สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 31 มี.ค. - 4 เม.ย. 57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 7 – 11 เม.ย.57

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 8, 2014 08:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าราคาน้ำมันดิบเบรนท์(Brent) ลดลง 0.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 106.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 100.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 103.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 0.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล ลดลง 0.27เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 121.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - รัฐบาลรักษาการชั่วคราวของลิเบียเผยสามารถตกลงกับฝ่ายกลุ่มผู้ประท้วงสำเร็จลุล่วง ฝ่ายผู้ประท้วงยุติการประท้วงโดยการเปิดท่าส่งออกน้ำมัน Zueitina และ Hariga ซึ่งมีกำลังการส่งออกรวม 200,000 บาร์เรลต่อวัน อีกทั้งมีแผนที่จะเปิดท่าส่งออกRas Lanuf และ Es Sider ซึ่งมีกำลังการส่งออกรวม 500,000 บาร์เรลต่อวัน ภายใน 2-4 สัปดาห์หลังจากการเจรจาเพิ่มเติม ถ้าการเจราจาระหว่างกลุ่มประท้วงและรํฐบาลลุล่วงไปด้วยดีจะส่งผลให้ลิเบียกลับมาส่งออกที่ระดับ 700,000 บาร์เรลต่อวันภายในเดือน พ.ค. 57 - สหรัฐฯ เผยมั่นใจอิหร่านสามารถคงปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบสู่ประเทศต่างๆ ภายใต้ข้อตกลงมาตรการคว่ำบาตรของประเทศตะวันตก โดยจะมีการประชุมคณะทำงานระดับสูงระหว่างอิหร่านและกลุ่มประเทศ P5+1 ในวันที่ 8 – 9 เม.ย. 57 ที่จะถึงนี้ - Bloomberg รายงานโรงกลั่นในประเทศญี่ปุ่นลดกำลังการกลั่นรวมกว่า 10% ตามคำสั่งของรัฐบาลที่ต้องการให้โรงกลั่นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดย ณ วันที่ 1 เม.ย. 57 ญี่ปุ่นมีกำลังการกลั่นที่ระดับ 3.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับกำลังการกลั่น ณ วันที่ 22 มี.ค. 57 ที่ระดับ 4.38 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 28 มี.ค. 57 ลดลง 2.4 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 380.1 ล้านบาร์เรล สวนทางกับผลสำรวจนักวิเคราะห์จาก Reuters - Bloomberg รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันของ OPEC ในเดือน มี.ค. 57 ลดลง 117,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 30.29 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากลิเบียและแองโกลาผลิตน้ำมันดิบได้ลดลง - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Non-Farm Payroll) เดือน มี.ค. 57 เพิ่มขึ้น 192,000 อัตรา จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่อัตราการว่างงานคงที่อยู่ที่ระดับ 6.7% - Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ Brent ในทะเลเหนือจะลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนในเดือน พ.ค. 57 อยูที่ระดับ 774,000 บาร์เรลต่อวันเทียบกับ 940,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนก่อนหน้า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเนื่องจากแรงกดดันราคาหลังรัฐบาลประจำการของลิเบียสามารถเจรจากับกลุ่มผู้ประท้วงในการเปิดดำเนินการท่าส่งออกที่สำคัญของประเทศ (Zueitina และ Hariga) ซึ่งมีกำลังการส่งออกรวม 200,000 บาร์เรลต่อวัน อีกทั้งมีการพุดคุยที่จะเปิดท่าส่งออก Ras Lanuf และ Es Sider ซึ่งมีกำลังการส่งออกรวม 500,000 บาร์เรลต่อวัน ภายใน 2-4 สัปดาห์หลังจากการเจรจาเพิ่มเติม ทางด้านปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตกมีแนวโน้มที่จะสามารถยุติข้อขัดแย้ง โดยสหรัฐฯ ออกมาให้ความมั่นใจว่าอิหร่านจะสามารถคงระดับการส่งออกน้ำมันดิบตามที่ตกลงกันไว้ภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของกลุ่มประเทศ P5+1 อย่างไรก็ตามปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจที่ฟิ้นตัวของสหรัฐฯ จากตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ Brent ในทะเลเหนือลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนในเดือน พ.ค. 57 เป็นปัจจัยบวกที่สนับสนุนราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 106.74 – 104.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 102.90 – 104.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังจาก IES ของสิงคโปร์รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 2 เม.ย. 57 ลดลง 776,000 บาร์เรลจากสีปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ 11.44 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 9สัปดาห์และลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5 นอกจากนี้ปัจจัยพื้นฐานด้านอุปทานตึงตัวในภูมิภาคเนื่องจากอยู่ในช่วงปิดบำรุงโรงกลั่นยังสนับสนุนราคาอยู่ต่อเนื่อง ซึ่ง Reuters รายงานปริมาณความต้องการในภูมิภาค สิ้นสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลจากเวียตนามและประเทศไทย สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 118.40 - 120.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณอุปทานในภูมิภาคตึงตัวจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น ซึ่ง Reuters คาดการณ์โรงกลั่นในเอเชียจะปิดดำเนินการแตะระดับสูงสุดที่ 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. 57 ผนวกปริมาณสำรอง Middle Distillates ของสิงคโปร์ สิ้นสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาลดลง 1.04 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 10.44 ล้านบาร์เรล สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 120.90 -122.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ