ไทยจับมือสหรัฐอเมริกา จัดประชุมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยวัสดุกัมมันตรังสี

ข่าวทั่วไป Tuesday February 11, 2014 10:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.พ.--สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับกระทรวงพลังงาน ประเทศสหรัฐอเมริกา จัดประชุม เรื่อง “Regional Review Meeting On Radiological Security Partnerships” เพื่อถ่ายทอดความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยวัสดุกัมมันตรังสี ให้ประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แฟซิฟิค ให้มีการพัฒนาและยกระดับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยวัสดุกัมมันตรังสี มุ่งเน้นความปลอดภัยต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม นายสุพรรณ แสงทอง เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กล่าวว่า ปส. เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจ ในการกำกับดูแลความปลอดภัยการใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์และรังสีของประเทศให้มีความปลอดภัยสูงสุด การรักษาความมั่นคงปลอดภัยวัสดุกัมมันตรังสีเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการกำกับดูแลความปลอดภัย ประเทศสมาชิกทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ จึงได้มีการจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือ Radiological Security Partnerships และได้จัดประชุมเรื่อง“Regional Review Meeting On Radiological Security Partnerships” มาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งประเทศไทย โดย ปส. เป็นสมาชิกเครือข่ายและเข้าร่วมประชุมตั้งแต่ครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย ครั้งที่สองประเทศเวียดนาม ครั้งที่สามที่ประเทศฟิลิปปินส์ และในการจัดประชุมครั้งที่สี่ ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ทั้งนี้กระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนในการถ่ายทอดความรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิค การประชุมดังกล่าวนี้ จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 10 -14 กุมภาพันธ์ 2557 โรงแรมภูเก็ต พันวารีสอร์ท ณ จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก IAEA ประเทศสมาชิกในเครือข่าย เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ลาว ฟิลิปปินส์ สิงค์โปร์ ศรีลังกา เนปาล บังคลาเทศ ปากีสถาน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อังกฤษ แคนาดา และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งในการประชุมจะมีหัวข้อความรู้ทางเทคนิคเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยวัสดุกัมมันตรังสี มาตรการ แนวปฏิบัติ หรือข้อแนะนำในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยวัสดุกัมมันตรังสี รวมถึงประสบการณ์ในการดำเนินงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยวัสดุกัมมันตรังสีและแผนการดำเนินงานในอนาคตเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยวัสดุกัมมันตรังสีด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ