วธ. ลงนามข้อตกลงร่วม ม.สารคาม พัฒนาบุคลากรศึกษาวิจัยด้านวัฒนธรรมศาสตร์

ข่าวทั่วไป Monday June 30, 2014 14:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 มิ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม ดร.ปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในการแถลงข่าวการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2557 ณ กระทรวงวัฒนธรรม ว่า ด้วยกระทรวงวัฒนธรรม มีภารกิจในการนำมิติทางวัฒนธรรมมาเพิ่มคุณค่าและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม ตลอดจนบริหารจัดการองค์ความรู้และมรดกทางศิลปวัฒนธรรมให้เกิดประโยชน์แก่สังคมไทยและสังคมโลก ดร.ปรีชา กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรของกระทรวงวัฒนธรรมให้มีองค์ความรู้ทางด้านวัฒนธรรมอย่างถ่องแท้ สามารถนำองค์ความรู้มาพัฒนาศิลปวัฒนธรรมอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งสร้างสรรค์ทุนทางวัฒนธรรมในเชิงเศรษฐกิจได้ กระทรวงวัฒนธรรมจึงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการจัดการเรียนการสอนด้านวัฒนธรรมศาสตร์ ในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ถึงปีงบประมาณ พ.ศ.2562 โดยจัดการเรียนการสอนคณะวัฒนธรรมศาสตร์ เป็น 2 ระดับคือ ระดับมหาบัณฑิต และระดับดุษฎีบัณฑิต ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรมจะสนับสนุนบุคลากรเข้าศึกษาในหลักสูตรดังกล่าว จำนวน 3 รุ่น แบ่งเป็นหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ รุ่นละ 5 คน หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศาสตร์ รุ่นละ 20 คน แบ่งเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม รุ่นละ 10 คน และบุคลากรภายนอก รุ่นละ 10 คน โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเพื่อเข้ารับการศึกษา พร้อมทั้งมอบทุนการศึกษาเป็นจำนวน 50% จำนวน 10 ทุน ให้แก่ข้าราชการในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าศึกษาในระดับมหาบัณฑิตประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาจะต้องทำการศึกษาวิจัยตามหัวข้อที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนดและนำมาใช้ในการปฏิบัติงานได้จริง ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งเสริมสนับสนุนให้นำองค์ความรู้ทางการศึกษาวิจัยมาใช้ในการพัฒนาในการปฏิบัติงาน ในด้าน ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ก่อตั้งคณะวัฒนธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ปี 2552 เพื่อผลิตนิสิต นักศึกษาในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก โดยเน้นการศึกษา วิจัย เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเจริญรุ่งเรือง มาแต่อดีต และมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน รวมทั้งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมที่จะมีผลกระทบ ต่อสังคมไทยในอนาคต ตลอดจนการเพิ่มพูนองค์ความรู้ในด้านการจัดการวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อให้นิสิต นักศึกษานำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มศิลปวัฒนธรรม ดังนั้นมหาวิทยาลัยมหาสารคามจึงมีความรู้สึกยินดีที่กระทรวงวัฒนธรรมได้เล็งเห็นความสำคัญของการผลิตบุคลากรทางด้านวัฒนธรรมศาสตร์ และได้อนุเคราะห์ให้ทุนแก่บุคลากรกระทรวงวัฒนธรรมที่จะเข้าศึกษาในคณะวัฒนธรรมศาสตร์ ซึ่งมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีความพร้อมที่ผลิต และพัฒนาบุคลากรเพื่อมาช่วยเหลือกระทรวงวัฒนธรรมในการปฏิบัติงานในการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ