ความเห็นจากงานเสวนา NBTC Policy Watch “การประมูลเป็นวิธีจัดสรรคลื่นความถี่ที่เหมาะสมที่สุดในบริบทของไทย”

ข่าวเทคโนโลยี Sunday August 3, 2014 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--NBTC Policy Watch เมื่อวันที่ 30 กรกฏาคม 2557 โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานเสวนาในหัวข้อ “เลื่อน-เลิกประมูล 4G ใครได้–ใครเสีย: รัฐ ผู้ประกอบการ ประชาชน?” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงข้อเสนอการแก้ไข พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2553 มาตรา 45 เพื่อเปิดโอกาสให้ กสทช. สามารถใช้วิธีการอื่นที่ไม่ใช่การประมูลในการจัดสรรคลื่นความถี่ว่า ข้อเสนอดังกล่าวเกิดจากปัญหาการประมูล 3G ที่ กสทช. ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม โดยกรรมการ กสทช. บางคนมองว่าการประมูลเป็นปัญหา เพราะว่าสังคมขาดความรู้ ได้รับข้อมูลผิดพลาด ทั้งที่แท้จริงแล้ว วิธีการประมูลไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาที่เป็นเหตุของกระแสวิจารณ์ในกรณี 3G คือ การใช้ดุลยพินิจของ กสทช. ในการเปลี่ยนเกณฑ์การประมูลที่ทำให้ไม่มีการแข่งขันเสนอราคา ในขณะที่ราคาตั้งต้นถูกกำหนดให้ต่ำกว่ามูลค่าประเมินที่เป็นวิชาการถึง 30% พรเทพอธิบายว่า ในทางเศรษฐศาสตร์ การประมูลหากออกแบบอย่างเหมาะสม เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการจัดสรรทรัพยากร เพราะทรัพยากรจะอยู่กับผู้ที่สร้างประโยชน์ได้สูงสุด ทั้งยังเป็น วิธีมีความโปร่งใส ดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว เมื่อวิธีการและกฏเกณฑ์การประมูลถูกกำหนดมาแล้ว ผลการประมูลถูกแทรกแซงได้ยาก และมีความเป็นธรรมในแง่ที่ไม่มีดุลยพินิจมาเกี่ยวข้อง “ปัญหาวุ่นวายของการประมูล 3G ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นเพราะการประมูลเข้าใจยากหรือสังคมขาดความรู้ แต่เป็นเพราะวิธีการประมูลนั้นมีขั้นตอนและหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน จนสังคมไล่เรียงตรวจสอบได้ว่าปัญหามาจากจุดไหน ถ้าผลลัพท์แบบเดียวกันนี้เกิดจากวิธีการจัดสรรอื่น สังคมอาจจะตรวจสอบหรือทำความเข้าใจได้ยากขึ้น” ในขณะที่วิธีอื่นที่อาจจะใช้แทนการประมูลเช่น วิธีการคัดเลือกผู้เหมาะสม (Beauty contest) โดยเป็นวิธีที่ กสทช. ตั้งราคากลางและให้ผู้ประกอบการนำเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้บริโภคนั้น มีกระบวนการที่โปร่งใสน้อยกว่า เพราะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้คัดเลือกเป็นสำคัญ ผู้คัดเลือกแต่ละรายให้น้ำหนักกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ราคา คุณภาพ เทคโนโลยี ความครอบคลุมของพื้นที่ นวัตกรรม แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะเป็นใครนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของกรรมการเป็นหลัก ซึ่งการเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจอาจทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และเกิดข้อโต้แย้งทางการเมืองและกฏหมายได้ง่ายกว่า รวมถึงความเคลือบแคลงต่อปัญหาทุจริตและความไม่เป็นธรรมในการคัดเลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้คัดเลือกขาดความน่าเชื่อถือ พรเทพกล่าวต่อไปว่า นอกเหนือจากประเด็นเรื่องความโปร่งใส การประเมินหรือคาดเดาปัจจัยต่าง ๆ เช่นราคา คุณภาพการให้บริการ เทคโนโลยี ล่วงหน้าเป็นเวลานาน 15-20 ปี สำหรับอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เทคโนโลยีหรือบริการบางอย่างอาจจะยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะประเมินข้อเสนอและคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม ซึ่งจะยิ่งทำให้การจัดสรรทรัพยากรด้วยวิธี Beauty contest ขาดประสิทธิภาพลงไป อีกประเด็นหนึ่งที่คือ ปัญหาการกำกับหรือบังคับให้ผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกปฏิบัติตามแผนธุรกิจที่ได้นำเสนอไว้ วิธีการ Beauty contestมักจะเป็นวิธีที่รัฐตั้งราคากลางของคลื่นให้มีราคาถูกหรือในบางกรณีจัดสรรโดยไม่คิดมูลค่า โดยกำหนดเงื่อนไขการให้บริการที่เข้มงวด หรือให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันเสนอผลประโยชน์ให้กับผู้บริโภค การที่ผู้ชนะการคัดเลือกจะมีต้นทุนที่ต้องจ่ายในปัจจุบันที่ต่ำ ในขณะที่โอกาสการได้รับเลือกขึ้นกับสิ่งที่สัญญาในอนาคต สร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการแข่งกันนำเสนอแผนธุรกิจที่ดีเกินจริง ปัญหาคือการกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ เมื่อได้รับคัดเลือกแล้วผู้ประกอบการจะปฏิบัติตามแผนธุรกิจก็ต่อเมื่อสามารถทำกำไรได้เท่านั้น กสทช. อาจจะเผชิญกับความยากลำบากในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญา เพราะผู้ชนะการคัดเลือกจะยินดีจ่ายค่าคลื่นความถี่ราคาต่ำและรับเงื่อนไขเข้มงวด เพราะมองว่าเป็นการทำประกันเพื่อรักษาโอกาสในการลงทุน (investment option) เอาไว้ หากสถานการณ์ไม่เอื้อให้ทำกำไรและไม่สามารถแก้ไขเงื่อนไขสัญญาได้ในภายหลังก็จะออกจากตลาดไปโดยเสียต้นทุนไม่มากนัก ในขณะที่วิธีการประมูลถูกมองว่าเป็นการให้คำมั่นที่จริงจังกว่าเนื่องจากผู้ชนะประมูลจะมีต้นทุนในปัจจุบันเพิ่มขึ้นตามการเสนอราคาของตนเอง “หากพิจารณาจากทั้งประเด็นด้านความโปร่งใสและความชัดเจนของกระบวนการ ที่วิธีการประมูลมีสูงกว่าและสังคมให้น้ำหนักกับปัจจัยนี้ค่อนข้างมาก ในขณะที่วิธี Beauty contest มีความยืดหยุ่นแต่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้ดุลยพินิจที่ผิดพลาดเนื่องจากความขาดแคลนของข้อมูลที่จำเป็นต่อการตัดสินใจ และภาระในการกำกับดูแลเงื่อนไขสัญญาที่ค่อนข้างสูง การประมูลเป็นวิธีที่การจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีความเหมาะสมกว่าในบริบทของไทย” พรเทพสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ