ม.มหิดล แนะเลี้ยงสัตว์ยั่งยืนด้วยความเข้าใจ ไม่คำนึงถึงแต่ความต้องการของตัวเอง

ข่าวทั่วไป Tuesday May 7, 2024 16:15 —ThaiPR.net

ม.มหิดล แนะเลี้ยงสัตว์ยั่งยืนด้วยความเข้าใจ ไม่คำนึงถึงแต่ความต้องการของตัวเอง

หากเราพยายามเข้าใจธรรมชาติของสัตว์เลี้ยง โดยไม่คำนึงถึงแต่ "ความต้องการของตัวเอง" จะทำให้เราอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงด้วย "ความเข้าใจ" อย่างยั่งยืน

อาจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม อาจารย์สัตวแพทย์ประจำภาควิชาปรีคลินิกและสัตวศาสตร์ประยุกต์ และคลินิกพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง (Animal Behaviour Clinic) โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในโลกออนไลน์ การโพสต์ภาพที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลต่อสัมพันธภาพระหว่างคนและสัตว์ได้

ในประเทศไทยยังไม่พบงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการโพสต์ภาพสัตว์เลี้ยงอย่างไม่เหมาะสม มีแต่งานวิจัยที่แสดงความเชื่อมโยงระหว่างพฤติกรรมคนและสัตว์ จากงานวิจัยพบภาพสัตว์เลี้ยงที่ถูกกระทำ มีความสัมพันธ์กับการที่เด็กต้องกลายเป็นเหยื่อความรุนแรง ซึ่งคนที่มีนิสัยชอบทำร้ายสัตว์ อาจมีแนวโน้มแสดงความรุนแรงต่อคนด้วยกันได้เช่นกัน

ซึ่งสังคมโลกยุคปัจจุบันคนมีแนวโน้มเลี้ยงสัตว์เหมือน "เลี้ยงเด็ก" หรือ "เลี้ยงลูก" กันมากขึ้น ที่อวดกันด้วยภาพกอดสุนัขและแมวติดแฮชแท็กในสื่อโซเชียลเช่นปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี "การกอด" เป็นพฤติกรรมการแสดงออกถึงความรักความผูกพันแบบมนุษย์ ซึ่งแตกต่างจากสัตว์ เราอาจทำร้ายสัตว์ ทำให้สัตว์เกิดความเครียดได้โดยไม่คาดคิดหากไม่เคยสังเกตุ และอาจถูกสัตว์ทำร้ายโดยไม่ทันระวังตัว

โดย อาจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม ชี้ให้เห็นอีกตัวอย่างที่คนมักเข้าใจผิดว่าเป็นการแสดงออกถึงความรักจากสัตว์ เช่น "การเลีย" ในสุนัข ขึ้นอยู่กับ "ทิศทางการเข้าหา"

หากเป็น "การเข้าหาจากสัตว์" จะหมายถึงการต้องการอยากเข้าหา อยากใกล้ชิดกับเจ้าของมากขึ้น แต่ในทิศทางตรงกันข้าม หากเป็น "การเข้าหาจากคน" อาจถูกสุนัขกัดหลังจากเลียเตือนให้ถอยได้

การสัมผัสแมวก็เช่นกัน หากพบว่าแมวเริ่มขยับตัว แสดงความก้าวร้าว ขู่ ตะปบ หรือทำท่าจะกัด เป็นการเตือนให้ถอยห่าง ไม่ควรขัดขืนกอดต่อ เพราะอาจได้รับอันตรายได้ โดย อาจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม แนะนำว่า "การเลี้ยงสัตว์เลี้ยง" เหมือนกับ "การเลี้ยงเด็ก" อยู่ด้วยกันอย่างไรให้เกิด "ความเข้าใจ" และ "มีความสุข" ซึ่งสำคัญกว่าการทำให้สัตว์เลี้ยงเกิดแต่ "ความยำเกรง"

อาจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม กล่าวต่อไปอีกว่า สัตวแพทย์ที่ทำงานด้านพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย ในปัจจุบันยังมีน้อยมาก ไม่ถึง 10 ราย ด้วยประสบการณ์ในการทำงานในสาขาที่เกี่ยวข้อง พบว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยเวลาในการบำบัด และต้องทำอย่างต่อเนื่อง

ในแต่ละเคสอาจใช้เวลามากถึง 3 - 4 ชั่วโมงสำหรับการให้คำปรึกษาในครั้งแรก และสังเกตุอาการสัตว์เลี้ยงโดยละเอียด และอาจต้องบำบัดต่อไปอีกนานนับปี โดยมีตั้งแต่การปรับพฤติกรรมสัตว์เลี้ยงไม่ให้ดื้อ ดุร้าย ตลอดจนการปรับตัวให้เข้าสังคม และสิ่งแวดล้อม โดยต้องผ่านการตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้เป็นอาการจากทางกาย ซึ่งการที่สัตว์เลี้ยงได้รับการบาดเจ็บ อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปได้เช่นกัน

คลินิกพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง (Animal Behaviour Clinic) โรงพยาบาลสัตว์ประศุอาทร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เปิดให้บริการทุกวันพุธ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 14.00 น. และทุกวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 11.30 น. ในการเข้ารับบริการ ต้องได้รับการนัดหมายล่วงหน้าก่อนเท่านั้น สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0-2441-5245-6

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ