สคร.7 เผย โรคและภัยในวันสงกรานต์

ข่าวทั่วไป Thursday April 10, 2014 12:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 เผย ช่วงเทศกาลสงกรานต์นอกจากภัยสุขภาพจากอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้วอากาศร้อนยังเสี่ยง 5 โรคร้าย ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์ นพ.ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เรื่องของอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และผู้ที่เล่นน้ำ โดยบรรทุกน้ำไว้ท้ายรถกระบะและขับรถเล่นน้ำตามท้องถนน รวมทั้งดื่มแอลกอฮอล์บนรถ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุและถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ไม่ควรบรรทุกคนจนเกินน้ำหนัก เพราะจะทำให้รถเสียการทรงตัวและบังคับทิศทางได้ยากขึ้น ไม่ควรนำเด็กเล็กขึ้นไปเล่นน้ำบนรถ นอกจากนี้ผู้ขับรถรวมทั้งผู้ที่โดยสารอยู่บนรถต้องไม่ดื่มเครื่องแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะทำให้ตัดสินใจผิดพลาดและยังเป็นการกระทำผิดกฎหมายด้วย นพ.ศรายุธ กล่าวต่อไปว่า นอกจากการเฝ้าระวังเรื่องของอุบัติเหตุจากการเดินทางแล้ว ภัยสุขภาพอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม คือ โรคทางเดินอาหาร เนื่องจากอากาศที่ร้อนเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรคอย่างมาก โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้มีโอกาสเกิดการระบาดของโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ จึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังการเจ็บป่วยจากโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูร้อน ตามประกาศกรมควบคุมโรค เรื่อง การป้องกันโรคที่เกิดในฤดูร้อน ซึ่งประกอบด้วย 5 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาดน้อยหรือไข้ไทฟอยด์ นอกจากนี้ยังรวมถึงโรคพิษสุนัขบ้าและโรคลมแดดที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ สำหรับการป้องกันตนเอง ขอให้ประชาชนยึดหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวันง่ายๆ คือ “กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ” ประกอบด้วย 1.กินร้อน โดยรับประทานอาหารที่ปรุงสุกและปรุงเสร็จใหม่ๆ หากเป็นอาหารค้างมื้อควรอุ่นให้ร้อนหรือเดือดก่อนรับประทาน 2.ใช้ช้อนกลาง ตักอาหารขณะกินอาหารร่วมวงกับผู้อื่น 3. ล้างมือ ด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้ง หลังจากใช้ห้องส้วม ก่อนปรุงและรับประทานอาหาร รวมถึงก่อนเตรียมนมให้เด็กทุกครั้ง หากอยู่กลางแจ้งควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้อยู่ในร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว และเวลาเล่นน้ำสงกรานต์ควรจะใช้น้ำสะอาดในการเล่น อย่าใช้มือในการสัมผัสกับดวงตา ไม่ควรแช่อยู่ในเสื้อผ้าเปียกเป็นเวลานานๆ ควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ที่แห้งทันทีหลังเล่นน้ำเสร็จ เพื่อป้องกันเชื้อโรคและปรสิตที่ปะปนมากับน้ำ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮ็อตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทรศัพท์ 1422. นพ.ศรายุธ กล่าวเพิ่มเติมอีก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ