ประสานเสียงคูปองไม่ควรใช้แลกกล่องดาวเทียม – เคเบิ้ล หวั่น กสทช.ทำคลอดและทำแท้งดิจิตอลทีวี

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday July 15, 2014 14:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ค.--กสทช. กสทช. จัดโฟกัสกรุ๊ป ถกที่มาฐานแนวคิดมูลค่าคูปองที่เหมาะสม ต้องมีฐานกฎหมายรองรับ ช่องดิจิตอล ผู้บริโภคพร้อมเพรียงเงื่อนไขคูปองไม่ควรสนับสนุนกล่องดาวเทียม – เคเบิ้ล หวั่น!กสทช.ทำคลอดและทำแท้งทีวีดิจิตอลในคราเดียว นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมดำเนินการรับฟังความคิดเห็น เฉพาะประเด็น เรื่อง แนวคิดการกำหนดมูลค่าคูปองดิจิตอลทีวีที่คำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ ซึ่งได้มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งในหลายด้านเพื่อประกอบการพิจารณา โดยมีผู้ประกอบกิจการดิจิตอลทีวี ผู้บริโภค นักวิชาการ ร่วมให้ความเห็น ผู้ประกอบกิจการทีวีดาวเทียมได้ร่วมแสดงความเห็นทั้งประเด็น ราคาคูปอง เงื่อนไขการแจกคูปอง และระยะเวลาการแจกที่ต้องรวดเร็ว นายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมดิจิตอลทีวี กล่าวว่า การสนับสนุนประชาชนให้สามารถรับชมทีวีดิจิตอลควรเข้าถึงได้โดยที่ประชาชนที่ไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่มเลย เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับผู้บริโภค ซึ่งผู้ประกอบการเองไม่ได้ติดใจเรื่องราคาคูปอง แต่ขอให้กล่องมีคุณภาพสามารถรับประกันการรับชมดิจิตอลทีวีได้ครบ ชัดทุก นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ เนชั่นทีวี กล่าวว่า จุดตั้งต้นราคาคูปอง 690 บาท ของ กสทช. เป็นการคิดราคาที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ดูจากราคาต้นทุนที่แท้จริง เพียงแต่นำเงินตั้งต้นเงินมาหาร และราคานี้ยังไม่รวมเสาอากาศ ทั้งนี้การเข้าร่วมประมูลคลื่นดิจิตอลทีวี เพราะเรามั่นใจว่าจะสามารถเปลี่ยนผ่านทีวีได้รวดเร็วขึ้น หากการสนับสนุนทีวีดิจิตอลด้วยกล่องดิจิตอลภาคพื้นดินก็ควรที่จะรับชมได้ครบทั้ง 48 ช่อง ตามแผนแม่บท กสทช. ไม่อย่างนั้นอาจเกิดการฟ้องร้องและทำผิดเงื่อนไขการประมูล นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ราคาคูปองที่สูงขึ้นกลับยิ่งสร้างภาระให้ประชาชนในการซื้อกล่อง หรือเพิ่มเงินส่วนต่าง อย่างไรสนับสนุนการแจกคูปองราคา 690 บาทในปีแรก เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการเปลี่ยนผ่าน พร้อมเสนอแจกกล่องให้ประชาชนแทนในปีถัดไป เพื่อลดงบประมาณจำนวนมากที่ ต้องสูญไป เพราะงบที่เหลือสามารถนำไปสนับสนุนการผลิตรายการดีๆ ซึ่งคูปองควรสนับสนุนประชาชนที่รับชมทีวีจากหนวดกุ้งก้างปลามากที่สุด ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลเป็นไฟแนนซ์ หรือผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล ไม่ใช่เงิน กสทช. ซึ่งจะแตกต่างจากบางประเทศที่ผู้ประกอบการไม่ได้จ่ายเป็นผู้จ่ายเอง ดังนั้นความเร็วของการเปลี่ยนผ่านจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะขึ้นอยู่กับความรอดของผู้ประกอบการ ทั้งนี้เงื่อนไขคูปองควรจะต้องสามารถรับชมทีวีชุมชนได้ เพราะเชื่อว่าไม่มีใครที่มีกล่องดาวเทียมหรือเคเบิลอยู่แล้วแล้ว จะออกเงินไปซื้อกล่องดิจิตอลภาคพื้นดิน เพราะทีวีชุมชนไม่มูลค่าทางธุรกิจ ส่วนราคากล่องจะสูงหรือต่ำเป็นเท่าไหร่ แต่ราคาคูปองของกสทช.จะกำหนดมูลค่าราคาขั้นต่ำในตลาด ถ้าคูปองราคาสูง คนที่มีความสามารถในการจ่ายก็จะรับภาระสูงขึ้น หากมีราคาที่เหมาะสมผู้บริโภคส่วนหนึ่งก็ยินดีที่จะจ่ายเองได้เลย อ.ปิยบุตร บุญอร่ามเรือง คณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า มีไม่กี่ครั้งที่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการเห็นพ้องมาทางเดียวกัน ในการไม่เห็นด้วยการสนับสนุนกลุ่มดาวเทียม และเคเบิ้ล เพราะอาจทำให้เกิดการบิดเบือนสภาพธรรมชาติแต่ละแพลตฟอร์มที่ต้องแข่งขันกันอยู่ในตัว ทั้งนี้มีความเสี่ยงทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้น เพราะการประเมินราคากลางตามระเบียบ ปปช. และพบว่าในรายงานของสำนักงานยังมีความขัดแย้งอยู่กับแหล่งอ้างอิง และเมื่อเทียบกับราคาขององค์กรผู้บริโภคมีความต่างของตัวเลข ต้องตอบเรื่องนี้ด้วย เพราะ กสทช.จะต้องสามารถอ้างอิงรายละเอียดของราคาให้ได้ เพื่อลดความเสี่ยงทางข้อกฎหมาย ส่วนมูลค่าคูปอง 690 บาท ยังมีฐานข้อมูลทางกฎหมาย แต่ราคาคูปอง 1,000 บาท ยังไม่มีฐานทางกฎหมายรองรับ นางสาวสุภิญญา กล่าวว่า ประเด็นข้อเสนอที่ได้ส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องข้อปลอดภัยที่สุดทางกฎหมาย คือเงื่อนไขที่เสนอก่อนการประมูล ก็คือ690 บาท และสามารถแลกกล่องพื้นดินได้เป็นหลัก เพราะหากสามารถใช้คูปองแลกกล่องดาวเทียมและเคเบิลได้ด้วยจะเกิดปัญหาข้อกฎหมายตามมา ส่งผลให้กระบวนการล่าช้าออกไป เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหลังการประมูล เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและทีวีดิจิตอลได้แสดงความกังวลไว้ แต่ก็มีความเห็นแตกต่างในรายละเอียดเรื่องการแจกระหว่างแจกกล่องกับแจกคูปอง ซึ่งหากต้องเปลี่ยนเงื่อนไขการแจกก็จะต้องแก้ไขในประกาศจะยิ่งส่งผลให้ช้าออกไปอีก ถ้าวันนี้ทุกคนเห็นตรงกันว่าถ้าต้องแจกให้เร็วก็ต้องเคลียทางกฎหมายด้วย ส่วนดาวเทียมอาจค่อยมาเก็บตกในปีถัดไป ในพื้นที่ที่ห่างไกลจากสัญญาณดิจิตอลได้ทั่วถึง “วันนี้เป็นเรื่องดีที่ตัวแทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้เข้าร่วมให้ความเห็น อยากให้สตง.ส่งความเห็นเป็นทางการมายัง กสทช. เพราะจะมีน้ำหนักมากในการตัดสินใจของกสทช. ในการถ่วงดุลในการใช้งบประมาณของสาธารณะอย่างคุ้มค่าบนผลประโยชน์ในการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล ประชาชนทั่วไปสามารถส่งความเห็นมาได้จนถึงวันที่ 18 ก.ค ทาง E-mail: hearing.dtv@nbtc.go.th ทางโทรสาร: หมายเลข 0 2278 5493 หรือส่งด้วยตนเองที่สำนักงาน กสทช. สำนักกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล อาคารมนริริน ชั้น 5 โซน C ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400 (ในเวลาทำการ 8.30 –16.30 น.) และทางไปรษณีย์ลงทะเบียน (โดยจะถือเอาวันที่ไปรษณีย์ลงทะเบียนได้ประทับตรารับจดหมาย) ส่งถึง ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ที่อยู่ “สำนักงาน กสทช. เลขที่ 87 ถนนพหลโยธิน ซอย 8 (สายลม) แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400” วงเล็บมุมซองว่า “แสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล” สุภิญญา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ