สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 14-19 เม.ย. 57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 21–25 เม.ย.57

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 22, 2014 08:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 109.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 1.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 103.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 105.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 2.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 122.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.19 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 123.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนร้อนแรงขึ้นในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยกองทัพยูเครนได้เคลื่อนยานยนต์หุ้มเกราะ 7 คัน เข้าสู่เมืองครามาตอร์สก์ และรักษาการประธานาธิบดียูเครน นาย โอเล็กซานเดอร์ ตูร์ชินอฟ ประกาศชัยชนะเหนือกลุ่มกบฏที่สนับสนุนรัสเซียในเมืองดังกล่าว หลังจากสามารถยึดคืนสนามบินจากกลุ่มกบฏ ส่งผลให้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เตือนว่า ยูเครนมีความเสี่ยงที่จะเกิดสงครามกลางเมือง - Oil Chem เผยผลสำรวจจากโรงกลั่นขนาดเล็กของจีน 31 แห่งซึ่งมีอัตราการกลั่นรวม 1.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีค่าเฉลี่ยอัตราการกลั่นรายสัปดาห์ งวดสัปดาห์สิ้นสุดวันที่18 เม.ย. 57 มาอยู่ที่ระดับ 30.15% เนื่องจากโรงกลั่นเริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติ - ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) สหรัฐฯ ในเดือน มี.ค.57 เพิ่มขึ้น 0.7% จากเดือนก่อนหน้าสูงกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์ หลังปรับเพิ่มตัวเลขในเดือน ก.พ. 57 มาอยู่ที่ระดับ 0.6% เทียบกับเดือนก่อนหน้า - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 เม.ย. 57 เพิ่มขึ้นเพียง 2,000 ราย จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 304,000 ราย เพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดยBloomberg คาดการณ์ โดยยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเฉลี่ย 4 สัปดาห์ อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปีครึ่ง ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 เม.ย. 57 เพิ่มขึ้นถึง 10 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 394.1 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นมากกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters คาดการณ์เกือบ 5 เท่า โดยปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ที่ Gulf Coast เพิ่มขึ้น 5.2 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นมากสุดเป็นประวัติการณ์ - สำนักวิจัยด้านพลังงาน Energy Aspects เผยอัตราการกลั่นของจีนเดือน มี.ค. 57 ลดลงต่ำกว่าระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.89 ล้านบาร์เรลต่อวันเนื่องจากเข้าช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงลั่น โดยคาดการณ์กำลังการกลั่นในจีนมีแผนปิดซ่อมบำรุงที่ 0.89 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนเม.ย. และแตะระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. 57 แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบปรับลดลงจากปัญหาข้อขัดแย้งในยูเครนที่คลี่คลายหลังการเจรจาของชาติตะวันตกและรัสเซียที่บรรลุข้อตกลงให้กองกำลังไม่ทราบฝ่ายวางอาวุธ ยุติการยึดที่ทำการรัฐ โดยรัฐบาลยูเครนจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้เกี่ยวข้องและเพิ่มอำนาจการปกครองท้องถิ่นรวมทั้งให้ความคุ้มครองต่อชนกลุ่มน้อย ข้อตกลงอย่างเป็นทางการของทุกฝ่ายที่มหาอำนาจทั้งสหรัฐฯ และรัสเซียเห็นชอบช่วยลดแรงกดดันจากปัญหาดังกล่าว ล่าสุดเจ้าหน้าที่ขององค์กรส่งเสริมความมั่นคงระหว่างประเทศ (The Organization for Security and Cooperation) เริ่มลงพื้นที่ในยูเครนช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเจรจาให้กองกำลังติดอาวุธปฎิบัติตามข้อตกลงข้างต้น อย่างไรก็ตามปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ในซูดานยังคงตึงเครียดจากการลักพาตัวพนักงานแท่นขุดน้ำมันชาวจีน ที่เมือง Kordofan ทางตะวันตกของซูดานเพื่อก่อกวนการผลิตน้ำมันดิบ ขณะที่ประเด็นทางเศรษฐกิจเชิงบวกภายใต้แนวคิดภาวะเศรษฐกิจโลกปีนี้อิงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว(OECD) เป็นปัจจัยผลักดันแทนการเติบโตของจีน มีความเด่นชัดมากขึ้นหลังเศรษฐกิจสหรัฐได้ฟื้นตัวขึ้นหลังจากเผชิญสภาพอากาศหนาวเย็นที่ผ่านมา แม้ว่าญี่ปุ่นจะมีปัญหาจากค่าใช้จ่ายนำเข้าพลังงานทดแทนพลังงานนิวเคลียร์จนขาดดุลการค้ามากขึ้นแต่ภาครัฐให้ความสำคัญยิ่งกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อาทิธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) พร้อมใช้มาตรการต่างๆหากมีความจำเป็นทางเศรษฐกิจซึ่ง BOJ ระบุในรายงานของ เดือน เม.ย. 57 ว่าได้ปรับลดการประเมินภาวะเศรษฐกิจพื้นฐานครั้งแรกในรอบ 17 เดือน เพราะการใช้จ่ายผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลงหลังการปรับขึ้นภาษีผู้บริโภคในเดือนเม.ย. 57 แต่ทว่ายังคงมั่นใจว่าจะควบคุมอัตราเงินเฟ้อจะเข้าสู่ระดับเป้าหมายที่ 2% ให้จับตาพัฒนาการของข้อขัดแย้งใน ยูเครนที่เป็นกรณีพิพาทของชาติมหาอำนาจของโลกเพราะในทางปฎิบัติความมั่นคงทางการเมืองในยูเครนขึ้นกับความจริงใจในการให้ความร่วมมือของรัสเซียที่ได้เปรียบในแง่อำนาจทางทหารเหนือกว่ายูเครน สัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ Brent จะมีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 108.17 -110.40 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และ WTI จะมีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 102.08 - 104.99 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น อีกทั้งความต้องการในภูมิภาคอยู่ในระดับสูง โดยคาดการณ์อินโดนีเซียจะนำเข้า gasoline 9.5 – 10 ล้านตันในเดือน พ.ค. 57 ทั้งนี้ยังได้แรงสนับสนุนจากความต้องการจากสหรัฐฯ ที่กำลังจะเข้าช่วงฤดูขับขี่ ( Driving Season) ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 26 พ.ค. 57 ที่จะถึงนี้ สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 122.42 – 124.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ที่ร้อนแรงจากอินโดนีเซียยังคงสนับสนุนราคาต่อเนื่องกอปรกับฤดูซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในเอเชียส่งผลให้อุปทานตึงตัว ผนวกกับรายงานปริมาณสำรอง Gasoil เชิงพาณิชย์บริเวณ ARA ของยุโรป สัปดาห์สิ้นสุดวันที่10 เม.ย. 57 ลดลง 13.5% จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 10.52 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบเกือบ 6 ปี สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 123.54 – 125.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ