สสค. ร่วมกับ อบจ.น่าน หนุนท้องถิ่นนำร่อง “ปฏิรูปการเรียนรู้” จับมือ อบต.ไชยวัฒนา เพิ่มคุณภาพการศึกษาด้วย “ไชยวัฒนาโมเดล”

ข่าวทั่วไป Tuesday April 22, 2014 11:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 เม.ย.--ไอแอมพีอาร์ ปัญหาสำคัญของโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็กนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ของ สพฐ. ก็คือมีอัตราส่วนครูต่อนักเรียนที่ไม่เพียงพอ ครูหนึ่งคนต้องดูแลเด็กบางครั้งมากกว่า 2 ช่วงชั้นเรียน และทำการสอนมากกว่า 3 กลุ่มสาระวิชา ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาที่เด็กๆ ควรได้รับ จังหวัดน่านเป็น 1 ใน 10 จังหวัดดีเด่นที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสค. ให้เป็นจังหวัดนำร่องและพื้นที่ต้นแบบในการปฏิรูปการศึกษา ที่ต่อยอดการดำเนินงานจาก “โครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ ยกย่อง เชิดชู ครูสอนดี เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน” หรือ “ครูสอนดี” โดยคณะกรรมการคัดเลือกครูสอนดีที่ได้ปรับเปลี่ยนบทบาทเป็น คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดน่าน ได้จับมือกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน ชักชวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 6 แห่ง ร่วมกันสร้างพื้นที่ต้นแบบปฏิรูปการเรียนรู้ พร้อมกับกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกันของจังหวัดภายใต้แนวคิด “เด็กน่านรักดี รักษ์ถิ่นเกิด เรียนรู้สู่สากล” โดยให้ทุกภาคส่วนทั้งบ้าน วัด โรงเรียน และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม หรือ “บวร” เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นและการพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งด้านสังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว เศรษฐกิจอย่างสมดุลและยั่งยืน ตำบลไชยวัฒนา อำเภอปัว เป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบที่มีแนวทางในการปฏิรูปการเรียนรู้ของเป็นของตนเอง โดยมุ่งเน้นจัดการกับปัญหา “คุณภาพการศึกษา” ของท้องถิ่น ซึ่งมีปัญหาโรงเรียนในพื้นที่จำนวน 5 แห่งมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ของ สพฐ. มีปัญหาจำนวนครูไม่เพียงพอต่อการสอนในทุกระดับชั้นและกลุ่มสาระวิชา ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ตำบลไชยวัฒนา จึงเน้นแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหา “โรงเรียนขนาดเล็ก” ด้วยการนำนักเรียนของ 5 โรงเรียนจำนวน 165 คนมาจัดรวมเป็นกลุ่มชั้นเพื่อเรียนร่วมกัน และจัดรถรับส่งไปเรียนยังโรงเรียนต่างๆ จนเกิดเป็น “ไชยวัฒนาโมเดล” นางลำใย หานิพัฒน์ ผอ.โรงเรียนศรีสระวงค์ และคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ฯ กล่าวว่าไชยวัฒนาโมเดลเป็นการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ ซึ่งจากการประชุมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ คณะครู ผู้บริหารโรงเรียน ผู้ปกครอง และ อบต. จนพบว่าการจัดการเรียนร่วมกันเป็นทางออกของปัญหาที่ดีที่สุด โดยนำนักเรียนชั้น ป.1 และ ป.3 ไปเรียนรวมที่โรงเรียนบ้านเสี้ยว นักเรียนชั้น ป. 2 และ ป.4 ไปเรียนรวมที่โรงเรียนบ้านหนาด ป.5 ไปเรียนรวมที่โรงเรียนบ้านแดนพนา และ ป.6 ไปเรียนรวมที่โรงเรียนศรีสระวงค์ โดยทุกเช้าเด็กๆ ก็จะไปรออยู่ที่โรงเรียนต้นสังกัดของตนเอง และทาง อบต.ก็จะจัดรถรับส่งไปยังศูนย์การเรียนยังโรงเรียนต่างๆ รวมไปตัวของครูเองก็จะมีการสนับสนุนการเดินทางในการไปสอนยังแต่ละโรงเรียนด้วย “ที่สำคัญไชยวัฒนาโมเดลยังทำให้มีครูผู้สอนเพิ่มขึ้นถึง 2 คนต่อชั้นเรียน ทำให้สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง จึงมั่นใจได้ว่าคุณภาพและผลการเรียนของเด็กๆ จะดีขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ขึ้นในโรงเรียนแต่ละแห่ง ซึ่งจะทำให้เด็กๆ ที่จะหมุนเวียนไปเรียนยังโรงเรียนต่างๆ ตามช่วงชั้น ได้รับการพัฒนาของตนเองในทุกๆ ด้าน” นางลำใยกล่าว นอกจากการแก้ปัญหาด้วยการเรียนรวมและจัดรถรับส่งเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับเด็กๆ แล้ว ในการบริหารจัดการศึกษาตามแนวทางไชยวัฒนาโมเดล ยังได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้” จำนวน 6 ศูนย์ขึ้นตามความถนัดและศักยภาพของแต่ละโรงเรียนคือ ศูนย์การเรียนรู้ภาษาอังกฤษ รร.ศรีสระวงศ์, ศูนย์การเรียนรู้ศิลปะและหัตถกรรม รร.บ้านแดนพนา, ศูนย์การเรียนรู้กีฬา รร.บ้านหนาด, ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรม รร.บ้านเสี้ยว ศูนย์การเรียนรู้คณิตศาสตร์ รร.บ้านห้วยท่าง และ ศูนย์การเรียนรู้ ICT ไชยวัฒนา เพื่อให้เด็กๆ ในทุกช่วงชั้นเรียนที่จะสลับหมุนเวียนไปเรียนยังโรงเรียนต่างๆ ได้รับการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ในทุกๆ ด้านนายวิทย์ เฟยลุง ผอ.รร.บ้านเสี้ยว กล่าวถึงข้อดีและประโยชน์ของการจัดการเรียนรวมว่า เด็กๆ จะมีความสุขในการเรียน มีเพื่อนเยอะมากขึ้น มีกิจกรรมหลากหลาย เกิดพัฒนาการในด้านการเรียนรู้ที่ดีขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่มีประโยชน์ชัดเจนมากที่สุดคือการที่มีครู 2 คนช่วยกันดูแลเด็ก 1 ชั้นเรียน “เด็กที่มาจากชั้นอนุบาลเมื่อมาเรียน ป.1 ที่โรงเรียน ปัญหาที่พบคือพัฒนาการและพื้นฐานของเด็กแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เมื่อก่อนครูก็ไม่สามารถลงไปดูแลอย่างทั่วถึงได้ แต่เมื่อมีครู 2 คนก็สามารถแบ่งหน้าที่ครูอีกคนหนึ่งให้ลงไปดูแลปรับพื้นฐานเด็กที่ยังไม่ค่อยดีแยกต่างหาก ซึ่งสามารถดูแลได้เต็มที่ใช้เวลาเพียงแค่เทอมเดียวเด็กก็จะสามารถเรียนรู้ได้ทันเพื่อนเมื่อเข้าสู่ภาคเรียนที่สอง” ผอ.วิทย์กล่าว นางอนงค์ วรรณวัตร ครูจาก รร.บ้านศรีสระวงศ์ เล่าว่าเดิมต้องสอนถึง 7 กลุ่มสาระวิชา ทำให้ไม่สามารถจัดการเรียนการสอนให้กับลูกศิษย์ได้อย่างทั่วถึง ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาที่เด็กๆ ควรจะได้รับ แต่เมื่อมีไชยวัฒนาโมเดลเข้ามาทำให้ปัจจุบันภาระในการสอนน้อยลงเหลือเพียง 2 กลุ่มสาระวิชา “ถึงแม้จะมีเด็กเพิ่มขึ้นเป็น 24 คน จากจากเดิมที่มีไม่ถึง 10 คน ในชั้น ป.6 แต่ก็จะได้เพื่อนครูจากโรงเรียนอื่นๆ มาช่วยกันสอนกลุ่มสาระวิชาต่างๆ ในชั้นนี้ถึง 3 คน ทำให้สามารถดูแลเด็กนักเรียนได้ทั่วถึงเต็มที่ ตัวเด็กเองก็จะเกิดความสนุกและแข่งขันที่จะเรียนรู้กันมากขึ้น และยังได้รับความรู้จากเทคนิคและวิธีการสอนที่หลากหลายของครูแต่ละคน” ครูอนงค์กล่าวถึงข้อดี นายภูเบศ ไชยโย นายก อบต.ไชยวัฒนา และประธานคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ ต.ไชยวัฒนากล่าวว่า ไชยวัฒนาโมเดลเป็นแนวทางการยกระดับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนที่เกิดจากประชุมเพื่อหาทางออกของทุกภาคส่วนในชุมชน จนเกิดประโยชน์ต่อสังคมและการจัดการศึกษามากมาย ทำให้เด็กๆ ในตำบลรู้จักกันทั้งหมด มีเพื่อนมากขึ้น ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพมากขึ้น ตัวครูเองก็มีภาระงานลดลง มีเวลาสอนและถ่ายทอดความรู้ได้อย่างเต็มความสามารถ และทำให้ผู้อำนวยการโรงเรียนได้ทำหน้าที่คิดและวางแผนการพัฒนาโรงเรียนของตนเองได้อย่างเต็มที่ “ไชยวัฒนาโมเดลจะทำให้คนทุกคนได้ทำตามหน้าที่ของตนเอง ครูผู้สอนได้สอนตามวิชาที่ถนัด เด็กได้รับการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพ โดย อบต.ไชยวัฒนา ก็จะหนุนเสริมเพิ่มทุนให้ลูกหลานของเราให้ได้รับการศึกษาได้เต็มที่สูงสุด อย่างน้อยตอนนี้ตำบลของเรามีเด็กที่จบปริญญาเอกหรือด็อกเตอร์เพียงคนเดียว แต่เมื่อมีไชยวัฒนาโมเดล จึงมั่นใจได้เลยว่าในอนาคตเด็กของเราจะต้องมีคนที่จบด็อกเตอร์เพิ่มขึ้นอีกแน่นอน” นายก อบต.ไชยวัฒนากล่าวสรุป.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ