ผู้เลี้ยงหมูโอดร้อนแล้ง-โรคหมูพ่นพิษ เกษตรกรรายย่อยขาดทุนจำต้องเลิกเลี้ยง

ข่าวทั่วไป Wednesday April 16, 2014 14:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--สหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี นายภมร ภุมรินทร์ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้เลี้ยงหมูในหลายพื้นที่กำลังประสบปัญหาภาวะอากาศที่ร้อนจัด มีผลทำให้หมูเกิดความเครียด กินอาหารน้อย การเจริญเติบโตช้าลง ภูมิคุ้มกันลดลง เป็นโรคได้ง่าย ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงนานขึ้นกว่าจะได้น้ำหนักตามที่ตลาดต้องการ ขณะเดียวกันยังมีภาวะภัยแล้งคุกคามทำให้ขาดน้ำสำหรับการเลี้ยงหมู และคุณภาพน้ำต่ำลง แบคทีเรียในน้ำมากขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพหมู เกษตรกรหลายรายต้องซื้อน้ำมาใช้เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตขึ้นไม่ต่ำกว่า 2,500 บาทต่อวัน ขณะที่ภาวะโรค PED และโรค PRRS ที่ก่อความเสียหายสะสมจาก 6 เดือนที่แล้วก็ยังไม่คลี่คลาย โดยโรค PRRS ยังคงเป็นโรคสำคัญที่กระทบต่อปริมาณสุกรที่หายไปจากระบบมากกว่า 20% จากปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการเลี้ยงหมู ทำให้เกษตรกรหลายรายจำเป็นต้องเลิกเลี้ยงหมูไป โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อยที่เลี้ยงหมูประมาณ 100-200 ตัว ที่ไม่สามารถแบกรับภาวะขาดทุนจากโรคหมูที่สร้างความเสียหายเป็นอย่างมากได้ “นอกจากปัญหาภาวะขาดทุนแล้ว หมูที่เหลือรอดจากภาวะโรคก็มีจำนวนน้อย เงินที่ขายได้ก็ไม่มากพอที่จะประคองธุรกิจต่อไปได้ ยกตัวอย่างสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรชลบุรีเดิมมีสมาชิกรวม 75 ราย ปัจจุบันคนเลี้ยงหายไปมากกว่าครึ่ง เหลือเพียงไม่ถึง 40 ราย ภาวะที่คนเลี้ยงหมูลดลงยิ่งทำให้ปริมาณน้อยลงเป็นการซ้ำเติมวิกฤติเข้าไปอีก” นายภมร กล่าว นายภมร กล่าวอีกว่า ผู้บริโภคอาจมองว่าราคาหมูที่สูงขึ้นในขณะนี้เป็นผลดีต่อผู้เลี้ยงที่จะได้กำไรจากภาวะดังกล่าว แต่ในความเป็นจริงแล้วขณะที่ราคาสูงขึ้นก็จริงแต่ปริมาณหมูน้อยลง ทำให้เกษตรกรได้เงินจากการขายหมูลดลง กล่าวคือ วันนี้เกษตรกรขายหมูที่ราคา 75 บาทต่อกิโลกรัม ที่น้ำหนัก 100 กิโลกรัม จำนวน 100 ตัว เกษตรกรจะได้เงิน 750,000 บาท เทียบกับภาวะปกติที่จำนวนหมูมากไม่เสียหายขายได้ 120 ตัว แม้ราคาจะอยู่ที่ 70 บาท เกษตรกรจะได้เงินถึง 840,000 บาท เห็นได้ชัดว่าแม้ราคาถูกกว่าแต่จำนวนหมูมากกว่าเกษตกรถึงจะขายได้เงินมากกว่า “วันนี้อยากให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าภาวะราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อของมีน้อยไม่เพียงพอกับความต้องการ ราคาก็จะขยับขึ้น แต่เกษตรกรไม่มีใครอยากให้เป็นแบบนี้ เพราะภาวะที่จำนวนหมูน้อยเช่นนี้เกษตรกรแทบจะไม่ได้กำไรเลย อยากให้ผู้บริโภคเข้าใจภาวะปัญหาที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่” นายภมร กล่าว นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมาความต้องการบริโภคเนื้อหมูเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลเชงเม้ง และปัจจุบันเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ปริมาณสุกรไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เกษตรกรเองจำเป็นต้องจับหมูออกขายก่อนกำหนดและน้ำหนักหมูในตลาดต่ำกว่าปกติจาก 108-110 กิโลกรัม ปัจจุบันขายที่ประมาณ 90-105 กิโลกรัม น้ำหนักที่หายไปกว่า 20 กิโลกรัม นี้ทำให้เกษตรกรได้เงินน้อยลงกว่า 1,600 บาทต่อตัว.
แท็ก เกษตรกร   สุกร  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ