ปตท. เปิดศูนย์แห่งความสุข...สร้างพื้นที่สีเขียวให้ชาวลำปาง

ข่าวทั่วไป Friday March 7, 2014 15:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มี.ค.--ปตท. บนพื้นที่ 8 ไร่ 12 ตารางวา ร่วมกับกรมธนารักษ์และจังหวัดลำปาง ให้เป็นปอดแห่งใหม่ในพื้นที่ พร้อมพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิต เช้าวันนี้ (7 มีนาคม 2557) นายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายสุวพงศ์ สงวนศักดิ์ ธนารักษ์พื้นที่ลำปาง และ นายสรัญ รังคสิริ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมในพิธีเปิดศูนย์แห่งความสุข (Happiness Center) ณ ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง นายสรัญฯ เปิดเผยว่า บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นทุ่มเทสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ผ่านคลังปิโตรเลียมลำปาง ควบคู่ไปกับเจตนารมณ์ในการรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นต่อท้องถิ่นในหลายด้าน โดยเฉพาะการดูแลใส่ใจและคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมในบริเวณใกล้เคียงพื้นที่ทำงาน จึงได้ร่วมกับ จังหวัดลำปางและกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังร่วมโครงการจัดสร้างศูนย์แห่งความสุข (Happiness Center) ในที่ราชพัสดุ ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นมา ศูนย์แห่งความสุข หรือ Happiness Center ประกอบด้วย 5 โซนหลัก ได้แก่ ศาลาลำปาง สระบัว สวน 12 ราศี อัฒจันทร์กลางแจ้ง และ ป่านิเวศน์ โดยมีลักษณะเฉพาะของแต่ละโซน โดยใช้ธรรมชาติเกื้อกูลธรรมชาติ เช่น สระบัว นำวิธีการอาศัยพืชช่วยในการกรองหรือฟอกน้ำให้สะอาดขึ้น โดยระบบพืชกรองน้ำเสีย และระบบบำบัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำ ด้วยหลักการที่พืชสามารถดูดซับธาตุอาหารที่มีอยู่ในน้ำเสียที่มาจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ของจุลินทรีย์เพื่อนำไปใช้ในการเจริญเติบโตของพืช และยังมีกล่องลวดบรรจุหิน ช่วยกรองน้ำในอีกทางหนึ่งด้วย สวน 12 ราศี สอดแทรกเนื้อหาความรู้เรื่องพืชสมุนไพรแก่ผู้เข้ามาใช้บริการสวนสาธารณะ โดยเลือกตัวอย่างพืชสมุนไพรซึ่งสัมพันธ์กับธาตุเจ้าเรือนตามราศีเกิด ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ โดยใช้กล้าไม้สมุนไพรกว่า 50 ชนิด จำนวนกว่า 10,000 ต้น และ ป่านิเวศน์ ซึ่งนำแนวคิดการปลูกป่านิเวศน์ ของ ศ.ดร. อาคิระ มิยาวากิ ด้วยการปลูกป่าด้วยไม้พันธุ์พื้นเมืองที่สามารถร่นระยะเวลาการเจริญเติบโตของป่าธรรมชาติจาก 100 ปี เหลือเพียง 10 ปี โดยมีเทคนิคคือ การสร้างเนินดินปลูกป่า (Mound) โดยขุดลอกดินเดิมออก 50 ซม. แล้วนำไปผสมหน้าดิน ปุ๋ยและวัสดุบำรุงดิน ตามสัดส่วนที่เหมาะสมเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต 3 ปี แล้วนำกลับมาทำเป็นเนิน เพื่อช่วยในการระบายน้ำและอากาศ โดยปลูกต้นไม้พันธุ์ท้องถิ่นกว่า 10 สายพันธุ์ จำนวน 6,000 ต้น “นอกจากการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน บนความใส่ใจในการดำเนินธุรกิจเพื่อความปลอดภัยในทุกขั้นตอนแล้ว ปตท. ยังมุ่งมั่นดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีและเพื่อความสุขของทุกคน ตอกย้ำการดำเนินธุรกิจเคียงข้างชุมชนและสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน” นายสรัญฯ กล่าวในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ