ศศินทร์เผยธนาคารพาณิชย์ต้องปรับบริการรับมือการเคลื่อนย้ายเงินทุนในAEC ย้ำนักลงทุนและผู้บริโภคในอาเซียนจะได้รับประโยชน์การเปิดเสรีทางการเงิน

ข่าวทั่วไป Thursday September 19, 2013 10:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ ศศินทร์เผยหลังเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ผู้บริโภค นักธุรกิจ และนักลงทุน จะได้รับประโยชน์จากการปรับตัวของสถาบันการเงิน หลังธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดทางแบงก์ต่างชาติเปิดสาขาได้ในไทย ชี้อนาคตจะเกิดความสะดวกสบายในการเคลื่อนย้ายเงินทุน และผู้ประกอบการในอาเซียนจะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ง่ายขึ้น ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Sasin) เปิดเผยว่า การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จะทำให้ทุกประเทศสามารถทำธุรกิจได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะทางด้านการเงินจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนและผู้ประกอบการสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนได้อย่างเสรี รวมทั้งการทำธุรกรรมทางการเงินจะมีความสะดวกสบายมากขึ้น เนื่องจากการทำธุรกิจหรือการขยายการลงทุนในอาเซียนผู้ประกอบการสามารถใช้บริการสถาบันการเงินของไทยในต่างประเทศ ที่ขยายสาขาไปยังประเทศต่าง ๆ นอกจากนี้นักลงทุนในไทยยังมีทางเลือกในการทำธุรกรรมทางการเงินกับแบงก์ต่างชาติ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่าขณะนี้มีธนาคารพาณิชย์จากหลากหลายประเทศ ยื่นขออนุญาตเปิดสาขาในประเทศไทยแล้ว นั่นหมายถึงการเคลื่อนย้ายเงินทุน การทำธุรกรรมทางการเงินในอนาคตมีทางเลือกในการใช้บริการผ่านสาขาของธนาคารไทยรวมทั้งธนาคารต่างชาติได้อย่างเสรี “หลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การแข่งขันของสถาบันการเงินจะมีความหลากหลาย ไม่เฉพาะนักลงทุนหรือผู้ประกอบการเท่านั้น ผู้บริโภคในภูมิภาคนี้จะได้รับประโยชน์จากบริการของธนาคารพาณิชย์สัญชาติต่าง ๆ แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะกำหนดให้ธนาคารต่างชาติเปิดบริการได้ไม่เกิน 20 สาขาก็ตาม แต่การแข่งขันจะสูงขึ้น เช่น การให้บริการด้านสินเชื่อและบริการอื่น ๆ จากธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งสาขาของต่างชาติจะแข่งขันกับธนาคารขนาดใหญ่ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์คือลูกค้า จะมีทางเลือกที่หลากหลาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา สถาบันการเงินต้องปรับตัว ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อดึงดูดลูกค้า รวมทั้งเรื่องบริการที่ตอบสนองความพึงพอใจสูงสุด ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตรงกับความต้องการของลูกค้า ผู้บริโภคจะเห็นการปรับรูปแบบบริการเพื่อให้สอดคล้องกับการแข่งขันของตลาด” ดร.กฤษติกา กล่าว สำหรับธนาคารพาณิชย์ไทยที่จะเปิดสาขาในต่างประเทศ จำเป็นต้องเรียนรู้กฎระเบียบ ของประเทศ นั้นๆ ศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ไปเปิดสาขา ซึ่งเป็นปัจจัยบ่งบอกถึงพฤติกรรมการบริโภค และความต้องการของลูกค้าแต่ละประเทศ ที่สำคัญต้องพัฒนาบริการเพื่อสนับสนุนให้มีระบบการชำระเงินในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งการชำระเงินเพื่อการค้า รวมทั้งการโอนเงินของแรงงานที่เดินทางไปทำงานในประเทศต่างๆ ของอาเซียน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน เชื่อว่าในอนาคตบริการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพ สะดวกและปลอดภัย นอกจากนี้ การเปิดเสรีทางด้านการเงินในภูมิภาคนี้จะทำให้นักลงทุนและผู้ประกอบการในธุรกิจ SME มีความคล่องตัวในบริการด้านการเงินอีกด้วย การแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว ทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้สะดวก ทำธุรกรรมได้หลากหลาย เป็นปัจจัยสำคัญเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน การผลิต การตลาด การสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของผู้ประกอบการไทยได้เป็นอย่างดี สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สาธิตา สุทธิบงกช Assistant Chief Marketing Officer โทร 02-218- 3853-4 Email-Satita.Suttibongkot@sasin.edu แพรวทิพย์ ด่านวราวิจิตร PR& Marketing Coordinator โทร. 02-218-4001-9 ต่อ 188 Praewthip.danwarawijitr@sasin.edu

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ