ธ.ก.ส. เสริมศักยภาพเทคโนโลยีด้วยระบบ CBS ใหม่ รองรับการเติบโตในปี 56

ข่าวทั่วไป Wednesday April 10, 2013 16:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--ธ.ก.ส. ธ.ก.ส. โชว์ผลงานปีบัญชี 2555 จ่ายสินเชื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนล้านบาท ผ่านเครือข่ายการให้บริการ 1,135 สาขา ครอบคลุมเกษตรกรกว่า 7 ล้านครัวเรือน ด้านเงินฝากรวมเพิ่มเป็น 1 ล้านล้านบาท โดยมีสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ขณะที่ NPL ลดลงเหลือร้อยละ 4.33 และมีกำไรสุทธิ 9,691 ล้านบาท เผยการปรับระบบ CBS ใหม่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจและการให้บริการ รองรับเป้าหมายการเติบโตทุก ๆ ด้านในปี 56 เพื่อลบเส้นกั้นพรมแดนทางการเงินในภาคชนบท นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เผยผลการดำเนินงานในปีบัญชี 2555 ของ ธ.ก.ส. ( 1 เมษายน 2555 — 31 มีนาคม 2556) ว่า ได้จ่ายสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากต้นปีบัญชีจำนวน 100,493 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.95 ทำให้มียอดสินเชื่อที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคชนบทแล้วทั้งสิ้น 876,401 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการของรัฐบาลอีกจำนวน 591,126 ล้านบาทจะทำให้ยอดการดำเนินงานด้านสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 1,467,527 ล้านบาท โดยกระจายผ่านเครือข่ายสาขาที่ให้บริการจำนวน 1,135 สาขาและหน่วยอำเภออีก 1,018 หน่วยอำเภอ รวมถึงการให้บริการผ่านตู้ ATM ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศอีก 1,301 ตู้ โดยมีเกษตรกรที่ได้รับบริการรวม 7.08 ล้านครัวเรือน มียอดเงินฝากรวม 1,000,866 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากต้นปี 113,607 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.80 ซึ่งส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากเงินฝากประเภทออมทรัพย์ทวีโชค ที่รับฝากจากประชาชนรายย่อย เงินฝากดอกเบี้ยสุขใจ และสลากออมทรัพย์ทวีสิน เป็นต้น ผลการดำเนินงานดังกล่าวทำให้ ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์รวม 1,207,953 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.44 หนี้สินรวม 1,110,325 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.66 และส่วนของผู้ถือหุ้น 97,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.99 โดยมีรายได้จากการดำเนินงานรวม 67,084 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 47,412 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 9,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 914 ล้านบาทหรือร้อยละ 10.41 ขณะที่ NPLs ลดลงเหลือร้อยละ 4.33 เทียบกับปีบัญชีที่ผ่านซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.34 ด้านความสามารถในการทำกำไร ธ.ก.ส. บริหารสินทรัพย์ได้ผลตอบแทน(ROA) อัตราร้อยละ 0.88 ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.95 โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 11.22 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงเงินกองทุนของธ.ก.ส. ที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8.50 นอกจากนี้ในส่วนของสภาพคล่อง ธ.ก.ส.มีเงินสดในมือ เงินสดที่ศูนย์เงินสด เงินฝากที่ ธปท. และหลักทรัพย์ที่ปราศจากภาระผูกพัน รวมเป็นสินทรัพย์สภาพคล่องจำนวน 227,778 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21.86 สูงกว่าที่ ธปท.และกฎกระทรวงว่าด้วยการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6 นายลักษณ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานโครงการสำคัญ เช่น โครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร ธ.ก.ส ได้ดำเนินการออกบัตรให้เกษตรกรจำนวน 2,383,196 ราย โดยมีการใช้จ่ายผ่านบัตรแล้วจำนวน 2,185,928 ราย จำนวนเงิน 3,732 ล้านบาท โดยสินค้าที่ลูกค้าใช้จ่ายผ่านบัตรจำแนกเป็น ปัจจัยการผลิต คือ ปุ๋ย 2,770 ล้านบาท เมล็ดพันธุ์ 229 ล้านบาท เคมีภัณฑ์ 305 ล้านบาท และน้ำมันเชื้อเพลิง 428 ล้านบาท และได้ติดตั้งเครื่องอ่านบัตรอัตโนมัติให้ร้านค้าแล้ว 4,052 ร้านค้า โดยในปีบัญชี 2556 ธ.ก.ส. วางเป้าหมายเพิ่มจำนวนเกษตรกรผู้ถือบัตรจำนวน 4 ล้านใบ และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่า 10,000 ร้านค้า โครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้คงค้างต่ำกว่า 500,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 ปี แบ่งเป็น โครงการพักชำระหนี้ปี 2554 มีเกษตรกรใช้สิทธิ์เข้าร่วมโครงการจำนวน 403,734 ราย จำนวนเงิน 46,680 ล้านบาท โครงการพักชำระหนี้และลดภาระหนี้ปี 2555 มีเกษตรกรแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 2,225,794 ราย จำนวนเงิน 250,592 ล้านบาท แบ่งเป็นการพักต้นและดอกเบี้ยร้อยละ 3 จำนวน 1,951,566 ราย จำนวนเงิน 228,664 ล้านบาท และลดดอกเบี้ยร้อยละ 3 จำนวน 274,228 จำนวนเงิน 21,928 ล้านบาท โครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ปีการผลิต 2554/55 ได้แก่ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ข้าวเปลือกนาปรัง มันสำปะหลังและยางพารา ซึ่งสิ้นสุดโครงการไปแล้ว โดยผลการดำเนินงานใช้เงินทั้งสิ้นจำนวน 379,660 ล้านบาท โดยเป็นเงินทุนจาก ธ.ก.ส. 90,000 ล้านบาท และกระทรวงการคลังจัดหาเงินกู้มาให้จำนวน 262,322 ล้านบาท และเงินจากการระบายผลผลิตปี 54/55 จำนวน 20,850 ล้านบาท โครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตร ปีการผลิต 2555/56 ณ 31 มี.ค. 56 จ่ายเงินไปแล้วรวม 216,890 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินที่กระทรวงการคลังจัดหามาให้จำนวน 99,428 ล้านบาท และเงินจากการระบายผลผลิตจำนวน 61,455 ล้านบาท ที่เหลือ ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อน 56,007 ล้านบาท ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะทยอยจัดหาเงินกู้ให้ในส่วนที่เหลืออีกจำนวน 46,412 ล้านบาท มาใช้คืนซึ่งจะส่งผลให้เงินสำรองจ่ายของ ธ.ก.ส.ลดลงเกือบทั้งหมด โดยในส่วนของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2555/56 (นาปรัง) จำนวน 105,000 ล้านบาท จะใช้เงินทุนจากเงินการระบายผลผลิตตามแผนระบายของกระทรวงพาณิชย์ โดยกระทรวงพาณิชย์จะระบายผลผลิตและส่งคืนเงินให้ ธ.ก.ส. ตั้งแต่ เม.ย.- ธ.ค. 56 เป็นเงิน 113,083 ล้านบาท สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในปีบัญชี 2556 ( 1 เมษายน 2556- 31 มีนาคม 2557) ธ.ก.ส. จะขยายปริมาณสินเชื่อลงสู่ภาคชนบทไม่ต่ำกว่า 85,000 ล้านบาท โดยเน้นการสนับสนุนสินเชื่อตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain Financing) ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ของพืชอาหาร พืชพลังงานทดแทน สัตว์เศรษฐกิจ โดยใช้เครือข่ายชุมชน ขบวนการสหกรณ์เป็นกลไกในการขับเคลื่อน สินเชื่อเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตหรือ Smart Farmer และสินเชื่อสนับสนุนลูกค้าผ่านโครงการบัตรสินเชื่อเกษตรกร เป็นต้น ส่วนปริมาณเงินฝากเพิ่มขึ้นจำนวน 82,000 ล้านบาท โดยเน้นเงินฝากออมทรัพย์ทวีโชค นายลักษณ์กล่าวอีกว่า ธ.ก.ส ได้ดำเนินการจัดวางระบบ Core Banking System (CBS) เพื่อเพิ่มขีด ความสามารถในการขยายธุรกิจและการให้บริการ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย มาสนับสนุนการให้บริการที่หลากหลาย รองรับการพัฒนาธุรกรรมการเงินในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยสามารถเชื่อมโยงการดำเนินธุรกรรมภายในธนาคาร สถาบันการเงินและหน่วยงานอื่น ๆ ภายใต้มาตรฐานที่เป็นสากล ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์ตามแผนที่วางไว้ทำให้ในปีบัญชี 2556 ธ.ก.ส. สามารถกำหนดเป้าหมายการเติบโตในทุก ๆ ด้านโดยไม่มีข้อจำกัด โดยเฉพาะการขยายเครือข่ายการบริการทั้งด้านผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เงินฝาก การให้บริการการเงินทางอิเลคทรอนิคส์ เช่น ATM เครื่องปรับสมุด เครื่องรับฝากเงิน Mobile Banking รวมทั้งการจัดวางระบบคอมพิวเตอร์ให้แก่กองทุนหมู่บ้านและสถาบันการเงินชุมชนที่ ธ.ก.ส.ให้การสนับสนุนในเบื้องต้นจำนวน 2,500 แห่ง เพื่อเชื่อมโยงการบริการสู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่คิดดอกเบี้ยในอัตรายุติธรรม มีความสะดวกสบาย รวดเร็ว สามารถลดปัญหาการพึ่งพาเงินนอกระบบให้กับประชาชนในระดับฐานราก สอดคล้องกับนโยบายลดเส้นกั้นพรมแดนทางการเงินในภาคชนบทให้เท่าเทียมกับในเมือง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ