนิคเบื้องต้นแล้ว 780 บริษัท และจัดทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาทางเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการในเชิงลึก (ระยะเวลาโครงการเฉลี่ย 6 เดือน) แล้วกว่า 580 บริษัท เพื่อถ่ายทอดความรู้ไปสู่ภาคการผลิตโดยผ่านผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ โครงการ ITAP ยังให้บริการปรึกษาเพื่อจัดทำระบบคุณภาพพื้นฐานของอุตสาหกรรมไทย(TFQS) ซึ่งเป็นระบบที่ สวทช.ได้พัฒนาขึ้นมาโดยปรับให้เหมาะสมสำหรับ SMEs ไทย บริการข้อมูลอุตสาหกรรมบริการฝึกอบรมและสัมมนาทางวิชาการทั้งแบบทั่วไปและภายในบริษัท
สื่อมวลชนที่สนใจ ต้องการภาพประกอบข่าว ติดต่อได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการ ITAP
0-2298-0454, 0-2298-0454--จบ--
--อินโฟเควสท์ (ชพ/อบ)--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ